มีโปรเจกต์คริปโตเคอร์เรนซีอยู่หลายโปรเจกต์ครับที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นฐานข้อมูลดิจิทัล โดยโปรเจกต์เหล่านี้จะชูจุดเด่นในด้านความกระจายศูนย์ (decentralization) ของการเก็บข้อมูล ที่จะไม่มีกลุ่มบุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งสามารถแก้ไขข้อมูลได้ โดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากผู้ใช้งานคนอื่น ๆ ครับ โปรเจกต์เหล่านี้ส่วนมากประยุกต์ใช้งานเทคโนโลยีบล็อกเชน พร้อมกับกลไกในการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล ก่อนที่จะบันทึกข้อมูลชุดดังกล่าวลงบนบล็อกเชน โปรเจกต์ลักษณะนี้ที่มีชื่อเสียงก็อย่างเช่น Bitcoin และ Ethereum ซึ่งเป็นสองโปรเจกต์คริปโตเคอร์เรนซีที่มีมูลค่าตลาด (market capitalization) สูงเป็นอันดับ 1 และ 2 ตามลำดับ แต่เทคโนโลยีบล็อกเชนก็มีข้อจำกัดอยู่หลายอย่างครับ วันนี้ผมจะพาทุก ๆ คนมาทำความรู้จักกับโปรเจกต์คริปโตเคอร์เรนซีที่มีเป้าหมายสร้างฐานข้อมูลเช่นเดียวกันกับโปรเจกต์อื่น ๆ แต่เลือกวิธีการทำงานที่ต่างกันออกไป และโปรเจกต์ดังกล่าวยังเคลมตัวเองว่าเป็นโปรเจกต์คริปโตเคอร์เรนซี Gen 3 อีกด้วย วันนี้ผมพาทุกคนมารู้จักกับ Hedera กันครับ มาดูกันว่า Hedera มีความแตกต่างจากโปรเจกต์อื่น ๆ อย่างไรบ้าง
What is Hedera?
Hedera (หรือชื่อเต็มคือ Hedera Hashgraph) เป็นโปรเจกต์คริปโตเคอร์เรนซีที่สร้างฐานข้อมูลแบบกระจายศูนย์ (distributed ledger) โดยมีเป้าหมายที่จะแก้ไขปัญหาเดียวกันกับโปรเจกต์คริปโตตัวอื่น ๆ ที่ใช้งานเทคโนโลยีบล็อกเชน แต่มีประสิทธิภาพสูงกว่า ทั้งในแง่ของความเร็ว ความปลอดภัย และกินพลังงานน้อยกว่า
Hedera เริ่มต้นจาก Swirlds ซึ่งเป็นบริษัทซอฟต์แวร์สัญชาติอเมริกัน ซึ่งถูกก่อตั้งในปี 2015 โดย Mance Harmon และ Leemon Baird โดยคุณ Leemon เป็นผู้คิดค้นเทคโนโลยี Hashgraph ซึ่งเป็นกลไกฉันทามติรูปแบบใหม่สำหรับเทคโนโลยีการจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์ ซึ่งทำหน้าที่เป็นกลไกกระดูกสันหลังของ Hedera ครับ โดยหลังจากที่คุณ Leemon ตีพิมพ์งานวิจัยในหัวข้อดังกล่าวในเดือนพฤษภาคม 2016 ภายใต้ชื่อ Swirlds Hashgraph โปรเจกต์ Hedera ก็ได้เริ่มต้นขึ้นหลังจากนั้น โดยมีคุณ Mance ดำรงตำแหน่ง CEO และคุณ Lemon ดำรงตำแหน่ง chief scientist ของโปรเจกต์ครับ
ซึ่ง Hedera อธิบายเทคโนโลยีของตัวเองว่าเป็นเทคโนโลยีการเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์ (distributed ledger technology:DLT) รุ่นที่ 3 ต่อจาก Bitcoin และ Ethereum ซึ่ง Hedera ให้คำจำกัดความว่าเป็นเทคโนโลยี DLT รุ่นที่ 1 และ 2 ตามลำดับครับ
ตัวโปรเจกต์เปิดระดมทุนจากนักลงทุนครั้งแรกในปี 2017 ครับ โดยในปัจจุบัน Hedera เป็นบริษัทร่วมที่ถือหุ้นโดย Swirlds ซึ่งเป็นบริษัทผู้ก่อตั้งและเป็นผู้ถือสิทธิบัตรเทคโนโลยี Hashgraph ร่วมกับบริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่งทั่วโลก เช่น Google, LG, Boeing, IBM, Aberdeen, Dell และ Ubisoft ครับ (เรียกบริษัทเหล่านี้รวมกันว่า Hedera Governing Council) โดยจะมีเพียงบริษัทเหล่านี้เท่านั้นที่มีสิทธิในการโหวตกำหนดทิศทางความเป็นไปของโปรเจกต์ แต่ผู้ใช้งานทั่วไปสามารถเสนอร่างการอัปเกรดที่เรียกว่า Hedera improvement proposal (HIP) เพื่อให้บริษัทกลุ่มดังกล่าวพิจารณาได้ครับ
ความแตกต่างสำคัญหนึ่งอย่างของ Hedera เมื่อเทียบกับโปรเจกต์คริปโตเคอร์เรนซีอื่น ๆ คือชุดโปรแกรมของ Hedera จะไม่เป็น open source เหมือนกับโปรเจกต์อื่น ๆ เนื่องจาก Hashgraph ซึ่งเป็นเทคโนโลยีหลักของโปรเจกต์ มีการจดสิทธิบัตรชัดเจน โดยมี Swirlds เป็นเจ้าของสิทธิดังกล่าว ไม่สามารถเปิดเผยแก่สาธารณชนได้ โดยชุดโปรแกรมของ Hedera มีลักษณะเป็น open review นั่นคือจะเปิดเผยแก่สาธารณชนสำหรับการตรวจสอบ และทดสอบการทำงาน แต่ไม่อนุญาตให้นำไปใช้ประโยชน์ใด ๆ ครับ
Technology
Hashgraph
ตามที่กล่าวไปครับว่า Hedera ใช้เทคโนโลยีที่ชื่อว่า Hashgraph โดย Hashgraph เป็นเทคโนโลยีการเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์รูปแบบหนึ่ง อธิบาย DLT เพิ่มเติมคือ DLT เป็นวิธีการเก็บข้อมูลที่ไม่พึ่งพาอาศัยตัวกลางใด ๆ แต่ใช้วิธีการสื่อสารระหว่างคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องภายในระบบ เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน (เรียกว่า consensus) ในกรณีของคริปโตเคอร์เรนซี ข้อสรุปดังกล่าวหมายถึงรายการธุรกรรมที่ได้รับการยืนยันความถูกต้องจากคอมพิวเตอร์ส่วนใหญ่ภายในเครือข่ายครับ ซึ่งโปรเจกต์คริปโตโดยปกติจะใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน ซึ่งเป็น DLT รูปแบบหนึ่งนั่นเองครับ
Hedera เป็นหนึ่งในโปรเจกต์คริปโตเคอร์เรนซีไม่กี่โปรเจกต์ ที่ไม่ใช้งานเทคโนโลยีบล็อกเชน แต่เลือกใช้เทคโนโลยี directed acyclic graph (DAG) แทนครับ ซึ่งการเก็บข้อมูลในรูปแบบดังกล่าวจะมีความแตกต่างสำคัญจากบล็อกเชน นั่นคือคอมพิวเตอร์เครื่องใดเครื่องหนึ่งในเครือข่าย จะสามารถติดต่อและส่งข้อมูลหาคอมพิวเตอร์เครื่องไหนก็ได้ (เรียกว่า network gossiping) ผลลัพธ์คือเครื่องคอมพิวเตอร์ภายในเครือข่ายของ Hedera สามารถทำงานแบบขนาน (parallel) ไปพร้อมกับคอมพิวเตอร์เครื่องอื่นได้ ช่วยเพิ่มปริมาณธุรกรรมที่เครือข่ายสามารถประมวลผลได้ต่อหนึ่งหน่วยเวลาครับ
นอกจากนี้ Hedera ยังมีกลไกการตรวจสอบธุรกรรมที่เรียกว่า virtual voting ซึ่งช่วยเพิ่มความเร็วให้กับเครือข่ายครับ โดยในเครือข่ายของ Hedera เมื่อมี node ใด ๆ รับข้อมูลธุรกรรมใหม่ node นั้นจะส่งต่อข้อมูลให้เฉพาะ node กลุ่มหนึ่ง (ไม่ใช่ทั้งหมด) ที่ถูกเลือกมาแบบสุ่ม (ทำให้ประมวลผลได้เร็วกว่าโปรเจกต์อื่น ๆ ที่ต้องให้ส่งข้อมูลไปยังทุก ๆ node ภายในเครือข่าย) และการตรวจสอบธุรกรรมจะเกิดขึ้นกับ node กลุ่มเล็ก ๆ เช่นเดียวกันครับ และเมื่อกลุ่ม node ดังกล่าวตรวจสอบธุรกรรมเรียบร้อยแล้ว ก็จะส่งต่อผลการตรวจสอบไปยังกลุ่ม node อื่น ๆ ภายในเครือข่าย จนทุก ๆ node ในเครือข่ายรับรู้ความถูกต้องของธุรกรรมครับ
ทั้ง network gossiping และ virtual voting เป็นกลไกสำคัญที่ทำให้ Hedera มีความเร็วค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับโปรเจกต์อื่น ๆ อ้างอิงจากเว็บไซต์ของ Hedera เครือข่ายของ Hedera สามารถประมวลธุรกรรมได้ 10,000 ธุรกรรมต่อวินาที และมีระยะเวลาที่ต้องใช้ในการสรุปผลความถูกต้อง (finality) อยู่ที่ 3–5 วินาทีครับ แต่ความเร็วดังกล่าวเกิดขึ้นกับเฉพาะธุรกรรมที่เป็นการโอนโทเคนจากกระเป๋าเงินหนึ่งไปยังอีกอีกกระเป๋าเงินหนึ่งเท่านั้น สำหรับธุรกรรมรูปแบบอื่น ๆ ที่มีความซับซ้อนขึ้น (เช่น smart contract) ความเร็วของ Hedera จะลดลงเหลือเพียง 10 ธุรกรรมต่อวินาทีครับ
Security
Hedera ใช้กลไกฉันทามติ asynchronous byzantine fault torelance (aBFT) ซึ่งทาง Hedera อ้างว่าเป็นกลไกที่มีความปลอดภัยสูงมากครับ โดย aBFT มีคุณสมบัติป้องกันความพยายามบิดเบือนข้อมูลจากผู้ไม่หวังดี ตราบเท่าที่สัดส่วนของผู้ไม่หวังดีนั้น มีไม่เกิน 1 ใน 3 ของคอมพิวเตอร์ทั้งหมดในเครือข่าย นอกจากนี้ aBFT ยังทำให้คอมพิวเตอร์ในเครือข่ายของ Hedera รับรู้ความถูกต้องของธุรกรรมในเวลาเดียวกันกับที่ธุรกรรมได้รับการยืนยันความถูกต้อง ทำให้ Hedera ปลอดภัยจากการโจมตีแบบ distributed denial-of-services (DDoS) ถึงแม้จะมีคอมพิวเตอร์บางเครื่องในเครือข่ายถูกปิดการทำงานครับ
นอกเหนือจาก aBFT แล้ว Hedera ยังมีกลไกเพิ่มความปลอดภัยโดยมีการบันทึกเวลาของธุรกรรม (โปรเจกต์คริปโตเคอร์เรนซีส่วนใหญ่ไม่มีการบันทึกเวลาแบบนี้) ทำให้รายการธุรกรรมที่ถูกบันทึกลงบนฐานข้อมูลของ Hedera มีการจัดเรียงลำดับที่ชัดเจน และไม่สามารถแก้ไขลำดับได้ครับ
Smart Contract
เครือข่าย Hedera สามารถเขียน smart contract ได้ครับ โดย Hedera ใช้งานฟังก์ชัน smart contract จาก Ethereum Virtual Machine (EVM) ซึ่งสามารถประมวลผลธุรกรรมได้ 300 ธุรกรรมต่อวินาที เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้ความเร็วของ Hedera สำหรับธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับ smart contract ลดลงอย่างมีนัยสำคัญครับ
HBAR
เป็นโทเคนประจำโปรเจกต์ Hedera อ้างอิงจาก CoinGecko ในปัจจุบัน (กุมภาพันธ์ 2023) HBAR มีมูลค่าตลาดอยู่ที่ประมาณ 1.98 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงเป็นอันดับที่ 35 ในบรรดาคริปโตเคอร์เรนซีทั้งหมด โดย HBAR มีปริมาณอุปทานสูงสุด (maximum supply) อยู่ที่ 5 หมื่นล้านโทเคน แต่ในเว็บไซต์ของ Hedera ระบุไว้ว่า Swirlds ซึ่งเป็นบริษัทที่พัฒนา Hedera มีสิทธิในการปรับเปลี่ยนตัวเลขดังกล่าวได้ครับ โดยอุปทานดังกล่าวถูกแบ่งเป็นสัดส่วนได้ตามนี้
- 32.41% ถูกแบ่งให้กับ Hedera Pre-Minted Treasury
- 23.99% ถูกแบ่งไว้สำหรับการพัฒนาเครือข่าย
- 17% ถูกแบ่งขายให้กับนักลงทุนรายใหญ่ 3 รอบ
- 7.96% ถูกแบ่งให้กับ Swirlds ซึ่งเป็นบริษัทผู้พัฒนา Hedera
- 7.96% ถูกแบ่งให้กับผู้ร่วมก่อตั้งโปรเจกต์
- 4.44% ถูกแบ่งให้กับพนักงานของ Hedera ครับ
แต่ในเดือนธันวาคม 2019 มีการแบ่งสัดส่วน HBAR เพิ่มอีก 3% โดยใช้แจกเป็นโบนัสให้กับนักลงทุนรายใหญ่ที่ลงทุนกับโปรเจกต์ไปในปี 2018 เนื่องจากในปี 2019 มีนักลงทุนรายใหญ่ส่วนหนึ่งเทขาย HBAR จนราคาของโทเคนปรับตัวลงอย่างรุนแรง ทาง Hedera จึงตัดสินใจแจก HBAR เป็นโบนัส สำหรับนักลงทุนรายใหญ่ที่ตกลงที่จะชะลอการเทขาย HBAR ที่มีอยู่จากการระดมทุนครับ
ในส่วนของการใช้งาน จะมาจากสองส่วนหลัก ๆ ส่วนแรกคือใช้ชำระเป็นค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมภายในเครือข่ายของ Hedera ครับ อีกส่วนคือใช้สำหรับผู้ตรวจสอบ (validator) ซึ่งก็คือบริษัทที่เป็นสมาชิกของ Hedera Governing Council ที่จะต้องวาง (stake) HBAR เพื่อเป็นสินทรัพย์ค้ำประกัน เพื่อรับสิทธิในการตรวจสอบธุรกรรมภายในเครือข่าย Hedera ครับ จากค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมทั้งหมด ผู้ตรวจสอบจะได้ส่วนแบ่งค่าธรรมเนียม 90% ในขณะที่อีก 10% จะเป็นรายได้ของ Swirlds ครับ ความแตกต่างสำคัญของ Hedera จากโปรเจกต์คริปโตอื่น ๆ อีกหนึ่งอย่างคือ Hedera ไม่มีกลไกในการยึด (slash) HBAR ที่ถูกวางเป็นหลักประกันไว้ กรณีที่พบว่าผู้ตรวจสอบบิดเบือนข้อมูลแต่อย่างใด ทำให้ผู้คนในวงการคริปโตหลาย ๆ คนตั้งคำถามในจุดนี้ครับ ซึ่งทาง Hedera ก็ได้ออกมาชี้แจงว่า กลไกฉันทามติของ Hedera ถูกออกแบบมาให้การบิดเบือนข้อมูลทำได้ยากมาก ๆ อยู่แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นต้องมีการยึดโทเคนตรงนี้แต่อย่างใดครับ แต่หลาย ๆ คนก็ตั้งข้อสังเกตว่าผู้ตรวจสอบของ Hedera ล้วนแล้วแต่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ ซึ่งบริษัทเหล่านี้คงไม่ยอมให้โทเคนที่ถือครองอยู่ถูกยึดไปไม่ว่ากรณีใด ๆ ครับ ถ้าหากมีกลไกการยึดตามที่กล่าวไปข้างต้น บริษัทเหล่านี้อาจจะยกเลิกการเป็นพันธมิตรกับ Hedera ก็เป็นได้ครับ
Roadmap
Hedera Consensus Service (HCS)
เป็นแพลตฟอร์มส่งข้อความแบบกระจายศูนย์ที่เป็นกระดูกสันหลังของการสร้างแอปพลิเคชันในเครือข่ายของ Hedera ครับ ซึ่งในปัจจุบันก็มีการใช้งาน HCS อยู่แล้ว แต่ทีม Hedera ตั้งเป้าที่จะเพิ่มฟีเจอร์ต่าง ๆ ให้กับ HCS และปรับปรุงให้ง่ายต่อการใช้งานมากขึ้น และเพิ่มความเร็วและความปลอดภัยด้วยครับ
Smart Contract Traceability
ในการทำงานหนึ่งครั้งของ smart contract จะให้ผลลัพธ์ออกมาเป็นข้อมูลชุดหนึ่ง ซึ่งการออกแบบข้อมูลขาออกให้สามารถติดตามย้อนกลับไปยังสถานะก่อนหน้าของการทำงานของ smart contract เพื่อให้สามารถสั่งโปรแกรมทำงานได้อีกครั้งโดยที่ผลลัพธ์ยังออกมาเป็นแบบเดิม มีประโยชน์อย่างมากสำหรับการเขียนโปรแกรมครับ แต่การออกแบบดังกล่าวก็ต้องแลกมาด้วยการส่งข้อมูลที่มีต้นทุนสูงขึ้น
ทีม Hedera มีแผนที่จะเพิ่มฟีเจอร์นี้เข้าไปใน smart contract ปัจจุบันครับ แต่จะมีการปรับการติดตัวติดตาม (tracer) ให้มีขนาดเล็กลง เพื่อจะได้ไม่กระทบกับต้นทุนและประสิทธิภาพของเครือข่ายมากนัก โดยมีแผนจะปล่อยฟีเจอร์ดังกล่าวภายในไตรมาสแรกของปี 2023 ครับ
Concerns
Centralization
ด้วยการออกแบบของ Hedera ที่จะมีเพียงผู้ใช้งานกลุ่มเดียวเท่านั้นที่ได้รับสิทธิในการตรวจสอบธุรกรรม ซึ่งผู้ใช้งานกลุ่มนี้ก็คือ Hedera Governing Council ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นบริษัทหรือองค์กรขนาดใหญ่อีกด้วย ในโปรเจกต์คริปโตเคอร์เรนซีทั่วไป ผู้ใช้งานทุกคนควรมีสิทธิได้เป็นผู้ตรวจสอบธุรกรรมภายในเครือข่ายครับ (แต่จะมีวิธีการคัดเลือกอย่างไรก็แล้วแต่เครือข่าย เช่นบล็อกเชน Proof-of-Work ที่ใช้กำลังการคำนวณ หรือบล็อกเชน Proof-of-Stake อื่น ๆ ที่ใช้มูลค่าการ stake) แต่ใน Hedera ต่อให้ผู้ใช้งานคนอื่น ๆ จะพร้อมแค่ไหน ก็ไม่สามารถเป็นผู้ตรวจสอบได้ครับ ประเด็นจุดนี้ทำให้เกิดความรวมศูนย์ (centralization) ขึ้นกับเครือข่ายของ Hedera เพราะมีบริษัทและองค์กรเพียงไม่กี่แห่งที่ควบคุมความเป็นไปของ Hedera อยู่ครับ ทำให้โอกาสที่จะเกิดการบิดเบือนข้อมูลภายในเครือข่ายของ Hedera มีสูงกว่าเครือข่ายบล็อกเชนอื่น ๆ ครับ ยังไม่นับเรื่องการไม่มีกลไกการยึด (slash) HBAR ของบริษัทเหล่านี้ หากมีความตั้งใจที่จะบิดเบือนข้อมูลภายในเครือข่าย ทำให้การบิดเบือนข้อมูลสามารถทำได้ง่ายขึ้นอีกหนึ่งระดับครับ
Adoption
เทคโนโลยีของ Hedera ถือว่าค่อนข้างล้ำหน้าเมื่อเทียบกับโปรเจกต์คริปโตเคอร์เรนซีอื่น ๆ ในท้องตลาดครับ แต่การใช้งานเครือข่าย Hedera ยังค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับโปรเจกต์อื่น ๆ ครับ มูลค่ารวมของโทเคนที่อยู่ใน smart contract ของ Hedera ในปัจจุบัน อยู่ที่ 43 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งน้อยมาก ๆ เมื่อเทียบกับโปรเจกต์อื่น ๆ ที่มีฟังก์ชัน smart contract เช่นกัน (ยกตัวอย่างโปรเจกต์ที่ไม่ได้มีมูลค่าตลาดใหญ่มากอย่าง Celo หรือ NEO ก็มีมูลค่าโทเคนใน smart contract สูงกว่า Hedera ครับ) ดังนั้น Hedera ยังมีปัญหาในด้านการขยายฐานผู้ใช้งานอยู่ครับ หนึ่งในสาเหตุสำคัญคือความเร็วของเครือข่ายครับ ตามที่กล่าวไปข้างต้นว่าถ้าหากทำธุรกรรมที่มีความซับซ้อนอย่างเช่น smart contract เครือข่ายของ Hedera สามารถประมวลผลธุรกรรมได้เพียง 10 ธุรกรรมต่อวินาที ซึ่งถือว่าน้อยมาก ๆ เมื่อเทียบกับโปรเจกต์อื่นครับ
อีกหนึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้คนส่วนหนึ่งในวงการคริปโตเคอร์เรนซีเลือกที่จะไม่ใช้งาน Hedera คือการจดสิทธิบัตรเทคโนโลยี Hashgraph และไม่เปิดชุดโปรแกรมของเครือข่ายให้เป็นสาธารณะ อธิบายเพิ่มเติมคือโปรเจกต์คริปโตเกือบทั้งหมดจะเปิดเผยชุดโปรแกรมในลักษณะ open source ครับ นั่นคือผู้ใช้งานทั่วไปสามารถมีส่วนร่วมในการเขียนโปรแกรมเพิ่มเติม และส่งให้กับชุมชนผู้ใช้งานตรวจสอบและโหวตได้ หรือผู้ใช้งานสามารถนำชุดโปรแกรมดังกล่าวไปพัฒนาต่อเป็นของตัวเองก็ได้ ซึ่งแนวทางการทำธุรกิจของ Hedera ไม่ได้เป็นแบบนั้นครับ Hedera เลือกที่จะป้องกันไม่ให้ผู้ใช้งานทั่วไปนำเทคโนโลยีของตนไปต่อยอด นั่นทำให้ผู้คนในวงการคริปโตหลาย ๆ คนเลือกที่จะไม่ใช้งาน Hedera ครับ
Summary
Hedera เป็นโปรเจกต์คริปโตเคอร์เรนซีที่ค่อนข้างจะแตกต่างจากโปรเจกต์อื่น ๆ พอสมควรเลยครับ ตัวโปรเจกต์เองมีจุดแข็งอยู่ในหลาย ๆ ด้านด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี Hashgraph ที่เป็นเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย ช่วยให้เครือข่ายของ Hedera มีความเร็วในการประมวลผลธุรกรรมที่ไม่ซับซ้อนได้เร็วพอสมควรครับ รวมถึงตัวโปรเจกต์เองได้รับการหนุนหลังจากบริษัทชั้นนำของโลกหลาย ๆ แห่ง ที่เข้ามาเป็นสมาชิกของ Hedera Governing Council และ Hedera เองก็ยังมีเป้าหมายจับมือเป็นพันธมิตรกับบริษัทชั้นนำแห่งอื่น ๆ เพื่อเพิ่มจำนวนสมาชิกอีกครับ
แต่เป้าหมายดังกล่าวดูจะไม่ใช่แนวทางที่ชุมชนผู้ใช้งานคริปโตเคอร์เรนซีอยากจะให้เป็นสักเท่าไรครับ การที่บริษัทขนาดใหญ่มีส่วนร่วมกับโปรเจกต์มากเกินไป ในท้ายที่สุดอาจจะทำให้โปรเจกต์ขาดความกระจายศูนย์ ซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญของโปรเจกต์คริปโตเคอร์เรนซีครับ อันที่จริงแล้วในปัจจุบัน ผู้คนในวงการคริปโตส่วนหนึ่งก็มีความสงสัยในประเด็นเรื่องความกระจายศูนย์ของ Hedera เช่นกันครับ เนื่องจากตัวโปรเจกต์อนุญาตให้ผู้ใช้งานเพียงกลุ่มเดียว มีสิทธิในการตรวจสอบธุรกรรม และกำหนดทิศทางความเป็นไปของโปรเจกต์ ซึ่งบริษัทที่ว่าก็คือกลุ่มของบริษัทใหญ่ที่เป็นสมาชิกของโปรเจกต์นั่นเองครับ ยังไม่นับว่า Swirlds ซึ่งเป็นบริษัทผู้พัฒนา Hedera สามารถปรับเปลี่ยนปริมาณอุปทานของ HBAR ได้ (ตามที่กล่าวไว้ในเว็บไซต์) ทำให้มูลค่าของ HBAR มีความไม่แน่นอนสูงมากครับ ประเด็นดังกล่าวทำให้นักลงทุนรายย่อยหลายคนยังไม่ค่อยให้ความสนใจ HBAR มากนัก ต้องรอดูกันต่อไปครับว่า Hedera จะมีแนวทางพัฒนาโปรเจกต์อย่างไรต่อไป จะมุ่งเป้าไปที่การจับมือกับบริษัทใหญ่แบบเดิม หรือจะปรับเปลี่ยนแนวทางเข้ามาหาผู้ใช้งานรายย่อยมากขึ้นครับ
Further Read:
- Official Website: https://hedera.com/
- Whitepaper: https://hedera.com/hh_whitepaper_v2.1-20200815.pdf
- Official Roadmap: https://hedera.com/roadmap
CodeBreaker
ที่มาบทความ: https://link.medium.com/vjOz3eHjoyb
คำเตือน
การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยงสูง อาจสูญเสียเงินลงทุน ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจและศึกษาข้อมูล รวมทั้งลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้