วันนี้ขอชวนทุกคนมาทำความรู้จักกับสภาวะดอกเบี้ยต่ำ ศัตรูตัวร้ายของเงินออม ที่อาจให้แนวคิดการบริหารเงินออมของเราไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป สิ่งนี้จะส่งผลกระทบกับเงินออมของเราอย่างไรบ้าง มาหาคำตอบกันในคลิปนี้

การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายคืออะไร?

  • การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ธนาคารกลางทั่วโลกมักใช้กระตุ้นเศรษฐกิจเมื่อเศรษฐกิจชะลอตัว
  • การลดดอกเบี้ยนโยบายจะช่วยทำให้ต้นทุนของแต่ละธนาคารต่ำลง นำไปสู่การลดดอกเบี้ยเงินกู้และดอกเบี้ยเงินฝาก ทำให้คนกล้ากู้เงินไปลงทุนกันมากขึ้น และฝากเงินในธนาคารกันน้อยลง
  • แต่เมื่อมาตรการนี้ถูกนำมาใช้ต่อเนื่องเป็นเวลานาน ก็จะตามมาด้วยผลกระทบข้างเคียงที่เรียกกันว่าสภาวะดอกเบี้ยต่ำนั่นเอง

สภาวะดอกเบี้ยต่ำ เป็นอย่างไร?

  • จริง ๆ แล้วสภาวะดอกเบี้ยต่ำทั่วโลกเริ่มส่งสัญญาณมาตั้งแต่สมัย Hamburger crisis ในช่วงปี 2008 – 2009 แล้ว
  • สำหรับประเทศไทยเองก็มีแนวโน้มลดต่ำลงมาเรื่อย ๆ เช่นกัน โดยเฉพาะช่วงปลายปี 62 ที่ประสบปัญหาสงครามการค้า กระทบการส่งออก และการท่องเที่ยวในประเทศ แล้วยิ่งเมื่อถูกซ้ำเติมด้วยวิกฤติโควิด-19 ก็ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบัน ลดต่ำลงที่สุดในประวัติศาสตร์นับแต่มีการกำหนดดอกเบี้ยนโยบายขึ้นมา ที่ 0.5% ต่อเนื่องกันจนถึงปัจจุบัน
  • เมื่อดอกเบี้ยนโยบายลดต่ำลง ก็ส่งผลให้ดอกเบี้ยเงินฝากลดต่ำมาด้วย โดยในปัจจุบันดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ให้ดอกเบี้ยอยู่ที่ประมาณ 0.3-0.5% ถ้าเป็นเงินฝากออมทรัพย์ดิจิทัลก็อาจอยู่ที่ประมาณ 1% นิด ๆ ซึ่งก็มีแนวโน้มปรับลดลงได้อีกเช่นกัน ล้อกันไปกับผลตอบแทนของสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำอย่างเช่นตราสารหนี้ก็มีแนวโน้มลดต่ำลงด้วยเช่นกัน 

สิ่งที่น่ากังวล

  • นี่จึงเป็นจุดที่น่ากังวลใจสำหรับการวางแผนออมเงินระยะยาว โดยเฉพาะสำหรับกองทุนบำเหน็จบำนาญทั่วโลก ที่มีหน้าที่บริหารเงินเกษียณให้กับประชากรผู้เป็นสมาชิกในแต่ละประเทศ เพราะเงินเกษียณเป็นเงินเก็บส่วนที่ต้องการความมั่นคงสูงกว่าเงินเก็บก้อนอื่น ๆ เพื่อให้มั่นใจว่าจะสามารถรองรับรายจ่ายช่วงหลังเกษียณของสมาชิกได้โดยที่ไม่ต้องกังวลกับความผันผวนของเงินออมระหว่างทางมากจนเกินไป แต่ด้วยสภาวะดอกเบี้ยต่ำที่เกิดขึ้น การบริหารเงินในพอร์ตให้มั่นคงเพียงอย่างเดียว ก็อาจไม่สามารถให้ผลตอบแทนที่เพียงพอกับรายจ่ายที่รออยู่ในอนาคตได้อีกต่อไปแล้วนั่นเอง
  • สำหรับประเทศไทย ระบบบำเหน็จบำนาญที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเงินเกษียณของประชากรจำนวนมาก คงหนีไม่พ้นกองทุนประกันสังคม ซึ่งก็ได้มีหลายองค์กรที่เคยออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับเสถียรภาพของกองทุนมาตั้งแต่หลายปีก่อนหน้านี้แล้ว ทั้งเรื่องความสามารถในการบริหารเงินลงทุน รวมไปถึงผลกระทบที่จะได้รับจากสังคมสูงวัย ที่จะทำให้มีคนรอรับเงินจากกองทุน มากกว่าคนที่จะช่วยสมทบเงินเข้ากองทุนเพิ่ม และการกำหนดอายุเริ่มเกษียณที่ 55 ปี ซึ่งนับว่าเป็นอายุเริ่มรับเงินเกษียณที่เร็วกว่าในประเทศอื่น ๆ ที่ประสบปัญหาสังคมสูงอายุเหมือน ๆ กัน เป็นต้น
  • สิ่งเหล่านี้เป็นสัญญาณเตือนสำหรับเราทุกคนในฐานะผู้ที่ต้องรับผิดชอบแผนเกษียณของตัวเอง ว่าเราอาจต้องพึ่งพาตัวเองมากขึ้น และเริ่มต้นวางแผนการเงิน รวมถึงศึกษาการลงทุนให้เร็วขึ้น เพื่อมั่นใจได้ว่าเงินออมตั้งใจเก็บมาตลอดช่วงวัยทำงาน จะเพียงพอกับรายจ่ายในช่วงวัยเกษียณ
TSF2024