รับชมบน YouTube: https://youtu.be/f4Nbviw-Y84
อาชีพพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์เป็นหนึ่งในอาชีพมาแรงที่ทำเอาหลายคนที่เคยคิดว่าจะแค่ลองขายของดูเล่น ๆ กลับขายดิบขายดีจนต้องหันมาปั้นเป็นธุรกิจจริงจัง แต่ด้วยรายได้ที่มั่งมี ก็ตามมาด้วยภาษีที่ต้องจัดการให้รอบคอบ วันนี้มาลองดูกันว่าสำหรับพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ต้องวางแผนภาษีอย่างไร ถึงจะเหลือจ่ายน้อยที่สุด
ทำความเข้าวิธีคำนวณภาษีกันก่อน
- ในกรณีที่เราเป็นพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ ประกอบกิจการในนามตัวเองไม่ได้จดทะเบียนบริษัท รายได้จากการขายของออนไลน์หรือรายได้จากการซื้อมาขายไปเช่นนี้ จัดเป็นเงินได้ตามประเภทที่ 8
- จะมีวิธีคำนวณภาษี 2 วิธี ซึ่งไม่ใช่ว่าจะให้เราเลือกเสียภาษีจากวิธีคำนวณวิธีใดวิธีหนึ่งด้วยตัวเอง แต่ต้องคำนวณทั้ง 2 วิธีแล้วเปรียบเทียบว่าวิธีไหนคำนวณแล้วจะต้องเสียภาษีเยอะกว่า กฎหมายก็จะบังคับให้เราเสียภาษีด้วยวิธีคำนวณนั้น
วิธีที่ 1: วิธีคำนวณตามอัตราภาษีแบบขั้นบันได
- เป็นวิธีการคำนวณที่หลายคนคุ้นเคย ไล่มาจากการนำรายได้จากการขายของออนไลน์ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน เหลือเท่าไรก็จะกลายเป็นเงินได้สุทธิ ที่จะนำไปคำนวณภาษีตามขั้นบันได
- โดยเงินได้สุทธิที่ 150,000 บาทแรกจะได้รับยกเว้นภาษี
- สังเกตที่ค่าใช้จ่าย กฎหมายภาษีกำหนดให้กรณีขายของออนไลน์ เราสามารถเลือกได้ว่าจะหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาในอัตรา 60% หรือจะเลือกนำค่าใช้จ่ายจริงมาหักออกก็ได้
- เช่น หากเรามีรายได้จากการขายของออนไลน์ 5 แสนบาท หากเลือกหักค่าใช้จ่ายในอัตราเหมา ก็เท่ากับหักค่าใช้จ่ายออกจากเงินได้ไปได้เลย 3 แสนบาท โดยไม่ได้สนว่าแท้จริงแล้วในการทำธุรกิจของเราจะมีค่าใช้จ่ายถึง 3 แสนบาทจริงหรือไม่
- เมื่อนำ 5 แสนลบ 3 แสนเหลือ 2 แสนบาท นำไปหักค่าลดหย่อนภาษีต่อ ซึ่งเมื่อเราทุกคนจะได้รับสิทธิลดหย่อนภาษีส่วนตัวคนละ 60,000 อยู่แล้ว จะเท่ากับว่าถึงแม้จะไม่มีสิทธิลดหย่อนภาษีอะไรเพิ่มเติมเลย ก็จะเหลือเงินได้สุทธิที่นำไปคำนวณอัตราภาษีแบบขั้นบันไดที่ 140,000 บาท
- และเมื่อเงินได้สุทธิ 150,000 แรกได้รับยกเว้นภาษี ก็จะเท่ากับกรณีนี้ที่เรามีรายได้จากการขายของออนไลน์ 5 แสนบาทต่อปี ไม่ต้องเสียภาษีแต่อย่างใด
- นอกจากนี้เมื่อเราสามารถเลือกหักค่าใช้จ่ายตามจริงเท่าที่จำเป็นและสมควรได้ ดังนั้นหากเป็นกรณีที่เราได้วิเคราะห์ว่าธุรกิจของเรานั้นมีต้นทุนกิจการเกินกว่า 60% การนำค่าใช้จ่ายจริงมาหักออกจากเงินได้ก็จะช่วยให้เสียภาษีน้อยลง
- อย่างถ้ามีเงินได้จากการขายของออนไลน์ 1 ล้านบาท และมีค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นสมควรอยู่ที่ 8 แสนบาท นำเงินได้ 1 ล้าน – 8 แสน เหลือ 2 แสน หักค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 เหลือเงินได้สุทธิ 140,000 บาท ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีเช่นกัน
- ในกรณีนี้ถึงแม้เราจะมีเงินได้จากการขายของออนไลน์ 1 ล้านบาท ก็อาจไม่ต้องเสียภาษีตามวิธีการคำนวณวิธีแรก
วิธีที่ 2: วิธีคำนวณโดยอาศัยอัตราเหมา 0.5%
- จะต้องนำเงินได้มาตั้ง แล้วคูณด้วย 0.5% ได้เท่าไรก็จะเท่ากับอัตราภาษีที่ต้องเสียตามวิธีคำนวณวิธีนี้เลย
- อย่างกรณีที่มีเงินได้จากการขายของออนไลน์ 1 ล้านบาท คูณด้วย 0.5% = 5,000 เท่ากับอาจต้องเสียภาษีตามวิธีคำนวณนี้ 5,000 บาท แต่กฏหมายได้มีการยกเว้นภาษีในกรณีที่หากคำนวณตามวิธีที่ 2 แล้วจำนวนภาษีไม่เกิน 5,000 บาท เท่ากับว่าไม่ต้องเสียภาษี
- นั่นก็จะทำให้ต้องกลับไปคำนวณตามวิธีที่ 1 วิธีเดียว หากวิธีที่ 1 คำนวณแล้วก็ไม่ต้องเสียภาษีอีกเท่ากับไม่ต้องเสียภาษีจริง ๆ ไม่ว่าจะด้วยวิธีการคำนวณวิธีไหน
- แต่ก็จะยังคงมีหน้าทีต้องยื่นภาษีหากมีเงินได้จากการขายของออนไลน์ตั้งแต่ 60,000 บาทเป็นต้นไป
สรุป หากอยากขายของออนไลน์ให้เสียภาษีน้อยสุด ต้องเริ่มอย่างไร
- ต้องทบทวนการประกอบธุรกิจของตัวเองว่ามีต้นทุนในการประกอบธุรกิจเป็นจำนวนเท่าไร
- หากสิ้นปีสรุปแล้วมีค่าใช้จ่ายสูงก็จะได้พิจารณาหักค่าใช้จ่ายตามจริงเท่าที่จำเป็นและสมควร
- ส่วนกรณีที่ต้นทุนไม่สูงการหักค่าใช้จ่ายในอัตราเหมาก็ช่วยบรรเทาค่าภาษีที่ต้องจ่ายไปได้มาก
- นอกจากนี้พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ที่มองว่ากิจการเริ่มมีอนาคตไกล ก็อาจพิจารณาเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจเป็นแบบบริษัทได้ ซึ่งจะมีวิธีการคำนวณภาษีเฉพาะจากส่วนที่เป็นกำไรสุทธิ โดยทั่วไปอัตราภาษีอยู่ที่ 20% และยังสามารถหักผลขาดทุนสะสมได้ แต่ก็ต้องแลกเปลี่ยนกับการบริหารธุรกิจที่มีกฎเกณฑ์ข้อบังคับเข้มงวดขึ้นด้วย
พบความสุดพิเศษสำหรับคุณได้ในทุกวัน ทั้งบทความให้ความรู้เกี่ยวกับกองทุนรวม หุ้น คริปโตฯ และการบริการ โปรโมชั่น ของรางวัลต่างๆ ที่คัดสรรมาเพื่อมอบให้กับสมาชิก FINNOMENA เท่านั้น
👉 สมัครสมาชิกเว็บไซต์ FINNOMENA https://finno.me/register-website