หุ้น IPO น้องใหม่
ILM หนึ่งในผู้นำของตกแต่งบ้านครบวงจรของไทย
Index Living Mall
Article by: BuffettCode
ILLustration by: Young Money
Key Highlights
- ในปัจจุบันสังคมไทยกำลังเปลี่ยนแปลงไปเป็นสังคมแบบใหม่ จากที่เคยอยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่ก็ปรับเล็กลงเรื่อยๆ บ้านจากที่เคยเป็นหลังใหญ่ก็กลายเป็นบ้านหลังที่เล็กลงหรือกลายเป็นคอนโด คนไทยหลายคนตัดสินใจไม่มีลูก หลายๆ คนตัดสินใจอยู่เป็นโสด จึงเป็นเหตุผลให้ “จำนวน” ของบ้านในอนาคตมีแนวโน้มสูงขึ้น ในขณะที่ “ขนาด” ของบ้านในอนาคตจะมีขนาดเล็กลง เนื่องจากขนาดของครอบครัวเล็กลง
- หุ้น IPO น้องใหม่อย่างหุ้น ILM หรือ Index Living Mall คือหนึ่งในผู้นำร้านค้าปลีกของตกแต่งบ้านของไทย ด้วยส่วนแบ่งการตลาดมากกว่าร้อยละ 20 (ข้อมูลปี 2560) ธุรกิจของ ILM ครบวงจร ตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการขาย ติดตั้ง และงานบริการหลังการขาย
-
ธุรกิจของ Index Living Mall มี 2 ธุรกิจหลักๆ 1. ธุรกิจค้าปลีกของตกแต่งบ้านครบวงจร และ 2. ธุรกิจการให้เช่าและให้บริการพื้นที่เช่า โดยในงวด Q1/ 2562 ธุรกิจค้าปลีกของตกแต่งบ้านมีรายได้ 2,299.7 ลบ. สัดส่วนร้อยละ 94.0 ธุรกิจการให้บริการพื้นที่ให้เช่า สัดส่วนร้อยละ 5.2 และที่เหลืออีกประมาณร้อยละ 1 เป็นรายได้อื่นๆ
Introduction
ในปัจจุบันสังคมไทยกำลังเปลี่ยนแปลงไปเป็นสังคมแบบใหม่ จากที่เคยอยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่ก็ปรับเล็กลงเรื่อยๆ บ้านจากที่เคยเป็นหลังใหญ่ก็กลายเป็นบ้านหลังที่เล็กลงหรือกลายเป็นคอนโด คนไทยหลายคนตัดสินใจไม่มีลูก หลายๆ คนตัดสินใจอยู่เป็นโสด จึงเป็นเหตุผลให้ “จำนวน” ของบ้านในอนาคตมีแนวโน้มสูงขึ้น ในขณะที่ “ขนาด”ของบ้านในอนาคตจะมีขนาดเล็กลง เนื่องจากขนาดของครอบครัวเล็กลง
เมื่อคนแยกครอบครัวมากขึ้น จำนวนบ้านเติบโตสูงขึ้น ตลาดที่มีแนวโน้มเติบโตตามมาคือ ตลาดของตกแต่งบ้านและเฟอร์นิเจอร์ จะเห็นว่าจำนวนหน่วยและมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2561 มีการเติบโตของจำนวนหน่วยร้อยละ 21.8 และมีการเติบโตของมูลค่าร้อยละ 30.1 มูลค่าเติบโตสูงกว่าจำนวน บ่งบอกถึงการที่คนยอมจ่ายเงินในราคาที่สูงขึ้น เพื่อให้ได้บ้านที่สวยขึ้น มีการตกแต่งดีขึ้น และทำเลที่สะดวกสบายนั่นเอง
หุ้น ILM หรือ Index Living Mall คือหนึ่งในผู้นำร้านค้าปลีกของตกแต่งบ้านของไทย ด้วยส่วนแบ่งการตลาดมากกว่าร้อยละ 20 (ข้อมูลปี 2560) ธุรกิจของ ILM ครบวงจร ตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการขาย ติดตั้ง และงานบริการหลังการขาย
ล่าสุด Index Living Mall ได้เปิดตัวแบรนด์ใหม่ ซึ่งเป็นบริการเฟอร์นิเจอร์สั่งตัด Younique Customized Furniture 4.0 ที่ลูกค้าสามารถปรับแต่งขนาดและดีไซน์ได้เองตามความต้องการภายใต้งบประมาณที่ตั้งไว้โดยในภาพรวมแล้วถือว่าเป็นธุรกิจที่แข็งแกร่งและมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง นอกจากเรื่องภาพรวมธุรกิจแล้ว นักลงทุนมีเรื่องอะไรบ้างที่ควรรู้ก่อนลงทุนใน Index Living Mall หุ้น IPO น้องใหม่ “หุ้น ILM หนึ่งในผู้นำร้านค้าปลีกของตกแต่งบ้านของไทย”
จุดเด่น 6 ข้อของหุ้น ILM
- เป็นผู้นำตลาดร้านค้าปลีกของตกแต่งบ้านครบวงจรอันดับหนึ่งของไทย ธุรกิจครบวงจรต้นน้ำถึงปลายน้ำ มีทั้งธุรกิจที่ผลิตสินค้าขายเอง นำเข้าและส่งออก รวมไปถึงธุรกิจคอมมูนิตี้มอลล์ ที่ช่วยดึง Traffic เข้ามาในร้าน
- มีแบรนด์แข็งแกร่ง ทั้งแบรนด์ร้านค้าปลีกและแบรนด์สินค้าที่เป็นที่รู้จัก และตอบโจทย์ลูกค้าได้ทุกระดับ
- มีกลยุทธ์ขยายธุรกิจ ทั้งภายใต้ร้านค้าปลีก Index Living Mall, ขยายร้านค้าเฟอร์นิเจอร์ขนาดเล็ก รวมทั้งปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตของโรงงาน
- Younique ได้รับผลตอบรับที่ดี มีศักยภาพที่จะสร้างการเติบโตให้กับรายได้ในอนาคต
- เป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับปัจจัย 4 ซึ่งก็คือบ้านนั่นเอง ใครซื้อบ้านก็ต้องซื้อเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน
- บริหารโดยคณะกรรมการและผู้บริหารที่มีประสบการณ์และความชำนาญ
ในการลงทุน ยิ่งรู้ข้อมูลละเอียด ยิ่งทำให้เราสามารถลงทุนได้อย่างสบายใจมากขึ้น มาเจาะลึกดูว่า Index Living Mall มีการเติบโตจากเหตุผลอะไร และจะยังสามารถเติบโตต่อเนื่อง สร้างผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหุ้นในอนาคตได้หรือไม่? เริ่มต้นที่การทำธุรกิจของ Index Living Mall ที่ไม่ได้มีดีแค่เรื่องเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านเท่านั้น!
ILM มีธุรกิจอะไรบ้าง?
ธุรกิจของ Index Living Mall มี 2 ธุรกิจหลักๆ 1. ธุรกิจค้าปลีกของตกแต่งบ้านครบวงจร และ 2. ธุรกิจการให้เช่าและให้บริการพื้นที่เช่า โดยในงวด Q1/ 2562 ธุรกิจค้าปลีกของตกแต่งบ้านมีรายได้ 2,299.7 ลบ. สัดส่วนร้อยละ 94.0 ธุรกิจการให้บริการพื้นที่ให้เช่า สัดส่วนร้อยละ 5.2 และที่เหลืออีกประมาณร้อยละ 1 เป็นรายได้อื่นๆ
ธุรกิจค้าปลีกของตกแต่งบ้านครบวงจร
ในไตรมาส 1 ปี 2562 ธุรกิจค้าปลีกของตกแต่งบ้านครบวงจรแบ่งเป็นรายได้ในประเทศร้อยละ 98.2 และต่างประเทศร้อยละ 1.8
รายได้ในประเทศร้อยละ 98.2 เมื่อเทียบกับรายได้รวมแบ่งเป็นสัดส่วนดังนี้
การขายหน้าร้านค้าปลีกของบริษัท 1,877.2 ลบ. สัดส่วนร้อยละ 81.6
งานโครงการ 314.9 ลบ. สัดส่วนร้อยละ 13.7
ตัวแทนจำหน่าย 35.1 ลบ. สัดส่วนร้อยละ 1.5
และการขายออนไลน์ สัดส่วนร้อยละ 1.4
แม้ว่า Index Living Mall จะมีธุรกิจหลากหลาย แต่ธุรกิจหลักยังคงเป็นการค้าปลีกของตกแต่งบ้านภายใต้แบรนด์ที่แข็งแกร่งและหลากหลาย ตอบโจทย์ลูกค้าได้ทุกระดับ และมีเครือข่ายจัดจำหน่ายที่ครอบคลุมทั่วประเทศไทย โดยมีสาขาของ Index Living Mall และ Index Furniture Center รวม 36 สาขาใน 21 จังหวัด นอกจากนั้น ยังมีร้านค้าตัวแทนจำหน่ายอีก 25 สาขา ภายใต้แบรนด์ Winner Furniture Center
ภายใต้ ILM คือแบรนด์ชั้นนำที่ใครๆ ก็รู้จัก
Index Living Mall และ Index Furniture Center – ร้านค้าปลีกของตกแต่งบ้านครบวงจร เน้นตอบโจทย์ทุกการตกแต่งบ้าน แบบสมาร์ท เน้นลูกค้าระดับ Mass to Premium Mass อายุ 25-50 ปี มีสินค้ารวมมากกว่า 33,000 SKUs มี 36 สาขา
Trend Design – ร้านเฟอร์นิเจอร์สไตล์อิตาเลียนโมเดิร์น นำเข้าจากต่างประเทศ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวเน้นลูกค้าระดับ Premium Mass to Premium อายุ 35-50 ปี มีสินค้าประมาณ 300 SKUs มี 4 สาขา
BoConcept – ร้านเฟอร์นิเจอร์ไลฟ์สไตล์เดนิช มีไลฟ์สไตล์แบบคนเมืองที่ชอบดีไซน์เรียบง่าย นำเข้าจากต่างประเทศ เน้นลูกค้าระดับ Premiumอายุ 35-50 ปี มีสินค้าประมาณ 200 SKUs มี 2 สาขา
Momentous – ร้านเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านนำเข้าสไตล์อเมริกันลักซูรี่ ที่มีความเรียบหรู ชอบความคลาสสิก เน้นลูกค้าระดับ Ultra Luxury อายุ 35-50 ปี มีสินค้าประมาณ 200 SKUs มี 3 สาขา
ภายใต้ร้านค้าปลีกเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านเหล่านี้มีแบรนด์สินค้าที่ Index Living Mall พัฒนาเองและนำเข้ามาทำการตลาดอีกหลากหลายแบรนด์ เช่น Index Furniture, WINNER,Logica, Cusino, Baby Journey, Stanley, Hooker และแบรนด์เฟอร์นิเจอร์สั่งตัดน้องใหม่ที่กำลังมาแรงอย่าง “Younique Customized Furniture 4.0”ซึ่งลูกค้าสามารถปรับแต่งขนาดและดีไซน์ได้เองตามความต้องการ ภายในงบประมาณที่ตั้งเอาไว้ โดยใช้เวลาตั้งแต่เริ่มวัดพื้นที่ถึงติดตั้งแล้วเสร็จภายใน 1 เดือน
นอกจากการพัฒนาแบรนด์อย่างต่อเนื่อง Index Living Mallยังพัฒนาตลาดใหม่ๆ ด้วยการออกไปทำการตลาดนอกประเทศไทย โดยมี ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านเป็นหัวหอกในการบุกต่างประเทศ ปัจจุบันมีลูกค้าที่เป็นแฟรนไชส์และรับจ้างผลิตสินค้าให้ใน 7 ประเทศ เช่น เมียนมาร์, ปากีสถาน, อินโดนีเซีย, กัมพูชา, เนปาล, มัลดีฟส์ และลาว มีสัดส่วนรายได้ต่างประเทศอยู่ที่ร้อยละ 1.8 ซึ่งเทียบกับรายได้หลักในประเทศแล้ว ถือว่ายังมีศักยภาพในการเติบโตได้อีกมาก
Index Living Mall เติบโตขึ้นมาจากการเป็นศูนย์ของตกแต่งบ้านครบวงจร แต่ทางทีมบริหารไม่หยุดในการหาหนทาง และกลยุทธ์ใหม่ๆ เพื่อพัฒนาธุรกิจให้เติบโตต่อไป โดยได้สร้างกลยุทธ์เพื่อดึง Traffic มากขึ้น และพยายามใช้พื้นที่ใช้สอยให้เป็นประโยชน์สูงสุด ด้วยการปล่อยเช่าพื้นที่บางส่วนให้ร้านค้าแบรนด์ดังต่างๆ มาเปิด ซึ่งกลยุทธ์นี้ประสบความสำเร็จอย่างมาก จนสุดท้ายได้แตกออกมาเป็นธุรกิจให้เช่าและให้บริการพื้นที่ให้เช่าคอมมูนิตี้มอลล์เพิ่มเติม
ธุรกิจให้เช่าและให้บริการพื้นที่ให้เช่าคอมมูนิตี้มอลล์ อีกหนึ่งปัจจัยการเติบโต
Index Living Mall เริ่มต้นในธุรกิจให้เช่าและให้บริการพื้นที่ให้เช่าคอมมูนิตี้มอลล์ในปี 2555 โดยเริ่มเปิด The Walk ราชพฤกษ์เป็นที่แรก ซึ่งอยู่ติดกับ Index Living Mall จึงช่วยดึง traffic ของ Index Living Mall มากขึ้นไปด้วย ผลตอบรับจากทั้งผู้เช่าและจำนวน Traffic ที่เข้ามาในคอมมูนิตี้มอลล์มีการเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ทีมบริหารจึงเห็นโอกาสในการพัฒนาธุรกิจนี้ เพื่อมาเกื้อหนุนกับธุรกิจหลัก
จากข้อมูลล่าสุดในงวด Q1/ 2562 อินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลล์มีพื้นที่เช่าให้บริการทั้งสิ้น 75,909.1 ตร.ม.มีอัตราให้เช่าเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 78.0โดยแบ่งเป็น The Walk 3 แห่งคือราชพฤกษ์, เกษตรนวมินทร์ และนครสวรรค์ มีพื้นที่ตั้งแต่ 15,199.9 -16,932.0ตร.ม. และมี Little Walk 2 แห่งที่บางนาและพัทยา พื้นที่เล็กลงมาอยู่ที่ประมาณ 3,484.8 – 5,322.2 ตร.ม. และพื้นที่เช่าอื่นๆ ใน Index Mall อีกประมาณ 15,509.1 ตร.ม.
การทำธุรกิจให้เช่าและให้บริการพื้นที่ให้เช่าคอมมูนิตี้มอลล์ ของ Index Living Mall นับได้ว่าประสบความสำเร็จ เพราะได้รับผลตอบรับที่ดีจากแบรนด์ชั้นนำ อย่าง The Walk นครสวรรค์ ที่มีพื้นที่ถึง 16,932 ตร.ม. และถูกเช่าไปทั้งหมดโดย Tesco Lotus โดยจากธุรกิจให้เช่าและให้บริการพื้นที่เช่าที่มีการเติบโต จึงส่งผลให้ผลประกอบการล่าสุด ในงวด Q1/ 2562 ILM มีรายได้จากการให้บริการอยู่ที่ 126.2 ลบ.
ปัจจัยที่ทำให้ ILM เติบโตต่อเนื่อง?
การเติบโตของ Index Living Mall แบ่งได้หลักๆ เป็น 4 ประเด็นคือ
- การขยายสาขา Index Living Mall เพื่อการเข้าถึงผู้บริโภคได้เพิ่มขึ้น มีศักยภาพในการเติบโต และยังไม่มีร้านค้าของบริษัทฯ ตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียง นอกจากนี้ บริเวณพื้นที่ดังกล่าวจะต้องมีประชากรหนาแน่นและมีศักยภาพในการซื้อสินค้า
- ปรับกลยุทธ์การขาย เน้นไปที่ความหลากหลายของสินค้าแทนการลดราคา
- การขยายร้านค้าเฟอร์นิเจอร์ขนาดเล็กในรูปแบบดำเนินการและบริหารด้วยบริษัทเอง (Company Owned Company Operated - COCO) ในรูปแบบ Standalone ภายใต้ชื่อร้าน “Winner Furniture Center” ที่จะจัดจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์แบรนด์ WINNER ซึ่งเป็นสินค้าที่มุ่งเน้นในการตอบโจทย์ลูกค้าระดับ Mass เป็นหลัก
- ขยายสินค้าเฟอร์นิเจอร์สั่งตัด Younique ซึ่งเป็นบริการเฟอร์นิเจอร์สั่งตัดรูปแบบใหม่ที่ลูกค้าสามารถปรับแต่งขนาดและดีไซน์ได้เองตามความต้องการ ไปยังร้าน Index Living Mall สาขาต่างๆ โดย Younique ได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดีตั้งแต่เปิดให้บริการในช่วงปลายปี 2560
อะไรคือความเสี่ยงของหุ้น ILM
- การแข่งขันที่ทวีความรุนแรง – อันนี้ไม่ต้องบอกทุกคนก็น่าจะรู้ เพราะปัจจุบันมีทั้งรายใหญ่ในประเทศและรายใหญ่จากต่างประเทศที่เข้ามาขยายธุรกิจ อย่างไรก็ตาม Index Living Mall เป็นแบรนด์ที่อยู่มานาน มีสาขามากมายครอบคลุมทั่วประเทศ และมีการปรับปรุงสินค้าให้เหมาะสมกับคนไทยอยู่เสมอ จึงคาดว่าน่าจะมีศักยภาพเพียงพอในการแข่งขัน
- ความท้าทายจากการเติบโตของเศรษฐกิจไทย - การเติบโตของเศรษฐกิจไทยเป็นส่วนสำคัญและส่งผลกระทบกับการจับจ่ายใช้สอยในประเทศ สินค้าของ Index Living Mall ซึ่งเป็นสินค้าเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านที่ค่อนข้างอ่อนไหวกับสภาวะเศรษฐกิจ และลูกค้าสามารถชะลอการซื้อออกไปได้ ในกรณีที่ไม่ใช่ลูกค้าบ้านใหม่ นอกจากนั้น รายได้ส่วนใหญ่ยังมาจากแบรนด์หลักๆ อย่าง Index Furniture และ WINNER อย่างไรก็ตาม Index Living Mall ได้ทำการออกแบรนด์สินค้าใหม่ๆ ขยายตำแหน่งทางการตลาดให้ครอบคลุมลูกค้าทุกระดับ รวมถึงติดตามและศึกษาสภาวะเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์ จึงทำให้ Index Living Mall สามารถเตรียมตัวรับมือได้ทันท่วงที
- ความเสี่ยงในเรื่องทำเล – ทำเลดีๆ ในปัจจุบันหายากขึ้นเรื่อยๆ การขยายสาขาของ Index Living Mall มีทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด จึงมีโอกาสที่ทำเลที่เลือกไว้อาจไม่ดีอย่างที่คิด และอาจส่งผลกระทบกับผลประกอบการได้
สรุปข้อมูลทางการเงิน
- รายได้ – รายได้มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จาก 9,394.4 ลบ. ในปี 2559 เป็น 9,767.8 ลบ. ในปี 2561 จากยอดขายที่เติบโตขึ้น และการขยายสาขา ล่าสุดในงวด Q1/ 2562 รายได้รวมอยู่ที่ 2,445.9 ลบ.
- ต้นทุนในการขาย – Index Living Mall มีแนวโน้มควบคุมต้นทุนได้ดีจากมีสัดส่วนร้อยละ 57.1 ของยอดขายรวมในปี 2559 ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 55.8 ในปี 2561 เมื่อต้นทุนลดลง กำไรขั้นต้นก็สูงขึ้นเป็นร้อยละ 44.2 จากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากการขายสินค้า Younique รวมไปถึงการปรับกลยุทธ์การขายใหม่ที่ไม่เน้นลดราคา แต่ไปเน้นความหลากหลายของสินค้าที่ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้ามากขึ้นนั่นเอง รวมทั้งการบริหารต้นทุนการผลิตสินค้าจากโรงงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น สำหรับล่าสุดในงวด Q1/ 2562 มีอัตราส่วนต้นทุนขายอยู่ที่ร้อยละ 56.2 และมีอัตรากำไรขั้นต้นจากการขายร้อยละ 48.3
- กำไรสุทธิ – กำไรสุทธิของ Index Living Mall ลดลง เนื่องจากการปิดตัวลงของบริษัทย่อยในประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายแค่ครั้งเดียว และหากดูที่กำไรสุทธิก่อนหักขาดทุนจะพบว่ากำไรสุทธิเติบโตขึ้น และอัตรากำไรสุทธิเพิ่มสูงขึ้นจากร้อยละ 5.2 ในปี 2559 เป็นร้อยละ 6.1 ในปี 2561 และร้อยละ 6.2 ในงวด Q1/ 2562 สะท้อนในทิศทางเดียวกันกับการดำเนินงานโดยรวมที่ดีขึ้น
ได้เงิน IPO ไปแล้ว อินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลล์จะพัฒนาธุรกิจให้ดีขึ้นได้อย่างไร?
- ขยายสาขาร้าน Index Living Mall, Winner Furniture Center, เฟอร์นิเจอร์สั่งตัด Younique
- เพิ่มประสิทธิภาพของโรงงานผลิต – การเพิ่มประสิทธิภาพของโรงงานผลิตจะทำให้อัตราการทำกำไรในระยะยาวดีขึ้นและมีแนวโน้มทำให้กำไรเติบโตขึ้นด้วย
- ชำระคืนเงินกู้ยืมแก่สถาบันการเงินและเป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ – ในปี 2561 Index Living Mall จ่ายดอกเบี้ยอยู่ที่ 169.6 ลบ. ซึ่งถ้า นำเงินที่เหลือจากการปรับปรุงกำลังการผลิตและขยายสาขาไปใช้คืนเงินกู้ จะทำให้กำไรเติบโตขึ้นทันที เพราะจะจ่ายดอกเบี้ยน้อยลง
สรุปความเห็นโดยรวมของ Buffettcode
- จากที่ศึกษาพบว่า Index Living Mall มีแนวทางการดำเนินงานที่ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ จากในอดีตที่มีความพยายามในการเติบโตหลากหลายวิธีและหลากหลายกลยุทธ์ จะเห็นว่าปัจจุบัน Index Living Mall เน้นเปิดสาขาใหม่, พัฒนาสินค้าและบริการให้มีความหลากหลาย ไม่เน้นลดราคาแล้ว รวมไปถึงการเปิด Winner Furniture Center ที่เป็นของบริษัทเอง เพื่อเป็นตัวอย่างให้แก่ตัวแทนจำหน่าย ทำให้ได้ตัวแทนจำหน่ายเพิ่มมากขึ้นในอนาคต
- Index Living Mall สามารถเติบโตได้ แม้ในสภาวะที่เศรษฐกิจมีความผันผวน เพราะมีสินค้าและช่องทางการจัดจำหน่ายที่หลากหลาย ครอบคลุมลูกค้าทุกกลุ่มทุกระดับ นอกจากนี้ ลูกค้าบางส่วนก็เป็นลูกค้าที่ซื้อของตกแต่งบ้าน เพื่อปรับปรุงบ้านเดิม
- แบรนด์ใหม่ Younique ซึ่งเป็นบริการเฟอร์นิเจอร์สั่งตัดดีมาก (อันนี้ความเห็นส่วนตัวสุดๆ นะครับ) ยอดขายเติบโตดี สินค้าได้รับการตอบรับดี ถ้าสามารถขยายได้อย่างรวดเร็วจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้รายได้เติบโตแน่นอน
เพิ่มเติม
- SKU ย่อมาจาก Stock Keeping Unit คือ หน่วยที่ใช้จำแนกประเภทสินค้าที่เล็กที่สุด แยกย่อยลงไปถึงลักษณะที่แตกต่างกันของสินค้าประเภทเดียวกัน เช่น สี ลวดลาย ขนาด ฯลฯ ตัวอย่างเช่น เก้าอี้ 3 สี ก็จะมี 3 SKU ทั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบไปจนถึงรายละเอียดของสินค้าในประเภทนั้นๆ
ดูข้อมูล ILM เพิ่มเติมได้ที่
Jessada Sookdhis
Investment Analyst (IA)
ตรวจทานบทความ
คำเตือน
ผู้ลงทุนต้องทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน | ผลการดำเนินงานในอดีตมิได้เป็นสิ่งยืนยันผลการดำเนินงานในอนาคต