สรุปงาน Oppday "SNC" ไตรมาส 2 ปี 2561

SNC หรือ บริษัท เอส เอ็น ซี ฟอร์เมอร์ จำกัด (มหาชน) ประกอบธุรกิจสินค้าอุตสาหกรรมจำพวกวัสดุและเครื่องจักร สำหรับใครที่กำลังสนใจอุตสาหกรรมนี้ ลองมาดูสรุป Oppday ของ SNC กันครับ ว่าบริษัทมีผลการดำเนินการและกลยุทธ์เป็นอย่างไร

ตลาด : SET

กลุ่มอุตสาหกรรม : สินค้าอุตสาหกรรม

หมวดธุรกิจ : วัสดุอุตสาหกรรมและเครื่องจักร

มีบริษัทในกลุ่มทั้งสิน 13 บริษัท ประกอบด้วยบริษัทย่อยที่ SNC ถือหุ้นโดยตรงจำนวน 9 บริษัท และบริษัทย่อยที่ SNC ถือหุ้นผ่านบริษัทย่อย จำนวน 3 บริษัท บริษัทร่วมจำนวน 1 บริษัท โดยในปัจจุบันกลุ่มบริษัทมีการประกอบธุรกิจ โดยแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มดังนี้

  • AUTO = ชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับยานพาหนะ
  • PART = ชิ้นส่วนอุปกรณ์สำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้า
  • OEM = ผลิตและประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้า
  • OTHER = การดำเนินงานอื่นๆ เช่น แม่พิมพ์ อลูมิเนียมคอนเดนเซอร์

ผลประกอบการของ SNC

ยอดขาย

ปี 2558 : 8,140.25 ล้านบาท

ปี 2559 : 7,468.16 ล้านบาท

ปี 2560 : 7,526.71 ล้านบาท

ปี 2560 (Q2) : 4,530.16 ล้านบาท

ปี 2561 (Q2) : 3,841.68 ล้านบาท

กำไร (ขาดทุน)

ปี 2558 : 409.86 ล้านบาท

ปี 2559 : 401.65 ล้านบาท

ปี 2560 : 401.31 ล้านบาท

ปี 2560 (Q2) : 214.15 ล้านบาท

ปี 2561 (Q2) : 282.46 ล้านบาท

SNC Company Highlights

ในปี 2018 ได้เริ่มใช้หลังคาแบบติดตั้งโซลาร์เซลล์ ทำให้ประหยัดต้นทุนลง ประมาณเดือนละ 5 แสน ถึง 1 ล้านบาท

มีการควบรวมบริษัทต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีที่แล้ว (2560) เพื่อให้จำนวนบริษัทลดลง เพื่อให้ใช้ทรัพยากรทรัพย์สินและบุคคลได้มีประสิทธิภาพมากที่สุด กำลังทยอยดำเนินการ

ผลการดำเนินงานของ SNC

ยอดขายที่ลดลงจากปีก่อน (ไตรมาสที่ 2) อยู่ในส่วนงาน

  • รับจ้างประกอบ (OEM) ประมาณ 372 ล้าน
  • ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า 66 ล้านบาท
  • ชิ้นส่วนยานยนต์ 10 ล้านบาท

นอกจากนี้ก็มาจากการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ และการลดต้นทุนการผลิตลง

ข้อมูลทางการเงินของ SNC

  • ครึ่งปีแรกยอดขายลดลง 14%
  • ต้นทุนการผลิตลดลง และสัดส่วนการขายที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้อัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin) เพิ่มขึ้น
  • กำไรสุทธิเพิ่มสูงขึ้น จากการปรับโครงสร้างการบริหารจัดการองค์กร และการใช้สินทรัพย์ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
  • กำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เพิ่มขึ้น 12.4% จากผลประกอบการที่เพิ่มขึ้น

สรุปตัวเลขทางการเงิน

  • ยอดขายลดลง แต่มีการควบคุมค่าใช้จ่ายและต้นทุน พยายามมีการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิดและรักษาระดับกำไรให้เพิ่มขึ้น
  • งบประมาณลงทุนประมาณ 250-300 ล้านบาท วางเป้าหมายจะลดเงินกู้ยืมลง
  • สิทธิประโยชน์ทางภาษีเริ่มจะหมด ทำให้อัตราภาษีเริ่มเพิ่มขึ้น
  • นโยบายการจ่ายปันผลจะพิจารณาจากผู้ถือหุ้น เพื่อบาลานซ์ผลประโยชน์ให้มากที่สุด

อัปเดตอุตสาหกรรม

– ยอดขายประมาณ 67% ซึ่งลดลงจากไตรมาสที่ 1 ประมาณ 3% ส่งขายให้อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศ มีทั้งรับจ้างประกอบ (OEM) และมีชิ้นส่วนงานท่อทองแดง โลหะแท่ง พลาสติกใช้ในเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น

– ยอดขายส่วนใหญ่มาจากเครื่องปรับอากาศ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศเรา แต่มีปัญหาด้าน Seasonal ค่อนข้างสูง ในช่วง Low season ยอดขายจะตก

– กำลังพยายามขยายอุตสาหกรรมไปสู่อุตสาหกรรมอื่นๆ มีเป้าหมายขยายไปยัง EEC และหาโอกาสในประเทศเพื่อนบ้าน

– เริ่มมีการส่งออกไปที่อเมริกา จีน ซึ่งมีโอกาสเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

โรงงานรับจ้างประกอบ (OEM) มีโอกาสในการเติบโตและพัฒนาได้อีก

– มีการเสริมและเน้นด้านวิจัยและพัฒนา (R&D) ให้มีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น

– มีนโยบายที่จะพยายามไม่มีแบรนด์เป็นของตัวเอง ป้องกันไม่ให้เกิดการขัดกันของผลประโยชน์ (Conflict of Interest) กับลูกค้า แต่จะอาศัยการทำงานร่วมกันลูกค้าที่มีสินค้าหรือโรงงานเป็นของตัวเอง

– เรียนรู้จากความผิดพลาดในอดีตที่มีการลงทุนผิดพลาดหลายๆ โครงการ มีการลงทุนอย่างรอบคอบและระมัดระวังมากยิ่งขึ้น

– อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศในประเทศไทย คาดว่าจะมีการผลิตที่เพิ่มมากขึ้น แต่ปริมาณครึ่งปียังถือว่าต่ำกว่าครึ่งปีก่อน แต่ยังมองว่าตัวเลขยังสามารถกลับมาโตได้

– อุตสาหกรรมรถยนต์ มีตัวเลขค่อนข้างดี เติบโตเล็กน้อย ยอดขายครึ่งปีเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับครึ่งปีที่แล้ว มีแนวโน้มค่อนข้างดี สอดคล้องกับผลประกอบการกลุ่มรถยนต์

อัปเดตบริษัท SNC ปี 2018

กลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ : Al pipe จะเริ่มผลิตโมเดลใหม่ในปี 2018 และมีการเสนอราคาสำหรับโมเดลรถยนต์ใหม่ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่สำคัญ หากได้รับการ submit อาจส่งผลให้ยอดขายเพิ่มสูงขึ้น

กลุ่มชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า : ชิ้นส่วนโลหะแผ่น SSMA ได้มีการคุยกับทางผู้ผลิตรถยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าหลายราย เพื่อหาออเดอร์ใหม่ ทำให้จากขาดทุนกลับมากำไรได้ กำลังพยายามปรับโครงสร้างทางธุรกิจ เพื่อให้ Margin เพิ่มขึ้น

การรับจ้างผลิต (OEM) : A/C window รับจ้างประกอบให้ลูกค้ารายหลัก มีการปรับปรุงให้ผ่านเกณฑ์เรียบร้อยแล้ว คาดว่าในไตรมาส 4 สินค้าจะเริ่มกลับมา ในส่วนของ Vending machine จะทยอยขายได้เดือนละ 80 units สำหรับสินค้า SAWAH2 ผลิตเครื่องทำน้ำอุ่นในบ้าน มีการลงทุนทำไลน์ผลิต enamel tank โดยใช้เงินลงทุนประมาณ 140 ล้านบาท Plant เรียบร้อย เริ่มทำการผลิตแล้ว คาดว่าจะทำ Season ของเครื่องทำน้ำร้อนในปีนี้

ส่วนงานอื่นๆ พยายามมีการปรับปรุงให้กระบวนการผลิตมีการใช้หุ่นยนต์ (Robot) มากขึ้น โดยใช้ทุนประมาณ 18 ล้านบาท เริ่มมีการรับรู้รายได้ค่าเช่าโรงงาน สุดท้ายเป้าหมายเงินกู้พยายามลดลงให้ไม่เกิน 350 ล้านบาท เพื่อป้องกันกรณีเกิดสถานการณ์ลำบากหรือวิกฤติ พยายามเคลียร์เงินกู้ให้ได้เร็วที่สุด โดยใช้เงินจากการดำเนินงาน (Operation) และแปรสินค้าคงคลัง (Inventory) ให้ได้สภาพคล่อง

กลยุทธ์ของ SNC

แบ่งเป็น 4 ขั้นตอน

ปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ (2017) ปรับลดงบประมาณด้านบริหาร และปรับปรุงฝ่ายผลิตและสนับสนุนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ปรับโครงสร้างธุรกิจ (2018) ให้มีความพร้อมมากยิ่งขึ้น ได้มีการควบควมกิจการที่คล้ายกัน เพื่อให้ใช้ทรัพยากรด้านต่างๆ ได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น มีการย้ายโรงงาน ปรับ layout ใหม่ เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพงานในปัจจุบัน

รักษาธุรกิจเดิม และเดินหน้าธุรกิจใหม่ (2019) มีการปรับให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคำนึงถึงคุณภาพ ต้นทุน การพัฒนา สนับสนุน การส่งของ และการบริการ มีการพัฒนาบุคลากรควบคู่กันได้ด้วย เพื่อสร้างความพร้อมในธุรกิจใหม่และตลาดใหม่

เตรียมรับมือกับการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น (2020-23) รักษาธุรกิจที่มีกำไร เน้นธุรกิจที่มี Innovation มากยิ่งขึ้น ได้รับผลประโยชน์จากนโยบายรัฐบาลและภาษี มีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ต่อ EEC

แผนการบริหารของ SNC สำหรับช่วงปี 2018-2023

การเงินและบัญชี (Finance and Accounting): ในปี 2020 จะมีการเปลี่ยนแปลงเป็นระบบดิจิทัล (Digital Finance and Accounting) ปรับปรุงระบบการทำงานให้ทันสมัยมากยิ่งขึ้น

การตลาด (Marketing): การดำเนินงานหลักๆ อยู่ในประเทศ โดยในอนาคตจะเน้นตลาดต่างประเทศมากยิ่งขึ้น โดยได้เริ่มมีการส่งออกสินค้าไปบ้างแล้ว และมีการพัฒนาระบบร่วมกับลูกค้าให้เกิดเป็น Digital Marketing ที่เข้มแข็งยิ่งขึ้น

การผลิต (Production): ในอนาคตจะมุ่งเน้นการใช้ Automation เข้ามาในสายงานการผลิตมากยิ่งขึ้น รวมถึงพัฒนาสายการผลิตให้มีความยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น เพื่อรองรับความต้องการที่หลากหลายของลูกค้า

Supply chain management (SCM) ในอนาคตจะมีการรวมเข้ามาเป็น one network ใช้เทคโนโลยีเพื่อให้เกิดเป็นเครือข่ายเดียวกัน เพื่อให้ส่วนช่วยในการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

IT จะเข้ามามีบทบาทมากยิ่งขึ้น มีการปรับปรุงให้ทันสมัย และเริ่มเข้ามามีบทบาทมากยิ่งขึ้น

HR บุคลากรมีทักษะหลายด้าน มีการพัฒนาร่วมกับการใช้ IT ให้สอดคล้องกับงาน

ESG ด้านความยั่งยืนมีการคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในองคร์กร มีการทำงานอย่างเป็นระบบ สอดคล้องประสานงานกันอย่างยั่งยืนมากยิ่งขึ้น โดยใช้มาตรฐานสากล

ช่วงถามและตอบ (Q&A)

  • ธุรกิจเครื่องปรับอากาศ เริ่มกลับมาฟื้นตัวในไตรมาสที่ 3 เริ่มเห็นแผนแล้ว
  • ส่วนตะวันออกกลาง จะเห็นได้ชัดที่ไตรมาสที่ 4
  • ตัวเลขรับจ้างผลิต (OEM) ในไตรมาสที่ 3 คาดว่าจะใกล้เคียงกับปีที่แล้ว
  • ในไทยเป็นฐานการผลิตเครื่องปรับอากาศที่ใหญ่อันดับต้นๆ เหตุผลของการจะย้ายฐานการผลิตจากจีนมาไทย คือเพื่อหลบกระแสแอนตี้สินค้าจีน และปัญหาค่าแรงในจีนที่แพงขึ้น ส่งผลให้หลายๆ สินค้าเริ่มมองมาที่ไทยมากขึ้น
  • โมเดลใหม่ของรถเป็นรถปิ๊กอัพ ยอดขายอยู่ที่ประมาณหลักสิบล้าน
  • สิทธิประโยชน์ทางภาษีจาก Board of Investment (BOI) เริ่มหมดบางส่วนในปี 2018 และหมดในปี 2020 ผลกระทบอยู่ที่ประมาณ 20 ล้านบาท
  • อัตราภาษีปี 2019 คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 10-15%
  • เป้ายอดขายของปี 2018 คาดว่าจะลดลงเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
  • เป้าในส่วน OEM ปี 2018 คาดว่าจะอยู่ที่ 280,000-290,000 ชิ้น ลดลงประมาณ 100,000 ชิ้น เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
  • Al condensor ในไตรมาส 2 ขาดทุนประมาณ 9 ล้านบาท
  • ยังไม่เห็นผลกระทบทางตรงจากสงครามการค้า เนื่องจากยังไม่มีลูกค้าที่สหรัฐฯ ส่วนผลกระทบทางอ้อมอาจมีผลในทางบวก
  • เงินปันผลครึ่งปีแรกมากกว่า ต้องรอดูผลประกอบการในครึ่งปีหลัง แต่ยังคงนโยบายจ่ายปันผลมากกว่า 50% ของกำไรสุทธิ และมีความพยายามลดเงินกู้ ซึ่งพยายามบาลานซ์ในส่วนผลประโยชน์ของนักลงทุน และนโยบายของบริษัท โดยพยายามหาเงินสดให้มากขึ้น มาจากผลกำไร และการควบคุมสินค้าคงคลัง
  • ผลกำไรครึ่งปี ไม่ได้มีรายการที่เป็น extra items

ดูข้อมูลหุ้น SNC ได้ที่
https://www.finnomena.com/stock/SNC
https://www.set.or.th

ดูวิดีโอ SNC Oppday Q2/2018 ได้ที่ >>> https://youtu.be/pNvAhbOrRYs

โดย คลินิกการลงทุน – wealthinvestmentclinic.wordpress.com

——————-

Vithan Minaphinant
Securities Investment Analyst (IA)
ตรวจทานบทความ


คำเตือน

ผู้ลงทุนต้องทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน | ผลการดำเนินงานในอดีตมิได้เป็นสิ่งยืนยันผลการดำเนินงานในอนาคต | ผู้เขียนบทความนี้มิได้รับค่าตอบแทนหรือมีส่วนได้ส่วนเสียกับบริษัทที่กล่าวถึงในบทความนี้แต่อย่างใด | ข้อมูลและการคาดการณ์ที่ปรากฏในบทความนี้จัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลในอดีตร่วมกับการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน แต่ทั้งนี้ไม่อาจรับรองความสมบูรณ์แท้จริงและความแม่นยำของการวิเคราะห์ข้อมูลในอนาคตได้

TSF2024