รับชมบน YouTube: https://youtu.be/2Hj7H90Us50
เงินเฟ้อขึ้น ราคาน้ำมันขึ้น ราคาที่ดินก็หนีไม่พ้นขึ้นตามกันมากับเขาด้วย โดยได้มีการประกาศออกมาแล้วว่าในปี 2566 ราคาประเมินที่ดินจะเพิ่มขึ้นถึง 8% สิ่งนี้หมายถึงอะไร แล้วเราจะได้รับผลกระทบในแง่ไหนกันบ้าง มาติดตามในคลิปนี้
ประเภทของราคาที่ดิน 3 แบบ
- ราคาตลาด : ราคาที่ผู้ซื้อและผู้ขายที่ดินพึงพอใจที่จะตกลงซื้อขายกัน
- ราคาประเมินของภาคเอกชน : ราคาที่ประเมินขึ้นโดยเอกชนองค์กรใดองค์กรหนึ่งที่อาจได้รับการรับรองว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการประเมินราคาที่ดิน โดยแต่ละสถาบันก็อาจมีแนวทางกำหนดเกณฑ์ที่แตกต่างกัน อย่างการขอสินเชื่อบ้าน ก็จะใช้วิธีประเมินมูลค่าที่ดินเพื่อกำหนดเป็นมูลค่าสินเชื่อโดยอาศัยการประเมินราคาที่ดินจากธนาคาร
- ราคาประเมินของกรมที่ดิน : ราคาที่กรมที่ดินได้ประกาศขึ้น โดยประชาชนจะสามารถเข้าไปตรวจสอบเบื้องต้นได้จากเว็บไซต์ https://assessprice.treasury.go.th/ เพื่อให้เอกชนได้นำไปใช้เป็นฐานข้อมูลในการกำหนดราคาซื้อขายที่ดินได้อย่างเหมาะสม
สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเกิดการซื้อขายที่ดินจริง ๆ
- อย่างไรก็ตามในการซื้อขายที่ดินกันจริง ๆ ผู้ซื้อและผู้ขายก็มักจะอ้างอิงราคาประเมินของภาคเอกชนและราคาตลาดเป็นหลัก
- ทำให้โดยทั่วไปแล้วราคาประเมินของภาคเอกชนและราคาตลาดมักจะแพงกว่าราคาประเมิน
- แต่การทำธุรกรรมเกี่ยวกับที่ดินที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับหน่วยงานราชการก็มักจะอ้างอิงราคาที่ดินของกรมที่ดินเป็นหลัก เช่น การใช้เป็นราคาที่ดินเพื่อคำนวณภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน ภาษีธุรกิจเฉพาะหรืออากรแสตมป์ เป็นต้น
เกี่ยวกับการปรับราคาที่ดินในครั้งนี้
- เป็นการปรับเพิ่มราคาประเมินโดยกรมที่ดิน
- โดยปกติแล้วราคาประเมินที่ดินของกรมที่ดินจะต้องมีการปรับปรุงใหม่ทุก ๆ 4 ปี
- เพียงแต่ในปี 2565 เป็นปีแรกที่รัฐบาลเริ่มจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเต็มอัตรา จึงได้มีการเลื่อนใช้บัญชีราคาประเมินที่ดินรอบใหม่ออกไป 1 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โดยยังคงให้ใช้ราคาประเมินที่ดินเดิมในรอบปี 2559-2563 แทน
- ทำให้กำหนดการที่จะปรับปรุงราคาประเมินที่ดินจะเริ่มต้นในปี 2566 และนำไปใช้จนถึงปี 2569
- ดังนั้นราคาประเมินที่ดินที่ปรับใหม่ จึงนับได้ว่าเป็นราคาที่ถูกปรับเอาไว้ตั้งแต่ก่อนปี 2565 แล้ว เพียงแต่ได้ฤกษ์นำมาปรับใช้จริงในปี 2566 เท่านั้น
- อย่างไรก็ตาม หากในพื้นที่ที่มีการเปลี่ยนแปลงราคาอย่างมีนัยสำคัญ เช่น สยามสแควร์ ที่มีราคาตลาดที่ตารางวาละ 3.5 ล้านบาท สูงกว่าราคาประเมินของกรมที่ดินที่ตารางวาละ 1 ล้านบาท ก็อาจมีผลให้เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่จะต้องถูกออกประกาศเพื่อปรับปรุงราคาใหม่
ภาพรวมของการปรับปรุงราคาประเมินที่ดิน
- นับได้ว่าเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 8% ทั่วประเทศ
- โดยในพื้นที่กรุงเทพฯ เพิ่มขึ้นประมาณ 3%
- ต่างจังหวัดเพิ่มประมาณ 8%
- การเปลี่ยนแปลงส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นบนทำเลแนวรถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง ถนนตัดใหม่ และพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)
- โดยราคาสูงสุดอยู่พื้นที่กรุงเทพฯ ราคา 1 ล้านบาท/ตารางวา ได้แก่ ถนนสีลม เพลินจิต วิทยุ พระรามที่ 1 (บริเวณหน้าสยามสแควร์ถึงถนนเพลินจิต)
- ส่วนราคาที่สูงที่สุดในต่างจังหวัดอยู่ที่ จ.ชลบุรี บนถนนเลียบหาดพัทยา อ.บางละมุง 220,000 บาท/ตารางวา ซึ่งเป็นราคาที่ถูกปรับขึ้นมากกว่า 40%
ผลกระทบจากการปรับเพิ่มราคาประเมิน
- การปรับเพิ่มราคาประเมินแบบนี้ส่งผลกระทบต่อภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอย่างแน่นอน
- โดยช่วงที่มีการปรับลดภาษีและชะลอการใช้ราคาประเมินปรับปรุงใหม่ก็ได้ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขาดรายได้ไปประมาณ 40,000 ล้านบาทต่อปี
- แต่สำหรับปี 2566 ที่ยังไม่เห็นสัญญาณการขยายมาตรการปรับลดอัตราภาษีหรือการเลื่อนใช้ราคาประเมินปรับปรุงใหม่ ตัวเลขของภาษีที่จะจัดเก็บได้เพิ่มขึ้นก็เป็นสิ่งที่น่าจับตามอง
- รวมถึงบรรดาเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเองก็คงจะต้องตื่นตัววางแผนบริหารจัดการภาษีให้คุ้มค่าและสอดคล้องกับลักษณะการนำที่ดินมาใช้ประโยชน์กันมากขึ้นด้วย
พบความสุดพิเศษสำหรับคุณได้ในทุกวัน ทั้งบทความให้ความรู้เกี่ยวกับกองทุนรวม หุ้น คริปโตฯ และการบริการ โปรโมชั่น ของรางวัลต่างๆ ที่คัดสรรมาเพื่อมอบให้กับสมาชิก FINNOMENA เท่านั้น
👉 สมัครสมาชิกเว็บไซต์ FINNOMENA https://finno.me/register-website