รับชมบน YouTube: https://youtu.be/4svP15MUy3w
ลำพังตัวเราเสี่ยงเจอสภาวะล้มละลายยังว่าน่ากลัวแล้ว แต่หากประเทศเสี่ยงเจอสภาวะล้มละลายคงน่ากลัวยิ่งกว่า และท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 ก็มีหลายประเทศที่ออกมายอมรับว่าสุ่มเสี่ยงล้มละลายแล้วจริง ๆ ที่มาของปัญหาเกิดจากอะไร ติดตามในคลิปนี้
กรณีศึกษา: ศรีลังกา
- สถานการณ์หนึ่งที่ทำให้เกิดกระแสตื่นตัวเกี่ยวกับกรณีประเทศล้มละลายคงหนีไม่พ้นการที่อดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศศรีลังกาออกมายอมรับว่าประเทศศรีลังกานั้นล้มละลายแล้วโดยสิ้นเชิง
- ซึ่งถึงแม้ปัญหาวิกฤติโควิด-19 จะเป็นองค์ประกอบหนึ่ง แต่ปัญหาที่แท้จริงนั้นหยั่งรากลึกมานานกว่าทศวรรษจากการผูกขาดอำนาจทางการเมืองโดยตระกูล The Rajapaksa รวมถึงการก่อการร้ายในประเทศยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง
- กระทั่งส่อสัญญาณความอ่อนแอทางเศรษฐกิจอย่างชัดเจนมาตั้งแต่ปี 2019 ศรีลังกาถูกปรับลดอันดับเครดิตของประเทศ กู้ยืมเงินจากแหล่งเงินทุนต่างประเทศได้น้อยลง ขณะที่เงินสำรองระหว่างประเทศก็น้อยลงเช่นกัน
- ตามมาด้วยการอ่อนค่าเกือบ 80% ของสกุลเงิน Sri Lankan rupee ที่ทำให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นเชื้อเพลิง น้ำมัน อาหาร และยารักษาโรคยิ่งเพิ่มสูงขึ้น
- กลายเป็นสถานการณ์ที่ยากเกินเยียวยาจนจำเป็นต้องขอระงับการจ่ายหนี้ต่างประเทศในปี 2022 ส่งผลให้ตกอยู่ในสถานะต้องทยอยชดใช้หนี้ถึง 5 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐต่อปีจนถึงปี 2026
กรณีศึกษา: เวเนซุเอลา และประเทศอื่น ๆ
- ไม่แตกต่างกันกับประเทศที่อดีตเคยรวยอย่างเวเนซุเอลา ประเทศซึ่งครองบ่อน้ำมันสำรองในสัดส่วนสูงถึง 18% ของโลก แต่ต่อมาเมื่อราคาน้ำมันร่วงลงอย่างหนัก ประกอบกับปัญหาในการบริหารจัดการประเทศอย่างการคอรัปชั่นก็ทำให้เศรษฐกิจของประเทศถูกสั่นคลอน
- อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยต่อปีในเวเนซุเอลาย้อนหลัง 40 ปีเฉลี่ยสูงถึงประมาณ 3,000% ต่อปี ประชากรอพยพย้ายประเทศมากกว่า 6 ล้านคน
- แต่ทั้งหมดนี้ก็ยังไม่น่ากลัวเท่าข้อเท็จจริงที่ว่ายังมีอีกมากกว่า 10 ประเทศทั่วโลกที่ขณะนี้กำลังเผชิญสภาวะสุ่มเสี่ยงจะล้มละลาย เช่น เลบานอน Suriname, Argentina ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นประเทศที่ประสบปัญหาการชำระหนี้ระหว่างประเทศ และอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นสูงเช่นกัน
3 สถานการณ์ ที่เป็นสัญญาณเตือนก่อนที่ประเทศหนึ่งจะล้มละลาย
- อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงเป็นประวัติการณ์จนส่งผลให้ภาครัฐไม่สามารถออกนโยบายใด ๆ ที่เพียงพอจะควบคุมสถานการณ์ได้ ยิ่งหากกระแทกซ้ำกับสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวที่เกิดขึ้นพร้อมกัน กลายเป็นสภาวะ Stagflation ก็ยิ่งทำให้ภาครัฐออกมาตรการแก้ไขปัญหาได้ยากขึ้น และต้องอาศัยเวลาที่นานขึ้นกว่าจะกอบกู้สถานการณ์ได้ เพราะความพยายามจะลดเงินเฟ้อลง อาจส่งผลให้ปัญหาหนี้สินหรืออัตราการว่างงานยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นได้
- ประเทศประสบปัญหาไม่สามารถชำระหนี้ได้ โดยทั่วไปภาครัฐจะถูกมองว่าเป็นลูกหนี้ที่มีความน่าเชื่อถือมากที่สุดในประเทศ แต่หากภาครัฐกลายเป็นอยู่ในสถานะเป็นหนี้สินล้นพ้นตัวเสียเอง ก็จะส่งผลกระทบเป็นโดมิโนตามมา ประเทศจะมีความน่าเชื่อถือลดลง และเศรษฐกิจก็จะยิ่งชะลอตัวหนักขึ้น
- สกุลเงินหลักของประเทศถูกลดทอนความเชื่อมั่นลง ทั้งระดับในประเทศและระหว่างประเทศ นักลงทุนต่างชาติจะทยอยถอนเงินลงทุนออกเนื่องจากการถือครองสินทรัพย์ลงทุนในสกุลเงินนั้นมีแต่จะทำให้ขาดทุนมากขึ้น และเมื่อสกุลเงินยิ่งอ่อนค่าก็ยิ่งส่งผลให้ต้นทุนการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศยิ่งเพิ่มสูงขึ้น กลายเป็นสภาวะที่ยิ่งกลืนไม่เข้าคายไม่ออกมากขึ้นเรื่อย ๆ
พบความสุดพิเศษสำหรับคุณได้ในทุกวัน ทั้งบทความให้ความรู้เกี่ยวกับกองทุนรวม หุ้น คริปโตฯ และการบริการ โปรโมชั่น ของรางวัลต่างๆ ที่คัดสรรมาเพื่อมอบให้กับสมาชิก FINNOMENA เท่านั้น
👉 สมัครสมาชิกเว็บไซต์ FINNOMENA https://finno.me/register-website