จากบทความที่แล้ว ได้เล่าถึง “แร่หายาก” หรือ “Rare Earth” ซึ่งเป็นแร่สำคัญที่ใช้เป็นส่วนประกอบในการผลิตอุปกรณ์เทคโนโลยีมากมาย ไม่ว่าเป็นชิปคอมพิวเตอร์ ชิปโทรศัพท์ แบตเตอรี่ แผ่นดีวีดี กล้องถ่ายรูป โทรทัศน์ เตาไมโครเวฟ อุปกรณ์ใยแก้วนำแสง เครื่องยนต์ของเครื่องบิน อุตสาหกรรมพลังงาน รวมถึงอาวุธต่าง ๆ อีกจำนวนมาก อีกทั้งยังเป็นกุญแจสำคัญที่จีนใช้ต่อรองกับสหรัฐฯ ท่ามกลางสงครามการค้าอันดุเดือด
จีนที่เป็นผู้ผลิตอันดับ 1 ของโลก โดย Rare Earth ที่ผลิตได้ทั่วโลกมากกว่า 90% มาจากประเทศจีน โดยผลิตได้มากถึง 105,000 MT ซึ่งจากผลสำรวจของ US Geological ระบุว่า ประเทศจีนส่งออกแร่ดังกล่าวกว่า 39,800 ตัน เพิ่มขึ้นถึง 10% เปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน อีกทั้งสหรัฐฯ เป็นลูกค้ารายใหญ่ที่นำเข้า Rare Earth จากจีน ในสัดส่วนสูงถึง 80% ของปริมาณนำเข้าทั้งหมด เรียกได้เลยว่า แร่นี้มีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมในสหรัฐฯ เป็นอย่างมาก นอกจากนี้ ยังเป็นหนึ่งในสินค้าของจีนที่ไม่ถูกขึ้นภาษีนำเข้าอีกด้วย เห็นได้ชัดเลยว่า Rare Earth เป็นหนึ่งเครื่องต่อรองสำคัญของจีนเลยทีเดียว
จากข้อมูลสำรวจทางธรณีวิทยาจากสหรัฐฯ ในปี 2017 แม้ว่าจีนจะมีแหล่งผลิต “Rare Earth” ขนาดใหญ่เป็นอันดับ 1 ของโลก แต่อีกเรื่องที่หลายๆ คนยังไม่รู้ นั่นก็คือ ข้อมูลจากเว็บไซต์ investingnews.com ระบุว่า ไทยติด 1 ใน 8 ประเทศที่แร่ “Rare Earth” เป็นอันดับต้นๆ ของโลก โดยประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 5 ของโลก รองจากจีน ออสเตรเลีย รัสเซีย บราซิล ตามลำดับ โดยผลิตได้มากถึง 1,600 ตัน ทั้งนี้ แหล่งข้อมูลระบุว่า สำหรับไทยยังไม่มีรายละเอียดที่แน่ชัด แต่ถือเป็นหนึ่งในตลาดนอกประเทศจีนที่ผลิตแร่หายากชนิดนี้ได้ในจำนวนมาก
ทั้งนี้ ข้อมูลจาก Investing News ระบุว่า 8 ประเทศที่ผลิต Rare Earth มากที่สุดในโลก (สำรวจ ณ ปี 2560) มีดังนี้
1. จีน 105,000 เมตริกตัน
2. ออสเตรเลีย 20,000 เมตริกตัน
3. รัสเซีย 3,000 เมตริกตัน
4. บราซิล 2,000 เมตริกตัน
5. ไทย 1,600 เมตริกตัน
6. อินเดีย 1,500 เมตริกตัน
7. มาเลเซีย 300 เมตริกตัน
8. เวียดนาม 100 เมตริกตัน
แม้ว่าจีนจะเป็นผู้นำในธุรกิจนี้มายาวนาน นับตั้งแต่ปี 2537 แต่ช่วงหลังๆ จีนก็มีปัญหาเรื่องเหมืองผิดกฎหมายอยู่บ่อยครั้ง จนกระทบต่อปริมาณผลิตและราคาแร่ในตลาดโลกพอสมควร
การจะใช้แร่ Rare Earth เป็นข้อต่อรองในสงครามการค้าของจีน สหรัฐได้รับรู้และประเมินไว้บ้างแล้ว โดยทางออกของเรื่องนี้มีอย่างน้อย 2 ทางคือ เปิดรับ Rare Earth จากประเทศอื่นๆ (นอกเหนือจากจีนและพันธมิตร) หรืออาจต้องรื้อฟื้นอุตสาหกรรมผลิตแร่ Rare Earth ในประเทศขึ้นใหม่ หลังจาก Molycorp บริษัทที่ผลิตแร่ Rare Earth มีเพียงรายเดียวเท่านั้นในสหรัฐอเมริกาและแถบอเมริกาเหนือได้ล้มละลายไปตั้งแต่ปี 2015
อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์ว่า ในปี 2020 ตลาดแร่ Rare Earth อาจมีมูลค่าสูงเฉียด 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์
———-
References : Bloomberg, CNBC, Reuters, Investingnews, brandinside, Geology, Foreignpolicy, kapook, droidsans