What is Gala?
Gala เป็นโปรเจกต์บนบล็อกเชนของ Ethereum ที่มุ่งเน้นการพัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับการสร้างเกมโดยเฉพาะ ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน ทำให้เกมที่ถูกสร้างขึ้นภายใน Gala มีลักษณะกระจายศูนย์ (decentralized) มากกว่าเกมในรูปแบบเดิม ๆ ครับ
Gala ถูกก่อตั้งโดย Eric Schiermeyer และ Mike McCarthy ครับ โดย Eric เคยทำงานเป็น CTO ของบริษัท Intermix Media ที่เป็นผู้พัฒนา MySpace ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มสื่อออนไลน์ยุคบุกเบิก และเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง Zynga ซึ่งเป็นบริษัทมหาชนในสหรัฐอเมริกาที่พัฒนาเกม และเป็นผู้พัฒนาเกมดัง ๆ อย่างเช่น Farmville ที่อยู่บน Facebook ครับ โดยในปัจจุบัน Eric ดำรงตำแหน่ง CEO ของ Gala และมี Mike รับผิดชอบในตำแหน่ง President of Games หรือเป็นหัวเรือใหญ่ในการพัฒนาเกมภายใน Gala ครับ โดย Gala ตั้งใจที่จะเป็นแพลตฟอร์มเกมที่ประยุกต์ใช้งานเทคโนโลยีบล็อกเชน ที่มีหลักใหญ่ใจความอยู่ 4 ข้อด้วยกันครับ
- Fun First: กลไกของเกมบน Gala จะต้องไม่ซับซ้อนจนเกินไป และผู้เล่นที่ไม่ได้มีความรู้เกี่ยวกับบล็อกเชนมากนัก ก็สามารถเล่นได้
- Owned by Players: ผู้เล่นจะเป็นเจ้าของไอเทมต่าง ๆ ภายในเกมอย่างแท้จริง โดยการบันทึกข้อมูลลงบนบล็อกเชน ทำให้การแก้ไขข้อมูลโดยบุคคลคนใดคนหนึ่งทำได้ยาก
- Community Rules: ทิศทางการพัฒนาเกมจะต้องมาจากเสียงส่วนใหญ่ของชุมชนผู้เล่น
- Powered by the People: เกมบน Gala จะได้รับการสนับสนุนจากผู้มีส่วนร่วมบนบล็อกเชน ผู้มีส่วนร่วมเหล่านี้คือ node operators ครับ ซึ่งจะอธิบายในส่วนถัดไป
Gala มีเป้าหมายที่จะเป็นระบบนิเวศของเกมที่ใหญ่ที่สุด ไม่ใช่แค่เพียงในวงการคริปโตเคอร์เรนซี แต่ใหญ่กว่าแพลตฟอร์มเกมในรูปแบบดั้งเดิมด้วยครับ โดยความน่าสนใจอย่างหนึ่งของ Gala คือตัวโปรเจกต์ไม่ได้รับเงินลงทุนจากบริษัท VC แต่อย่างใด (โปรเจกต์คริปโตเคอร์เรนซีส่วนมากจะทำการระดมทุนผ่านวิธี Initial Coin Offering หรือ ICO ซึ่งเป็นการขายเหรียญเพื่อให้ได้ทุนมาพัฒนาโปรเจกต์) โดยทุนการพัฒนาโปรเจกต์ มาจากทุนส่วนตัวของผู้ร่วมก่อตั้ง รวมกับการขาย NFT ของเกมภายใน Gala ทั้งเกมที่เปิดให้เล่นแล้ว และเกมที่กำลังพัฒนาครับ
Technology
Gala Nodes
โดยพื้นฐานแล้ว Gala ทำงานอยู่บนบล็อกเชนของ Ethereum ครับ ดังนั้นกลไกฉันทามติ รูปแบบการทำธุรกรรม จะอ้างอิงกับบล็อกเชนของ Ethereum เป็นหลัก ส่วนที่เพิ่มเข้ามาจะเป็น Gala nodes ที่ทำหน้าที่ดูแลความเป็นไปภายในระบบนิเวศของ Gala ครับ Gala nodes จะมีหน้าที่ตรวจสอบธุรกรรม “เฉพาะภายในระบบนิเวศของ Gala” และจะสามารถโหวตเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับเรื่องต่าง ๆ เช่น เกมใหม่ที่จะถูกพัฒนาภายในระบบ หรือการให้ทุนสนับสนุนนักพัฒนาเกม เป็นต้น ซึ่งในอนาคต Gala จะมีการสร้างบล็อกเชนเป็นของตัวเอง และเมื่อถึงจุดนั้น Gala nodes ก็จะได้รับสิทธิในการตรวจสอบธุรกรรมเต็มรูปแบบครับ
อ้างอิงจาก Gala จะมี Gala Nodes อยู่สูงสุดจำนวน 50,000 nodes ซึ่งทางทีมคาดการณ์ว่าจะรองรับจำนวนผู้ใช้งานรายเดือน (monthly active users) ได้ 100 ล้านคน โดยในปัจจุบันมี Gala Nodes อยู่ประมาณ 21,000 nodes ครับ สำหรับใครที่สนใจจะเป็น Gala Nodes สามารถเข้าไปซื้อสิทธิในการเป็น node ได้ที่ official website ของ Gala โดยราคาสิทธิดังกล่าวอยู่ที่ประมาณ 85,000 ดอลลาร์สหรัฐครับ
Node Ecosystem
Games
Townstar
เป็นเกมแรกที่ถูกปล่อยออกมาบนแพลตฟอร์ม Gala ครับ โดยเป็นเกมทำฟาร์มที่มีลักษณะการเล่นคล้ายคลึงกับ Farmville (คาดว่าน่าจะพัฒนาต่อยอดมาจาก Farmville เพราะนักพัฒนาเกมใน Gala หลายคนก็เคยทำงานอยู่ที่ Zynga ซึ่งเป็นบริษัทผู้พัฒนา Farmville มาก่อน) ครับ โดยเปิดให้เล่นฟรีทั้งบนคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือ (iOS และ Android) และมีการใส่กลไก play-to-earn เข้าไปในเกม และมีการสร้างไอเทมในเกมในรูปแบบ NFT ด้วยครับ โดย NFT ใน Townstar จะมีสองรูปแบบ คือรูปแบบที่เป็นไอเทมเพิ่มพลังในเกม และรูปแบบที่เป็นของตกแต่งธรรมดาครับ
วิธีการได้รับรางวัลจะมีหลัก ๆ อยู่สองวิธีครับ วิธีแรกคือในเกมจะมีการจัดการแข่งขันรายสัปดาห์ โดยจะมีดาวซึ่งเปรียบเสมือนคะแนนที่ผู้เล่นจะได้เมื่อทำภารกิจต่าง ๆ และในแต่ละสัปดาห์ Townstar จะแจกโทเคน GALA ให้กับผู้เล่นที่สะสมดาวได้มากที่สุดในรอบสัปดาห์นั้น ๆ 100 อันดับแรกครับ อีกหนึ่งวิธีคือการทำภารกิจรายวัน (daily challenges) ซึ่งผู้เล่นที่ถือครอง NFT ประเภทที่เพิ่มพลังของ Townstar เท่านั้นที่จะทำได้ (สามารถซื้อ-ขายได้ผ่าน OpenSea ซึ่งเป็นตลาดซื้อ-ขาย NFT บนบล็อกเชนของ Ethereum ครับ)
Spider Tanks
เป็นเกมต่อสู้รูปแบบ PvP ที่เปิดให้เล่นบนคอมพิวเตอร์ครับ ถูกพัฒนาขึ้นโดย Gamedia ซึ่งเป็นบริษัทสร้างเกมสัญชาติเนเธอร์แลนด์ โดยในการเล่น Spider Tanks ผู้เล่นจะมีรถถังเป็นของตนเอง ซึ่งรถถังถูกสร้างขึ้นในรูปแบบ NFT และมีการซื้อ-ขายกันทั่วไป ดังนั้นผู้เล่นสามารถหาซื้อรถถังเพิ่มเติมได้ และมีไอเทมที่เพิ่มพลังรถถังที่หลากหลาย เช่น ปืน เกราะ และอื่น ๆ โดยในปัจจุบัน Spider Tanksเปิดให้เล่นในแบบ beta อยู่ครับ
Mirandus
เป็นเกมแนวแฟนตาซี RPG ที่มีฟีเจอร์หลากหลายให้ผู้เล่นได้เล่นสนุกครับ ซึ่ง Mirandus ไม่ใช่เกม free-to-play นะครับ สำหรับใครที่อยากเล่นจะต้องซื้อ NFT ตัวละคร (ซึ่งมีจำนวนจำกัด) ครับ และคนที่ถือ NFT ตัวละครนี้เท่านั้น จึงจะเข้าไปเล่นได้ครับ โดยผู้เล่นสามารถเลือกที่จะ “ทำอะไรก็ได้” ภายในเกม ไม่มีภารกิจส่วนกลาง ไม่มีการบังคับว่าจะเดินไปทางไหนได้บ้าง กลไกในเกมจะใช้ระบบจักรพรรดิ ผู้เล่นสามารถเข้าร่วมอาณาจักรใดอาณาจักรหนึ่งเพื่อเป็นพลเมืองได้ หรือจะออกไปท่องโลกกว้างในป่าลึกตัวคนเดียวก็ได้ครับ
แผนที่ในเกมจะถูกแบ่งออกเป็นที่ดินทั้งหมด 1,625 ผืน ซึ่งผู้เล่นสามารถซื้อ-ขายที่ดินได้ หรือถ้าหากต้องการสร้างสิ่งปลูกสร้างบางอย่างบนที่ดินของผู้อื่นก็สามารถทำสัญญาเช่าได้เช่นกัน ทำให้ Mirandus มีความเป็นแพลตฟอร์มโลกเสมือน (virtual world) เหมือนกับโปรเจกต์เรือธงอย่าง The Sandbox และ Decentraland ครับ (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ The Sandbox ได้ที่นี่ และ Decentraland ได้ที่นี่) และเป็นเกมที่ถูกจับตามองว่าจะเป็นเกมเรือธงของ Gala เลยครับ ซึ่งในปัจจุบันตัวเกมยังอยู่ระหว่างการพัฒนาอยู่ครับ
Last Expedition
เป็นเกม FPS แนวเอาชีวิตรอดที่ถูกพัฒนาโดย Certain Affinity ซึ่งเป็นบริษัทพัฒนาเกมสัญชาติอเมริกัน ที่เคยพัฒนาเกม FPS อย่าง Halo 2 ครับ โดยผู้เล่น Last Expedition จะเป็นกลุ่มนักสำรวจที่ออกไปสำรวจดาวต่าง ๆ และได้ไปเจอกับดาวที่เต็มไปด้วยฝูงเอเลี่ยน และต้องต่อสู้กับฝูงเอเลี่ยนเหล่านั้นครับ โดยผู้เล่นจะมีไอเทมต่าง ๆ เช่นปืน ชุดเกราะ หรืออุปกรณ์ช่วยเหลืออื่น ๆ (ซึ่งยังไม่ได้มีรายละเอียดออกมามากนัก แต่ก็คาดการณ์กันว่าจะออกมาเป็น NFT ให้มีการซื้อ-ขายกันครับ) โดยในปัจจุบัน Last Expedition ยังอยู่ระหว่างการพัฒนาครับ
Echoes of Empire
เป็นเกมวางแผนแนว sci-fi ซึ่งผู้เล่นจะได้เล่นเป็นเจ้าของอาณาจักรแห่งหนึ่ง และมีหน้าที่ในการสร้างอาณาจักร ขยายกองทัพ จ้างนักรบ เพื่อขยายอาณาจักรของตนเองให้กว้างใหญ่ครับ ซึ่งส่วนประกอบต่าง ๆ ภายในเกม เช่น ยานรบ นักรบ อาวุธต่าง ๆ เปรียบเสมือน NFT และคาดว่าน่าจะซื้อขายกันได้เหมือนกับเกมอื่น ๆ ครับ ในปัจจุบัน Echoes of Empire กำลังอยู่ในช่วงพัฒนาอยู่ครับ
The Walking Dead Empire
เป็นเกมเอาชีวิตรอดซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจาก The Walking Dead ซึ่งเป็นซีรีส์เอาชีวิตรอดเรื่องดังครับ โดยแผนที่ ฉาก ต่าง ๆ และบรรยากาศในเกมจะมีความคล้ายคลึงกับ The Walking Dead เลยครับ กลไกของเกมจะเป็นการเล่นแบบ multiplayer โดยผู้เล่นจะต้องร่วมทีมกับผู้เล่นคนอื่น ๆ ในการเอาชีวิตรอดจากฝูงซอมบี้ในเกม โดยจะต้องออกไปตามหาสิ่งของต่าง ๆ ที่น่าจะมีประโยชน์ และสร้างบ้านพักของตัวเองให้แข็งแกร่งและทนทานครับ ซึ่งแน่นอนว่าที่ดินและไอเทมเพิ่มพลังต่าง ๆ จะอยู่ในรูปแบบ NFT และสามารถซื้อขายได้ครับ
Gala Music
ในเดือนเมษายน 2023 ที่ผ่านมา Gala ได้เปิดตัวแพลตฟอร์มฟังเพลงแบบกระจายศูนย์ที่มีชื่อว่า Gala Music โดยมีเป้าหมายที่จะช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างแฟนเพลงและศิลปินให้ใกล้ชิดกันมากขึ้น โดยใช้เทคโนโลยี web3 และบล็อกเชนครับ โดยผู้มีส่วนร่วมบนแพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็นศิลปินหรือผู้ฟัง จะได้รับค่าตอบแทนจากการมีส่วนร่วมบนแพลตฟอร์มครับ ตั้งแต่เปิดตัวจนถึงปัจจุบันก็มีศิลปินชื่อดังจำนวนมากเข้ามาปล่อยเพลงให้ได้รับฟังกันบน Gala Music ไล่ตั้งแต่ Snoop Dogg, Mount Westmore หรือ Kings of Leon ครับ
GALA
GALA เป็นโทเคนประจำfแพลตฟอร์ม Gala ครับ โดยเริ่มต้นจากการเป็น ERC-20 บนบล็อกเชนของ Ethereum และในปัจจุบันได้เพิ่มโทเคน GALA ที่เป็นโทเคน BEP-20 บน BNB Chain (หรือ Binance Smart Chain เก่า) แล้วครับ โดยมีปริมาณอุปทานสูงสุด (maximum supply) อยู่ที่ “ประมาณ” 5 หมื่นล้านเหรียญ (ในเว็บไซต์ของ Gala เขียนว่า approximately 50 billion) โดยเริ่มมีการผลิต (mint) GALA มาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2020 และในปีแรกของการผลิต มี GALA ถูกผลิตออกมาทั้งหมด 2,500 ล้านเหรียญ (คิดเป็นประมาณ 50% ของปริมาณอุปทานสูงสุด) ไปแล้วครับ และในเดือนกรกฎาคมของทุกปี ปริมาณการผลิต GALA ในรอบปีถัดไป จะถูกลดลงครึ่งหนึ่งของปริมาณที่ผลิตในปีก่อนหน้าครับ (หมายความว่าในช่วงเดือนกรกฎาคม 2021 จนถึงกรกฎาคม 2022 จะมี GALA ถูกผลิตทั้งหมด 1,250 ล้านเหรียญครับ)
ในทุก ๆ รอบปี 50% ของ GALA ที่ถูกผลิตขึ้นมาใหม่จะถูกแบ่งให้กับ founders nodes ครับ และอีก 50% ที่เหลือจะถูกแบ่งไปที่ Gala Games Conservatorship ซึ่งเป็นกองกลางของชุมชน Gala ซึ่งก็จะถูกใช้เป็นทุนในการพัฒนาเกมต่าง ๆ ภายในระบบนิเวศของ Gala ต่อไป
ในส่วนของความต้องการ GALA จะเป็นโทเคนที่ใช้ชำระการซื้อ NFT ต่าง ๆ ภายในระบบนิเวศของ Gala ครับ และใช้สำหรับการซื้อใบอนุญาตสำหรับการเป็น Gala node ครับ อ้างอิงจาก CoinGecko ในปัจจุบัน (กรกฎาคม 2023) GALA มีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 593 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงเป็นอันดับที่ 77 ในบรรดาคริปโตเคอร์เรนซีทั้งหมดครับ
Roadmap
Project Gyri
ถึงแม้ว่าในปัจจุบัน Gala จะทำงานอยู่บนบล็อกเชนของ Ethereum แต่ในอนาคต ทีม Gala เองมีแผนที่จะย้ายระบบนิเวศทั้งหมดของ Gala ไปไว้บนบล็อกเชนใหม่ที่สร้างขึ้นมาเอง ซึ่งบล็อกเชนนั้นก็คือ Gyri ครับ โดยการเปลี่ยนแปลงใหญ่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นก็คือ nodes จากเดิมที่มี node อยู่ประเภทเดียว (ซึ่งจะถูกเรียกว่า Founder Nodes) จะมีเพิ่มขึ้นมาอีกสองประเภทครับ คือ
- Paid Nodes เป็น node ที่จะทำหน้าที่เหมือนกับ node ทั่วไป แต่จะทำหน้าที่เฉพาะภายในเกมที่กำหนดเท่านั้น
- Free Nodes เป็น node ที่คอยสนับสนุน Founder Nodes และ Paid Nodes อีกทอดหนึ่ง
โดย Gyri จะมีกลไกฉันทามติทั้งหมด 3 แบบด้วยกันครับ สำหรับ Founder Nodes จะใช้กลไกแบบ proof-of-work, Paid Nodes ใช้กลไก proof-of-stake และ Free Nodes ใช้กลไก proof-of-storage ครับ นอกจากนี้ เมื่อ Gala ย้ายมาอยู่บน Gyri แล้ว ธุรกรรมทุกอย่างในระบบนิเวศของ Gala จะต้องจ่ายค่า gas ด้วย GALA ครับ ซึ่งน่าจะส่งผลบวกต่อราคา GALA ได้ไม่น้อยเลยครับ
Ecosystem Expansion
นอกเหนือจากการสร้างบล็อกเชนของตัวเองแล้ว Gala ยังมีแผนขยายระบบนิเวศของตัวเอง ผ่านการเชื่อมต่อกับบล็อกเชนอื่น ๆ เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถย้าย NFT จากบล็อกเชนหนึ่งไปยังอีกบล็อกเชนหนึ่งได้ครับ โดย Gala ได้เริ่มต้นจับมือเป็นพันธมิตรกับ Polygon (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Polygon ได้ที่นี่) ที่ทาง Gala เองกำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้ Polygon PoS Chain ในการลดค่า gas อยู่ด้วยครับ แต่จนถึงปัจจุบันนี้ก็ยังไม่มีรายละเอียดออกมาแน่ชัดว่าจะใช้งานบล็อกเชนดังกล่าวอย่างไร นอกจาก Polygon แล้ว Gala ยังจับมือเป็นพันธมิตรกับ Flare Network ซึ่งเป็น smart contract sidechain ของ Ripple อีกด้วยครับ โดยในอนาคต ผู้ใช้งานจะสามารถผลิต (mint) โทเคน GALA บนบล็อกเชนของ Flare Network ได้ และทาง Flare Network เองก็กำลังสร้างสะพานเชื่อมต่อกับ Ethereum อยู่ด้วยครับ เมื่อสร้างสะพานดังกล่าวเสร็จ คาดว่าผู้ใช้งานจะสามารถใช้งานโทเคน GALA บนบล็อกเชนของ Flare Network ได้อย่างสะดวกสบายเลยครับ
Concerns
ผมเชื่อว่าหลาย ๆ คนน่าจะเห็นความแข็งแกร่งของชุมชนผู้ใช้งาน Gala นะครับ ทางแพลตฟอร์มเองก็ทยอยปล่อยเกมใหม่ออกมาให้เล่นเรื่อย ๆ แต่ถึงกระนั้น Gala เองยังมีประเด็นที่ควรระวังอยู่หลาย ๆ จุดครับ โดยประเด็นส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับการสื่อสารและความโปร่งใสในการเปิดเผยข้อมูลหลาย ๆ ส่วนของโปรเจกต์ครับ อย่างเช่น
- ในเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของ Gala ไม่ได้มีการทำคู่มือการใช้งาน (documentation) ของโปรเจกต์เอาไว้ครับ (ซึ่งโปรเจกต์คริปโตเคอร์เรนซีส่วนใหญ่จะมีเอกสารนี้ในเว็บไซต์) เนื้อหาเกี่ยวกับวิธีการใช้งาน nodes, เกมต่าง ๆ ถูกกระจายไว้ในหลาย ๆ ส่วนของเว็บครับ ทำให้การค้นหาข้อมูลต่าง ๆ จากเว็บไซต์ของ Gala โดยตรง ทำได้ค่อนข้างยาก
- Gala ไม่มี forum อย่างเป็นทางการครับ โดยปกติ โปรเจกต์คริปโตเคอร์เรนซีหลาย ๆ ตัว จะมี forum สำหรับนักพัฒนาและผู้ใช้งานทั่วไปได้พูดคุยโต้เถียงกันถึงการใช้งานในปัจจุบัน ปัญหาที่พบ และสิ่งที่อยากให้พัฒนาเพิ่มเติม แต่ Gala ไม่มีสิ่งนี้อยู่ครับ จะมีเพียงแต่ Discord ที่อาจจะไม่ใช่แพลตฟอร์มที่ดีมากนักสำหรับการถกเถียงรูปแบบนี้ครับ
นอกจากประเด็นเรื่องการสื่อสารแล้ว อีกหนึ่งประเด็นที่สำคัญคือตัวโปรแกรมที่ใช้ทำงานสำหรับ Gala nodes ครับ โดยโปรแกรมดังกล่าวถูกพัฒนาและควบคุมโดย Gala แต่เพียงผู้เดียว นั่นแปลว่า Gala สามารถสั่งระงับการทำงานของ Gala node ใด ๆ ได้ทันที นอกจากนี้ Gala ยังสามารถยกเลิกสิทธิในการเป็น node ได้ ถ้าหาก node ดังกล่าวละเมิดข้อตกลงในการใช้งานครับ ประเด็นนี้ถูกตั้งคำถามค่อนข้างเยอะในกลุ่มผู้ใช้งานครับว่า Gala มีสิทธิในการควบคุมระบบนิเวศของตนเองสูงเกินไปหรือไม่
Summary
ถ้าเรามอง Gala เป็นแพลตฟอร์มเกม ผมคิดว่า Gala เองก็เป็นระบบนิเวศเกมที่น่าจับตามองครับ ตัวแพลตฟอร์มเองมีการปล่อยเกมใหม่ ๆ ออกมาให้ผู้เล่นได้เล่นเรื่อย ๆ และหลาย ๆ เกมก็ดูน่าสนใจ และผู้ใช้งานยังสามารถลงทุนร่วมกับ Gala โดยการซื้อสิทธิในการเป็น node และตั้ง Gala node เพื่อสร้างรายได้ให้กับตนเองได้ครับ ทำให้ Gala เองเป็นแพลตฟอร์มที่ดูจะเติบโตต่อไปได้ แต่ถ้าหากเรามอง Gala เป็นโปรเจกต์คริปโตเคอร์เรนซี Gala เองก็มีประเด็นที่ต้องติดตามอยู่อีกเยอะเลยครับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการไม่มี roadmap หรือการที่ Gala เองมีสิทธิเหนือกว่าผู้ใช้งานทั่วไปค่อนข้างเยอะ ทำให้ตัวโปรเจกต์เองยังขาดความกระจายศูนย์อยู่ครับ นอกจากนี้ ผมเชื่อว่าหลาย ๆ คนน่าจะพอทราบว่าแนวโน้มของ GameFi ในปัจจุบันไม่ได้เป็นที่นิยมเหมือนเมื่อก่อนแล้ว ในสมัยก่อนเราจะเห็นคนที่เล่น GameFi เพื่อให้ได้เงิน แต่ในปัจจุบัน GameFi ได้เงินอย่างเดียวก็ไปไม่รอดครับ จะต้องสนุกเหมือนเกมทั่วไปด้วย ผมคิดว่าประเด็นนี้จะเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่จะบ่งบอกว่า Gala จะสามารถเติบโตต่อไปได้หรือไม่ครับ
Further Read:
- Official Website: https://app.gala.games/
- Ecosystem: https://app.gala.games/nodes/ecosystem
- Project GYRI: https://dappradar.com/blog/gala-games-presents-its-blockchain-what-is-project-gyri
- CoinBureau: https://www.coinbureau.com/review/gala-games/
CodeBreaker
ที่มาบทความ: https://link.medium.com/IJlW6s7kjBb
คำเตือน
การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยงสูง อาจสูญเสียเงินลงทุน ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจและศึกษาข้อมูล รวมทั้งลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้