รับชมบน YouTube: https://youtu.be/Bd7mSoSG06I

โบนัสเป็นเงินก้อนใหญ่ที่ชโลมจิตใจพนักงานประจำที่ทำงานอย่างหนักมาตลอดทั้งปี แน่นอนว่าจริง ๆ แล้ว แต่ละคนจะนำโบนัสไปใช้จัดการอะไรก็เป็นเรื่องเฉพาะตัว แต่ในคลิปนี้เราจะมาพูดถึงตัวอย่างของแนวทางการนำโบนัสไปบริหารจัดการ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและดีต่อสุขภาพการเงินกัน

1. นำโบนัสมาเติมในเงินเก็บสำรองฉุกเฉิน 

  • ถ้าหากเราเห็นความสำคัญของการสำรองสภาพคล่องไว้ให้ในยามฉุกเฉิน โดยเฉพาะในสถานการณ์เช่นนี้ที่สภาวะเศรษฐกิจไม่แน่นอน ทั้งเงินเฟ้อ และโควิด-19 การกันเงินเก็บไว้เผื่อใช้ในยามฉุกเฉิน 6-12 เดือน หรือตามที่เห็นว่าเหมาะสมกับความต้องการของอาชีพเราในตลาดแรงงาน ก็เป็นโอกาสดีที่จะทำให้เราเก็บเงินสำรองฉุกเฉินได้เท่าทันเป้าหมาย
  • อาจใช้วิธีแบ่งสัก 50% ของโบนัสที่ได้รับมาเติมใส่ไว้ในกระปุกเก็บเงินสำรองฉุกเฉินก็ได้

2. นำมาจ่ายค่าใช้จ่ายรายปีก้อนใหญ่ 

  • ถึงแม้โบนัสจะเป็นรายรับก้อนใหญ่ที่ได้มาในแต่ละปี แต่บางรายจ่ายรายปีที่รอเราอยู่บางครั้งก็อาจเป็นก้อนใหญ่พอกัน
  • ถึงแม้โดยทั่วไปแล้ว สำหรับรายจ่ายรายปีที่เราวางแผนได้ล่วงหน้า เช่น ค่าส่วนกลางคอนโด ค่าประกัน หรือค่าเทอมลูก จะเป็นการดีกว่าหากเราทยอยเก็บจากเงินเดือนในแต่ละเดือนเพื่อรอจ่ายในแต่ละปี เพราะโบนัสนั้นอาจไม่แน่นอน แต่หลายรายจ่ายเป็นเรื่องแน่นอนที่ไม่จ่ายไม่ได้
  • ทว่าหากประเมินสถานการณ์คลาดเคลื่อนไป ทำให้มีเงินเก็บไม่พอจ่ายค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ในแต่ละปี เงินโบนัสก็อาจเป็นพระเอกขี่ม้าขาวที่ช่วยเราให้จัดการรายจ่ายเหล่านี้ได้ลงตัว
  • แต่อย่าลืมตั้งหลักว่าเริ่มต้นปีใหม่ก็ควรจะกันเงินเก็บเพื่อรอจ่ายค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่แต่ละปีเหล่านี้ให้รอบคอบและรัดกุม อย่าหวังพึ่งโบนัสในแต่ละปีเพียงอย่างเดียว เพราะหากปีไหนไม่ได้โบนัสขึ้นมา ก็อาจเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาใหญ่ในภายหลังได้เช่นกัน

3. ลงทุนเพิ่ม หรือโปะหนี้เพิ่ม 

  • มีฐานการเงินที่มั่นคงแล้ว ก็เอาเงินมาต่อยอดความมั่งคั่งกันต่อ
  • โดยทั่วไปเวลาเราพูดถึงความมั่งคั่ง เราอาจนึกถึงการนำเงินไปลงทุนอย่างเดียว แต่ในอีกมิติหนึ่งของความมั่งคั่ง คือการลดภาระหนี้สินลงด้วย อย่างการโปะหนี้ก็เป็นวิธีที่ทำให้ฐานเงินต้นที่คำนวณดอกเบี้ยเงินกู้ลดลง ซึ่งส่งผลให้ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายในระยะยาวลดลง
  • อย่างไรก็ตามหนี้ที่เหมาะกับการโปะหนี้นั้น ควรเป็นหนี้ที่มีการคิดในอัตราลดต้นลดดอก จึงจะนับว่าการโปะหนี้มีส่วนช่วยลดดอกเบี้ยลงได้จริง ในขณะที่หากเป็นหนี้ที่มีการคิดดอกเบี้ยในอัตราคงที่ อย่างการกู้รถ ถึงโปะหนี้ไปก็ไม่มีผลให้ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายลดลงแต่อย่างใด

4. วางแผนภาษี 

  • อย่าลืมว่าเมื่อได้รายได้เพิ่ม อัตราภาษีก็เพิ่มตามได้
  • หากจำนวนเงินที่ได้รับนั้น มีผลทำให้ฐานอัตราภาษีของเราสูงขึ้น การนำโบนัสที่ได้รับมารวมคำนวณกับรายได้อื่น ๆ เพื่อประเมินค่าภาษีจึงทำให้ได้สังเกตค่าภาษีที่จะต้องจ่ายในปีนั้น จึงทำให้เราตัดสินใจวางแผนภาษีได้อย่างรอบคอบขึ้น
  • ถ้าเห็นแล้วว่าการได้รับโบนัสก้อนนั้นมา อาจส่งผลต่อค่าภาษีที่ต้องจ่ายเพิ่มอย่างมีนัยสำคัญ ก็แนะนำให้วางแผนการเงินโดยคำนึงถึงการวางแผนภาษีควบคู่กันด้วย เช่น จากเดิมที่ลงทุนในกองทุนรวมแบบทั่วไป ก็อาจเปลี่ยนเป็นการลงทุนในกองทุนที่มีนโยบายแบบเดิม แต่ให้สิทธิลดหย่อนภาษีด้วย เป็นต้น 

5. ให้รางวัลตัวเองบ้าง 

  • เราคงไม่ได้เงินโบนัสก้อนนี้มา ถ้าตลอดทั้งปีเราไม่ได้ลงมือทำงานอย่างทุ่มเท ด้วยเหตุนี้เราจึงควรให้รางวัลของคนเก่ง ให้มีกำลังสู้กับงานต่อไปด้วยการให้รางวัลดี ๆ กับตัวเองบ้าง อะไรที่เคยเล็งไว้ตลอดทั้งปีแต่ไม่กล้าซื้อซักที จังหวะนี้คงเป็นเวลาที่เหมาะสมที่สุดแล้วละ

อ่านเพิ่มเติม “โบนัสโบใจออกแล้ว เอามาลงทุนอะไรดี?”

อ่านเพิ่มเติม “น้องโบนัสออกมา จะลงทุนตูมเดียวหรือทยอยลงทุนดี?”

พบความสุดพิเศษสำหรับคุณได้ในทุกวัน ทั้งบทความให้ความรู้เกี่ยวกับกองทุนรวม หุ้น คริปโตฯ และการบริการ โปรโมชั่น ของรางวัลต่างๆ ที่คัดสรรมาเพื่อมอบให้กับสมาชิก FINNOMENA เท่านั้น
👉 สมัครสมาชิกเว็บไซต์ FINNOMENA https://finno.me/register-website


มือใหม่ห้ามพลาด! คอร์สเรียนพิเศษจาก FINNOMENA U "กองทุนรวม 101 สำหรับมือใหม่"

TSF2024