Curve Finance: กระดูกสันหลังแห่งโลก DeFi

ความต้องการซื้อ-ขายคริปโตเคอร์เรนซีมีอยู่ทุกช่วงเวลาครับ แอปพลิเคชันที่ทำหน้าที่เป็นกระดานเทรดคริปโตเคอร์เรนซีจึงเป็นสิ่งที่หลายคนให้ความสนใจ โดยเฉพาะกระดานเทรดในรูปแบบกระจายศูนย์​ (decentralized exchanges) ที่ทำงานอยู่บนบล็อกเชนที่มีฟังก์ชัน smart contract อย่างเช่น Ethereum, Polygon หรือ Avalanche ดูเหมือนจะได้รับความนิยมค่อนข้างสูง เพราะการซื้อ-ขายบนกระดานเทรดรูปแบบดังกล่าว ไม่จำเป็นต้องยืนยันตัวตน ส่งเอกสาร ทำการพิสูจน์ใด ๆ เพียงแค่มีกระเป๋าเงินดิจิทัล ก็สามารถซื้อ-ขายได้ในทันที

การที่ผู้ใช้งานหนึ่งคนจะเลือกว่าจะซื้อ-ขายคริปโตเคอร์เรนซีบนกระดานเทรดไหนดี ปัจจัยหนึ่งคงเป็นเรื่องของปริมาณการเทรด (volume) ครับ เนื่องจากถ้าตัวกระดานเทรดมีปริมาณการเทรดสูง ค่า slippage หรือค่าความคลาดเคลื่อนระหว่างราคาที่กำหนดกับราคาที่เกิดขึ้นจริงจะต่ำครับ วันนี้ผมพาทุก ๆ คนมารู้จักกับแอปพลิเคชันกระดานเทรดคริปโตเคอร์เรนซีเจ้าใหญ่เจ้าหนึ่ง ซึ่งเปิดให้บริการอยู่บนหลายบล็อกเชน กระดานเทรดตัวนี้ได้รับความนิยมอย่างมากในบรรดาผู้ใช้งาน โดยเฉพาะผู้ใช้งานที่ต้องการเทรด stablecoins นอกจากนี้กระดานเทรดตัวนี้ยังได้รับสมญานามว่าเป็นกระดูกสันหลังแห่งโลก DeFi อีกด้วย ไปทำความรู้จักกับ Curve Finance กันครับ

Decentralized vs. Centralized Exchanges

Curve Finance: กระดูกสันหลังแห่งโลก DeFi

การซื้อ-ขายแลกเปลี่ยนคริปโตเคอร์เรนซีในปัจจุบันสามารถทำได้ 2 รูปแบบหลัก ๆ ครับ แบบแรกคือซื้อ-ขายผ่านกระดานเทรดแบบรวมศูนย์ (เช่น Binance หรือ KuCoin) โดยตัวกระดานเทรดเองเป็นผู้ควบคุมปริมาณสภาพคล่อง โดยการซื้อ-ขายรูปแบบนี้ผู้ใช้งานจะฝากโทเคนของตนเองเอาไว้ภายใต้การดูแลของกระดานเทรดครับ แบบที่สองคือทำผ่านกระดานเทรดกระจายศูนย์ โดยอาศัยสภาพคล่องจากผู้ใช้งานอื่น ๆ ที่นำโทเคนของตนเองมาฝากกับกระดานเทรดเอาไว้เพื่อเป็นสภาพคล่อง รูปแบบนี้ผู้ใช้งานจะทำธุรกรรมผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัลของตนเอง (เช่น Metamask หรือ Talisman) ดังนั้นคนที่ลงทุนในคริปโตเคอร์เรนซีหลาย ๆ คนจึงเลือกทำธุรกรรมผ่านกระดานเทรดกระจายศูนย์ เพราะจะได้ไม่ต้องนำโทเคนไปฝากไว้กับบริษัทใดบริษัทหนึ่งครับ นอกจากนี้การทำธุรกรรมผ่านกระดานเทรดกระจายศูนย์ไม่จำเป็นต้องมีการยืนยันตัวตน (know your customer: KYC) ครับ เพียงแค่ผู้ใช้งานมีกระเป๋าเงินดิจิทัล ก็สามารถใช้งานได้ทันที ไม่เหมือนกับกระดานเทรดรวมศูนย์ที่ส่วนมากจะบังคับผู้ใช้งานให้ยืนยันตัวตนก่อนครับ

นอกเหนือจากความแตกต่างในเชิงการทำงานแล้ว ในเชิงของการคิดค่าธรรมเนียม ก็แตกต่างกันเช่นกันครับ สำหรับกระดานเทรดรวมศูนย์ ค่าธรรมเนียมจะถูกคิดเป็นเปอร์เซนต์ของมูลค่าการเทรด (เช่น 0.1% แปลว่าถ้าเทรด 100 บาท ก็จะเสีย 0.1 บาท ถ้าเทรด 1,000,000 บาท จะเสีย 1,000 บาท เป็นต้น) แต่สำหรับกระดานเทรดกระจายศูนย์ ค่าธรรมเนียมการเทรด เกิดจากสองส่วนครับ ส่วนแรกคือค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมของบล็อกเชน ที่คงที่ (ไม่ว่าจะทำธุรกรรมด้วยโทเคนมูลค่าเท่าไร ค่าธรรมเนียมส่วนนี้ก็จะเท่าเดิมไม่เปลี่ยนแปลง) ซึ่งจะถูกจะแพงก็แล้วแต่บล็อกเชนครับ อีกส่วนหนึ่งคือค่าธรรมเนียมที่ตัวกระดานเทรดเก็บจากผู้ที่มาทำธุรกรรม ซึ่งส่วนหนึ่งก็จะแบ่งให้กับผู้ใช้งานที่มาช่วยสร้างสภาพคล่อง และที่เหลือก็จะเป็นรายได้ของกระดานเทรดครับ

What is Curve Finance?

Curve Finance เป็นแอปพลิเคชันรูปแบบกระจายศูนย์​ (decentralized applications: DApp) ที่ทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มสำหรับการแลกเปลี่ยนโทเคนในกลุ่ม stablecoins โดยเฉพาะ โดยใช้กลไกการแลกเปลี่ยนแบบ liquidity pools นั่นคือ Curve Finance จะเปิดให้ผู้ใช้งานทั่วไปสามารถนำโทเคนของตนเองมาฝากเอาไว้กับแพลตฟอร์ม เพื่อสร้างสภาพคล่องให้กับผู้ใช้งานคนอื่นที่ต้องการแลกเปลี่ยนโทเคน โดยผู้ฝากจะได้รับผลตอบแทนในรูปแบบส่วนแบ่งค่าธรรมเนียมการเทรด และอาจจะมีโทเคนอื่น ๆ เพิ่มเติมครับ

โปรเจกต์ Curve Finance ก่อตั้งโดย Michael Egorov ซึ่งปัจจุบันรับหน้าที่เป็น CEO ของโปรเจกต์ครับ โดยคุณ Michael มีประสบการณ์ทำงานเป็น CTO ของ NuCypher ซึ่งเป็นโปรเจกต์ที่มุ่งเน้นการสร้างระบบการเข้ารหัสสำหรับแอปพลิเคชันต่าง ๆ โดยเฉพาะแอปพลิเคชันที่เกี่ยวข้องกับการประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ (big data) ครับ ในเดือนพฤศจิกายน 2019 คุณ Michael ได้สร้างกระดานเทรดกระจายศูนย์ (decentralized exchange: DEX) ของตนเองขึ้นมา โดยใช้ชื่อว่า StableSwap และในปีถัดมาก็ได้เปลี่ยนชื่อเป็น Curve Finance ครับ ถือว่าเป็นกระดานเทรดกระจายศูนย์ตัวแรก ๆ ที่ถูกสร้างขึ้น และแอปพลิเคชันกระดานเทรดกระจายศูนย์หลาย ๆ ตัวที่ถูกสร้างขึ้นหลังจากนั้น ได้รับอิทธิพลจากชุดโปรแกรมของ Curve Finance และมีแอปพลิเคชันบางตัวที่ใช้งานสภาพคล่องของ Curve Finance ด้วยครับ

นั่นทำให้ Curve Finance ได้รับฉายาว่าเป็นกระดูกสันหลังแห่งโลก DeFi ครับ

Stablecoin หรือโทเคนที่ถูกตรึงมูลค่าไว้กับสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่ง (เป็นได้ทั้งสกุลเงินอย่างดอลลาร์สหรัฐ, เยน, ปอนด์ แต่ส่วนใหญ่ผู้คนจะนึกถึงโทเคนที่ตรึงมูลค่าไว้กับสกุลเงินดอลลาร์ เช่น USDC, USDT, BUSD) มีการใช้งานที่แพร่หลายในวงการคริปโตเคอร์เรนซีมานานแล้วครับ ถ้าหากโลกคริปโตไม่มี stablecoin ก็อาจจะไม่ได้มีปริมาณการใช้งานสูงขนาดนี้ก็เป็นได้ stablecoin เหล่านี้มีอยู่หลายสกุลครับ (ที่กล่าวไปข้างต้นก็เป็นตัวอย่างของ stablecoin ตัวใหญ่ ๆ) ซึ่งฝั่งผู้ใช้งานมีความต้องการที่จะแลกเปลี่ยน stablecoin จากตัวหนึ่งไปยังอีกตัวหนึ่งเป็นประจำ Curve Finance เป็นกระดานเทรดสำหรับ stablecoin ตัวแรก ๆ ในตลาดคริปโตครับ นั่นทำให้ตัวกระดานเทรดสามารถสร้างฐานผู้ใช้งานได้อย่างรวดเร็ว ประกอบกับตัวกระดานเทรดเองมีค่าธรรมเนียมการเทรดที่ต่ำ ทำให้ผู้ใช้งานหลาย ๆ คน ซื้อ-ขาย stablecoin ผ่าน Curve Finance ครับ นอกจากนี้ การที่ Curve Finance เป็นแพลตฟอร์มซื้อ-ขาย stablecoin แห่งแรก ๆ ทำให้สภาพคล่องของ stablecoin กระจุกอยู่ที่ Curve Finance สูงมาก การซื้อ-ขายผ่านแพลตฟอร์มจึงมี slippage ที่ต่ำครับ อ้างอิงจาก Defillama ในปัจจุบัน (มิถุนายน 2023) Curve Finance มีมูลค่าสินทรัพย์ที่ถูกล็อกไว้ (total value locked: TVL) อยู่ที่ 4.24 พันล้านดอลลาร์สหรัฐครับ

Curve Finance Exchange

Curve Finance: กระดูกสันหลังแห่งโลก DeFi

ตัวกระดานเทรดของ Curve Finance ในช่วงเริ่มต้นเปิดให้ใช้งานบนบล็อกเชนของ Ethereum จากนั้นมีการเปิดใช้งานเพิ่มในบล็อกเชนอื่นเรื่อย ๆ จนในปัจจุบันเปิดให้ใช้งานอยู่บน 12 บล็อกเชน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบล็อกเชนที่มีการใช้งาน Ethereum Virtual Machine (EVM) เช่น Arbitrum, Optimism, Polygon, และ Avalanche ครับ รองรับการเชื่อมต่อผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัลหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น Metamask, Coinbase Wallet หรือกระเป๋าอื่น ๆ ที่รองรับการเชื่อมต่อกับ WalletConnect ก็ได้หมด หรือจะเชื่อมต่อกับ hardware wallet อย่าง Trezor ก็สามารถทำได้เช่นกันครับ ถึงแม้ว่าจะมีจุดเริ่มต้นจากการเป็นกระดานเทรดสำหรับ stablecoin โดยเฉพาะ แต่ในปัจจุบัน Curve Finance ได้เพิ่ม liquidity pool สำหรับโทเคนประเภทอื่น ๆ แล้วครับ ยกตัวอย่างเช่นบนบล็อกเชนของ Ethereum มีการเพิ่ม ETH, LIDO และ stETH แล้วครับ

จุดเด่นอย่างหนึ่งของ Curve Finance คือหน้าเว็บที่เรียบง่าย ไม่มีฟังก์ชันที่ซับซ้อน มีแต่เพียงฟังก์ชันที่จำเป็นต่อการทำงานเท่านั้น และหน้าเว็บของ Curve ยังชวนให้ผู้ใช้งานหลาย ๆ คนหวนรำลึกถึงอดีต ด้วยเค้าโครงที่เหมือนหน้าเว็บในปี 2000 ไม่มีผิดเพี้ยน (ถึงแม้ในตอนนี้หลาย ๆ หน้าของ Curve Finance จะถูกเปลี่ยนโฉมให้ดูทันสมัยขึ้น แต่ก็ยังมีหลาย ๆ หน้าของเว็บไซต์ ที่ยังคงแนวคิด 2000 อยู่ครับ)

Liquidity Pools

แนวคิดของ liquidity pools คือการให้ผู้ใช้งานทั่วไปฝากโทเคนตั้งแต่สองโทเคนขึ้นไป ไว้ในกองกลางของตัวแพลตฟอร์มกระดานเทรด เพื่อเป็นการสร้างสภาพคล่อง เมื่อมีผู้ใช้งานต้องการซื้อ-ขายโทเคน แนวคิดคือผู้ใช้งานเหล่านี้จะทำโทเคนที่ต้องการขายมาวางไว้ในกองกลาง แล้วหยิบเอาโทเคนที่ต้องการซื้อออกไป ด้วยมูลค่าที่เท่ากัน โดยทาง Curve Finance คิดค่าธรรมเนียมการแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 0.04%-0.4% ขึ้นกับความผันผวนของราคาของโทเคนในกองกลางแต่ละกองครับ

ผู้ใช้งานที่ฝากโทเคนไว้กับ Curve Finance จะได้รับค่าตอบแทนสองส่วน ส่วนแรกเรียกว่า base APY ครับ ซึ่งเป็นค่าตอบแทนที่เกิดจากส่วนแบ่งค่าธรรมเนียมการเทรด ที่ทางแพลตฟอร์มได้รับมาจากผู้ใช้งานที่ซื้อ-ขายโทเคน โดยตัวเลขที่แสดงอยู่บนหน้าเว็บ เป็นการนำมูลค่าการเทรดในปัจจุบันมาปรับฐานให้เป็นตัวเลขผลตอบแทนต่อปีครับ ดังนั้นตัวเลขนี้สำหรับในทุก ๆ liquidity pool จะเปลี่ยนแปลงทุกวันครับ ส่วนที่สองคือ CRV ซึ่งเป็นโทเคนประจำแพลตฟอร์ม Curve Finance ที่จะมีการแจกจ่ายให้กับผู้สร้างสภาพคล่องเหล่านี้ด้วยครับ

MetaPools

เป็นแนวคิดการสร้าง liquidity pool ที่ใช้โทเคนทั่วไป วางคู่กับโทเคนที่เป็นตัวแทนของ liquidity pool อีกอันนึงครับ ยกตัวอย่างเช่น ผู้ใช้งานวางโทเคนใน DAI-USDC-USDT pool (Curve Finance มีช่ือเล่นให้ pool นี้ว่า 3pool) ซึ่งเมื่อวางสำเร็จ ผู้ใช้งานจะได้รับ 3pool LP token ที่เป็นโทเคนที่แสดงว่าเรากำลังวางเงินไว้ใน 3pool อยู่ ผู้ใช้งานสามารถนำโทเคนนี้ไปวางคู่กับโทเคน GUSD เพื่อสร้างเป็น pool ใหม่ได้อีกต่อหนึ่งครับ ฟีเจอร์นี้ช่วยให้ Curve Finance สามารถสร้าง pool สำหรับโทเคนที่มีปริมาณสภาพคล่องต่ำ ๆ ได้ และยังช่วยให้ Curve Finance มีปริมาณการเทรดที่เพิ่มสูงขึ้นได้ครับ

Factory Pools

Curve Finance มีฟีเจอร์ factory pools ที่ช่วยให้ผู้ใช้งานทั่วไปสามารถสร้าง liquidity pool ได้ด้วยตัวเองครับ โดยผู้ใช้งานสามารถเลือกสร้าง pool ได้ 2 แบบ คือ stableswap สำหรับ stablecoin และ cryptoswap สำหรับโทเคนอื่น ๆ ซึ่งสามารถเป็นได้ทั้งโทเคนทั่วไป และโทเคนที่ได้รับจากการฝาก liquidity pool อื่นตามตัวอย่างก่อนหน้า โดยผู้ใช้งานสามารถปรับแต่งค่าต่าง ๆ ของ pool ได้ตามความเหมาะสมครับ

Tokens

CRV

เป็นโทเคนประจำกระดานเทรด Curve Finance ครับ โดยมีปริมาณอุปทานทั้งหมด 3.03 พันล้านโทเคน CRV เป็นโทเคนที่จะถูกทยอยผลิตออกมาเรื่อย ๆ เมื่อเวลาผ่านไป ไม่ได้มีการสร้างขึ้นมาไว้ตั้งแต่แรก ในวันที่เริ่มต้นโปรเจกต์ อุปทานของ CRV มีการแบ่งสัดส่วนดังนี้ครับ

  • 62% ถูกเก็บไว้เป็นค่าตอบแทนสำหรับผู้สร้างสภาพคล่อง (liquidity provider)
  • 30% ถูกแบ่งให้กับผู้ถือหุ้นของโปรเจกต์ (ทีมผู้ก่อตั้งและนักลงทุน) โดยมีระยะเวลาการปลดล็อก (vesting period) อยู่ที่ 2 ถึง 4 ปี
  • 5% ถูกเก็บไว้เป็นทุนสำรองสำหรับการขยายฐานผู้ใช้งาน
  • 3% ถูกแบ่งให้กับทีมพัฒนาโปรเจกต์ โดยมีระยะเวลาการปลดล็อกอยู่ที่ 2 ปี

ในส่วนของการใช้งาน CRV ก่อนการใช้งาน ผู้ใช้งานจะต้องทำการล็อก CRV ไว้กับแพลตฟอร์มเสียก่อนครับ การล็อกดังกล่าว ผู้ใช้งานจะได้รับโทเคน veCRV (ย่อมาจาก voting escrowed CRV) ซึ่งเปรียบเสมือนหลักฐานการล็อกโทเคนครับ ซึ่งการล็อกสามารถทำได้ที่ Locker บนหน้าเว็บของ Curve Finance โดยผู้ใช้งานสามารถเลือกระยะเวลาการล็อกได้ ซึ่งมีตั้งแต่ 1 อาทิตย์ ไปจนถึง 4 ปีครับ (ยิ่งล็อก CRV ไว้นานเท่าไหร่ อัตราทดของการได้รับ veCRV จะยิ่งสูงขึ้น ตามตารางอัตราส่วนด้านล่าง) ตัวโทเคน CRV มีการใช้งาน 3 รูปแบบหลัก ๆ ด้วยกัน

Curve Finance: กระดูกสันหลังแห่งโลก DeFi

  1. Staking: ได้รับส่วนแบ่งรายได้จากแพลตฟอร์ม โดยในปัจจุบันผู้ที่ 50% ของค่าธรรมเนียมการเทรด
  2. Voting: ได้รับสิทธิในการโหวตเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับร่างการอัปเกรดต่าง ๆ ของแพลตฟอร์ม
  3. Boosting: การฝากโทเคนเข้า liquidity pool บน Curve Finance จะมีตัวคูณสำหรับผลตอบแทนที่ผู้ใช้งานจะได้รับ ซึ่งตัวคูณดังกล่าวมีค่าสูงสุดได้ที่ 2.5 เท่า liquidity pool แต่ละอันจะใช้ CRV ปริมาณไม่เท่ากันในการสร้างตัวคูณ ขึ้นกับหลากหลายปัจจัยครับ ทั้งจำนวน CRV ที่ถูกล็อก, มูลค่าโทเคนภายใน pool และความผันผวนของราคาโทเคนของ pool ครับ

CRVUSD

เป็น stablecoin ของแพลตฟอร์ม Curve Finance ครับ ผู้ใช้งานสามารถผลิต (mint) CRVUSD ได้โดยการนำโทเคนไปวางเป็นหลักประกัน ในปัจจุบัน CRVUSD รองรับเพียงแค่ sfrxETH ซึ่งเป็นโทเคนที่เกิดจากการนำ ETH ไปฝาก (delegate) ไว้กับ Frax ซึ่งเป็นผู้ตรวจสอบเจ้าหนึ่งภายในบล็อกเชนของ Ethereum ซึ่งคาดว่าในอนาคตจะรองรับการวางหลักประกันด้วยโทเคนอื่น ๆ มากขึ้นครับ

กลไกการวางหลักประกันของ CRVUSD ทำงานเหมือนกันกลไกการวางหลักประกันการกู้ทั่วไปครับ เนื่องจากสินทรัพย์ค้ำประกันจะเป็นโทเคนที่มีมูลค่าผันผวน ดังนั้นจะมีการตรวจสอบมูลค่าระหว่างสินทรัพย์ค้ำประกันและโทเคนที่กู้ยืมตลอดเวลา เมื่อไรที่อัตราส่วนมูลค่าดังกล่าวลดลงต่ำกว่าเกณฑ์ที่ทางแพลตฟอร์มกำหนด การกู้ดังกล่าวจะเข้าสู่สถานะ liquidation และจะถูกบังคับขายสินทรัพย์ค้ำประกันโดยอัตโนมัติครับ

Roadmap

More Stablecoins

Curve Finance เป็นแพลตฟอร์มที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อการซื้อ-ขาย stablecoins โดยเฉพาะ และในปัจจุบันก็รองรับ stablecoins หลากหลายสกุลครับ แต่ทางทีมพัฒนาของ Curve Finance ก็ยังไม่หยุดที่จะขยายการใช้งานโดยเพิ่มจำนวน stablecoins ต่อไปในอนาคตครับ

User Experience

ตามที่กล่าวไปข้างต้นครับว่าหน้าเว็บของ Curve Finance ถูกออกแบบมาให้เรียบง่ายที่สุด แต่จากเสียงตอบรับของชุมชนผู้ใช้งาน Curve Finance ยังใช้งานค่อนข้างยาก เปรียบเทียบกับแอปพลิเคชัน DeFi อื่น ๆ ครับ สาเหตุหนึ่งคือทางเข้าหน้าเว็บที่เป็น official docs ของโปรเจกต์หาได้ยาก ทำให้ผู้ใช้งานหลายคนหาวิธีการใช้งานไม่เจอ ประกอบกับกลไกการสร้าง pool และการออก CRVUSD ของ Curve Finance มีความซับซ้อนค่อนข้างมาก ทำให้ผู้ใช้งานมีความต้องการเอกสารอธิบายวิธีการใช้งานสูงพอสมควร ทีมพัฒนาของ Curve Finance รับทราบปัญหาตรงนี้ และกำลังปรับปรุงหน้าเว็บ รวมถึง user journey ของโปรเจกต์ให้ดีขึ้นอยู่ครับ

Concerns

Hack

ความเสี่ยงสำคัญของ Curve Finance รวมถึงแอปพลิเคชัน DeFi ทั้งหมด คือการถูกแฮกครับ เนื่องจากกลไกทุกอย่างทำงานด้วย smart contract บนบล็อกเชน ซึ่งเป็นการเขียนโปรแกรม ซึ่งการเขียนโปรแกรมก็มีโอกาสที่จะเกิด bug ได้เสมอครับ ขึ้นอยู่กับว่านักพัฒนาจะตรวจเจอจุดผิดพลาดดังกล่าวได้เร็วแค่ไหน Curve Finance เคยถูกแฮกหนึ่งครั้งในเดือนสิงหาคม 2022 ครับ โดยแฮกเกอร์ได้โทเคนไปด้วยมูลค่ารวมในขณะนั้น 570,000 ดอลลาร์สหรัฐ ถึงแม้ว่าหลังจากนั้นไม่นาน ทางทีมพัฒนาได้ค้นพบสาเหตุของการถูกแฮกและสามารถแก้ไขตัวโปรแกรม และเปิดใช้งาน Curve Finance ได้ภายในระยะเวลาอันสั้น แต่เหตุการณ์ดังกล่าวก็บั่นทอนความน่าเชื่อถือของแพลตฟอร์มไปพอสมควรครับ

Summary

Stablecoin เป็นกลุ่มของโทเคนที่ได้รับความนิยมอย่างมากในการเทรด ถ้าในตลาดหุ้น นักลงทุนจะมีการขายหุ้นออกมาเก็บไว้เป็นเงินบาทเพื่อรับรู้กำไรหรือตัดขาดทุน ในตลาดคริปโตเคอร์เรนซี การเทรดโทเคนใด ๆ ก็จะมีการกระทำในลักษณะดังกล่าวเช่นกัน แต่มาพักไว้กับ stablecoin แทน เนื่องจากความสะดวกในการใช้งานครับ

การเทรดคริปโตส่วนหนึ่งเกิดขึ้นที่แอปพลิเคชันกระดานเทรด DeFi ซึ่งเป็นที่นิยมของผู้ใช้งานหลายคน ด้วยเหตุผลด้านความเป็นส่วนตัว ที่ไม่ต้องยืนยันตัวตนก็สามารถซื้อ-ขายโทเคนได้ การทำงานของกระดานเทรด DeFi จำเป็นต้องมีสภาพคล่องจากผู้ใช้งานฝั่งที่นำโทเคนมาฝากไว้ ที่สูง เพื่อให้การเทรดมีค่า slippage ที่ต่ำ ดังนั้นนักเทรดจึงมองหากระดานเทรดที่มีสภาพคล่องสูง ๆ ซึ่งชื่อของ Curve Finance จะเป็นชื่อแรกที่หลายคนนึกถึงครับ ด้วยสภาพคล่องกว่า 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และกลไกที่ถูกออกแบบมาสำหรับการแลกเปลี่ยน stablecoin โดยเฉพาะ ทำให้ Curve Finance เป็นแอปพลิเคชันที่ได้รับความนิยมค่อนข้างมากในบรรดาผู้ใช้งาน DeFi นอกเหนือจากปัจจัยเรื่องสภาพคล่องแล้ว Curve Finance ยังมีหน้าเว็บที่ใช้งานง่าย มี pool ให้เลือกหลากหลายสำหรับการฝากสภาพคล่องอีกด้วยครับ

แต่ก็ใช่ว่าจะมีแต่เรื่องดี ๆ สำหรับกระดานเทรดยักษ์ใหญ่ตัวนี้นะครับ Curve Finance เองก็เคยถูกแฮกไปเมื่อปี 2022 ที่ผ่านมา ถึงแม้ว่ามูลค่าที่ถูกแฮกไปจะน้อยเมื่อเทียบกับมูลค่าสินทรัพย์ทั้งหมดที่ฝากไว้กับแอปพลิเคชัน แต่ก็ถือเป็นข่าวใหญ่พอสมควรครับ เพราะไม่มีใครคิดว่า Curve Finance จะถูกแฮกได้ ข่าวดังกล่าวทำให้ความน่าเชื่อถือของ Curve Finance ลดลงพอสมควรครับ แต่ถึงกระนั้น จนถึงปัจจุบัน Curve Finance ก็เป็นกระดานเทรดที่ได้รับความนิยมจากผู้ใช้งานอยู่ดี ต้องดูกันต่อไปครับว่ากระดานเทรดยักษ์ใหญ่ตัวนี้จะสามารถเติบโตไปได้ไกลแค่ไหนครับ

Further Read:

CodeBreaker

ที่มาบทความ: https://link.medium.com/sGTguHsMyAb


คำเตือน

การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยงสูง อาจสูญเสียเงินลงทุน ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจและศึกษาข้อมูล รวมทั้งลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้

TSF2024