10 เรื่องที่ต้องรู้กับกองทุนหุ้นเทคฯ KF-GTECH

วิกฤต COVID-19 กำลังจะผ่านไปในไม่ช้า ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาตลาดหุ้นทั่วโลกโดนผลกระทบอย่างหนัก แต่มีอยู่ตลาดหุ้นหนึ่งที่แม้จะมีการปรับฐานกับเขาบ้างแต่ก็เป็นการปรับฐานที่ไม่แรงเท่าไหร่นัก นอกจากนั้นยังดีดตัวกลับมาอย่างรวดเร็ว ตอนนี้กำลังจะทำจุดสูงสุดใหม่ในไม่ช้า

ตลาดหุ้นนั้นคือตลาด NASDAQ ที่เต็มไปด้วยหุ้นเทคโนโลยีสมัยใหม่นั่นเอง !

10 เรื่องที่ต้องรู้กับกองทุนหุ้นเทคฯ KF-GTECH

V-Shape ที่แท้ทรูต้อง NASDAQ เท่านั้น !
ข้อมูล ณ วันที่: 27 พฤษภาคม 2563
ที่มา: Bloomberg

คำถามต่อมาคือถ้าเราอยากหากำไรจากการกลับตัวของ NASDAQ ที่เรียกได้ว่าเอาชนะตลาดหุ้นอื่นแบบถล่มทลาย เราสามารถทำอย่างไรได้บ้างล่ะ?

  • เราสามารถลงทุนหุ้นต่างประเทศโดยตรงได้กับโบรกเกอร์ แต่นั่นหมายความว่าเราจะต้องเปิดบัญชีใหม่ ทำเอกสารใหม่ โอนเงินออกนอกประเทศ เลือกหุ้นต่างประเทศที่ข้อมูลก็ไม่ค่อยรู้ แถมโดนค่าธรรมเนียมการเทรด ไม่ก็ขั้นต่ำในการลงทุนหลักแสน ! ตัวเลือกนี้ดูยากไป
  • เราสามารถลงทุนในกองทุนรวมที่ลงทุนในดัชนี NASDAQ ได้ อันนี้หลาย ๆ ท่านมีบัญชีกองทุนรวมอยู่แล้ว ขั้นต่ำก็ไม่สูง อันนี้ง่ายขึ้นเยอะ แต่ผมต้องขอบอกว่าแม้ดัชนี NASDAQ จะดีดตัว แต่หุ้นในดัชนีที่ขึ้นมามีความไม่เท่าเทียมกันอยู่ บางตัวขึ้นเยอะ ขึ้นน้อย โดนผลกระทบ COVID-19 มากน้อยไม่เท่ากัน มันคงดีไม่น้อยถ้าเรามีข้อมูลและเลือกเองได้ จึงนำมาสู่ตัวเลือกที่ 3 ครับ
  • เลือกลงทุนในกองทุน Active ใน Sector เทคโนโลยี ที่มีผู้จัดการกองทุนที่รู้ข้อมูลมากกว่านักลงทุนทั่ว ๆ ไป มาเลือกหุ้นให้ ซึ่งตัวเลือกนี้ก็ไม่ยากเพราะตอนนี้เรามีกองทุนเทคโนโลยีในประเทศไทยให้เลือกอยู่เยอะพอสมควรเช่น ONE-UGG-RA, KF-GTECH, TMBGQG, B-INNOTECH, SCBDIGI และอีกมากมายหลายกอง หลากบลจ. ซึ่งแต่ละกองก็มีความแตกต่างของนโยบายการลงทุน สัดส่วนหุ้นเทคโนโลยีที่แตกต่างกันไป

ในช่วงเวลาที่ความผันผวนสูง ผนวกกับ Sector ที่ต้องลงทุนมีความซับซ้อนเกินคนธรรมดาเข้าใจ ตัวเลือกที่ 3 น่าจะ Make Sense ที่สุด ซึ่งแต่ละคนก็คงเลือกกองทุนที่แตกต่างกันไป สำหรับตัวผมเองขอเลือกกองทุน Technology กองหนึ่งที่ปิดการซื้อขายไปซักพักใหญ่ ๆ และตอนนี้เริ่มกลับมาเปิดให้นักลงทุนสามารถซื้อขายได้ตามปกติแล้ว นั่นคือกองทุน KF-GTECH จาก บลจ.กรุงศรีครับ มาเป็นกรณีศึกษาว่ากองทุนนี้น่าสนใจอย่างไร สรุปเป็นข้อ ๆ ให้เข้าใจง่าย ๆ กัน 10 ข้อครับ

1. KF-GTECH คือกองทุนที่มีกองทุนแม่คือ T. Rowe Price Funds Sicav – Global Technology Equity Fund ซึ่งมีนโยบายการลงทุนคือ การมุ่งเน้นเพิ่มคุณค่าของหน่วยลงทุนในระยะยาว ผ่านการเติบโตของการลงทุน กองทุนเน้นลงทุนในหุ้นที่มีธุรกิจเกี่ยวกับการพัฒนาด้านเทคโนโลยี หรือบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวข้องโดยตรงกับเทคโนโลยี นโยบายการลงทุนแบบนี้ถือว่าชัดเจนมาก ว่าเน้นเติบโตจากเทคโนโลยีตรง ๆ

2. ตั้งแต่ก่อตั้งกองทุนในปี 2015 กองทุน T. Rowe Price Funds Sicav – Global Technology Equity Fund สามารถทำผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีได้สูงถึง 14.42% ถ้าดูในมุมของในไทย KF-GTECH ก็จะเห็นว่าทำผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีระยะสั้น ในช่วงเวลา 1 ปีที่ 21.4% 3 ปีที่ 9.01% และเมื่อมองเปรียบเทียบกับกองทุนอื่น ๆ ในหมวดอุตสาหกรรมเดียวกันแล้วถือว่ากองทุนทำผลตอบแทนได้ในระดับ “ดีมาก”

10 เรื่องที่ต้องรู้กับกองทุนหุ้นเทคฯ KF-GTECH

ผลตอบแทนของ KF-GTECH
ข้อมูล ณ วันที่ : 22 พฤษภาคม 2563
ที่มา: FINNOMENA

ผลการดำเนินงานในอดีต และผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต

3. ข้อควรระวังในกองทุนนี้คือความผันผวนครับ ถ้าดูในทางด้านขวาของรูปด้านบนจะเห็นว่า Standard Deviation ของ KF-GTECH ทั้งในระยะ 1 ปีและ 3 ปี สูงกว่าเฉลี่ยของกลุ่ม กล่าวโดยสรุปคือถ้าจะลงทุนในกองทุนก็ต้องเป็นนักลงทุนที่ทนความผันผวนได้ระดับหนึ่งนะครับ

4. การลงทุนในกองทุนจะดูแต่ผลตอบแทนหรือความผันผวนไม่ได้ แต่ควรศึกษาลงลึกไปถึงหุ้นที่กองทุนเข้าลงทุนด้วยครับ ในกรณีของ KF-GTECH จะเห็นว่าหุ้นหลัก 10 ตัวแรกที่ใหญ่ที่สุดที่กองทุนลงทุนมีสัดส่วนรวมกันมากถึง 48.6% ของกองทุน ดังนั้นถ้าเลือกได้ไม่ดี โอกาสที่กองทุนนี้จะทำผลตอบแทนได้ดีกว่าเพื่อน ๆ ก็ยากมากครับ กองทุนนี้ลงทุนในอะไรบ้างผมขอสรุปให้ฟังแบบสั้น ๆ ตามนี้ครับ (ข้อมูลการถือหุ้นเป็นข้อมูลวันที่ 31 มีนาคม 2563)

Alibaba 8.7%

ตัวนี้มากที่สุดในพอร์ตการลงทุน เป็นบริษัท E-commerce ที่ทุกคนคงรู้จักกันดีอยู่แล้ว ปัจจุบัน Alibaba มี Gross Merchandise Value (GMV) หรือ มูลค่าสินค้าที่บริษัทจัดจำหน่ายไปมากที่สุดในโลก มากกว่า Amazon และ Ebay รวมกัน ผมเพิ่งได้ยินข่าวมาสด ๆ ร้อน ๆ เมื่อกี้นี้ว่า (วันที่ 27 พฤษภาคม 2563 เวลา 13:28) บริษัทตั้งเป้าจะทำให้ GMV ของบริษัทโตขึ้นไปถึงระดับ 1 ล้านล้านเหรียญ ซึ่งจะเป็นระดับเดียวกันกับประเทศที่มี GDP ใหญ่ที่สุดอันดับที่ 22 ของโลก คือใกล้ ๆ กับ Argentina มาถึงจุดนี้คงไม่ต้องอธิบายแล้วว่า Alibaba ยิ่งใหญ่ขนาดไหน นอกจาก E-commerce แล้ว Alibaba ยังมีธุรกิจ Cloud ที่ใหญ่ติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก และธุรกิจ E-Payment ที่ใหญ่ที่สุดอย่าง Alipay อีกด้วย

Salesforce.com 7% บริษัทนี้อาจเป็นบริษัทที่คนไทยไม่รู้จัก คนทั่ว ๆ ไปไม่เคยคุ้นชื่อ ธุรกิจของบริษัทคือการให้บริการ SaaS (Software as a Service) เช่น ระบบ CRM ระบบวิเคราะห์ข้อมูล Big Data และระบบทำการตลาดออนไลน์อัตโนมัติ ให้กับบริษัทใหญ่ ๆ มากมาย พูดง่าย ๆ คือเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการจัดการงานหลาย ๆ อย่างของบริษัทนั่นเอง เมื่อเร็ว ๆ นี้บริษัทเพิ่ง Takeover บริษัทจัดการข้อมูล Big Data ชื่อดังอย่าง Tableau ไป

ว่ากันว่า Marc Benioff ผู้ร่วมก่อตั้งของ Salesforce เคยได้รับคำแนะนำสุดโหด 3 ข้อจาก Steve Jobs จนเขาประสบความสำเร็จจนถึงทุกวันนี้ คำแนะนำนั้นคือ ….

10 เรื่องที่ต้องรู้กับกองทุนหุ้นเทคฯ KF-GTECH

รูป Marc Benioff กับ Steve Jobs สมัยที่เขายังมีชีวิตอยู่
ที่มา: Twitter ของ Marc Benioff

“หนึ่ง Salesforce ต้องใหญ่กว่านี้ 10 เท่าให้ได้ใน 24 เดือน หรือเลิกธุรกิจไปซะ สองนายต้องมุ่งเป้าไปที่ลูกค้ายักษ์ใหญ่ สาม Salesforce ต้องสร้าง Application Economy ขึ้นมาให้ได้”

สุดท้าย Salesforce ใหญ่ขึ้นมาได้และได้สร้าง Application Economy ขึ้นมาจริง ๆ โดยเรียกมันว่า App Store และจดลิขสิทธิ์ไว้ สุดท้าย Marc ให้ชื่อ App Store กับ Steve Jobs เป็นของขวัญที่ Jobs ให้คำแนะนำกับเขาจนเขาประสบความสำเร็จ

Amazon.com 6.5%

บริษัท E-commerce อีกบริษัทหนึ่งที่คงไม่มีใครไม่รู้จัก ปัจจุบันครองตำแหน่งบริษัทที่มีมูลค่าแม้คนจะคิดว่าธุรกิจของ Amazon คือร้านขายของออนไลน์ แต่กำไรของบริษัทส่วนใหญ่มาจากธุรกิจ Cloud ซึ่ง Amazon ถือเป็น Pioneer แรก ๆ ในธุรกิจนี้เลย ด้วยวิสัยทัศน์ของ Jeff Bezos เมื่อ 10 กว่าปีก่อน ในตอนนั้นไม่มีใครคิดว่าธุรกิจ Cloud จะใหญ่อย่างในปัจจุบัน Jeff Bezos ถือเป็น CEO คนหนึ่งที่มีวิสัยทัศน์ที่สุดยอด การได้ลงทุนใน Amazon ที่ Jeff Bezos บริหารและติดตามการเติบโตของบริษัท เป็นความฟินของนักลงทุนแฟนคลับของ Jeff หลาย ๆ คน

แม้แต่ Warren Buffett และ Charlie Munger แม้ไม่ได้ลงทุนใน Amazon แต่ก็ชื่นชม Jeff Bezos อย่างมาก Warren Buffett เคยกล่าวไว้ว่า “เขาเป็นคนที่ความสามารถสูงมาก ๆ ผมประเมินเขาต่ำไปหน่อยตอนพบเขาเป็นครั้งแรก … ผมเห็น Amazon มาตั้งแต่ตอนเริ่มธุรกิจ สิ่งที่ Jeff Bezos สร้างขึ้นมาไม่ต่างกับปาฏิหาริย์”

Netflix 5.6%

บริษัทนี้ไม่พูดทุกคนก็รู้กันอยู่แล้วว่าเป็นยังไง ช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา นอกจาก Amazon แล้วก็มี Netflix ที่แทบไม่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 แถมยังได้ประโยชน์จากวิกฤตครั้งนี้อีกด้วย จำนวนผู้ใช้รายใหม่ของ Netflix เพิ่มขึ้น 15.8 ล้านราย มากกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 7.2 ล้านคน เหตุผลหลักมาจากการ Lockdown ที่ทำให้คนมีเวลาอยู่บ้านและดูหนังมากขึ้น ปัจจุบัน Netflix มีผู้ใช้งานรวมกันทั้งหมด 182 ล้านรายทั่วโลก นับเป็นสัดส่วน 2.6% ของคนทั้งโลก ถ้าเราคิดว่าทุก ๆ คนชอบดูหนัง ดูซีรีส์ ก็อาจจะพอบอกได้ว่าการเติบโตของ Netflix น่าจะไม่จบลงแค่ผู้ใช้ 182 ล้านราย

Facebook 4.5%

บริษัทโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่ที่มีผู้ใช้กว่า 3,000 ล้านคนทั่วโลก บริษัทเป็นเจ้าของ App ชั้นนำอย่าง Facebook, WhatApps, Messenger และ Instagram ในช่วง COVID-19 ที่ผ่านมาจำนวนผู้ใช้งานของแอปฯ ต่าง ๆ ของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างมาก จากที่เคยทรง ๆ และไม่โตเท่าไหร่นัก รายได้จากการโฆษณาของ Facebook มีโอกาสได้รับผลกระทบจากการปิดของธุรกิจต่าง ๆ อย่างไรก็ตามผลกระทบที่ว่าจะเป็นเรื่องชั่วคราว ณ เวลาที่ผมเขียนบทความนี้เริ่มมีข่าวการเปิดเมืองของประเทศต่าง ๆ เข้ามาเรื่อย ๆ ดังนั้นรายได้การโฆษณาของ Facebook น่าจะกลับมาเติบโตได้ในอนาคต

Workday 3.5%

บริษัทนี้ทำ SaaS เช่นกันแต่เน้นเรื่องการเงินและทรัพยากรบุคคล (น่าจะคล้าย ๆ HUMAN ที่อยู่ในตลาดหุ้นบ้านเรา)

ServiceNow 3.3%

เป็นบริษัท Software ประเภท Platform as a Service ดูแลเรื่องการบริหารจัดการปัญหาทางด้าน IT เก็บเงินเป็นจำนวน User

Visa 3.2%

ผู้ให้บริการเป็นตัวกลางเกี่ยวกับการชำระเงินบัตรเครดิตรายใหญ่ 1 ใน 2 รายคู่กับ Mastercard อันนี้คนไทยน่าจะคุ้นเคยอยู่แล้ว

Intuit 3.2%

บริษัท Software บริหารจัดการการเงินและภาษี โปรแกรมที่คนไทยที่ทำงานด้านภาษีน่าจะได้ยินชื่อบ้างก็เช่น TurboTax และ Quicken บริษัทนี้ถือเป็นตำนานอีกบริษัทหนึ่ง เพราะเคยเอาชนะ Microsoft มาแล้วในตลาด Software ด้านภาษี

Atlassian 3.1%

บริษัท SaaS ด้านการบริหารจัดการกระบวนการทำงานของ Software Developer ที่น่าจะได้ยินบ่อย ๆ ก็เช่น Jira และ Trello

จะเห็นว่าที่เพื่อน ๆ อ่านบทความใน 5 นาทีที่ผ่านมา ผมเขียนคำว่า Software บ่อยมาก ๆ ซึ่งก็เป็นเพราะกองทุนนี้โฟกัสมาก ๆ เรื่อง Technology และก็ลงทุนหนัก ๆ ในประเภทธุรกิจ Software

5. สิ่งที่ผมไม่ค่อยเห็นในกองทุนนี้คือไม่ค่อยมีบริษัทสายที่เน้นพวก Hardware สักเท่าไหร่ พวก Tesla, Xiaomi, TSMC, ASML แก๊งชิปประมวลผลอย่าง AMD, Nvidia ก็ไม่ได้เห็นใน Top Holding ดังนั้น ถ้าอยากได้สายชิปประมวลผล KF-GTECH อาจจะไม่ตอบโจทย์เท่าไหร่ แต่ถ้าอยากได้สาย SaaS, Tech ที่เน้น Consumer / B2B Software KF-GTECH ถือว่าเป็นตัวเลือกที่ดีตัวหนึ่ง

6. อีกอย่างที่ผมสังเกตได้คือ การลงทุนส่วนใหญ่ของกองทุนอยู่ในสหรัฐอเมริกาเสียเยอะ ประมาณ 72% แต่ก็ถือว่าเป็นเรื่องดี เพราะสหรัฐฯ ถือเป็นแหล่งรวมหุ้น Technology ที่ดีและหลากหลายที่สุดแล้ว จีนก็เริ่มมีหุ้น Technology เยอะแต่ก็ไม่ได้มากเท่าสหรัฐฯ และก็อุตสาหกรรมก็ไม่ได้ใหญ่เท่า นอกจากนั้นกองนี้ยังมี Alibaba อยู่ 8.7% ซึ่งก็ถือว่าเป็นหุ้น Tech จีนที่ดีที่สุดตัวหนึ่งในสัดส่วนที่มีนัยมาก ๆ

7. กองทุนถือหุ้นทั้งสิ้น 46 ตัว 70% ของการลงทุนอยู่ในหุ้น 20 ตัวแรก ตรงนี้ผมชอบเพราะถือว่าผู้จัดการกองทุนขยันดี ถ้าผู้จัดการกองทุนไม่ขยันเราจะเจอกับการกระจายความเสี่ยงแบบถือหุ้นเป็น 100 ตัวซึ่งส่วนตัวผมว่ามันมากเกินความจำเป็น และไม่คุ้มค่า Fee ที่ต้องเสียไป (ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องดูด้วยนะว่าถือหุ้นน้อย Focus มากกว่ากองอื่น ๆ แล้วผลตอบแทนดีไหม ซึ่งในมุมของ KF-GTECH ถือว่าผลตอบแทนดี ก็นับว่าผ่าน) กองที่มีการถือหุ้น Focus ในระดับนี้ที่ผมเห็นก็จะมี ONE-UGG-RA อีกกองหนึ่งครับ

8. การเปิดเผยข้อมูลใน Factsheet ของ T. Rowe Price Funds Sicav – Global Technology Equity Fund ละเอียดดีผมชอบ มีข้อมูลเช่น P/E ของกองทุนอยู่ที่ 31.7 เท่า เมื่อเทียบกับ Benchmark ที่ 19.9 เท่า ก็ถือว่าสูงกว่าพอสมควร แต่มันก็มีเหตุผลของมันเพราะเมื่อปรายตาลงมาอีกนิดจะเห็นว่าการเติบโตของกำไรจะเติบโตสูงกว่า Benchmark ด้วยเช่นกัน แม้ปัจจุบัน ROE จะต่ำกว่าซึ่งดูไม่ค่อยดี แต่ถ้าหุ้นที่เลือกมาโตได้ตามเป้าก็น่าจะช่วยให้ ROE ดีขึ้นในอนาคตได้ครับ

10 เรื่องที่ต้องรู้กับกองทุนหุ้นเทคฯ KF-GTECH

ข้อมูลกองทุนจาก Fund Factsheet
ข้อมูล ณ วันที่: 31 มีนาคม 2563
ที่มา: T. Rowe Price

9. เทคโนโลยีเป็นกลุ่มหนึ่งที่ไม่เพียงแต่โดนผลกระทบจาก COVID-19 น้อย นอกจากนั้นหุ้นเทคโนโลยีในยุคปัจจุบันนี้ยังมีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งมาก ๆ ถึงแม้โดนผลกระทบก็สามารถประคองตัวเองผ่านไปได้ไม่ยากนัก การเติบโตก็ดี หุ้นตัวใหญ่ ๆ มักจะเป็นบริษัทที่มีรายได้และมีกำไรแล้วแทบจะทั้งหมด ยังมีขาดทุนบ้างประปรายบางครั้งก็เพราะบริษัทยังมีการลงทุนหนักอย่างต่อเนื่องทำให้ไม่มีกำไร หรือขาดทุน ก็ต้องขอบอกว่าหุ้นเทคโนโลยียุคนี้ ต่างจากยุคปี 2000 Dot-Com Bubble มากมายมหาศาล

10. ความเสี่ยงของเทคโนโลยีที่ผมเห็นอย่างชัดเจนคือ แม้ตัวหุ้นจะแข็งแกร่ง มีการเติบโต แต่หลาย ๆ ครั้งด้วยความซับซ้อนของ Business Model และข้อมูลที่เข้าถึงได้ยากแม้แต่คนในอุตสาหกรรมเอง ทำให้หลาย ๆ ครั้งแม้แต่มืออาชีพยังพลาดพลั้งได้ ดังนั้นการลงทุนในหุ้นเทคโนโลยีเพื่อคาดหวังผลตอบแทนระยะสั้นจึงเป็นเรื่องที่มีความยากมากกว่าการลงทุนในหุ้นทั่ว ๆ ไป

ดังนั้นถ้าอยากลงทุนในเทคโนโลยี ผมจึงคิดว่าน่าจะต้องลงทุนแนว ๆ เป็นการเติบโตไปกับเทรนด์ระยะยาว สะสมกองทุนไปเรื่อย ๆ ลักษณะคล้าย ๆ DCA น่าจะช่วยลดความผันผวน และเพิ่มโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในการลงทุนระยะยาวกับการลงทุนแห่งอนาคตอย่างเทคโนโลยีครับ

BuffettCode

ดูหนังสือชี้ชวนฉบับล่าสุดของกองทุนได้ที่ https://www.krungsriasset.com/TH/FundDetail.html?fund=KF-GTECH

Jessada Sookdhis
Investment Analyst (IA)
ตรวจทานบทความ


คำเตือน

ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน |  ผลการดำเนินงานในอดีต และผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต | ผู้ลงทุนอาจมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากการป้องกันความเสี่ยงขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้จัดการกองทุน I กองทุนนี้ลงทุนกระจุกตัวในหมวดอุตสาหกรรมเทคโนโลยี  ผู้ลงทุนจึงควรพิจารณาการกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนโดยรวมของตนเองด้วย |  สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือขอรับหนังสือชี้ชวนได้ที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงศรี จำกัด และ บริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน ฟินโนมีนา จำกัด ในช่วงเวลาวันทำการตั้งแต่ 09:00-17:00 น. ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02 026 5100 และทาง LINE “@FINNOMENAPORT”