เรื่องมีอยู่ว่าวันนึงชาตรามือมาเปิดสาขาอยู่ใต้คอนโดผมเมื่อประมาณปีที่แล้ว
กินตอนแรกก็ไม่ได้คิดอะไรมากนะ ก็แค่รู้สึกว่าอืม….เป็นแบรนด์เก่าที่ดูขยันดีนะแต่คงสู้ร้านชาหรือกาแฟใหญ่ๆไม่ไหวหรอก
มาวันนี้ผมคงต้องคิดใหม่ ด้วยความพีคคคคคคในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา
ผมคงเรียกชาตรามือว่าร้านชาเฉยๆไม่ได้แล้วแต่คงต้องเรียกว่า “ปรากฏการณ์ชาตรามือ”
ชาตรามือ หรือ โรงงานใบชาสยาม ก่อตั้งขึ้นในปี 2537 ดำเนินกิจการด้วยการซื้อใบชาจากเกษตรกรมาผลิตชาที่มีคุณภาพดี
สินค้าภายใต้แบรนด์ชาตรามือมีทั้ง ชาแดง ชาเขียว ชาอู่หลง
โดยมีรายได้จาก ชาปรุงสำเร็จ 40% ชาเขียวปรุงสำเร็จ 40% ผลิตภัณฑ์อื่นๆ 20%
สัดส่วนจำหน่ายในประเทศ 60% และส่งออกต่างประเทศ 40% อาทิ สิงค์โปร, อินโดนีเซีย, จีน และกัมพูชา ลูกค้ารายใหญ่ๆที่ซื้อชาจากชาตรามือก็มีแบรนด์ที่เรารู้จักกันดีอย่างกาแฟอเมซอน
นอกจากชาตรามือจะอินเตอร์กว่าที่ผมคิดเยอะ
บริษัทนี้มีรายได้กว่า 270 ล้านบาทในปี 2558 ถือว่าไม่ธรรมดาเลยทีเดียวสำหรับโรงงานผลิตชา
แต่ที่โหดกว่านั้นคือชาตรามือมีส่วนแบ่งของตลาดชาไทยถึง 70-80% ของทั้งประเทศเลยทีเดียว
เพราะร้านชาทั่วไทยส่วนใหญ่ก็ใช้ชาตรามือชง แต่รสชาติก็จะแตกต่างกันไปตามคนชงแต่ละคน
ถือว่าสินค้าดี ช่องทางจำหน่ายดี ยอดขายก็ดี๊ดี แต่กลับไม่ค่อยมีใครคิดถึงแบรนด์ “ชาตรามือ” ซักเท่าไหร่
ส่วนที่ว่าทำไมชาตรามือกลับมาฮ๊อตฮิตอีกครั้ง ก็ต้องบอกว่าจริงๆแล้วเค้าฮิตกันมานานแล้วแต่เป็นในต่างประเทศครับ
“Cha-Yen” หรือ Thai Tea ของชาตรามือในประเทศอย่าง สิงค์โปร, บรูไน, มาเลเซีย, รัสเซีย และจีนเป็นที่นิยมเป็นอย่างมาก
ในไทยเองตอนนี้ก็มีสาขาอยู่ประมาณ 25 สาขา สินค้ามีการออกมาใหม่เรื่อยๆ เช่นชาเขียว, ไอติมโคนชาเย็น ซึ่งออกมาเป็นที่ฮือฮากันไปเป็นรอบๆแต่ก็ไม่ได้เป็นกระแสอะไรขนาดนั้น
สินค้าที่ออกมาแล้วพีคจริงๆส่งผลให้ “ชาตรามือ” กลายเป็น Talk of the Town คือ “ชากุหลาบ” ที่ออกมาตอนวันวาเลนไทน์ที่ผ่านมาครับ
ไม่ใช่แค่แก้วที่เปลี่ยนมาเป็นรูปกุหลาบแอบมีความกิ๊บเก๋ แต่ตัวชาเองก็เป็นรสกุหลาบด้วย ซึ่งจริงๆก็ไม่ถือว่าแปลกใหม่อะไรมากมายเพราะชากุหลายก็มีมานานแล้ว
เพียงแต่ยังไม่มีร้านขายชาหรือกาแฟไหนในไทยเอามาทำขายจริงๆจังๆ
ด้วยคุณภาพที่ดีอยู่แล้ว สินค้าที่มีความแปลกใหม่ พร้อมด้วย Timing ที่ถูกต้องทำให้ “ชากุหลาบ” เข้าไปนั่งอยู่ในหัวใจและลากแบรนด์ “ชาตรามือ” ไปเป็นแบรนด์สุดฮิตของคนไทยในเวลาข้ามคืน
ตอนนี้ถ้าไปถามถึงชาว่านึกถึงแบรนด์อะไร หลายๆคนคงตอบว่า “ชาตรามือ”
และไม่รู้ว่าเป็นความตั้งใจของ Brand หรือไม่ที่ทำให้ชากุหลาบกินแล้วเหมือนโดน Detox วิ่งหาห้องนํ้ากันแทบไม่ทัน
สุดท้ายก็เกิดการแชร์เป็นไวรัลกันใน FB คนแห่กันไปลองถือว่าประสบความสำเร็จ “ปัง” โดยใช้ “ตังค์” น้อยมากกกกกกก
กลยุทธของชาตรามือคือการทำ “Brand Revitalization” อย่างต่อเนื่อง แปลเป็นไทยว่าการชุบชีวิตแบรนด์เก่าที่คนเบื่อให้กลับมาทันสมัยมีชีวิตชีวามีคุณค่าในสายตาของผู้บริโภคอีกครั้ง
ไม่ว่าจะด้วยการใช้การตกแต่งร้าน การสื่อสารช่องทางใหม่อย่าง FB หรือการออกสินค้าใหม่ๆ
ตัวอย่างที่ดีของการทำ Brand Revitalization อีกหลายๆแบรนด์ก็อย่างเช่นการที่ทาโร่ออกทาโร่รสชีส, กรณีของกุลิโกะที่หลังๆมีออกรสแปลกๆใหม่ๆมาเยอะมาก หรือกรณีกระทะดำของบาร์บีคิวพลาซ่า
ชาตรามือไม่หยุดแค่กระแสแต่ยังคงสร้างความแข็งแรงให้กับแบรนด์อย่างต่อเนื่องด้วยการต่อยอดความสำเร็จของชากุหลาบ
เข็นไอติมโคนชากุหลาบตามออกมาขายเมื่อเร็วๆนี้อีกด้วย เรียกได้ว่าสร้างความประทับใจอย่างต่อเนื่อง แล้วแบบนี้จะไม่ให้ความรู้สึกดีๆเข้าไปติดตรึงในหัวใจของคนไทยได้อย่างไร?
แม้ตลาดชา-กาแฟแข่งกันอย่างดุเดือด กลุ่มทุนใหญ่ๆอย่าง CP ก็ยังลงมาเปิดร้านกาแฟแข่งในตลาดนี้ด้วย
หากเทียบกับ CP, Starbucks,TWG หรืออเมซอนนี่ถือว่าชาตรามือแทบไม่มีอะไรสู้เขาได้เลย
อย่างเดียวที่ยังมีคือความตั้งใจของคุณดิฐพงศ์ เรืองฤทธิเดช ทายาทรุ่นที่ 3 ของบริษัทชาอายุกว่า 70ปีกว่านี้ที่ได้พิสูจน์ให้หลายๆคนเห็นแล้วว่า
“If there is a will, there is a way” ถ้าเราตั้งใจมันก็ไม่มีอะไรเป็นไปไม่ได้
Source:
http://www.komchadluek.net/news/lifestyle/223774
http://www.icons.co.th/newsdetail.asp?lang=TH&page=newsdetail&newsno=123480
https://pantip.com/topic/36347381
http://lolo-eatablethai.blogspot.com/2014/04/the-original-cha-thai-kiosk-by-cha-tra.html
ที่มาบทความ : http://buffettcode.com/ชาตรามือ