รับชมบน YouTube: https://youtu.be/GbcNT-HwHu0
Stagflation ถือเป็นหนึ่งปรากฏการณ์ที่สะท้อนความผิดปกติของเศรษฐกิจ มาดูกันว่ารายละเอียดเป็นอย่างไร ประเทศไทยกำลังตกอยู่ในสภาวะนี้หรือเปล่า แล้วจะวางแผนปรับพอร์ตการลงทุนรับมือ Stagflation ได้อย่างไรบ้าง มาหาคำตอบกันในคลิปนี้
Stagflation คืออะไร?
- “Stagflation” คือสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว แต่เงินเฟ้อกลับพุ่ง ซึ่งนี่คือสัญญาณของสภาวะเศรษฐกิจที่ผิดปกติ
- Stagflation มาจากคำว่า Stagnation ที่แปลว่าสภาวะหยุดนิ่ง และ Inflation ที่แปลว่าสภาวะเงินเฟ้อ รวมเข้าด้วยกัน สะท้อนให้เห็นถึงสถานการณ์ที่อัตราเงินเฟ้อพุ่ง ของแพงขึ้น แต่สภาวะเศรษฐกิจกลับโตไม่ทันกัน และมีอัตราว่างงานสูง
Stagflation ในอดีต
- Stagflation ครั้งรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งเกิดขึ้นเมื่อปี 1970 ในขณะนั้นอัตราว่างงานสูง 9% ในขณะเดียวกันอัตราเงินเฟ้อกลับพุ่งสูงกว่าเป็น 12% ซึ่งครั้งนั้นมีที่มาจากราคาน้ำมันโลกที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้สภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว แต่ราคาสินค้าและบริการกลับแพงขึ้น
สถานการณ์ Stagflation ในปัจจุบัน ของประเทศไทยและทั่วโลก
- สำหรับสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน ต้องบอกก่อนว่าประเทศไทยไม่ใช่ประเทศเดียวที่สุ่มเสี่ยงจะเข้าสู่สภาวะ Stagflation
- หลาย ๆ ประเทศทั่วโลกต่างก็เตรียมตัวรับมือสภาวะ Stagflation ที่แนวโน้มว่าจะเกิดขึ้น โดยมีกุญแจที่เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญกันนั่นคือราคาน้ำมันโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นจากความต้องการที่มากขึ้น ในขณะที่กำลังการผลิตมีจำกัด นโยบายทางการเงินของภาครัฐในแต่ละประเทศที่จำเป็นต้องอัดฉีดสภาพคล่องเพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัวในช่วงก่อนหน้า รวมถึงวิกฤติการณ์โควิดก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ถ่างความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของประชากรให้กว้างขึ้น
- ด.ร. อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง ก็ได้ออกมาตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศไทยว่า หากเศรษฐกิจยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ทันไตรมาสที่สองของปี 2565 นี้ ประเทศไทยก็จะเข้าสู่สภาวะ Stagflation แน่นอน
- ประกอบกับงานวิจัยจากกสิกร (Kasikorn Research Centre) ก็ชี้ให้เห็นว่าผู้ที่มีรายได้น้อยกว่า 15,000 จะเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมากที่สุด และหาก Stagflation ยังคงดำเนินต่อเนื่อง ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจก็จะยิ่งสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อประเทศในหลายด้าน เช่น ต้นทุนที่สูงขึ้นในการดำเนินนโยบายระดับมหภาค
กลยุทธ์การลงทุนหากเกิด Stagflation
- อาจต้องมองหาสินทรัพย์การลงทุนที่ได้ประโยชน์เงินเฟ้อ เช่น สินค้าโภคภัณฑ์อย่างน้ำมัน อสังหาริมทรัพย์ และหุ้นวัฎจักร เช่น ธุรกิจพลังงานและธนาคาร เป็นต้น
- สังเกตได้ว่าล้วนแล้วแต่เป็นสินทรัพย์การลงทุนที่อาศัยความรู้ความเข้าใจที่ค่อนข้างเฉพาะทาง และจำเป็นที่จะต้องติดตามข่าวสารจากตลาดการลงทุนอย่างใกล้ชิดควบคู่กันไปด้วย
- ถึงแม้ในมุมของนักลงทุน การปรับพอร์ตการลงทุนอาจเป็นเรื่องที่ทำได้เพียงปลายนิ้ว แต่ก็ต้องยอมรับว่าการรับมือและแก้ไขปัญหา Stagflation นั้นเกินกำลังของปัจเจกชนอย่างเรา ๆ จึงเป็นทั้งหน้าที่และบทพิสูจน์ความสามารถของภาครัฐในการดำเนินนโยบายเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อไม่ให้กลายเป็นปัญหาหยั่งรากลึกที่ยากจะแก้ไข
พบความสุดพิเศษสำหรับคุณได้ในทุกวัน ทั้งบทความให้ความรู้เกี่ยวกับกองทุนรวม หุ้น คริปโตฯ และการบริการ โปรโมชั่น ของรางวัลต่างๆ ที่คัดสรรมาเพื่อมอบให้กับสมาชิก FINNOMENA เท่านั้น
👉 สมัครสมาชิกเว็บไซต์ FINNOMENA https://finno.me/register-website