สำหรับคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ การเลือกโรงเรียนให้ลูกมีชีวิตที่ดีมีความสุขนั้นมีความยากและละเอียดอ่อนพอๆ กับการเลี้ยงลูกให้เติบโตมาอย่างอบอุ่นเลยทีเดียว ลองนึกภาพว่าจากปกติที่ลูกอยู่กับพ่อแม่ตลอดเวลา ต้องออกจากบ้านไปอยู่กับคนที่ไม่ใช่ครอบครัว ไปอยู่ที่โรงเรียนถึงวันละ 7-8 ชั่วโมงหรือประมาณ 1 ใน 3 ของชีวิตของลูกจะอยู่ที่โรงเรียน ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ทั้งหลายจึงต้องมั่นใจว่าได้เลือกโรงเรียนที่ถูกต้องและเหมาะสมที่สุดให้กับลูก
เพราะหากเลือกโรงเรียนผิด ไม่เพียงแต่ลูกอาจไม่มีความสุขอย่างที่ควรจะเป็น แต่ยังอาจเป็นความทรงจำฝังใจลูกไปตลอดชีวิตเลยก็เป็นได้ นอกจากคุณภาพของโรงเรียนและหลักสูตรการสอนแล้ว คุณพ่อแม่มือใหม่หลายๆ คนสับสนระหว่างหลักสูตรภาษาอังกฤษกับหลักสูตรที่เป็นของต่างประเทศ หรืออินเตอร์
วันนี้ผมอยากจะอธิบายให้ทุกท่านเข้าใจชัดเจนไปเลยว่าในความเป็นจริงแล้วหลักสูตรภาษาอังกฤษนั้นแตกต่างและไม่มีความเหมือนกันกับหลักสูตรของโรงเรียนอินเตอร์เลยแม้แต่นิดเดียว ความแตกต่างมีอยู่ทั้งหมดกี่ประเด็นผมจะขอสรุปอธิบายไว้ในบทความนี้
เผื่อคุณพ่อคุณแม่ท่านใดกำลังเตรียมหาโรงเรียน เปรียบเทียบระบบ จะได้เข้าใจอย่างถูกต้องว่าสิ่งที่ลูกของเราควรได้รับ และพ่อแม่ควรคาดหวังนั้นมีอะไรบ้าง?
ประเด็นที่ 1 – ค่าใช้จ่าย เตรียมเงินไว้เลยเพราะมีหลักแสนแน่นอน
ทั้ง Eng-program และ Inter ถือว่าเป็นหลักสูตรการเรียนการสอนที่มีราคาสูงทั้งคู่ เพราะส่วนใหญ่แล้วมักจะมีค่าใช้จ่ายขั้นต่ำหลักแสนขึ้นไป โดยโรงเรียน Eng-program จะมีค่าใช้จ่ายต่อปีประมาณ 200,000-300,000 บาทต่อปี ตัวอย่างโรงเรียนที่เปิดการสอนเป็น Eng-program ก็เช่น อัสสัมชัญ, เซ็นโจเซฟคอนแวนต์, สาธิตเกษตรฯเป็นต้น
ถ้าเป็นโรงเรียนอินเตอร์มักจะมีค่าใช้จ่ายต่อปีเริ่มต้นที่ 300,000 บาทไปจนถึง 900,000 ถือว่ามีค่าใช้จ่ายที่แพงกว่า Eng-program 1-2 เท่า โรงเรียนในกลุ่มนี้ก็เช่น โชรส์เบอรรี่, ICS, SISB เป็นต้น ค่าใช้จ่ายระดับนี้ทำให้โรงเรียน Eng-program ดูเผินๆเหมือนเป็นทางเลือกที่ดีกว่าเพราะมีการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษเหมือนกันในราคาที่ย่อมเยา แต่ในความเป็นจริงแล้วโรงเรียนสองประเภทนี้มีความแตกต่างกันในรายละเอียดเป็นอย่างมาก What you pay is what you get จริงๆ ครับ
ประเด็นที่ 2 – สัดส่วนนักเรียนต่างชาติ บรรยากาศอินเตอร์ที่หาไม่ได้ใน Eng-program
ปัจจัยสำคัญที่พ่อแม่หลายท่านมองข้ามคือสัดส่วนนักเรียนไทยเทียบนักเรียนต่างชาติในโรงเรียน โรงเรียนที่เป็น Eng-program เนื่องจากเป็นการต่อยอดมาจากโรงเรียนหลักสูตรภาษาไทยปกติ ดังนั้นนักเรียนที่เรียนส่วนใหญ่จึงเป็นคนไทย แทบไม่มีชาวต่างชาติเลย ดังนั้นแนวคิดแบบตะวันตก, สำเนียงการพูดภาษาอังกฤษรวมไปถึงความกล้าแสดงออกอาจมีไม่มากนัก
แต่ถ้าเป็นโรงเรียนอินเตอร์ บางโรงเรียนจะมีการควบคุมสัดส่วนนักเรียนไทยไว้อย่างจำกัด เพื่อให้บรรยากาศการเรียนการสอนเป็นบรรยากาศที่มีความหลากหลายมากที่สุด บางที่ควบคุมจำนวนนักเรียนไทยไม่ให้เกิน 20% ดังนั้นถ้าอยากให้ลูกได้รับสิ่งแวดล้อมที่มีความแตกต่างจากคนต่างชาติต่างภาษา และพอมีกำลังจ่ายค่าเรียน โรงเรียนอินเตอร์ควรเป็นตัวเลือกอันดับแรก แต่ถ้าแค่อยากให้ลูกพูดภาษาอังกฤษได้โรงเรียน Eng-program ก็ถือว่าเป็นตัวเลือกที่ดีครับ
ประเด็นที่ 3 – มาตรฐานของครูผู้สอน อยากได้สไตล์ไทยหรืออังกฤษ?
แม้โรงเรียน Eng-program และโรงเรียนอินเตอร์จะมีการสอนเป็นภาษาอังกฤษและมีครูผู้สอนเป็นชาวต่างชาติเหมือนๆกัน แต่ส่วนใหญ่แล้วโรงเรียนที่เป็นอินเตอร์มักจะมีครูผู้สอนที่มีประกาศนียบัตรหรือจบการศึกษาด้านการเรียนการสอนจากมหาวิทยาลัยในต่างประเทศมาโดยเฉพาะ ดังนั้นในเชิงเทคนิค หรือจิตวิทยาในการสอนเด็กต้องยอมรับว่าส่วนใหญ่แล้วดีกว่าโรงเรียน Eng-program
ประเด็นที่ 4 – จำนวนชั่วโมงเรียนและคาบเรียน หลากหลายหรือเน้นๆ
ถ้าดูที่จำนวนชั่วโมงเรียนจะพบว่าโรงเรียน Eng-program และโรงเรียนอินเตอร์มีชั่วโมงเรียนที่ใกล้เคียงกันจึงอาจจะไม่มีความแตกต่างมากนัก สิ่งที่แตกต่างอย่างมีนัยยะคือจำนวนคาบเรียนในแต่ละวัน โรงเรียน Eng-program มีโครงสร้างคาบเรียนที่เหมือนกับโรงเรียนทั่วๆ ไปคือเรียน 7-8 วิชาต่อวัน
แต่ถ้าเป็นโรงเรียนอินเตอร์จำนวนคาบเรียนจะเหลือเพียง 4-5 คาบเรียนต่อวันเท่านั้น ตรงนี้แล้วแต่คนจะคิดแต่สำหรับผม ผมคิดว่าการโฟกัสกับการเรียนเป็นวิชาๆ ไปสำคัญกว่าจำนวนวิชาที่เรียนในแต่ละวัน ถ้าอยากให้ลูกเรียนเยอะๆ หลากหลาย Eng-program น่าจะดีกว่า แต่ถ้าอยากให้เรียนเน้นๆ แต่ไม่หลากหลายมากก็ควรเลือกโรงเรียนอินเตอร์ครับ
ประเด็นที่ 5 – จำนวนนักเรียน Eng-program
โรงเรียนอินเตอร์ส่วนใหญ่จะมีนักเรียนคลาสละ 15-20 คน ถ้าเป็น Eng-program ก็คล้ายๆ เดิมคือ 40-60 คน ส่วนนี้ผมเชียร์ฝั่งโรงเรียนอินเตอร์มากกว่า เพราะการเรียนที่ดีครูต้องมีเวลาที่จะดูแลเด็กให้ทั่วถึงมากกว่าครับ
ความแตกต่างที่ชัดเจนของทั้ง 2 หลักสูตร
นอกจากประเด็นในเชิงตัวเลขแล้วทั้งสองหลักสูตรยังมีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกัน
โรงเรียน Eng-program เรียนเป็นหลักสูตรของกระทรวงศึกษาไทย ข้อดีก็คือถ้าคุณอยากให้ลูกโตขึ้นไปเรียนเป็นหมอจุฬา, ศิริราช หรือรามา การเรียนหลักสูตรของกระทรวงศึกษาไทยที่เน้นความรู้, ทฤษฎีปึ๊กๆ อาจจะทำให้มีโอกาสสอบติดหมอได้มากกว่าคนที่เรียนโรงเรียนอินเตอร์มาแล้วอาจจะไม่แม่นทฤษฎีมากนัก
โรงเรียนอินเตอร์ จะเหมาะที่สุดถ้าพ่อแม่คาดว่าจะส่งลูกไปเรียนต่างประเทศ เพราะการเรียนโรงเรียนอินเตอร์ส่วนใหญ่จะเรียนเป็นหลักสูตรต่างประเทศอยู่แล้วไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ, อเมริกา หรือสิงคโปร์ ทำให้การศึกษาต่อในต่างประเทศทำได้ง่ายและสะดวกกว่าคนที่เรียน Eng-program
เรียนแบบไหนมีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่า?
จากประสบการณ์ที่ผมอ่านประวัติและเรื่องราวของนักธุรกิจ คนดังต่างๆ มามาก ผมคิดว่าไม่ว่าจะจบโรงเรียนแบบไหนมาก็มีโอกาสประสบความสำเร็จไม่ต่างกันมากนัก ว่าตัวเด็กและพ่อแม่เองนี่แหละคือปัจจัยสำคัญ 70-80% ไม่ใช่หลักสูตรการเรียนหรือโรงเรียน
แต่ถ้าถามคำถามใหม่ว่าจะประสบความสำเร็จแบบไหน? การเรียน Eng-program อาจจะมีความเหมาะกับการทำงานในประเทศ เป็นผู้ประกอบการ แต่การเรียนอินเตอร์จะมีโอกาสได้ไปเรียนต่อมหา’ลัยดังๆ ทำงานต่างประเทศ ในบริษัทใหญ่ๆ ที่เป็นระดับโลกมากกว่า แต่นี่ก็เป็นเพียงประมาณการที่ประเมินจากอดีต
ในอนาคตหลายๆ อย่างอาจจะเปลี่ยนไป จะเรียน Eng-program หรืออินเตอร์อาจจะไม่ใช่ประเด็นที่มีใครยกขึ้นมาพูดอีกแล้วก็ได้ ในปัจจุบันนี้การเรียนก็สามารถทำได้ง่ายและหลากหลายแค่เปิดอินเตอร์เน็ตก็เรียนได้ สิ่งสำคัญที่พ่อแม่ควรให้กับลูกอาจจะไม่ใช่ส่งไปเรียนโรงเรียนอะไร แต่เป็นการให้โอกาสลูกได้ลองและทุ่มเทกับสิ่งที่รักมากกว่าก็เป็นได้
จะเรียนอีพีหรืออินเตอร์ ต่างก็มีค่าใช้จ่ายทั้งนั้น ลองมาวางแผนการเงินให้ลูกด้วย KID’S WEALTH PATH กันเถอะครับ
KID’S WEALTH PATH คือ นวัตกรรมใหม่ล่าสุดจาก FINNOMENA ที่จะช่วยตอบโจทย์การวางแผนการศึกษาให้ลูก เหมาะกับคุณพ่อคุณแม่ที่กำลังวางแผนเรื่องค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษาและมองหาโรงเรียนให้เจ้าตัวน้อย “เพราะความรักที่ยิ่งใหญ่ที่สุด คือความรักของพ่อแม่ที่มีต่อลูก” ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษนี้ก่อนใครได้ที่ https://www.finnomena.com/kidswealthpath/ หรือ คลิกที่แบนเนอร์ข้างล่างได้เลย
คำเตือน
ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลสำคัญของกองทุนโดยเฉพาะนโยบายกองทุน ความเสี่ยง และผลการดำเนินงานของกองทุน โดยสามารถขอข้อมูลจากผู้แนะนำก่อนตัดสินใจลงทุน | ผลการดำเนินงานในอดีตมิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต | ผู้ลงทุนอาจมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากการป้องกันความเสี่ยงขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้จัดการกองทุน