Alpha Investor ตอน “เจาะลึก Tesla บริษัทยานยนต์มูลค่าสูงสุดในโลก”
หุ้น Alpha
- หุ้น Alpha คือหุ้นที่ทำผลตอบแทนได้ดีกว่าตลาด
- Alpha / Beta เป็นคำอธิบายประสิทธิภาพของสินทรัพย์ลงทุน เพื่อให้นำมาใช้เปรียบเทียบและประเมินแนวโน้มผลตอบแทนของแต่ละสินทรัพย์ลงทุน
- Alpha หมายถึงผลตอบแทนส่วนเกินหลังจากที่ได้ปรับด้วยค่าความผันผวนที่เกี่ยวข้องกับตลาดเรียบร้อยแล้ว เป็นตัวบอกว่าสินทรัพย์ที่ลงทุนมีประสิทธิภาพที่ดีกว่าการคาดคะเนด้วย Beta รึเปล่า ยิ่งค่า Alpha มากกว่า 0 เท่าไหร่ ก็ยิ่งแปลว่ามีประสิทธิภาพสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่าตลาดมากเท่านั้น
- Beta หมายถึงความผันผวนของสินทรัพย์ลงทุนเมื่อเทียบกับดัชนีอ้างอิง เช่น ดัชนี S&P500
- หุ้นเติบโต มักจะมีค่า Beta มากกว่า 1 หมายถึงทุกครั้งที่ตลาดผันผวน หุ้นเติบโตมักจะผันผวนในขนาดที่มากกว่า แต่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ถ้าตลาดบวก 1 เท่า หุ้นเติบโตจะบวกมากกว่า 1 เท่า ส่วนพันธบัตรรัฐบาล มักจะมีค่า Beta เข้าใกล้ 0 หมายถึงเมื่อตลาดผันผวน ก็จะแทบไม่มีผลอะไรกับพันธบัตรรัฐบาลเลย
- ส่วนกรณีที่ค่า Beta ติดลบ จะหมายถึงการตอบสนองต่อตลาดในทิศทางตรงข้าม ยกตัวอย่างเช่นทองคำ สมมติมีค่า Beta -1 ก็จะแปลว่า เมื่อตลาดบวก 1 เท่า ทองคำจะติดลบ 1 เท่า
- การศึกษาค่า Beta มีประโยชน์ในการกระจายความเสี่ยงพอร์ตการลงทุน โดยนักลงทุนที่ให้ความสำคัญกับหลักการกระจายสินทรัพย์ลงทุน หรือ Asset Allocation ก็จะเลือกสินทรัพย์ที่มีค่า Beta ติดลบเข้ามาในพอร์ตไว้ด้วยเสมอ เผื่อช่วงที่สินทรัพย์ตัวใดตัวหนึ่งให้ผลตอบแทนที่ไม่ดีในบางสถานการณ์ ก็จะได้ยังมีสินทรัพย์อีกตัวที่ยังสร้างผลตอบแทนให้พอร์ตได้อยู่
Edge
- ไม่ใช่ศัพท์เทคนิคการลงทุน แต่เป็นคำศัพท์ภาษาอังกฤษที่น่าสนใจ
- มาจากคำว่า cutting edge ที่หมายถึงความเป็นที่สุด เป็นผู้นำที่เหนือชั้นของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ที่ใดที่หนึ่ง ในวิดิโอนี้กำลังหมายถึง Tesla ที่มีศักยภาพสูงที่จะเป็น cutting edge company ในด้านอุตสาหกรรมการผลิต ไม่ใช่แค่เรื่องรถยนต์ไฟฟ้า
Margin & CAGR
- Margin ในทางการลงทุนอาจถูกนำมาใช้ได้หลายความหมาย อย่างการกู้ยืมบริษัทโบรกเกอร์เพื่อชำระค่าซื้อสินทรัพย์ลงทุน (to margin / to buy on margin) หรือการเปิดบัญชี Margin account ก็จะหมายถึงบัญชีหลักทรัพย์ที่ทำให้เราซื้อสินทรัพย์ลงทุนได้มากกว่าเงินสดที่เรามีอยู่ในบัญชี
- แต่ในความหมายทางธุรกิจโดยทั่วไป คือ Operating margin หรือเรียกง่าย ๆ ว่าเป็นการนำกำไรหลังหักต้นทุนและค่าใช้จ่ายมาเทียบกับยอดขาย แสดงให้เห็นความสามารถในการทำกำไรของกิจการ
- CAGR (Compound Annual Growth Rate) คืออัตราการเติบโตของรายได้ ซึ่งจากตาราง Tesla มีอัตราการเติบโตสูงถึง 80% ต่อปีในช่วง 10 ปี
6 Levels of Autonomy
- Level 0 (No driving automation) = รถทุกวันนี้ มนุษย์เป็นคนขับเอง 100% อาจจะมีระบบอัตโนมัติบางอย่างแต่ไม่เกี่ยวข้องกับการขับ เช่น ระบบเบรกอัตโนมัติ
- Level 1 (Driver assistance) = ขั้นน้อยสุดของการขับเคลื่อนอัตโนมัติ เริ่มมีระบบอัตโนมัติที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือการขับขี่ เช่น Cruise control หรือระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ มนุษย์จะยังต้องควบคุมส่วนอื่น ๆ ของรถอยู่ เช่น พวงมาลัย หรือเบรก
- Level 2 (Partial driving automation) = มีระบบ ADAS (Advanced Driver Assistance Systems) ควบคุมได้ทั้งพวงมาลัย การเร่ง/ลดความเร็ว แต่จะต้องมีมนุษย์นั่งประจำที่พร้อมเข้าควบคุมรถอยู่ตลอด
- Level 3 (Conditional driving automation) = ระหว่าง LV.2 และ 3 เป็นรอยต่อที่สำคัญ สู่การขับขี่ที่มนุษย์ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้สำรวจสิ่งแวดล้อมรอบตัวด้วยตัวเองอีกต่อไป เพราะมีระบบ “Environmental detection” และสามารถตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง เช่น การขับแซงรถคันข้างหน้า อย่างไรก็ตาม ยังจำเป็นต้องมีมนุษย์แสตนด์บายคอยควบคุมในกรณีที่ระบบอัตโนมัติไม่สามารถตัดสินใจด้วยตัวเองได้
- Level 4 (High driving automation) = สิ่งที่พัฒนาเพิ่มจาก LV.3 คือ รถยนต์สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องอาศัยการตอบสนองจากมนุษย์อีกต่อไป ใน LV.4 สามารถใช้ Self-driving mode ได้ แต่ก็ต้องขึ้นกับกฎหมายของพื้นที่ที่จะใช้รถด้วย
- Level 5 (Full driving automation) = เป็นเลเวลที่ตัดการขับขี่โดยมนุษย์ออกไปเลย คือไม่สามารถสวิชต์เลือกเป็นระบบอัตโนมัติ หรือขับเองได้ แต่เป็นเลเวลที่อาศัยการขับเคลื่อนด้วยระบบอัตโนมัติ 100% ไม่ต้องมีแม้แต่พวงมาลัย เบรก หรือเกียร์ ทำได้ทุกอย่างที่มนุษย์ในฐานะผู้ขับขี่จะทำได้ ในปัจจุบันยังไม่มีรถยนต์อัตโนมัติของบริษัทไหน ที่ทำได้ถึงเลเวลนี้
แตก Par
- “ราคาพาร์” (Par Value) คือราคาต่อ 1 หุ้นที่ถูกกำหนดเอาไว้ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นเข้าตลาดหลักทรัพย์ เช่น หุ้น Tesla ราคาพาร์เริ่มแรก 0.001$ ต่อมาเมื่อเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ ความต้องการซื้อหรือขายหุ้นก็อาจทำให้ราคาของหุ้นเพิ่มหรือลดลงจากราคาพาร์ก็ได้
- การแตกพาร์ (Stock split) คือการทำให้ราคาพาร์ต่อ 1 หุ้นลดลง แต่จำนวนหุ้นเพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่เท่ากัน เปรียบเหมือนการแตกธนบัตรจากธนบัตร 500 1 ใบ ก็ให้กลายเป็นธนบัตร 100 5 ใบแทน ที่ทำแบบนี้ก็เพื่อให้นักลงทุนซื้อหุ้นได้ง่ายขายได้คล่องขึ้น แต่จะไม่มีผลกระทบต่อมูลค่าหุ้น หรืองบการเงินของบริษัทแต่อย่างใด
- Tesla ก็เป็นอีกบริษัทที่เคยขอแตกพาร์ในสัดส่วน 5 ต่อ 1 ในช่วงที่บริษัทกำลังได้กระแสความสนใจจากนักลงทุนเป็นอย่างมากในปลายปี 2020 ที่ผ่านมา ทำให้ราคาหุ้นจากประมาณ 1,500$ ต่อ 1 หุ้น ลดลงมาเป็นประมาณ 300$ ต่อ 1 หุ้น และในไม่กี่ชั่วโมงหลังประกาศแตกพาร์ ราคาหุ้นก็ปรับตัวเพิ่มขึ้น 8% เลยทีเดียว ทั้งที่การแตกพาร์ไม่ได้ส่งผลอะไรต่อปัจจัยพื้นฐานของหุ้นหรือบริษัท Tesla เลย แต่ก็ทำให้เห็นได้ชัดเจนว่า การแตกพาร์ส่งผลต่อจิตวิทยาการลงทุนของนักลงทุนรายย่อยอยู่พอสมควร