บล็อกเชนบนโลกของเรามีอยู่มากมายจนนับไม่ไหวครับ แน่นอนว่าไม่มีบล็อกเชนใดที่จะเป็น one size fits all หรือเป็นบล็อกเชนที่สามารถแก้ปัญหาได้ทุกอย่างบนโลกนี้ ทุกวันนี้เราเลยเห็นบล็อกเชนที่มีรูปแบบต่างกัน มีกลไกฉันทามติต่างกัน และถูกสร้างขึ้นมาเพื่อจุดประสงค์ที่ต่างกันไป แต่สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าบล็อกเชนจะมีลักษณะอย่างไร ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อจุดประสงค์ใด การติดต่อกันข้ามบล็อกเชนเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อย่างแน่นอนครับ การเชื่อมต่อบล็อกเชนหลาย ๆ ตัวเข้าด้วยกันถือเป็นจุดสำคัญในการเพิ่มความหลากหลายของการใช้งานและขยายฐานผู้ใช้งานของบล็อกเชน วันนี้ผมจะพาทุก ๆ คนไปรู้จักกับโปรเจกต์ที่เรียกว่าเป็นกระดูกสันหลังของบล็อกเชนอื่น ๆ อีกหลายตัว นั่นก็คือ Cøsmos ครับ แล้วทุก ๆ คนจะได้รู้ว่าโปรเจกต์นี้อยู่เบื้องหลังโปรเจกต์คริปโตเคอร์เรนซีหลายโปรเจกต์เลยครับ
What is Cøsmos?
Cøsmos นิยามตัวเองว่าเป็น Ecosystem of Connected Blockchains ครับ ซึ่งเป็นเครือข่ายที่จะทำหน้าที่เชื่อมต่อหลาย ๆ บล็อกเชนเข้าด้วยกัน เพื่อให้แต่ละบล็อกเชนสามารถติดต่อสื่อสารกันได้ครับ โดยเทคโนโลยีเบื้องหลังของ Cøsmos หลัก ๆ จะมี 3 ส่วนด้วยกัน
1. Tendermint Consensus Algorithm
Tendermint เป็นกลไกฉันทามติของ Cøsmos ซึ่งมีพื้นฐานมาจากอัลกอริทึม Byzantine Fault Tolerant (BFT) ครับ โดยนำ BFT มาเพิ่มขีดความสามารถในการสร้าง smart contract เข้าไป โดยปกติแล้วการสร้างบล็อกเชนหนึ่งบล็อกเชนจะประกอบไปด้วย 3 layer คือ Networking layer ที่ทำหน้าที่เป็นเครือข่ายกระดูกสันหลังในการติดต่อสื่อสารระหว่างผู้ใช้งานและ node, Consensus layer ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบธุรกรรมต่าง ๆ, และ Application layer ที่จะสร้างลูกเล่นต่าง ๆ ที่ผู้ใช้อย่างเราเห็น ๆ กัน (การทำฟาร์ม, ปล่อยกู้ หรือกลไกอื่น ๆ จะเกิดขึ้นบน layer นี้ครับ) ถ้าหากเทียบกับ Ethereum ซึ่งก็มีสิ่งที่เรียกว่า Ethereum Virtual Machine (EVM) ที่ทำให้บล็อกเชนอื่น ๆ สามารถสร้าง smart contract ได้ จุดเด่นของ Tendermint คือ Tendermint เป็นชุดพัฒนาที่รวบขั้นตอนการสร้าง Networking และ Consensus layer ไวด้วยกัน ทำให้นักพัฒนาสามารถโฟกัสที่การสร้าง Application layer ได้เลย ในขณะที่ EVM ไม่ได้มีการรวบสอง layer ข้างต้น (ทำให้การพัฒนา smart contract บน Ethereum ต้องคำนึงถึงการทำงานร่วมกันของทั้ง 3 layers) Tendermint จึงใช้เวลาพัฒนาน้อยกว่า EVM ครับ นอกจากนี้ ด้วยความที่ Tendermint รับผิดชอบเฉพาะส่วน Network และ Consensus ทำให้นักพัฒนาสามารถออกแบบบล็อกเชนให้มีลักษณะ private หรือ public ก็ได้ครับ
2. Application Blockchain Interface (ABCI)
เป็นโปรโตคอลที่ทำหน้าที่เชื่อมต่อ Tendermint เข้ากับแอปพลิเคชันต่าง ๆ ที่มาสร้างบน Cøsmos ครับ โดยความพิเศษของ ABCI นั่นคือมันสามารถถูกเขียนได้ในเกือบทุกภาษา ทำให้นักพัฒนาที่จะมาสร้างแอปพลิเคชันบน Cøsmos สามารถพัฒนาด้วยภาษาที่ตนเองต้องการได้นั่นเอง
3. Cosmos SDK
SDK หรือ Software Development Kit คือชุดโปรแกรมที่เปรียบเสมือนกล่องเครื่องมือที่นักพัฒนาของแพลตฟอร์มเค้าปล่อยมาให้ผู้ใช้งานอย่างเรา ๆ ได้นำไปใช้ต่อยอดบนแพลตฟอร์มของเค้าครับ สำหรับ Cosmos SDK นี่ก็คึอชุดคำสั่งที่จะช่วยนักพัฒนาที่จะมาพัฒนาแอปพลิเคชันต่าง ๆ บน Cøsmos ครับ โดยจะมีการเตรียมชุดคำสั่งพื้นฐาน เช่นฟังก์ชันเกี่ยวกับการส่งโทเคน, การฝาก (staking), และการโหวต ไว้เรียบร้อยแล้ว และนักพัฒนาก็สามารถเพิ่มชุดคำสั่งเข้าไปอีก ก็ได้เช่นกัน โดย Cosmos SDK ถูกสร้างขึ้นบนหลัก Modularity อธิบายเพิ่มเติมคือ Cosmos SDK มีเป้าหมายคือสร้างระบบนิเวศของโมดูลครับ ด้วยการแยกชุดโค้ดออกเป็นโมดูลย่อย ๆ ทำให้นักพัฒนาสามารถสร้างบล็อกเชนหลาย ๆ อัน โดยใช้วิธีการประกอบชุดโมดูลย่อย ๆ หลาย ๆ ตัว ช่วยให้ลดโอกาสที่จะเขียนโปรแกรมซ้ำกันหลาย ๆ ที่ครับ
Projects in Cøsmos Ecosystem
เป็นกระดานเทรดแบบกระจายศูนย์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในระบบนิเวศของ Cøsmos ครับ โดยในปัจจุบัน (มกราคม 2023) มีมูลค่าการฝาก liquidity กว่า 177 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีมูลค่าการเทรดต่อวันโดยเฉลี่ยอยู่ในระดับ 6–9 ล้านดอลลาร์สหรัฐครับ รองรับการเทรดโทเคนคริปโตเคอร์เรนซีหลายร้อยชนิดภายในระบบนิเวศของ Cøsmos รวมถึงโทเคนจากบล็อกเชนอื่น เช่น ETH, USDC และ WBTC จากบล็อกเชนของ Ethereum ที่ถูกเชื่อมต่อผ่านโปรเจกต์อื่น ๆ เช่น Axelar ด้วยครับ
ตัวโปรเจกต์มีโทเคน OSMO เป็นโทเคนหลัก โดยผู้ใช้งานที่ต้องการซื้อ-ขายโทเคนบนกระดานเทรด Osmosis จะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมธุรกรรมด้วย OSMO ครับ และผู้ที่ต้องการจะตรวจสอบธุรกรรมบนบล็อกเชนของ Osmosis จะต้องวาง (stake) OSMO เป็นหลักประกันด้วยครับ
เป็นโปรเจกต์คริปโตเคอร์เรนซีที่มีเป้าหมายเชื่อมต่อการส่งผ่านมูลค่าระหว่างบล็อกเชนใด ๆ ครับ Axelar เปรียบเทียบตัวเองว่าเป็น Stripe แห่งโลกคริปโต ที่จะช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถโอนโทเคนจากบล็อกเชนหนึ่งไปยังอีกบล็อกเชนหนึ่ง โดยที่การตรวจสอบการทำธุรกรรมยังคงความกระจายศูนย์ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของบล็อกเชนอยู่ ผ่านการตรวจสอบการทำธุรกรรมของผู้ตรวจสอบธุรกรรม (validator) ที่จะต้องทำการ stake AXL ซึ่งเป็นโทเคนหลักของโปรเจกต์ เป็นหลักประกันในการตรวจสอบครับ
เป็นบล็อกเชนที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยมีจุดเด่นด้านความเป็นส่วนตัว (privacy) ของผู้ใช้งานครับ จริงอยู่ที่บล็อกเชนที่เราเห็นทุกวันนี้อย่าง Bitcoin / Ethereum หรืออื่น ๆ ก็ไม่ได้มีการเปิดเผยตัวตนผู้ใช้งาน แต่ข้อมูลประวัติการทำธุรกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นกระเป๋าปลายทาง / มูลค่า / วันเวลาที่ทำธุรกรรม ก็ถูกเปิดเผย นั่นแปลว่าถ้าหากมีใครสักคนรู้ที่อยู่กระเป๋าของเรา ก็จะรู้หมดเลยว่าเรามีโทเคนอะไรบ้าง มีประวัติการทำธุรกรรมอะไรบ้าง ซึ่งถึงแม้จะไม่เปิดเผยตัวตน ก็ไม่ได้มีความเป็นส่วนตัวในโลกคริปโตเคอร์เรนซีสักเท่าไรครับ ดังนั้น Secret Network จึงถูกสร้างขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหานี้โดยเฉพาะ โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มคุณลักษณะด้านความเป็นส่วนตัวให้กับผู้ใช้งานโดยที่ยังคงความกระจายศูนย์ซึ่งเป็นลักษณะสำคัญของบล็อกเชนอยู่ครับ
Akash Network คือเครือข่ายการคำนวณแบบกระจายศูนย์ (decentralized cloud computing) โดยตัวมันเองจะทำหน้าที่เสมือนตลาดซื้อขายให้คนทั่ว ๆ ไปมาขายทรัพยากรการคำนวณของคอมพิวเตอร์ของตนให้กับคนที่ต้องการใช้งานครับ โดยมีเป้าหมายลดต้นทุนการใช้งานให้ต่ำกว่าผู้ให้บริการ cloud computing เจ้าใหญ่ ๆ ที่เราใช้งานกันอยู่ทุกวันนี้ และเพิ่มความกระจายศูนย์เข้าไป (ซึ่งจะเป็นจุดเด่นของ cloud computing network ที่ถูกสร้างด้วยบล็อกเชน) ซึ่งผู้ที่ต้องการใช้ทรัพยากรการคำนวณก็จะต้องจ่ายด้วยเหรียญ AKT ซึ่งเป็นโทเคนประจำบล็อกเชนของ Akash ครับ
เป็นบล็อกเชนสายเขียว ที่เปิดให้เจ้าของที่ดินสามารถขาย “Ecosystem Service” ซึ่งเป็นสิทธิประโยชน์ที่ผู้คนจะได้รับจากสภาพแวดล้อมที่ดี (เช่น แหล่งน้ำสะอาดอากาศบริสุทธิ์ เป็นต้น) ซึ่งวิสัยทัศน์ของ Regen คือทำให้โลกน่าอยู่ขึ้นนั่นแหละครับ โดยตัว Regen เปรียบเสมือนแหล่งระดมทุนของคนที่มีที่ดินที่แหล่งน้ำสะอาดอากาศบริสุทธิ์สามารถสร้างรายได้จากความสะอาดของที่ดินเค้าเอง สำหรับพวกเราเองถ้ามีความต้องการที่จะช่วยโลกหรืออยากให้โลกเขียวขึ้นก็ไปลงทุนกับเจ้าของที่ดินได้
และยังมีอีกโปรเจกต์ที่น่าสนใจอีกมากมาย ซึ่งก็สามารถเข้าไปดูเพิ่มเติมได้ที่ Official Website ของ Cøsmos ครับ
Inter-Blockchain Communication Protocol (IBC)
อย่างที่เล่าไปก่อนหน้านี้ครับว่า Cøsmos มีความตั้งใจที่จะเชื่อมต่อบล็อกเชนหลาย ๆ อันเข้าด้วยกัน ตัว Cosmos เองก็มีการสร้าง Cosmos SDK เพื่อให้ง่ายต่อการสร้างบล็อกเชนของตัวเองแล้วนำมาเชื่อมต่อเข้ากับบล็อกเชนอื่น ๆ ที่ใช้ Cosmos SDK สร้างเหมือนกัน แล้วทีนี้จะเชื่อมต่อบล็อกเชนเหล่านั้นยังไงล่ะ? คำตอบคือ IBC นี่แหละครับ โดย IBC ถือเป็นส่วนประกอบสำคัญของ Tendermint ที่เพิ่มขีดความสามารถในการทำธุรกรรมระหว่าง Heterogeneous chains ครับ
Heterogeneous Chains?
บล็อกเชน 2 อันที่เป็น Heterogeneous ต่อกัน จะมีคุณสมบัติอยู่สองอย่างด้วยกันครับ
- Different Layers: บล็อกเชน 2 บล็อกเชนนั้นอาจจะมี layer ที่แตกต่างกัน หมายความว่าวิธีการเชื่อมต่อ node (จาก Networking layer) / กลไกฉันทามติ (จาก Consensus layer) / มาตรฐานการเขียน code สำหรับ Application layer จะแตกต่างกัน
- Sovereignty: ทั้ง 2 บล็อกเชนจะต้องมีกลุ่มของผู้ตรวจสอบที่ทำหน้าที่ประมวลผลและยืนยันความถูกต้องของธุรกรรมภายใน ซึ่งผู้ตรวจสอบเหล่านั้นจะต้องมีอิสระในการยืนยันหรือปฏิเสธความถูกต้องของธุรกรรมจากผู้ตรวจสอบอื่น ๆ จึงจะเรียกว่าตัวบล็อกเชนมี sovereignty ครับ
ซึ่ง IBC จะเป็นตัวกลางที่ทำให้ Heterogeneous blockchain เหล่านั้นส่งโทเคนไปมาระหว่างกันได้ หมายความว่าบล็อกเชนที่มีโครงสร้างต่างกัน กลไกฉันทามติต่างกัน หรือมีผู้ตรวจสอบคนละชุดกัน จะสามารถติดต่อกันได้ ผ่าน IBC ครับ
หนึ่งในตัวอย่างการใช้งานที่ชัดเจนที่สุดของ IBC คือการส่งโทเคนไปมาระหว่างบล็อกเชนที่มีลักษณะ public กับ private อย่างที่กล่าวไว้ข้างบนครับว่า Cosmos SDK สามารถสร้างบล็อกเชนได้ทั้ง public และ private และ IBC เข้ามาช่วยต่อท่อเชื่อมระหว่าง 2 บล็อกเชนนี้ได้ ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีซอฟต์แวร์อื่นที่ทำแบบนี้ได้นะครับ
แล้ว IBC ทำงานอย่างไร?
(ขอบคุณตัวอย่างดี ๆ จาก Cosmos official website ด้วยนะครับ)
บล็อกเชนทั้งหมดภายในระบบนิเวศของ Cøsmos จะมีข้อมูลของบล็อกเชนอื่น (ที่เราเรียกกันว่า metadata) อยู่แล้วครับ ยกตัวอย่างเช่นชื่อบล็อกเชน, ชื่อโทเคน, รายชื่อผู้ตรวจสอบ เป็นต้นครับ
สมมติว่า chain X อยากจะส่ง 10 ATOM ไปให้ chain Y ระบบของ IBC จะทำงานตามนี้ครับ
- ATOM ใน chain X จะถูก bonded จำนวน 10 ATOM (มันคือการล็อกโทเคนไว้ครับ เพราะการโอน ATOM ครั้งนี้ สุดท้ายแล้ว ATOM ใน chain X จะต้องหายไป 10 ATOM)
- IBC จะทำการยืนยันว่า 10 ATOM ถูกล็อกไว้ใน chain X จริง ๆ จากนั้นจะส่งคำสั่งยืนยันการ bond ไปที่ chain Y
- Chain Y จะทำการยืนยันความถูกต้องของการทำธุรกรรมบน chain X โดยอาศัย metadata ของ X ที่อยู่กับ Y ครับ และถ้ายืนยันการทำธุรกรรมสำเร็จ 10 ATOM ใหม่จะถูกสร้างขึ้นบน chain Y ก็ถือเป็นอันเสร็จครับ ซึ่ง ATOM ที่ถูกสร้างขึ้นใหม่บน Y จริง ๆ จะไม่ได้ถือว่าเป็น ATOM จริง ๆ (จะมีลักษณะเป็น wrapped token เหมือน WBTC บนบล็อกเชนอย่าง Ethereum หรือ Polygon) แต่ถึงแม้จะไม่ใช่ของแท้ ATOM ที่ถูกสร้างขึ้นใหม่นั้นก็จะมีมูลค่าอ้างอิงตาม ATOM จริง ๆ ที่อยู่บน chain X ครับ
The Internet of Blockchains
IBC ช่วยให้แต่ละบล็อกเชนที่มีลักษณะแตกต่างกันสามารถเชื่อมต่อกันได้ ส่งโทเคน ทำธุรกรรมระหว่างกันได้ แต่ถ้าสมมติเรามีบล็อกเชนสัก 100 บล็อกเชน ถ้าหากเราทำการเชื่อมต่อทุก ๆ คู่ความเป็นไปได้ของคู่บล็อกเชนในระบบนิเวศของเรา จำนวน IBC connector ที่เราต้องสร้าง จะเท่ากับ 4,950 ตัวครับ (และจะเพิ่มขึ้นแบบยกกำลังเมื่อจำนวนบล็อกเชนเพิ่มขึ้น)
Cøsmos แก้ปัญหานี้โดยออกแบบโครงสร้างเพิ่มเติมโดยการแบ่งบล็อกเชนออกเป็น 2 ประเภท คือ Zones กับ Hubs ครับ โดย Zones คือบล็อกเชนปกติที่มีแอปพลิเคชันหลากหลาย เป็นบล็อกเชนที่นักพัฒนาตั้งใจเข้ามาสร้างภายในระบบนิเวศของ Cøsmos เพื่อที่จะเชื่อมต่อกับบล็อกเชนอื่น ๆ ครับ ส่วน Hubs จะเป็นบล็อกเชนพิเศษที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเชื่อมต่อ Zones เข้าด้วยกัน โดยแต่ละ Hub จะมีความสามารถในการทำธุรกรรมใด ๆ กับ Zones ที่ตัวมันเองเชื่อมต่ออยู่โดยอัตโนมัติ นั่นหมายความว่า ถ้านักพัฒนาเข้ามาสร้างบล็อกเชนหนึ่งบล็อกเชนในระบบนิเวศของ Cøsmos สิ่งที่นักพัฒนาต้องทำคือเชื่อมต่อบล็อกเชนที่ตัวเองสร้างกับ Hubs จำนวนนึง แทนที่จะต้องเชื่อมต่อกับบล็อกเชนทุกบล็อกเชนภายในระบบนิเวศ นอกจากนี้ Hubs ภายใน Cøsmos ยังมีกลไกป้องกัน double spending อีกด้วยครับ
ทาง Cøsmos เองปล่อย Cøsmos Hub ซึ่งก็เป็น Hub แรกภายในระบบนิเวศของ Cøsmos ออกมาสักพักแล้ว โดยบล็อกเชนของ Cøsmos Hub มีลักษณะเป็น public Proof-of-Stake และโทเคนของบล็อกเชนนี้ก็คือเหรียญ ATOM ที่หลาย ๆ คนน่าจะเคยได้ยินชื่อครับ
Cosmos Applications
- GravityDEX เป็นกระดานเทรดคริปโตเคอร์เรนซีแบบกระจายศูนย์ภายในระบบนิเวศของ Cøsmos ซึ่งทำงานเหมือนกับกระดานเทรดเจ้าอื่น ๆ ที่จะเปิดโอกาสให้ผู้ใช้งานมาฝากคู่เหรียญเพื่อรับส่วนแบ่งจากค่าธรรมเนียมการเทรด พร้อมกับฟีเจอร์ที่สามารถให้ผู้ใช้งานฟาร์มโทเคนได้ แต่ความพิเศษของ GravityDEX คือความสามารถในการซื้อ-ขายเหรียญข้ามบล็อกเชนภายในระบบนิเวศของ Cøsmos ซึ่งเทคโนโลยีเบื้องหลังก็คือ IBC นั่นเองครับ
- Gravity Bridge เป็นสะพานเชื่อมระหว่างระบบนิเวศของ Cøsmos และ Ethereum ครับ ย้อนกลับไปที่ IBC จริง ๆ แล้วไม่ใช่ว่าทุกบล็อกเชนบนโลกนี้จะเชื่อมต่อกับ Cøsmos ได้ผ่าน IBC ตรง ๆ กลุ่มของบล็อกเชนที่ไม่สามารถเชื่อมต่อโดยตรงได้ คือบล็อกเชนที่ไม่มีคุณสมบัติ Fast Finality ซึ่งบล็อกเชนที่เป็น Proof-of-Work เช่น Bitcoin หรือ Ethereum จะไม่มีคุณสมบัตินี้ เพราะฉะนั้นจะไม่สามารถเชื่อมต่อได้โดยตรง แต่ Gravity Bridge จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหานี้ด้วยการสร้าง Peg Zone ซึ่งเป็นบล็อกเชนใหม่ที่จะทำหน้าที่ติดตามสถานะของบล็อกเชนที่ Cøsmos จะเชื่อมต่อด้วย (ในที่นี้คือ Ethereum) และจะทำหน้าที่ “จำลอง” การตรวจสอบและเขียนธุรกรรมบน Ethereum (ซึ่งจริง ๆ Ethereum ไม่ได้มีกระบวนการตรวจสอบธุรกรรมแบบนี้) เพื่อให้ Cøsmos สามารถรับรู้ความถูกต้องของธุรกรรมและทำธุรกรรมต่อไปได้
ซึ่งแน่นอนว่าแอปพลิเคชันภายใน Cøsmos คงไม่ได้มีอยู่เท่านี้แน่นอน สำหรับใครที่สนใจเกี่ยวกับแอปพลิเคชันภายใน Cøsmos สามารถติดตามที่ Official Website ได้ครับ
ATOM
ATOM เป็นเหรียญในระบบนิเวศของ Cøsmos ครับ โดยหลัก ๆ แล้ว ATOM จะถูกใช้เป็นโทเคนในการจ่ายค่าธุรกรรมใน Cøsmos Hub เช่นการโอนโทเคนไปยังกระเป๋าอื่น ๆ และอีกหนึ่งการใช้งานของ ATOM ก็คือเป็น governance token ครับ โดยผู้ตรวจสอบจะต้องวาง (stake) ATOM เป็นหลักประกัน เพื่อให้มีสิทธิ์ในการโหวต เวลาที่มีการนำเสนอร่างการอัปเกรดใหม่ ๆ ของโปรเจกต์ขึ้นมา และสำหรับผู้ใช้งานทั่วไปที่ไม่ได้ต้องการจะเป็นผู้ตรวจสอบ สามารถฝาก (delegate) ATOM ของเราให้กับผู้ตรวจสอบที่ต้องการได้ครับ สำหรับอัตราผลตอบแทนในปัจจุบันของผู้ตรวจสอบและผู้ฝากจะอยู่ที่ 23.5% และ 21.8% ตามลำดับโดยประมาณครับ
อย่างหนึ่งที่หลาย ๆ คนจะงง คือ ATOM นั้นไม่ใช่โทเคนหลักของทั้งระบบนิเวศของ Cøsmos นะครับ ATOM เป็นโทเคนหลักของบล็อกเชน Cøsmos Hub เท่านั้น อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นว่าระบบนิเวศของ Cøsmos จะประกอบด้วยบล็อกเชนหลาย ๆ บล็อกเชนที่สามารถเชื่อมต่อถึงกันได้ ซึ่งแต่ละบล็อกเชนก็จะมีโทเคนประจำบล็อกเชนของตัวเอง ดังนั้นถ้าหากเราจะทำธุรกรรมบนบล็อกเชนอื่น ๆ เราก็จะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเป็นโทเคนของบล็อกเชนนั้น ๆ ซึ่งประเด็นนี้ก็เป็นที่พูดถึงกันอยู่ครับ ว่าการที่ ATOM ไม่ได้ถูกใช้เป็นโทเคนหลักบนทั้งระบบนิเวศของ Cøsmos จะทำให้ มูลค่าของเหรียญมีน้อยลงหรือเปล่า? ซึ่งมีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยครับ กลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยจะโต้แย้งว่ามูลค่าของ ATOM ไม่ได้มาจากแค่การใช้จ่ายเป็นค่าธรรมเนียมเพียงอย่างเดียว แต่ ATOM ยังถูกใช้เป็น governance token ของ Cøsmos Hub ซึ่งเปรียบเสมือนแกนกลางของระบบนิเวศ Cosmos ทั้งหมด ดังนั้นการมีสิทธิ์มีเสียงในการกำหนดแนวทางความเป็นไปของ “แกนกลาง” (ซึ่งแน่นอนว่าการตัดสินใจใด ๆ จะส่งผลกระทบกับทุก ๆ บล็อกเชนในระบบนิเวศ) ก็เพิ่มมูลค่าให้กับ ATOM ได้ไม่น้อยครับ
อ้างอิงจาก CoinGecko ในปัจจุบัน (มกราคม 2023) ATOM มีมูลค่าตลาดทั้งหมดประมาณ 3,287 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงเป็นอันดับ 21 ในบรรดาโปรเจกต์คริปโตเคอร์เรนซีทั้งหมดครับ
Roadmap
Ethereum and Polkadot Integrations
ถ้าพูดถึงบล็อกเชน smart contract ที่ได้รับการยอมรับมากที่สุด ผมเชื่อว่าหลาย ๆ คนจะนึกถึง Ethereum เป็นลำดับแรกครับ เนื่องจาก Ethereum มีแอปพลิเคชันและการใช้งานที่หลากหลาย มีฐานผู้ใช้งานและมูลค่าการเทรดสูงที่สุดในบรรดาบล็อกเชน smart contract ทั้งหมดครับ และถ้าหากพูดถึงโปรเจกต์ที่เป็นศูนย์รวมของบล็อกเชนที่หลากหลาย มีกลไกด้านความปลอดภัยที่สูงเป็นอันดับต้น ๆ ชื่อ Polkadot คงจะเข้ามาในหัวของใครหลาย ๆ คนเป็นชื่อแรกครับ สองโปรเจกต์นี้ถือเป็นโปรเจกต์ขนาดใหญ่ยักษ์ในโลกคริปโตเคอร์เรนซี ที่มีฐานผู้ใช้งานสูงเป็นอันดับต้น ๆ นั่นทำให้การเชื่อมต่อกับทั้ง Ethereum และ Polkadot จะทำให้ Cøsmos สามารถขยายฐานผู้ใช้งานได้อีกมหาศาล และเพิ่มความหลากหลายของการใช้งานผ่านโปรเจกต์ต่าง ๆ ที่อยู่บนบล็อกเชนของ Ethereum และภายในระบบนิเวศของ Polkadot ได้ครับ
ทีมพัฒนาของ Cøsmos มีแผนที่จะเชื่อมต่อ IBC เข้ากับโครงสร้างระบบนิเวศของ Polkadot เพื่อให้สามารถเชื่อมต่อ Cøsmos เข้ากับ Relay Chain และ Parachain ทั้งหมดของ Polkadot ได้ (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Polkadot ได้ที่นี่) และนอกจากนี้ยังมีแผนที่จะเชื่อมต่อ IBC เข้ากับ Beacon chain ของ Ethereum ที่ถูกอัปเกรดเป็น Ethereum ที่ใช้กลไกฉันทามติ Proof-of-Stake ครับ
Cøsmos 2.0
Cøsmos มีแผนอัปเกรดโปรเจกต์ครั้งใหญ่ภายใต้ชื่อ Cøsmos 2.0 ครับ โดยมีเป้าหมายการพัฒนาหลัก ๆ 2 ด้านด้วยกัน
- Real world use cases: เพิ่มการใช้งานบนโลกจริงให้หลากหลายยิ่งขึ้น หลาย ๆ โปรเจกต์ภายในระบบนิเวศของ Cøsmos ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อการใช้งานในโลกคริปโตเคอร์เรนซีเป็นหลักครับ ไม่ว่าจะเป็นกระดานเทรดแบบ Osmosis, บล็อกเชนแบบ Juno และ Secret Network, สะพานแบบ Axelar และ Evmos, NFT marketplace แบบ Stargaze แต่ในปัจจุบันยังมีไม่กี่โปรเจกต์ครับที่ประยุกต์ใช้งานเทคโนโลยีบล็อกเชนบนโลกแห่งความเป็นจริง ตัวอย่างของโปรเจกต์รูปแบบดังกล่าวอย่างเช่น Sentinel ที่สร้าง virtual private network (VPN) แบบกระจายศูนย์ โดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน ทำให้ผู้ใช้งานสามารถท่องโลกอินเทอร์เน็ตได้โดยปราศจากการจำกัดสิทธิการเข้าถึงใด ๆ ครับ แต่ Sentinel เองก็ยังเป็นโปรเจกต์ที่มีขนาดไม่ใหญ่มาก และจำนวนโปรเจกต์ที่มีลักษณะดังกล่าวก็ยังถือว่าน้อย ทีมพัฒนาของ Cøsmos จึงมีแผนที่จะส่งเสริมการพัฒนาโปรเจกต์ไปในแนวทางนี้มากขึ้นครับ
- ATOM’s tokenomics: ATOM ในปัจจุบันเป็นโทเคนที่มีอัตราการเฟ้อค่อนข้างสูงครับ เนื่องจากผลตอบแทนจากการ stake สำหรับผู้ตรวจสอบและผู้ฝาก ถือว่าสูงพอสมควรเมื่อเทียบกับโทเคนลักษณะเดียวกันบนบล็อกเชนอื่น และ ATOM เองก็ยังมีความต้องการการใช้งานที่จำกัด ตามที่ได้กล่าวไปข้างต้น ซึ่งทีมพัฒนาของ Cøsmos รับทราบปัญหาข้อนี้ และกำลังค้นหาวิธีการแก้ไขเพื่อลดอัตราการเฟ้อของ ATOM ลงครับ
Summary
บล็อกเชนแต่ละบล็อกเชนถูกสร้างขึ้นมาเพื่อจุดประสงค์ที่แตกต่างกันครับ แน่นอนว่าบล็อกเชนเหล่านี้ก็มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป แต่เรื่องสำคัญที่สุด คือบล็อกเชนเหล่านี้ควรจะเชื่อมต่อหากันได้ Cøsmos เป็นโปรเจกต์ที่เข้ามาตอบโจทย์นี้ได้เป็นอย่างดีครับ ด้วย IBC ที่ทำให้ทุก ๆ บล็อกเชนสามารถเชื่อมต่อหากันได้ และการออกแบบโครงสร้างของ Cøsmos ที่มีทั้ง Zones และ Hub ทำให้สะดวกต่อบล็อกเชนภายในระบบนิเวศที่จะเชื่อมต่อกับบล็อกเชนอื่น ๆ ครับ ทำให้ Cøsmos ถือเป็นหนึ่งในโปรเจกต์ที่น่าจับตามองมาก ๆ และยังมีโอกาสเติบโตได้อีกไกลครับ
แต่การเพิ่มขึ้นของราคาของ ATOM ซึ่งเป็นโทเคนหลักของโปรเจกต์ ดูจะไม่เป็นไปในแนวทางเดียวกันกับการเติบโตของ Cøsmos สักเท่าไรครับ เนื่องจากการใช้งานของ ATOM เกิดขึ้นเฉพาะในส่วนเล็ก ๆ ของระบบนิเวศเท่านั้น ซึ่งผู้ใช้งานหลาย ๆ คนก็ยังถกเถียงกันถึงมูลค่าของ ATOM ว่ามีมากพอหรือไม่ครับ ถ้าหากในอนาคตมีโปรเจกต์ภายในระบบนิเวศของ Cøsmos ที่มีผู้ใช้งานเพิ่มขึ้น มีมูลค่าเพิ่มขึ้นมหาศาล โทเคนที่จะได้ประโยชน์จากการขยายตัวดังกล่าว คือโทเคนหลักของโปรเจกต์นั้น ๆ ครับ ส่วน ATOM เองก็อาจจะได้ประโยชน์อยู่บ้าง แต่ก็คงไม่เยอะเท่าโทเคนหลักของโปรเจกต์นั้น ๆ แน่นอนครับ แต่ถึงจะมีประเด็นเรื่องมูลค่าของโทเคน สุดท้ายแล้ว Cøsmos เองก็เป็นระบบนิเวศของคริปโตเคอร์เรนซีที่น่าติดตาม และมีศักยภาพในการเติบโตได้อีกไกลครับ
Further Read:
- Cosmos Official Docs: https://v1.cosmos.network/intro
- GravityDEX: https://cosmos.network/gravity-dex/
- Gravity Bridge: https://blog.cosmos.network/the-gravity-bridge-chain-is-coming-to-cosmos-7010ec7bd0ea
CodeBreaker
ที่มาบทความ: https://link.medium.com/vKtEGyMiQwb
คำเตือน
การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยงสูง อาจสูญเสียเงินลงทุน ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจและศึกษาข้อมูล รวมทั้งลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้