NBA Top Shot ถือเป็นหนึ่งใน GameFi ที่มีจำนวนผู้ใช้งานและปริมาณการซื้อขายสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของ GameFi ทั้งหมดนะครับ ด้วยจุดเด่นที่อ้างอิง NBA ซึ่งเป็นลีกบาสเกตบอลชื่อดังจากสหรัฐอเมริกา ทั้งการแข่งขัน ผู้เล่น รวมถึงฉากในตำนานหลาย ๆ ฉาก ทำให้คอกีฬาบาสเกตบอลให้ความสนใจและสะสม NFT ต่าง ๆ ภายใน NBA Top Shot เป็นจำนวนมาก แน่นอนว่าพอพูดถึง GameFi ก็ต้องเป็นเกมที่ทำงานอยู่บนบล็อกเชนใช่ไหมครับ NBA Top Shot ก็เช่นกัน วันนี้ผมจะพาทุกคนมารู้จักกับบล็อกเชนที่ทำงานอยู่เบื้องหลัง NBA Top Shot นั่นก็คือ Flow ครับ มาดูกันว่าบล็อกเชนนี้ทำงานอย่างไร และในอนาคต จะมีผลิตภัณฑ์อะไรใหม่ ๆ ออกมาให้เราใช้งานกันบ้างครับ
What is Flow?
Flow เป็นโปรเจกต์บล็อกเชนที่มีฟังก์ชัน smart contract ที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยมีเป้าหมายให้เป็นบล็อกเชนที่เร็วและง่ายต่อการพัฒนา โดยมีวิสัยทัศน์ที่จะเป็นบล็อกเชนแห่งอนาคตของ DApps, เกม, สินทรัพย์ดิจิทัล และ NFT ครับ โดย Flow มีการออกแบบโครงสร้างเฉพาะตัว และใช้เทคโนโลยีพิเศษ ที่แก้ไขปัญหาการขยายฐานการใช้งาน (scaling) โดยไม่ได้แบ่งบล็อกเชนออกเป็นบล็อกเชนย่อย (sharding) แต่อย่างใด นอกจากนี้ Flow ยังป้องกันความเป็นส่วนตัวของข้อมูลผู้ใช้งาน โดยผู้ใช้งานจะสามารถควบคุมการเข้าถึงของข้อมูลส่วนตัวได้ครับ
โปรเจกต์ Flow เริ่มต้นในปี 2019 โดยผู้พัฒนาคือ AxiomZen ซึ่งเป็นบริษัทสตาร์ทอัปสัญชาติแคนาดาครับ โดย AxiomZen เป็นบริษัทที่สร้าง CryptoKitties ซึ่งเป็น NFT ชื่อดังรุ่นแรก ๆ ที่เปิดให้สะสมบนบล็อกเชนของ Ethereum ครับ ซึ่งคอลเลกชัน CryptoKitties ได้รับกระแสตอบรับที่ดีมาก ๆ และช่วยดันปริมาณการทำธุรกรรมบนบล็อกเชนของ Ethereum ให้เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวเลยครับ โดยหลังจากที่สร้าง CryptoKitties ทาง AxiomZen ได้มีโอกาสพูดคุยกับทีมพัฒนาของ Ethereum (หนึ่งในนั้นคือ Vitalik Buterin) เกี่ยวกับการเพิ่มขีดความสามารถของ Ethereum ผ่าน scaling solutions ครับ แต่ในท้ายที่สุด ทีม AxiomZen ค่อนข้างไม่พึงพอใจกับการสนทนาครั้งนั้น และตัดสินใจว่าจะสร้างบล็อกเชนของตัวเองแทนครับ ในปี 2018 ทีม AxiomZen จึงก่อตั้ง Dapper Labs ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยีสัญชาติแคนาดา โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างบล็อกเชนและขยายฐานผู้ใช้งานบล็อกเชนผ่าน non-fungible token (NFT) ครับ และบริษัทก็ได้เริ่มพัฒนาบล็อกเชน Flow ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
Technology
บล็อกเชน Flow ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ทั้งหมด และ smart contract ของ Flow ถูกออกแบบมาให้เป็นเหมือนชิ้นส่วนเลโก้ครับ การสร้างแอปพลิเคชันตัวหนึ่ง ทำได้โดยนำชุดโปรแกรมหลาย ๆ ชุดมาประกอบกันเหมือนกับการต่อเลโก้ การออกแบบดังกล่าวช่วยให้นักพัฒนาสามารถเขียนโปรแกรมได้ง่ายขึ้นครับ
The Four Pillars
การพัฒนาบล็อกเชน Flow มีเสาหลักในการพัฒนาอยู่ 4 เสาด้วยกัน
I: Multi-role architecture
Flow จะต้องรองรับการขยายฐานผู้ใช้งานได้โดยไม่จำเป็นต้องแบ่งบล็อกเชนออกเป็นบล็อกเชนย่อย และความกระจายศูนย์จะต้องไม่ลดลง
II: Resource-oriented programming
Flow ถูกพัฒนาด้วยภาษา Cadence ซึ่งเป็นภาษาที่ถูกพัฒนาขึ้นมาใหม่ ซึ่งจะช่วยให้นักพัฒนาสามารถทำงานได้ง่ายครับ โดยการพัฒนาภาษา Cadence ได้รับการช่วยเหลือจากกลุ่มนักพัฒนาของโปรเจกต์ Libra ซึ่งเป็น (อดีต) โปรเจกต์ของ Facebook ครับ จุดเด่นอีกหนึ่งอย่างของการเขียนโปรแกรมบนบล็อกเชน Flow คือ smart contract สามารถถูกสั่งทำงานในเวอร์ชัน beta ได้ โดยในเวอร์ชัน beta ถ้าหากนักพัฒนาเจอจุดบกพร่องของโปรแกรม ก็จะยังสามารถแก้ไข smart contract ได้ ก่อนที่จะสั่งทำงานแบบเวอร์ชันจริง
จุดนี้เป็นจุดเด่นของบล็อกเชน Flow เลยครับ เพราะโดยปกติแล้ว การสั่งโปรแกรมให้ทำงานบนบล็อกเชน ถ้าหากสั่งทำงานไปแล้ว จะไม่สามารถแก้ไขใด ๆ ได้ครับ ซึ่งนักพัฒนาจะไม่สามารถแก้ไขโปรแกรมของตัวเองได้ นอกเสียจากจะเขียนทับใหม่ แต่บน Flow นักพัฒนาสามารถทดลองใช้งานโปรแกรมในเวอร์ชัน beta เพื่อค้นหาจุดบกพร่องของโปรแกรมก่อนได้ครับ
III: Developer ergonomics
smart contract ของ Flow สามารถถูกอัปเกรดได้ และ Flow เองมีการเก็บประวัติการเปลี่ยนแปลงชุดโปรแกรมไว้ในตัว ทำให้ Flow เป็นเทคโนโลยีที่อำนวยความสะดวกให้นักพัฒนาได้เยอะเลยครับ
IV: Consumer onboarding
Flow ถูกออกแบบมาเพื่อให้ง่ายต่อการใช้งาน โดยเน้นไปที่การสร้างสะพานจากโลกการเงินดั้งเดิมสู่โลกคริปโตเคอร์เรนซีครับ ด้วยการออกแบบการชำระเงินสำหรับการซื้อโทเคนบน Flow ด้วยสกุลเงิน fiat ที่ง่าย ทำให้ผู้ใช้งานทั่วไปที่อาจจะไม่ได้คุ้นเคยกับการทำธุรกรรมบนโลกคริปโตเคอร์เรนซี สามารถใช้งาน Flow ได้ง่ายครับ
Consensus Mechanism
Flow ใช้กลไกฉันทามติ Proof-of-Stake (PoS) ครับ โดยกลไกของ Flow ถูกดัดแปลงมาจาก HotStuff ซึ่งเป็นกลไกที่ถูกคิดค้นโดยนักวิจัยที่มหาวิทยาลัย Cornell และ (เคย) ถูกใช้งานในโปรเจกต์ Libra มาก่อน จุดแตกต่างสำคัญของ Flow กับบล็อกเชนอื่น ๆ ที่ใช้ PoS เหมือนกัน คือในบล็อกเชน PoS อื่น ๆ จะมีสิ่งที่เรียกว่าผู้ตรวจสอบ (validator) อยู่ครับ หน้าที่ของผู้ตรวจสอบเหล่านี้คือประมวลผลธุรกรรมบนบล็อกเชน และเขียนบล็อกใหม่ และเพื่อการนั้น ผู้ตรวจสอบจะต้องเก็บข้อมูลสถานะทั้งหมดของบล็อกเชน ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไป ข้อมูลชุดนี้ก็จะมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงจุดที่คอมพิวเตอร์บางเครื่องไม่มีพื้นที่ให้เก็บอีกต่อไป นอกจากนี้บล็อกเชนที่มีขนาดใหญ่จะทำให้ความเร็วในการประมวลผลธุรกรรมของบล็อกเชนลดลงอีกด้วยครับ
Flow ไม่ได้มีหน้าที่ผู้ตรวจสอบธุรกรรม (validator) ครับ แต่จะกระจายหน้าที่ที่ปกติจะเป็นผู้ตรวจสอบ 1 คน รับผิดชอบทั้งหมด ออกเป็น 4 กลุ่มย่อย และสร้าง nodes 4 ประเภทมาทำหน้าที่แต่ละกลุ่มแบบแยกจากกันครับ การออกแบบดังกล่าวช่วยให้ node บน Flow ทำงานได้รวดเร็วขึ้นครับ และการจะเป็น node บน Flow ได้จะต้องผ่านการรับรองจาก Dapper Labs (ซึ่งมีขั้นตอนเยอะพอสมควร) และทำการวาง (stake) FLOW ซึ่งเป็นโทเคนประจำบล็อกเชน Flow เป็นหลักประกันครับ ซึ่งมูลค่าต่ำสุดที่ต้องวางเป็นหลักประกันก็จะแตกต่างกันไปตามประเภทของ nodes nodes 4 ประเภทที่ว่าก็ได้แก่
- Collection Nodes เป็น nodes ที่ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลธุรกรรมทั้งหมด โดยจะต้อง stake อย่างน้อย 250,000 FLOW
- Consensus Nodes เป็น nodes ที่ทำหน้าที่นำธุรกรรมที่ถูกรวบรวมมาจัดลำดับก่อน-หลัง โดยจะต้อง stake อย่างน้อย 500,000 FLOW
- Execution Nodes เป็น nodes ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบธุรกรรมที่ถูกจัดลำดับแล้ว โดยจะต้อง stake อย่างน้อย 1.25 ล้าน FLOW
- Verification Nodes เป็น nodes ที่คอยตรวจสอบการทำงานของ execution nodes อีกทอดหนึ่ง โดยจะต้อง stake อย่างน้อย 135,000 FLOW
ซึ่งจริง ๆ แล้ว Flow มี nodes อีกกลุ่มหนึ่งครับ คือ access nodes ซึ่งทำหน้าที่ช่วยเหลือ collection nodes ในการรวบรวมข้อมูลธุรกรรม แต่ nodes กลุ่มนี้ไม่ได้จำเป็นต่อการทำงานของบล็อกเชน และไม่จำเป็นต้อง stake FLOW ครับ ใน whitepaper จึงแยก nodes กลุ่มนี้ออกมาต่างหากครับ
FLOW
เป็นโทเคนประจำบล็อกเชน Flow ครับ โดยมีปริมาณอุปทานเริ่มต้น (initial supply) อยู่ที่ 1.25 พันล้านโทเคน ซึ่งถูกผลิต (mint) ออกมาตั้งบล็อกแรกครับ โดยมีการแบ่งสัดส่วนโทเคนดังนี้
- 20% แบ่งให้กับ Dapper Labs
- 18% แบ่งให้กับทีมพัฒนาของ Flow
- 29% ถูกเก็บไว้สำหรับการพัฒนาโปรเจกต์
- 13% เปิดขายให้กับนักลงทุนทั่วไป
- 20% แบ่งให้กับนักลงทุนกลุ่มแรก (early investors) ครับ
ทาง Dapper Labs กล่าวว่าอัตราการเฟ้อ (inflation) ของ FLOW จะแปรผกผันกับปริมาณการทำธุรกรรมบนบล็อกเชนครับ ในกรณีที่บล็อกเชนมีการใช้งานต่ำ มีธุรกรรมเกิดขึ้นน้อย รายได้ของ nodes ที่มาจากค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมจะน้อย ทำให้ต้องมีการผลิต FLOW เพิ่มขึ้นเพื่อให้ nodes มีค่าตอบแทนที่เพียงพอ แต่ถ้าบล็อกเชนมีการใช้งานสูง มีธุรกรรมเกิดขึ้นเยอะ FLOW ก็จะถูกผลิตน้อยลงครับ ดังนั้นในทางทฤษฎีแล้ว อัตราการเฟ้อของ FLOW จะสามารถแตะ 0% ได้ ถ้าหากมีธุรกรรมเกิดขึ้นเยอะพอครับ
ในส่วนของการใช้งานจะมาจากสามส่วนหลัก ๆ ครับ
- ใช้ชำระเป็นค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมสำหรับธุรกรรมใด ๆ บน Flow
- Nodes ที่ stake FLOW เพื่อเป็นหลักประกันครับ สำหรับอัตราผลตอบแทนของการ stake สำหรับ nodes จะอยู่ที่ประมาณ 9% ต่อปี แตกต่างกันไปตามประเภทของ nodes แต่สำหรับใครที่ไม่ได้ต้องการจะเป็น nodes แต่อยากหารายได้จากการถือครอง FLOW สามารถฝาก (delegate) FLOW ของตนเองให้ node อื่น ๆ ได้ผ่าน FlowPort wallet portal ครับ โดยจะต้องเชื่อมต่อกระเป๋าเงินดิจิทัล Blockto หรือ Ledger ซึ่งในปัจจุบันมีเพียงสองกระเป๋าดังกล่าวที่รองรับการเชื่อมต่อ Flow ครับ สำหรับอัตราผลตอบแทนของผู้ฝากจะอยู่ที่ประมาณ 8% ต่อปี และทั้ง nodes และผู้ฝาก จะมีระยะเวลาการรอ (lock-up period) หลังจากยกเลิก stake อยู่ที่ 7 วันครับ และในอนาคต FLOW จะทำหน้าที่เป็น governance token นั่นคือผู้ที่ถือครอง FLOW จะมีสิทธิในการโหวตแสดงความคิดเห็นในร่างอัปเกรดต่าง ๆ ของบล็อกเชนครับ
- นักพัฒนาที่พัฒนาแอปพลิเคชันบน Flow ถ้าหากต้องการใช้งานพื้นที่เก็บข้อมูลของบล็อกเชน Flow สามารถนำ FLOW มาล็อกไว้เพื่อใช้พื้นที่ได้ในอัตรา 1 FLOW ต่อพื้นที่ 1 megabyte ครับ ซึ่งในอนาคต นักพัฒนาจะสามารถ “ลบ” แอปพลิเคชันบน Flow เพื่อถอน FLOW ที่ล็อกไว้คืนได้ครับ
ในปัจจุบัน (26 ตุลาคม 2022) อ้างอิงจาก CoinGecko FLOW มีมูลค่าตลาดอยู่ที่ประมาณ 1,714 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงเป็นอันดับที่ 34 ของคริปโตเคอร์เรนซีทั้งหมดครับ
NBA Top Shot
NBA Top Shot เป็นโปรเจกต์ร่วมระหว่าง Dapper Labs และ National Basketball Association (NBA) ซึ่งเป็นลีกบาสเกตบอลมืออาชีพในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีลักษณะเป็นเกมการ์ดบนบล็อกเชน Flow ที่การ์ดแต่ละใบจะมีลักษณะเป็น NFT ซึ่งจะแสดงไฮไลต์การแข่งขันรวมถึงภาพสำคัญต่าง ๆ จากการแข่งขัน NBA (เรียกว่า Moments) ซึ่งทั้งหมดนี้ถูกสร้างขึ้นในรูปแบบ NFT และมีความหายาก (scarcity) ที่แตกต่างกันออกไปครับ ซึ่งระดับความหายากที่แตกต่างกันก็จะส่งผลโดยตรงต่อราคาของ NFT โดย Moments จะถูกผลิตขึ้นเป็นแพ็ค (เหมือนที่เราซื้อการ์ดจริง ๆ ที่จะต้องซื้อเป็นซอง) และแต่ละแพ็คจะถูกมัดรวมกันเป็นเซต และถูกร้อยเรียงกันเป็นซีรีส์ โดยลำดับการเรียงในซีรีส์ก็จะล้อไปกับลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในการแข่งขันครับ โดยผู้เล่น NBA Top Shot จะสามารถซื้อซีรีส์ต่าง ๆ ที่ถูกผลิตออกมาได้ นอกจากนี้ในบางช่วงเวลาก็จะมีการแจกแพ็คของการ์ดแบบสุ่มให้กับผู้ใช้งานที่ถือครอง NFT อยู่ด้วยครับ และผู้เล่นจะสามารถซื้อขายการ์ด NFT ใน NBA Top Shot ผ่าน marketplace ภายในเว็บไซต์ครับ
Moments ที่ซื้อขายกันด้วยราคาแพง ๆ ส่วนใหญ่ก็จะมาจากนักบาสเกตบอลชื่อดัง ๆ อย่าง LeBron James, Kevin Durant, Stephen Curry และ Giannis Antetokounmpo ครับ อย่าง Moment LeBron James dunk ใน NBA Final 2020 ถูกขายไปในเดือนเมษายน 2021 ในมูลค่า ณ ตอนนั้นกว่า 387,600 ดอลลาร์สหรัฐ ถือเป็น Moment ที่ถูกขายในราคาแพงที่สุดเป็นอันดับต้น ๆ เลยครับ
ในปัจจุบัน จำนวนผู้ใช้งานของ NBA Top Shot พุ่งทะลุ 1 ล้านคนไปตั้งแต่เดือนกันยายน 2021 ปริมาณการเทรดในช่วงต้นปี 2022 อยู่ที่ประมาณ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อวันครับ แต่ในปัจจุบันก็ลดลงมาเหลือประมาณ 150,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน เนื่องจากสภาพตลาดคริปโตเคอร์เรนซีที่ค่อนข้างซบเซาครับ
Other Partnerships
พันธมิตรที่สำคัญในปัจจุบันของ Flow คือ NBA ซึ่งเป็นองค์กรกีฬาขนาดใหญ่ครับ แต่ Flow ก็ไม่ได้หยุดอยู่แค่วงการกีฬาเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีเป้าหมายจะเพิ่มพันธมิตรในวงการอื่น ๆ อีกด้วยครับ ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเข้ามาสร้าง NFT บนบล็อกเชน Flow ครับ ยกอย่างเช่น Anique ที่นำฉากการต่อสู้จาก Attack on Titan ซึ่งเป็นภาพยนตร์อนิเมะชื่อดังจากญี่ปุ่น มาทำเป็น NFT รูปภาพบนบล็อกเชน Flow ครับ (อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่)
หรืออีกหนึ่งตัวอย่างคือ Zigazoo ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มสื่อออนไลน์สำหรับเด็กที่มีผู้ใช้งานสูงเป็นอันดับต้น ๆ ที่เข้ามาสร้างระบบนิเวศเพื่อให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้เกี่ยวกับ NFT บนบล็อกเชน Flow ผ่านการสร้าง NFT ตัวการ์ตูนร่วมกับ Nyla Hayes ซึ่งเป็นศิลปินชื่อดังครับ โดยเด็ก ๆ จะสามารถเรียนรู้การใช้งานบล็อกเชนด้วยความสนุกสนานผ่านแพลตฟอร์มของ Zigazoo บน Flow ได้ครับ (อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่)
Roadmap
Flow ไม่ได้มี official roadmap ครับ แผนการพัฒนาต่าง ๆ สามารถหาได้จากการสัมภาษณ์ทีมพัฒนาจาก Dapper Labs, Flow forum ซึ่งเป็นแหล่งพูดคุยกันของชุมชนผู้ใช้งาน, และ Flow improvement proposals (FLIPs) ซึ่งเป็นสถานที่เสนอร่างการอัปเกรดอย่างเป็นทางการครับ วันนี้ผมขอยกตัวอย่างแผนการพัฒนาโปรเจกต์ที่น่าสนใจมาส่วนหนึ่งครับ
Nodes
การออกแบบบล็อกเชนให้มีการกระจายหน้าที่ต่าง ๆ ไปยัง nodes หลากหลายประเภท เป็นเอกลักษณ์ของบล็อกเชน Flow ครับ นอกเหนือจาก nodes ที่มีอยู่ในปัจจุบัน Flow ยังมีแผนเพิ่ม nodes อีก 2 ประเภทครับ ซึ่งทั้ง 2 ประเภทถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเติมเต็มการเก็บข้อมูลของบล็อกเชนโดยเฉพาะ
- Observer Nodes เป็น node ที่มีหน้าที่เก็บข้อมูลในบล็อกใหม่แต่ละบล็อกที่ถูกเขียนขึ้นบนบล็อกเชน
- Archive Nodes เป็น node ที่จะเก็บข้อมูลของบล็อกเชน Flow ในอดีต กรณีที่ต้องการตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังก็จะต้องมาดึงข้อมูลจาก node กลุ่มนี้ครับ
ซึ่ง nodes ทั้ง 2 ประเภท จะถูกสร้างขึ้นมาแบบ permissionless หมายความว่าผู้ที่ต้องการจะเป็น node เหล่านี้ ไม่ต้องผ่านการรับรองจากทาง Dapper Labs เหมือนกับ node ประเภทอื่น ๆ ครับ และ Dapper Labs ยังมีแผนที่จะเปลี่ยนให้การสร้าง nodes ทุกประเภท ไม่ต้องผ่านการรับรองจาก Dapper Labs อีกต่อไปครับ โดย observer nodes และ archive nodes น่าจะได้เปิดตัวภายในสิ้นปี 2022 นี้ ส่วนการปรับ nodes ประเภทอื่น ๆ ให้เป็น permissionless คาดว่าน่าจะเกิดขึ้นภายในปี 2023 ครับ
NBA Top Shot on Mobile
จากที่กล่าวไปนะครับว่า NBA Top Shot เป็นเกมที่ได้รับความนิยมสูงมากบนบล็อกเชน Flow ซึ่งในปัจจุบันเปิดให้เล่นได้ผ่านเว็บเบราว์เซอร์ครับ และทีมพัฒนาของ NBA Top Shot ก็มีแผนพัฒนา NBA Top Shot ในรูปแบบเกมมือถือด้วยครับ ซึ่งถ้าหากพัฒนาสำเร็จ คาดว่าจำนวนผู้เล่นเกมดังกล่าวน่าจะเพิ่มขึ้นเยอะเลยครับ แต่การพัฒนา NBA Top Shot เวอร์ชันมือถือจริง ๆ แล้วมีแผนการเปิดตัวแอปพลิเคชันตั้งแต่ปลายปี 2020 แล้วครับ และในปัจจุบันก็ยังไม่มีกำหนดการเปิดตัวแต่อย่างใด เรียกว่าล่าช้าพอสมควรเลยทีเดียวสำหรับเกมมือถือเกมนี้ครับ
Concerns
Flow เป็นโปรเจกต์บล็อกเชนที่มีลักษณะเฉพาะตัวครับ นั่นคือการมุ่งเป้าจับมือเป็นพันธมิตรกับแบรนด์ใหญ่ ๆ หลาย ๆ แบรนด์ทั่วโลก ซึ่งการมีพันธมิตรเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ก็มีข้อดีหลายประการ แต่ก็มีข้อควรระวังที่ทุก ๆ คนควรทราบเช่นกันครับ
Partnership
Flow เป็นพันธมิตรกับหลากหลายแบรนด์และหลากหลายอุตสาหกรรมครับ แต่สังเกตุได้ว่า Flow แทบไม่มีการจับมือเป็นพันธมิตรกับโปรเจกต์คริปโตเคอร์เรนซีตัวอื่น ๆ เลยครับ กระเป๋าเงินดิจิทัลที่สามารถเชื่อมต่อกับ Flow ได้ ก็มีอยู่เพียงสองกระเป๋าเท่านั้น และสะพานเชื่อมต่อบล็อกเชน Flow กับบล็อกเชนอื่น ๆ แทบจะไม่ถูกสร้างขึ้นเลยครับ กับโปรเจกต์คริปโตเคอร์เรนซีที่ใหญ่ขนาดนี้ ประเด็นที่กล่าวไปข้างต้น น่าจะส่งผลเชิงลบกับจำนวนผู้ใช้งานที่มีความคุ้นเคยกับบล็อกเชนอื่น ๆ พอสมควรเลยครับ
Centralization
การออกแบบบล็อกเชน Flow ที่ให้มี nodes หลายประเภท ที่ทำหน้าที่แตกต่างกันในระบบนิเวศ ซึ่งถ้ามองดูผิวเผินแล้ว ระบบดังกล่าวก็น่าจะช่วยเพิ่มความกระจายศูนย์ให้กับบล็อกเชน และทำให้ Flow เป็นบล็อกเชนที่กระจายศูนย์ใช่ไหมครับ แต่ถ้าเราไปดูข้อมูลจาก block explorer ของ Flow จะพบว่า execution nodes ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบธุรกรรมบนบล็อกเชน มีอยู่เพียง 7 nodes เท่านั้นครับ และถ้าหากดูรายชื่อ nodes กลุ่มนี้ จะพบว่าหลาย ๆ nodes เป็นของบริษัทที่เป็นพันธมิตรกับ Dapper Labs เช่น Samsung และ T-Systems ครับ นอกจากนี้ ในหน้า FAQs บนเว็บไซต์ของ Flow ยังระบุว่า 1 ใน 3 ของ consensus nodes บนบล็อกเชน Flow เป็นของ Dapper Labs ครับ และตามที่กล่าวไปข้างต้น ว่าการจะได้รับสิทธิเป็น node บน Flow จะต้องผ่านการรับรองจาก Dapper Labs ก่อน หมายความว่า Dapper Labs จะมีข้อมูลของทุก ๆ node บนบล็อกเชน Flow ครับ จากประเด็นที่กล่าวมาทั้งหมด ทำให้บล็อกเชนของ Flow มีความรวมศูนย์อยู่พอสมควรเลยครับ
Summary
จุดเด่นของ Flow อยู่ที่การจับมือเป็นพันธมิตรกับบริษัทยักษ์ใหญ่ทั่วโลกครับ ทั้งแบรนด์กีฬาอย่าง NBA, UFC, เกมอย่าง Attack on Titan และแพลตฟอร์ม NFT อย่าง Zigazoo ครับ การมีพันธมิตรเป็นบริษัทที่อยู่ในหลากหลายอุตสาหกรรม ช่วยให้ Flow สามารถดึงดูดผู้ใช้งานจากนอกวงการคริปโตเคอร์เรนซีเข้ามาได้ไม่น้อย และขยายฐานผู้ใช้งานไปยังผู้คนกลุ่มอื่น ๆ ได้ครับ สังเกตุได้จาก NBA Top Shot ที่มีจำนวนผู้ใช้งานเกิน 1 ล้านคนไปแล้ว และในอนาคต Flow ก็จะมีการขยายไปยังอุตสาหกรรมอื่น ๆ มีการจับมือเป็นพันธมิตรกับบริษัทใหม่ ๆ เพิ่มโอกาสในการเติบโตของบล็อกเชนได้อีกเยอะเลยครับ
แต่ถึงกระนั้น Flow เองก็มีข้อควรระวังอยู่หลายเรื่องครับ จริงอยู่ที่ Flow สามารถดึงดูดผู้ใช้งานจากนอกวงการคริปโตเคอร์เรนซีได้ แต่ Flow เองไม่สามารถดึงดูดผู้ใช้งานจากภายในวงการคริปโตเคอร์เรนซีได้มากเท่าที่ควร เนื่องจากการไม่มีสะพานเชื่อมต่อบล็อกเชน Flow กับบล็อกเชนขนาดใหญ่อื่น ๆ และการใช้งานบล็อกเชน Flow ไม่สามารถทำผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัลที่มีชื่อเสียงเป็นวงกว้างอย่าง Metamask หรือ Coinbase Wallet ได้ ทำให้ Flow เป็นบล็อกเชนที่มีความยากในการใช้งานประมาณหนึ่ง นอกจากนี้ประเด็นที่สำคัญที่สุด คงจะหนีไม่พ้นเรื่องความรวมศูนย์ (centralization) ของบล็อกเชน ที่สังเกตได้จากสถิติเกี่ยวกับจำนวน nodes ภายในระบบนิเวศครับ Flow ในตอนนี้ เป็นบล็อกเชนที่มีความรวมศูนย์สูง และการตัดสินใจหลาย ๆ อย่าง ถูกกระทำผ่าน Dapper Labs ผู้ซึ่งเป็นเจ้าของบล็อกเชนครับ ต้องรอดูกันต่อไปในอนาคตว่า Dapper Labs จะเพิ่มความกระจายศูนย์ให้กับบล็อกเชน Flow ได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งถ้าหากทำได้ ก็น่าจะช่วยดึงดูดกลุ่มผู้ใช้งานภายในวงการคริปโตเคอร์เรนซีได้ไม่น้อยเลยครับ
Further Read
- Official Website: https://flow.com/
- Introduction: https://flow.com/primer
- NBA Top Shot: https://nbatopshot.com/
- NBA Top Shot Guide: https://nftnow.com/guides/nba-top-shot-guide/
- Flow Forum: https://forum.onflow.org/
- Block Explorer: https://flow.bigdipper.live/
CodeBreaker
ที่มาบทความ: https://link.medium.com/OyDiSWNRwvb
คำเตือน
การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยงสูง อาจสูญเสียเงินลงทุน ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจและศึกษาข้อมูล รวมทั้งลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้