รับชมบน YouTube: https://youtu.be/XwdVdaLPMWI

“ฟองสบู่แตก” สามคำที่ไม่ว่านักลงทุนคนไหนได้ยินก็คงต้องขนลุกขนพองไปตาม ๆ กัน และในปี 2022 นี้ ก็ดูเหมือนจะเป็นปีที่มีกูรูนักลงทุนทั่วโลกพร้อมใจกันออกโรงเตือนแล้วว่าฟองสบู่แตกกำลังจะเกิดขึ้นอีกครั้ง และจะเป็นฟองที่ใหญ่ที่สุดในรอบหลายปีอีกด้วย ปรากฏการณ์นี้คืออะไรกันแน่ แล้วเราจะรับมืออย่างไรดี

Jeremy Grantham นักลงทุนระดับตำนาน เป็นอีกท่านที่ออกมาแสดงทรรศนะอย่างหนักแน่นเกี่ยวกับภาวะฟองสบู่แตกขั้นรุนแรงว่ากำลังจะเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้ สอดคล้องกับรศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย ก็ได้พูดถึงสัญญาณเตือนฟองสบู่แตกเอาไว้ตั้งแต่ปลายปี 2021 ที่ผ่านมา

ฟองสบู่แตก คืออะไร?

  • “ภาวะฟองสบู่แตก” หมายถึงสถานการณ์ที่ราคาของสินทรัพย์ลงทุนเฟ้อเกินปัจจัยพื้นฐานของสินทรัพย์ลงทุนนั้นไปมากจนเริ่มไม่สมเหตุสมผล
  • โดยทั่วไปมักเกิดจากความพยายามเก็งกำไรและทัศนคติของนักลงทุนต่อสินทรัพย์การลงทุนที่ดีเกินจริง จนกระทั่งถึงจุดอิ่มตัวก็ระเบิดออก ราคาสินทรัพย์ลงทุนจึงรูดลงอย่างรวดเร็วชนิดที่ว่าตั้งตัวกันไม่ทัน

ตัวอย่างของภาวะฟองสบู่ครั้งใหญ่

  • เช่น ฟองสบู่ในตลาดอสังหาริมทรัพย์สหรัฐ ที่ต่อมาได้นำไปสู่วิกฤติทางการเงินครั้งสำคัญอย่างวิกฤติ Subprime
  • มีจุดเริ่มต้นจากการปล่อยสินเชื่อบ้านโดยใช้เกณฑ์พิจารณาที่หละหลวม ผู้คนกู้เงินซื้อบ้านเยอะขึ้นทั้งที่อาจไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อใช้อยู่อาศัยจริง ๆ แต่ต้องการเก็งกำไร ประกอบกับการออกตราสารทางการเงินที่ตรึงเข้ากับดอกเบี้ยบ้านเพื่อให้นักลงทุนร่วมลงทุนในดอกเบี้ยบ้านได้ ก็ยิ่งเร่งให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ปรับตัวสูงขึ้นมาก
  • ต่อมาเมื่อผู้กู้จ่ายหนี้บ้านไม่ไหวและไม่มีใครต้องการซื้อบ้านต่อ เกิดเป็นหนี้สูญจำนวนมาก กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องล้มตามกันไปเป็นโดมิโนและลุกลามถึงเศรษฐกิจทั่วทั้งโลก
  • จากเหตุการณ์ครั้งนั้นก็อาจประมาณการหนี้สูญของสถาบันการเงินทั่วโลกได้ถึง 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์เลยทีเดียว

5 ขั้นตอนของการเกิดฟองสบู่

  • 1. Displacement: การเกิดขึ้นของสิ่งน่าดึงดูดใจใหม่ ๆ เช่น เทคโนโลยีใหม่ หรืออัตราดอกเบี้ยที่ลดลงเป็นประวัติการณ์
  • 2. Boom: สิ่งน่าดึงดูดใจนั้นกลายเป็นกระแสที่ถูกพูดถึงเป็นวงกว้าง นักลงทุนต่างหลั่งไหลเข้ามาพร้อม ๆ กัน เกิดความกลัวการ “ตกรถ” หรือการสูญเสีย “โอกาสที่อาจเกิดขึ้นแค่ครั้งเดียวในชีวิต”
  • 3. Euphoria: สถานการณ์ที่ไม่ว่าราคาของสินทรัพย์ลงทุนนั้นจะพุ่งขึ้นไปเท่าไหร่ ก็จะยังคงมีนักลงทุนที่พร้อมจะเข้าสู่การลงทุนในสิ่งนั้นอยู่ดี ราคาของสินทรัพย์ลงทุนจะยิ่งพุ่งสูงจนฉุดไม่อยู่
  • 4. Profit-taking: จุดที่นักลงทุนบางกลุ่มเริ่มกระโดดออกจากฟองสบู่ที่กำลังต่อตัวเพื่อฉวยโอกาสทำกำไร เกิดเป็นจังหวะย่อตัวครั้งแรก ๆ ของตลาด
  • 5. Panic: ผู้คนลืมความน่าดึงดูดใจของสินทรัพย์ลงทุนนั้นไปจนหมดและเร่งขายสินทรัพย์เพื่อถือเงินสดให้ได้มากที่สุด ราคาของสินทรัพย์ลงทุนรูดลงอย่างรวดเร็วและรุนแรง เป็นจังหวะที่เกิดขึ้นได้ในช่วงเวลาสั้น ๆ และไม่สามารถกะเกณฑ์ได้แน่ชัดว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่

ซึ่งปัจจุบันหุ้นเทคโนโลยีและ Cryptocurrency เป็น 2 ตลาดการลงทุนที่ถูกเพ่งเล็งมากที่สุดในฐานะตลาดการลงทุนที่อาจกำลังเกิดภาวะฟองสบู่

รับมืออย่างไรกับฟองสบู่ดี?

  • หากเราเห็นด้วยว่าภาวะฟองสบู่กำลังจะเกิดขึ้นและเริ่มกังวล สิ่งที่แนะนำให้ทำคือทบทวนวัตถุประสงค์การลงทุนในสินทรัพย์การลงทุนของตัวเอง
  • หากจุดเริ่มต้นการลงทุนนั้นมีที่มาจากความกลัวตกรถ การฟังต่อ ๆ กันมาว่าสิ่งนี้น่าลงทุน หรือการลงทุนเพราะเชื่อว่าจะได้รับผลตอบแทนสูงและรวดเร็ว ก็อาจสังเกตเห็นได้ไม่ยากว่าเราเองก็อาจเป็นหนึ่งในผู้ที่กำลังร่วมเป่าฟองสบู่อยู่ด้วย
  • และหากวิเคราะห์ถึงแก่นกลางของสินทรัพย์ลงทุนนั้นแล้วพบว่าไม่เหมาะกับเป้าหมายการลงทุนของเราอีกต่อไป ก็อาจตัดใจออกจากการลงทุนนั้นตั้งแต่เนิ่น ๆ หรือจำกัดสัดส่วนการลงทุนให้น้อยลงและกระจายความเสี่ยงไปยังการลงทุนที่ให้ความสบายใจได้มากกว่าแทน
  • หรือหากยังมองเห็นเหตุผลสนับสนุนที่ดีในการลงทุนในสินทรัพย์นั้นอยู่ก็อาจรักษาวินัยทยอยลงทุนทีละเล็กน้อยอย่างต่อเนื่อง หรือสะสมเงินสดไว้ก่อนเพื่อรอจังหวะตลาดฟื้นตัวก่อนก็ได้

มือใหม่ห้ามพลาด! คอร์สเรียนพิเศษจาก FINNOMENA U "กองทุนรวม 101 สำหรับมือใหม่"

TSF2024