โลก Decentralized Finance (DeFi) พัฒนาไปอย่างรวดเร็วนะครับ อ้างอิงจาก Defillama ในปัจจุบันถ้าเรานับทุก ๆ บล็อกเชนรวมกัน แพลตฟอร์ม DeFi ทั้งหมดมีมูลค่าสินทรัพย์สูงกว่า 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (และเคยพุ่งสูงถึง 1.87 แสนล้านดอลลาร์ในช่วงปลายปี 2021 ก่อนตลาดคริปโตเคอร์เรนซีจะเข้าสู่ช่วงขาลง) ครับ และในปัจจุบันก็มี DApp ที่ถูกเขียนขึ้นบนบล็อกเชนที่สามารถเขียน smart contract ได้หลายพันตัว มีลูกเล่นที่แตกต่างกันไป สำหรับคนที่ไม่คุ้นเคยกับโลก DeFi อาจจะรู้สึกว่าแอปพลิเคชันเหล่านี้ดูเข้าใจยากเหลือเกิน เพราะว่าโลก DeFi มีกลไกทางการเงินหลายอย่าง ที่บนโลกจริงไม่สามารถทำได้ครับ
แต่หนึ่งกลไกบนโลก DeFi ที่เลียนแบบโลกจริงมาเลย คือการกู้เงินครับ การกู้เงินบนโลก DeFi มีพื้นฐานจากการกู้เงินจากธนาคาร และเพิ่มกลไกบางอย่างที่การกู้เงินจากธนาคารไม่สามารถทำได้เข้าไป บนโลก DeFi ก็มีแพลตฟอร์มลักษณะนี้อยู่ไม่น้อยนะครับ แต่ถ้าพูดแพลตฟอร์มที่เป็นผู้นำในวงการ ชื่อของ Aave คงจะเป็นชื่อแรก ๆ ที่ถูกนึกถึงเลยครับ วันนี้ผมจะพามารู้จักกับ Aave มาดูกันว่ากลไกการกู้ยืมเงินบนโลก DeFi จะมีความเหมือนหรือแตกต่างจากโลกการเงินดั้งเดิมอย่างไร และ Aave เองจะมีลูกเล่นอะไรเพิ่มเติมมาจากโลกการเงินดั้งเดิมบ้าง ไปติดตามกันครับ
ขออนุญาตแนะนำเล็กน้อยนะครับสำหรับคนที่อาจจะยังไม่คุ้นเคยกับโลก DeFi หรือยังมีความงงอยู่ว่ากลไกของระบบการเงินบนบล็อกเชนทำงานอย่างไร ผมว่าการเริ่มศึกษาจากแพลตฟอร์มปล่อยกู้ น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับหลาย ๆ คนครับ เพราะว่าแพลตฟอร์มกลุ่มนี้มีกลไกการทำงานที่คล้ายคลึงกับระบบการปล่อยกู้ของธนาคารในโลกการเงินดั้งเดิม การเริ่มศึกษา DeFi จากจุดนี้ น่าจะช่วยให้จับต้นชนปลายได้ง่ายขึ้น
What is Aave?
Aave เป็นแพลตฟอร์มการกู้ยืมเงินแบบกระจายศูนย์ (decentralized) ที่แรกเริ่มเดิมทีถูกสร้างขึ้นบนบล็อกเชนของ Ethereum ในช่วงต้นปี 2020 และถัดมาก็ได้ขยับขยายไปยังบล็อกเชนอื่น ๆ หลากหลายครับ จนในปัจจุบัน Aave เปิดให้บริการอยู่ 7 บล็อกเชนด้วยกัน ได้แก่ Ethereum, Arbitrum, Optimism, Harmony, Avalanche, Polygon และ Fantom ครับ อ้างอิงจาก Defillama ในตอนนี้ AAVE เป็นโปรโตคอลในโลกคริปโตเคอร์เรนซีที่มีมูลค่าสินทรัพย์ (total value locked: TVL) สูงเป็นอันดับ 2 เป็นรองเพียงแค่ MakerDao เท่านั้น ด้วยมูลค่า TVL รวมทุกบล็อกเชนและทุกเวอร์ชันกว่า 5.37 พันล้านดอลลาร์สหรัฐครับ
ชื่อ Aave เป็นภาษาฟินแลนด์ แปลว่าผีครับ สื่อถึงการทำธุรกรรมใด ๆ กับ Aave ที่ผู้ใช้งานไม่จำเป็นจะต้องเปิดเผยตัวตนใด ๆ สามารถทำธุรกรรมกับคนอื่นได้ในแบบที่ไม่รู้ว่าใครเป็นใครนั่นเอง
จุดเด่นของ Aave คือการเป็นแพลตฟอร์มตัวกลางสำหรับคนที่ไม่ว่าจะต้องการหาผลประโยชน์จากการปล่อยกู้ หรือคนที่อยากจะกู้เงิน โดยกระบวนการกู้ยืมสามารถทำได้แบบไม่ระบุตัวตน ไม่ต้องมีการทำ KYC เพื่อยืนยันตัวตน, ไม่ต้องมีการยื่นสลิปเงินเดือน หรือเอกสารยืนยันเครดิต และไม่ต้องมีการส่งเอกสารใด ๆ เพิ่มเติมครับ เพียงแค่ผู้ใช้งานมีกระเป๋าเงินคริปโตอย่าง Metamask และสามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ ก็สามารถใช้งาน Aave ได้แล้วครับ
How does it work?
จริง ๆ แล้วกลไกของ Aave มีความคล้ายคลึงกับกลไกของธนาคารพอสมควรเลย ลองนึกภาพการทำธุรกิจธนาคารครับ หลักการการทำงานก็คือ ธนาคารจะเชิญชวนให้ผู้คนมาฝากเงินกับธนาคาร แลกกับการที่ธนาคารจ่ายดอกเบี้ยให้ อย่างที่พวกเราฝากเงินกันทุกวันนี้ครับ และธนาคารจะทำเงินที่รับฝากไว้นั้น ไปทำการปล่อยกู้ให้กับผู้ที่ต้องการกู้ โดยจะคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ซึ่งโดยปกติจะสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก และส่วนต่างของดอกเบี้ย (net interest margin:NIM) ระหว่างดอกเบี้ยเงินกู้ และดอกเบี้ยเงินฝาก จะกลายมาเป็นรายได้ของธนาคารครับ
โดยพื้นฐานแล้ว Aave ทำงานแบบนั้นแหละครับ แต่ด้วยความที่มันทำงานอยู่บนบล็อกเชน รายละเอียดก็จะมีความแตกต่างออกไป โดย Aave จะเปิดรับฝากโทเคนต่าง ๆ บนบล็อกเชน โดยแลกกับผลตอบแทนจากมูลค่าที่ฝากไว้ และเช่นกันครับ Aave จะนำโทเคนที่มีผู้คนมาฝากไว้ ไปปล่อยกู้ ซึ่งก็จะคิดดอกเบี้ยเพิ่มเติม (ซึ่งก็จะสูงกว่าผลตอบแทนที่จ่ายให้ผู้ฝาก) ครับ แต่ตัวเลขทั้งสองตัวนี้ จะถูกคำนวณแบบ real time จากมูลค่าที่มาฝากไว้ และความต้องการกู้ของโทเคนแต่ละตัวครับ (แต่จริง ๆ แล้ว Aave จะทำการเฉลี่ยตัวเลขทั้งสองตัวนี้กับค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ (moving average) ในระยะเวลา 30 วันย้อนหลัง เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวเลขมีการแกว่งมากเกินไปครับ) อีกหนึ่งจุดที่ Aave จะแตกต่างจากแพลตฟอร์มกู้ยืมเงินทั่วไปคือรายละเอียดของสัญญาการกู้ในส่วนของระยะเวลาครับ โดยจะไม่ได้มีระยะเวลากำหนดว่าสามารถกู้ได้นานเท่าไร และไม่ได้กำหนดการชำระหนี้ว่าจะจ่ายเป็นงวด หรือก้อนเดียวจบ โดยการชำระหนี้สามารถทำได้อย่างยืดหยุ่นเลยครับ
การฝากสินทรัพย์บน Aave ก็จะมีความแตกต่างจากการฝากเงินในธนาคารเล็กน้อยครับ ถ้าเราฝากเงินในธนาคาร เงินของเราก็จะอยู่ภายใต้การดูแลของธนาคาร และเราก็ไม่สามารถทำอะไรกับเงินก้อนนั้นได้ เว้นเสียแต่เราจะถอนออกมา แต่สำหรับ Aave เมื่อเราทำการฝากโทเคนไว้กับโปรโตคอล เราจะได้สิ่งที่เรียกว่า interest-bearing token หรือโทเคนที่เปรียบเสมือนตั๋วแสดงสิทธิในสินทรัพย์ที่อยู่ภายใต้การดูแลของ Aave ครับ โดยโทเคนกลุ่มนี้จะมีตัวอักษร a นำหน้าชื่อโทเคน (เช่น aETH, aUSDC) ซึ่งถ้าหากเราต้องการจะถอนคืนสินทรัพย์ที่ฝากไว้ เราก็ทำการแลก interest-bearing token เป็นโทเคนที่ฝากไว้ได้เลยครับ แต่ความพิเศษคือ interest-bearing tokens เหล่านี้ มีสภาพคล่องด้วย หมายความว่าเราสามารถซื้อ-ขายโทเคนกลุ่มนี้ผ่านกระดานเทรดอย่าง Uniswap ได้ด้วยครับ
เรื่องสำคัญหนึ่งเรื่องคือการกู้เงินบน Aave (และแพลตฟอร์มลักษณะเดียวกันตัวอื่น ๆ ในโลกคริปโตเคอร์เรนซี) จะเป็นการกู้ในลักษณะ overcollateralization ครับ นั่นคือถ้าหากเราจะกู้เงิน เราจะต้องฝากเงินบางอย่างไว้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันในมูลค่าที่มากกว่ามูลค่าที่ต้องการจะกู้ครับ (เนื่องจากการทำธุรกรรมบนโลกคริปโตเคอร์เรนซีจะทำแบบไม่ระบุตัวตนใช่ไหมครับ ไม่ต้องทำ KYC ไม่มีเอกสารใด ๆ) โดยในปัจจุบัน สัดส่วน Loan-to-Value (LTV) Ratio ซึ่งแสดงถึงมูลค่าที่ผู้กู้สามารถกู้ได้สูงที่สุด เทียบกับมูลค่าสินทรัพย์ค้ำประกัน อยู่ที่ 75% ครับ หมายความว่า สมมติว่าเราจะกู้ ETH มูลค่า 100 ดอลลาร์สหรัฐ เราต้องวางสินทรัพย์ค้ำประกัน (ด้วยโทเคนอะไรก็ได้ เช่น USDC) ด้วยมูลค่าอย่างน้อย 133.33 ดอลลาร์สหรัฐครับ
ในปัจจุบัน Aave เปิดให้ใช้บริการในรูปแบบเว็บครับ โดยหน้าเว็บของ Aave ถูกฝาก (host) ไว้กับระบบ Interplanetary File System (IPFS) ครับ นั่นแปลว่า Aave จะไม่ถูกเซ็นเซอร์โดยบุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้ โดย Aave เปิดใช้งานสองรูปแบบครับ คือ Aave V2 และ Aave V3 ซึ่งทั้งสองตัวก็จะมีลูกเล่นที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งผมจะยกตัวอย่างลูกเล่นที่น่าสนใจในทั้ง V2 และ V3 ในหัวข้อถัดไปครับ แต่ทั้งสองตัวเปรียบเสมือนตลาดกู้ยืมเงินที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกัน เพราะฉะนั้นทุก ๆ คนควรศึกษาโปรโตคอลก่อนที่จะฝากหรือกู้ยืมเงินนะครับ
High Efficiency Mode (E-Mode)
เป็นกลไกใหม่ที่ถูกปล่อยออกมาใช้งานใน Aave V3 ครับ โดยมีจุดประสงค์ที่จะเพิ่มประสิทธิภาพของสินทรัพย์ค้ำประกัน (capital efficiency) ในกรณีที่สินทรัพย์ค้ำประกันและโทเคนที่ผู้กู้ต้องการกู้มีค่าความสัมพันธ์ในเชิงราคาต่อกันที่สูง ผู้กู้จะสามารถกู้โทเคนด้วยอัตราส่วน LTV ratio ที่สูงขึ้นได้ (เพราะความเสี่ยงต่อการ liquidate สัญญาการกู้จะลดลง) เช่นถ้าหากเอา DAI ไปค้ำ แล้วจะกู้ stablecoin ตัวอื่นอย่าง USDT หรือ USDC ก็จะได้ LTV ratio ที่สูงขึ้นกว่าปกติครับ
Isolation Mode
เป็นอีกหนึ่งกลไกใหม่ที่ถูกปล่อยออกมาใช้งานใน Aave V3 ครับ โดยเป็นกลไกที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อป้องกันความเสี่ยงสำหรับโทเคนใหม่ที่เพิ่งถูกเพิ่มเข้ามาในโปรโตคอลครับ โดยหลักการคือโปรโตคอลจะจำกัดสิทธิสำหรับผู้กู้ ให้สามารถกู้โทเคนได้แค่บางตัว กรณีใช้โทเคนใหม่นั้นเป็นสินทรัพย์ค้ำประกันครับ (ถือว่าโทเคนใหม่ตัวนั้นมีความเสี่ยงสูงกว่าโทเคนที่มีอยู่แล้ว) ครับ ซึ่งในอนาคต ถ้าหากโทเคนใหม่ตัวนั้นไม่ได้มีความผันผวนจนทำให้โปรโตคอลเกิด liquidate จนมากเกินไป สิทธิในการกู้ก็จะถูกเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ครับ
Yield and Collateral Swaps
เป็นลูกเล่นที่เปิดใช้งานเฉพาะบน Aave V2 ครับ โดยผู้กู้สามารถเลือกเปลี่ยนสินทรัพย์ค้ำประกันเป็นโทเคนตัวอื่นได้ ยกตัวอย่างเช่น สมมติเอา ETH ไปค้ำเพื่อกู้ USDC มา ถ้าหากเราเห็นว่าราคาของ ETH น่าจะลง และอาจจะทำให้เกิด liquidation ได้ เราสามารถขาย ETH ที่เราใช้ค้ำประกันอยู่ เพื่อแลกเป็น USDC เพื่อป้องกัน liquidation ได้ครับ
Debt Repayment with Collateral
เป็นลูกเล่นที่เปิดใช้งานเฉพาะบน Aave V2 ครับ ถ้าเราลองนึกถึงการกู้ยืมแบบปกติ สมมติว่าเราเอา ETH ไปค้ำแล้วกู้ USDC มา สิ่งที่เราต้องจ่ายคืน ก็คือ USDC ตามจำนวนที่กู้มา บวกกับดอกเบี้ยเพิ่มเติมใช่ไหมครับ ใน Aave V2 เราสามารถเลือกที่จะเก็บ USDC ที่กู้มาไว้ และทำการจ่ายหนี้คืนด้วย ETH บางส่วนที่เรานำไปวางเป็นสินทรัพย์ค้ำประกันในตอนแรกได้ครับ
Native Credit Delegation
เป็นลูกเล่นที่เปิดใช้งานเฉพาะบน Aave V2 ครับ ตามที่ได้อธิบายไว้ข้างบนนะครับว่าเวลาที่เราฝากโทเคนไว้กับ Aave เราจะได้ interest-bearing token มาเป็นตั๋วแสดงสิทธิ Aave อนุญาตให้เราสามารถปล่อยกู้ interest-bearing token ที่เรามีอยู่ เพื่อรับผลตอบแทนได้อีกหนึ่งทอดครับ และการปล่อยกู้นี้ไม่จำเป็นจะต้องทำแบบ overcollateralization เหมือนการขอกู้ปกติ ซึ่งก็จะช่วยเพิ่มความสามารถในการกู้ให้กับผู้กู้ แต่ในขณะเดียวกันก็เพิ่มความเสี่ยงให้กับผู้ปล่อยกู้เช่นกัน เพราะฉะนั้นเราควรปล่อยกู้ interest-bearing token ให้กับคนที่เรารู้จักเท่านั้นนะครับ
Flash Loans
น่าจะเป็นลูกเล่นที่ถูกพูดถึงบ่อยที่สุดแล้วครับในบรรดาลูกเล่นของแพลตฟอร์มกู้ยืมเงินบนโลก DeFi กลไก flash loans เป็นกลไกที่ไม่สามารถทำได้ในการกู้เงินบนโลกการเงินดั้งเดิม แต่สามารถทำได้บนโลก DeFi เพราะ DeFi ใช้งานเทคโนโลยีบล็อกเชนครับ หลักการของ flash loans คือการกู้ยืมเงิน และคืนเงินที่กู้มาในธุรกรรมเดียวกันครับ ด้วยการกู้รูปแบบนี้ ทำให้ไม่มีทางที่จะผิดนัดชำระหนี้ได้ (เพราะกู้และคืนพร้อมกัน) เพราะฉะนั้นในทางทฤษฎีแล้ว การกู้แบบ flash loans จะทำให้ผู้กู้สามารถกู้เงินได้ไม่จำกัด โดยไม่ต้องมีสินทรัพย์ค้ำประกันใด ๆ ครับ ซึ่งถ้าถามต่อว่าการกู้แบบนี้มีประโยชน์อย่างไร คำตอบคือการกู้แบบนี้มักถูกใช้งานสำหรับนักเทรดแบบ arbitrage หรือนักเทรดที่หาส่วนต่างราคาของสินทรัพย์ในตลาดสองแห่งที่แตกต่างกันครับ ด้วยการกู้ยืมแบบ flash loans ทำให้นักเทรดสามารถทำกำไรจากส่วนต่างราคาเพิ่มขึ้นได้หลายเท่าตัว โดยไม่ต้องมีสินทรัพย์ค้ำประกันใด ๆ ในการกู้เงิน ช่วยเพิ่มผลกำไรให้เยอะมาก ๆ เลยครับ Aave เพิ่มความพิเศษขึ้นไปอีกหนึ่งระดับ โดยเปิดให้ผู้กู้สามารถกู้โทเคนแบบ batch flash loans ครับ นั่นคือการทำ flash loan หนึ่งครั้ง จะสามารถกู้โทเคนกี่ตัวก็ได้ (แต่ก็ต้องคืนทั้งหมดในธุรกรรมเดียวกัน) ครับ
AAVE
เป็นโทเคนประจำแพลตฟอร์ม Aave ครับ โดยเป็นโทเคน ERC-20 บนบล็อกเชนของ Ethereum และมีปริมาณอุปทานสูงสุด (maximum supply) อยู่ที่ 16 ล้านเหรียญครับ
ในส่วนของความต้องการใช้งานของโทเคน AAVE จะมาจากการ stake ใน safety module ซึ่งเป็นกองกลางที่มีไว้ป้องกันโทเคนที่ถูกฝากไว้กับโปรโตคอล Aave ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดขึ้นครับ โดยถ้ามีเหตุการณ์ไม่คาดคิดเกิดขึ้น เงินกองกลางส่วนนี้จะถูกแบ่งไปพยุงราคาหรือกระทำการอื่น ๆ ที่จะเป็นประโยชน์กับผู้ฝากโทเคนครับ ผู้ใช้งานสามารถ stake AAVE โดยแลกกับการได้ผลตอบแทนเป็น AAVE เพิ่มเติม ซึ่งในปัจจุบันอัตราผลตอบแทนดังกล่าวจะอยู่ที่ 9.41% ต่อปี และได้สิทธิในการโหวตยอมรับหรือปฏิเสธกับ proposal หรือร่างการพัฒนาโปรโตคอลต่าง ๆ ตามปริมาณ AAVE ที่ stake เอาไว้ครับ
Aavegotchi
เป็นเกม NFT ที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยทีมงานของ Aave ร่วมกับ Pixelcraft Studios ซึ่งเป็นบริษัทสร้างเกมสัญชาติสิงคโปร์ครับ โดยในปัจจุบันเปิดให้เล่นอยู่บนบล็อกเชนของ Ethereum และ Polygon (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Polygon ได้ที่นี่) ซึ่งใครที่อายุสักยี่สิบปลาย ๆ ขึ้นไป พอได้ยินชื่อแล้วก็คงจะนึกออกว่าชื่อเกมนี้ได้แรงบันดาลใจมาจาก Tamagotchi (หรือคนไทยจะเรียกติดปากว่าทามาก็อต) ซึ่งเป็นเกมเลี้ยงสัตว์ที่มาพร้อมกับเคสรูปไข่ ที่ผู้เล่นจะต้องให้อาหาร อาบน้ำ เลี้ยงดูเจ้าสัตว์เลี้ยงของเราให้มันโตขึ้น ซึ่ง Tamagotchi ถือเป็นเกมที่ฮิตมาก ๆ ในช่วงยุค 90 เลยครับ
แนวคิดของ Aavegotchi ก็คล้ายกับ Tamagotchi มาก ๆ เลยครับ โดยในเกมจะมีเจ้า Aavegotchi ซึ่งเป็น NFT ผีตัวน้อยที่มีหลากหลายลวดลาย แต่ละลวดลายก็จะมีราคาที่แตกต่างกันตามความหายากของ NFT ตัวนั้น ๆ ครับ โดยผู้เล่นสามารถซื้อ-ขาย Aavegotchi ผ่านตลาดกลางในเกม และสามารถเลี้ยง Aavegotchi ที่ตัวเองถืออยู่ได้ โดยนำไปเล่นในมินิเกมที่จะมีจัดเรื่อย ๆ รวมถึงสวมใส่ไอเทมต่าง ๆ ในเกม เพื่อเพิ่มระดับความหายาก และทำให้ Aavegotchi ของเรามีราคาเพิ่มขึ้นครับ
โดยในเกมจะมี GHST เป็นโทเคนประจำเกมครับ ใช้สำหรับการซื้อ-ขาย Aavegotchi ภายในเกม และ GHST ยังใช้สำหรับการโหวตเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับร่างการอัปเกรดต่าง ๆ ผ่าน AavegotchiDAO ซึ่งเป็นแพลตฟอร์ม DAO ประจำเกมอีกด้วยครับ
นอกจากนี้เกม Aavegotchi ยังมี Gotchiverse ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มโลกเสมือน (virtual world) ภายในเกม Aavegotchi ครับ โดยผู้เล่นที่มี Aavegotchi NFT สามารถเข้าร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นบน Gotchiverse ได้ โดยในโลกเสมือนแห่งนี้ก็จะถูกแบ่งออกเป็นโซนต่าง ๆ ซึ่งในแต่ละโซนก็จะมีกิจกรรมให้ร่วมสนุกแตกต่างกันไปครับ โดยในโลกเสมือนก็จะมี REALM เป็นโทเคนประจำโลกเสมือนแห่งนี้ครับ สำหรับใครที่สนใจศึกษาเพิ่มเติมสามารถเข้าไปอ่านได้ที่นี่เลยครับ
Lens Protocol
Lens Protocol เป็นแพลตฟอร์มสื่อออนไลน์ (social media) ที่ใช้งานเทคโนโลยีบล็อกเชนครับ ถูกพัฒนาโดยทีม Aave และในปัจจุบันทำงานอยู่บนบล็อกเชนของ Polygon โดยลักษณะของโปรโตคอลจะเป็นกราฟที่แสดงการเชื่อมต่อของบัญชีต่าง ๆ ที่อยู่ในโปรโตคอล เหมือนกับแพลตฟอร์มสื่อออนไลน์อย่าง Facebook หรือ Twitter เพียงแต่ Lens Protocol จะไม่มีการขอข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งาน เช่น ชื่อ-สกุลจริงหรือเบอร์โทรศัพท์ครับ เพียงแค่มีกระเป๋าเงินดิจิทัลอย่าง Metamask ก็สามารถใช้งาน Lens Protocol ได้ทันที และนักพัฒนาสามารถสร้างแอปพลิเคชันบน Lens Protocol ได้ด้วยครับ โดยจะได้ประโยชน์จากข้อมูลกราฟที่ถูกเก็บไว้บนโปรโตคอล
ซึ่งในปัจจุบัน Lens Protocol กำลังอยู่ในช่วงทดลองใช้งานครับ โดยจะเปิดให้เฉพาะ 30,000 คนแรกที่ร่วมเซ็นจดหมายที่ถือเป็นการเปิดใช้งานแพลตฟอร์มสื่อออนไลน์แบบกระจายศูนย์ครับ (ซึ่งก็แน่นอนว่าการ “เซ็น” นั้นไม่ใช่การเอาปากกามาเขียนลายมือชื่อ แต่เป็นการเซ็นจากกระเป๋าเงินดิจิทัล เพื่อยอมรับสัญญาที่เขียนไว้บนบล็อกเชนครับ) สำหรับผู้ใช้งานคนอื่น ๆ สามารถเชื่อมต่อกระเป๋าเงินดิจิทัล และติดตามบัญชีเหล่านั้นได้ แต่ยังไม่สามารถสร้างบัญชีและใส่รูปภาพโปรไฟล์ให้กับตัวเองได้ครับ
Roadmap
Roadmap ทั้งหมดของ Aave สามารถติดตามได้ที่ Newt ครับ ซึ่งเป็นหน้าเว็บที่รวบรวมไอเดียต่าง ๆ ที่ทั้งกำลังเริ่มต้น กำลังพัฒนา หรือกำลังจะปล่อยใช้งาน โดยการสร้าง Newt มีเป้าหมายที่จะสร้างนวัตกรรมต่าง ๆ ให้เร็วขึ้นครับ ซึ่งจาก Newt เราจะเห็นว่ามีเทคโนโลยีหลายอย่างเลยที่อยู่ในระหว่างการพัฒนา ในบทความนี้ผมจะขอยกมาสัก 2 อย่างนะครับ
Lens Memixer
เรียกว่าเป็นส่วนต่อขยายของ Lens Protocol ก็ได้ครับ โดย Lens Memixer จะเน้นไปที่การสร้างคอนเทนต์มีมแบบที่เราเห็นในสื่อออนไลน์อย่าง Facebook หรือ Twitter ครับ โดยจะมีฟีเจอร์ให้ผู้ใช้งานสามารถ “remix” คอนเทนต์ของผู้ใช้งานคนอื่น ๆ เหมือนที่ผู้สร้างมีมบน Facebook ไปนำรูปเทมเพลตจากเพจอื่น ๆ แล้วมาเขียนข้อความเป็นมีมของตัวเองครับ โดยบน Lens Protocol ก็จะมีการอ้างอิงสิทธิความเป็นเจ้าของของรูปต้นแบบให้กับเจ้าของจริง ๆ อีกด้วย
Potion Game
เป็นเกม NFT ซึ่งลักษณะก็เป็นการผสมยาตามชื่อครับ โดยในเกมจะมีสูตรยาแต่ละชนิดอยู่ ถ้าหากผู้เล่นต้องการผสมยาชนิดใด ก็ต้องไปซื้อวัตถุดิบตามสูตรของยาชนิดนั้น ซึ่งก็หาซื้อได้ตามตลาดกลางภายในเกมครับ เมื่อผสมออกมาเป็นยา (ซึ่งก็เป็น NFT ตัวหนึ่ง) แล้ว ก็สามารถเอายาตัวนี้ไปแปะให้กับบัญชีผู้เล่นคนอื่นในเกมได้ ซึ่งผู้เล่นที่ได้รับ NFT นี้ไป ไม่สามารถขายหรือ burn NFT ตัวนี้ได้ ยกเว้นว่าจะมีสิ่งที่เรียกว่ายาแก้พิษ (ซึ่งก็เป็น NFT และต้องผสมตามสูตรอีกเช่นกัน) จึงจะสามารถกำจัด NFT ตัวเก่าออกไปได้ครับ
ซึ่ง Potion Game ในตอนนี้ก็ยังเป็นแค่ไอเดียอยู่ครับ กำลังอยู่ในระหว่างการออกแบบกลไกเกม พื้นที่โลกเสมือนในเกม และอื่น ๆ อีกครับ
Concerns
Aave ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมากกับแอปพลิเคชันกู้ยืมเงินแบบกระจายศูนย์นะครับ ด้วยมูลค่า TVL สูงกว่า 5.37 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ยังมีการแตกไลน์การพัฒนาออกไปยังเกม Aavegotchi และโปรโตคอลสื่อออนไลน์อย่าง Lens Protocol ก็ยิ่งทำให้ Aave ดูมีความน่าสนใจขึ้นอีก อย่างไรก็ดี ตัว Aave เองก็ยังมีประเด็นบางอย่างที่ทุก ๆ คนควรรู้ก่อนจะลงทุนกับ Aave นะครับ
- Development ประเด็นที่ใหญ่ที่สุดคงจะเป็นเรื่องการพัฒนาแพลตฟอร์มครับ อย่างที่ผมกล่าวไปนะครับว่า Aave มีการแตกไลน์การพัฒนาออกมาจากแอปพลิเคชันดั้งเดิมที่เป็นแพลตฟอร์มกู้ยืมเงิน ด้วยจำนวนนักพัฒนาที่ไม่ได้เพิ่มขึ้น แปลว่าแผนการพัฒนาแพลตฟอร์มกู้ยืมเงินอาจจะถูกชะลอลง เนื่องจากนักพัฒนาต้องแบ่งเวลาบางส่วนไปพัฒนาโปรเจกต์ใหม่ ๆ ครับ นอกจากนี้ โปรเจกต์ใหม่ ๆ ที่กำลังอยู่ในช่วงการพัฒนา ก็จะมีระบบของตัวเอง มีโทเคนเป็นของตัวเอง ดังนั้นการเติบโตของโปรเจกต์เหล่านี้ก็อาจจะไม่ได้ส่งผลบวกทางตรงต่อราคาของเหรียญ AAVE ครับ นักลงทุนเองก็ควรทราบถึงประเด็นตรงนี้ด้วยเช่นกัน
- Regulation ต้องยอมรับครับว่าความพยายามในการกำกับดูแลแอปพลิเคชันบนโลก DeFi สูงขึ้นมาก ๆ โดยเฉพาะในช่วง 2–3 เดือนที่ผ่านมา สาเหตุหนึ่งก็เพราะการล่มสลายของ Terra ทำให้หน่วยงานที่กำกับดูแลให้ความสนใจกับคริปโตเคอร์เรนซีมากเป็นพิเศษครับ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือสหภาพยุโรป (EU) ครับ ที่กำลังพยายามผ่านร่างกฎหมายที่จะบังคับให้ผู้ที่ถือสกุลเงินคริปโตเคอร์เรนซี ทำการระบุข้อมูลส่วนตัว (ทำ KYC) ซึ่งการกระทำดังกล่าวถือว่าขัดกับจุดมุ่งหมายของ Aave ตรง ๆ เลยครับ เพราะ Aave ตั้งใจที่จะเป็นแพลตฟอร์มกู้ยืมเงินที่ผู้กู้ไม่จำเป็นต้องเปิดเผยตัวตนแต่อย่างใด ก็ต้องรอดูกันครับว่าร่างกฎหมายนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป แต่ถ้าหากได้รับการอนุมัติจริง Aave เองก็คงจะเจอความเสี่ยงตรงนี้ไม่น้อยเลยครับ
Summary
Aave เป็นแพลตฟอร์มปล่อยกู้ขนาดใหญ่มาก ๆ ครับ การมี TVL อันดับสองในบรรดา DApp บนทุกบล็อกเชนรวมกัน ถือว่าแพลตฟอร์มตัวนี้มาไกลมาก ๆ มีฐานผู้ใช้งานที่เหนียวแน่น และดูมีแนวโน้มเติบโตต่อไปในอนาคต ในขณะเดียวกันทีมผู้พัฒนา Aave ก็ไม่ได้หยุดอยู่แค่การปล่อยกู้เงินครับ เราเห็นเกม NFT อย่าง Aavegotchi และสื่อออนไลน์อย่าง Lens Protocol ถูกปล่อยออกมาใช้งาน ก็ถือเป็นการขยายฐานการใช้งานในแนวกว้างเพิ่มเติมจากการขยายแนวลึกจากตัว Aave เอง ถือเป็นระบบที่มีความน่าสนใจไม่น้อยเลยครับ แต่การขยายทั้งเชิงกว้างและเชิงลึก ก็ถือว่าเป็นการเพิ่มงานให้กับนักพัฒนาไม่น้อย มีผู้คนไม่น้อยครับที่กำลังสงสัยในแนวทางการเติบโตของ Aave ว่าสุดท้ายแล้ว จะเติบโตในฐานะแพลตฟอร์มกู้เงิน หรือจะออกผลิตภัณฑ์ใหม่มาให้ใช้งานเรื่อย ๆ เนื่องด้วยจำนวนนักพัฒนาที่ไม่ได้เพิ่มขึ้น การเติบโตทั้งสองแบบ คงไม่สามารถทำพร้อมกันได้แน่ ๆ ซึ่งก็ต้องรอดูกันต่อไปครับ
Further Read
- Official Website: https://aave.com/
- Whitepaper: https://github.com/aave/aave-protocol/blob/master/docs/Aave_Protocol_Whitepaper_v1_0.pdf
- Aavegotchi: https://wiki.aavegotchi.com/
- Gotchiverse: https://gotchiverse.io/
- Lens Protocol: https://www.lensfrens.xyz/
- Newt: https://wearenewt.xyz/
CodeBreaker
ที่มาบทความ: https://link.medium.com/g2pfroEQGsb
คำเตือน
การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยงสูง อาจสูญเสียเงินลงทุน ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจและศึกษาข้อมูล รวมทั้งลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้