รับชมบน YouTube: https://youtu.be/E-z5sBaE4vg
สำนักข่าวเศรษฐกิจและการเงินทั่วโลกไม่มีที่ไหนไม่พาดหัวถึงวิกฤติอสังหาริมทรัพย์ที่เกิดขึ้นในประเทศจีน ทำไมตลาดอสังหาริมทรัพย์ในจีนถึงได้รับความสนใจมากขนาดนี้ ทั้งที่ผู้เสียหายน่าจะจำกัดเฉพาะผู้ถือครองอสังหาฯ ในจีนเท่านั้นหรือเปล่า แล้วจุดเริ่มต้นมาจากอะไรกันแน่ ติดตามได้ในคลิปนี้
สถานการณ์ก่อนเกิดวิกฤติ
- ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในจีนมีขนาดใหญ่และมีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจจีนอย่างมาก โดยคิดเป็นประมาณ 20% ของ GDP
- ส่วนหนึ่งขับเคลื่อนโดยค่านิยมของชาวจีนชนชั้นกลางที่เน้นสะสมความมั่งคั่งในรูปแบบอสังหาริมทรัพย์
- ราคาที่ดินในจีนแพงขึ้นเป็น 6 เท่าภายในระยะเวลาเพียง 15 ปี
- ด้วยความต้องการของที่ดินที่เพิ่มสูงอย่างต่อเนื่องเช่นนี้ จึงกลายเป็นเรื่องปกติของธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่จะเสนอขายอสังหาริมทรัพย์ โดยให้ลูกค้าวางเงินก้อนมัดจำก่อนตั้งแต่ตอนที่อสังหาริมทรัพย์นั้นยังพัฒนาไม่เสร็จเรียบร้อย หรือที่เรียกว่าการ Pre-sale
- นอกจากจะได้รับเงินทุนจากลูกค้าล่วงหน้าเช่นนี้แล้ว บริษัทผู้พัฒนาอสังหาฯ ยังระดมเงินลงทุนจากผู้สนใจลงทุนในอสังหาฯ รูปแบบอื่น ๆ เช่น การออกตราสารหนี้ ซึ่งได้รับความสนใจจากนักลงทุนมากมาย โดยเฉพาะนักลงทุนต่างประเทศ
- เมื่อตลาดอสังหาฯ ยิ่งเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ จุดหนึ่งราคาของอสังหาฯ ก็เริ่มจับต้องได้ยากขึ้น มนุษย์เงินเดือนที่มีรายได้ระดับมาตรฐานในจีนอาจต้องใช้เวลาหลายสิบปีกว่าจะซื้ออพาร์ตเมนต์ในเมืองได้สักห้อง
จุดเริ่มต้นของวิกฤติ
- ราคาบ้านที่เพิ่มเร็วติดจรวด พร้อมทั้งปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมที่ได้เกิดขึ้น ในปี 2020 รัฐบาลจีนจึงมีนโยบายที่จะทำให้ผู้คนสามารถเข้าถึงการเป็นเจ้าของบ้านได้อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรมมากขึ้น โดยการซื้อบ้านควรจะต้องเป็นไปเพื่อการอยู่อาศัย ไม่ใช่การเก็งกำไร
- จึงได้มีการออกมาตรการ “Three Red Lines” เพื่อจัดระเบียบธุรกิจอสังหาฯ ให้ดำเนินธุรกิจตามความพร้อมที่แท้จริงของธุรกิจ ต้องพัฒนาอสังหาฯ ให้เสร็จเรียบร้อยก่อนเสนอขาย ต้องควบคุมระดับหนี้สินให้ไม่เกินที่กำหนด ต้องมีสภาพคล่องรองรับหนี้ที่จะถึงกำหนดชำระใน 1 ปี
- ฟังเฉพาะคอนเซ็ปต์ก็น่าจะเป็นมาตรการที่ดี แต่ปัญหาใหญ่กลับเกิดขึ้นหลังจากนั้นไม่นาน
ผลกระทบที่มากกว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์
- การเร่งรัดบังคับใช้มาตรการที่เข้มงวดในช่วงเวลาที่จีนยังอยู่ระหว่างฝ่าฟันวิกฤติโควิด-19 ด้วยมาตรการ Zero Covid ไปพร้อม ๆ กันนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย
- ปัญหาใหญ่จึงได้เกิดขึ้นให้เห็นเป็นตัวอย่างแรก จากกรณีของ Evergrande บริษัทพัฒนาอสังหาฯ รายใหญ่ของจีนที่ขาดสภาพคล่องจนไม่สามารถชำระหนี้ได้
- ผลกระทบไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกลุ่มลูกค้าอสังหาฯ ในจีนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงบรรดาเจ้าหนี้อย่างผู้ถือครองตราสารหนี้ที่ออกโดย Evergrande ด้วย
- ความเสียหายจึงแผ่ขยายเป็นวงกว้างทั่วโลก รวมเป็นมูลค่าความเสียหายเกินกว่า 10 ล้านล้านบาท
- นอกจาก Evergrande ก็ยังมีอีกหลายบริษัทพัฒนาอสังหาฯ ที่จ่อคิวรับอานิสงส์นี้เช่นกัน
- มูลค่าสินเชื่ออสังหาฯ ในจีนลดลงต่ำสุดในรอบ 20 ปี การก่อสร้างลดลงมากกว่า 10% จากปีก่อน และราคาอสังหาฯ ยังลดลงต่ำสุดในรอบ 6 ปีอีกด้วย
- ปัจจุบันทางการจีนจึงมีแนวโน้มเข้าช่วยเหลือโดยให้ความสำคัญกับผู้ซื้อบ้านและสถาบันการเงินเป็นหลัก
พบความสุดพิเศษสำหรับคุณได้ในทุกวัน ทั้งบทความให้ความรู้เกี่ยวกับกองทุนรวม หุ้น คริปโตฯ และการบริการ โปรโมชั่น ของรางวัลต่างๆ ที่คัดสรรมาเพื่อมอบให้กับสมาชิก FINNOMENA เท่านั้น
👉 สมัครสมาชิกเว็บไซต์ FINNOMENA https://finno.me/register-website