แบงก์ชาติขาดทุนสะสม 1 ล้านล้านบาท แบบนี้คนไทยเตรียมตัวถูกเก็บภาษีเพิ่มขึ้นเลยรึเปล่า แท้ที่จริงแล้วหนี้สาธารณะที่คนไทยแบกรับร่วมกันมูลค่าเป็นเท่าไหร่ มาฟังคำตอบในคลิปนี้กัน
หน้าที่ของแบงก์ชาติ
- แบงก์ชาติหรือธนาคารกลาง เป็นผู้ทำหน้าที่ดูแลเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจในประเทศ
- รับหน้าที่ดูแลอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้ผันผวนเกินไปจนกระทบการดำเนินงานของภาคเอกชนและเศรษฐกิจ
- ดูแลสภาพคล่องในระบบการเงินให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
- กำไรหรือขาดทุนจากการปฏิบัติงานตามพันธกิจของแบงก์ชาติจึงเป็นเรื่องปกติ ซึ่งอาจเกิดจากราคาสินทรัพย์ที่ผันผวนตามอัตราแลกเปลี่ยน และต้นทุนการออกพันธบัตรเพื่อดูดซับสภาพคล่อง เป็นต้น
สมมติเศรษฐกิจอยู่ในช่วงร้อนแรง มีสภาพคล่องส่วนเกินเยอะเกินไปจนอาจส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อ
- แบงก์ชาติก็อาจจะดูดซับสภาพคล่องส่วนเกินนี้ด้วยการออกพันธบัตร
- ดอกเบี้ยพันธบัตรก็นับว่าเป็นหนี้สินของแบงก์ชาติที่จะต้องจ่ายให้กับผู้ถือพันธบัตร
- แต่อย่างไรก็ตามก่อนจะออกพันธบัตรมาได้ แบงก์ชาติเองก็จะต้องมีเงินสำรองระหว่างประเทศ หรือสินทรัพย์อื่น ๆ มาหนุนหลังเอาไว้ก่อนเช่นกัน
- จึงเห็นได้ว่าการดำเนินงานของแบงก์ชาติไม่ใช่เพื่อการแสวงหากำไร
- นอกจากนี้ทั้งสินทรัพย์และหนี้สินของแบงก์ชาติตามที่ว่ามา ก็ไม่ได้นับว่าเป็นสินทรัพย์และหนี้สินของรัฐบาล ไม่ใช่ภาระของการคลังของประเทศ ซึ่งเป็นไปตามแนวปฏิบัติที่ใช้กันเกือบทุกประเทศทั่วโลก
สถานการณ์หนี้สาธารณะของไทย
- ปัจจุบันอยู่ที่ 8 ล้านล้านบาท คิดเป็นประมาณ 54.28% เมื่อเทียบกับ GDP
- ยังไม่รวมวงเงินกู้อีก 5 แสนล้านจาก พ.ร.ก. แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากโควิด-19 ที่อาจส่งผลให้หนี้สาธารณะแตะ 9 ล้านล้านบาท
- ใกล้เคียงเพดานหนี้สาธารณะตามกรอบวินัยการคลังที่ 60% ของ GDP เข้าไปเต็มที
สถานการณ์หนี้สาธารณะของประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก
- กลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว มี % ต่อ GDP เฉลี่ยอยู่ที่ 120%
- ประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียอยู่ที่ 69% หรือในกลุ่มประเทศอาเซียนก็เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 50%
- สะท้อนให้เห็นว่าการกู้ยืม หรือการเป็นหนี้เพื่อบริหารประเทศไม่ใช่เรื่องผิดแปลกอะไร ถึงขั้นเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วยซ้ำ
- ดังนั้นข้อสำคัญไม่ใช่การก่อหนี้ แต่อยู่ที่เมื่อก่อหนี้แล้ว ได้นำไปบริหาร สร้างรายได้ สร้างผลผลิตที่คุ้มค่ากันหรือไม่
หากหนี้สาธารณะเพิ่มพูนขึ้น จะเกิดอะไร?
- เป็นภาระรับผิดชอบของประชาชนร่วมกัน อาจส่งผลในรูปแบบของความจำเป็นในการจัดเก็บภาษีที่เพิ่มขึ้น
- เสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจ และระบบบริหารเงินตราระหว่างประเทศลดลง ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตในระดับครัวเรือนในหลาย ๆ มิติต่อไป