ช่วงวันวาเลนไทน์ที่ผ่านมาหนี้ของสหรัฐอเมริกาได้พุ่งสูงขึ้นทำจุดสูงสุดที่ 22 ล้านล้านดอลลาร์ หรือถ้าเทียบเป็นเงินไทยก็ประมาณ 682 ล้านล้านบาท
หนี้ 22 ล้านล้านดอลลาร์เยอะแค่ไหน?
ถ้าเทียบกับ GDP ของสหรัฐฯ ตอนนี้ถือว่ามีหนี้สูงกว่า GDP เพราะอัตราส่วนมากถึง 108% ของ GDP โดยรวม สัดส่วนสูงสุดตั้งแต่สมัยประธานาธิปดีทรูแมน ปี 1946 ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่สหรัฐฯมีหนี้ต่อ GDP ที่ 119%
ยิ่งหนี้เยอะ สหรัฐฯ ยิ่งต้องจ่ายดอกเบี้ยมากขึ้นเป็นเงาตามตัว ปัจจุบันสหรัฐฯ จ่ายดอกเบี้ยปีละ 325,000 ล้านดอลลาร์ (10 ล้านล้านบาทไทย) ปีนี้คาดว่าดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายจะเพิ่มเป็น 383,000 ล้านดอลลาร์ และถ้ายังมีหนี้หนักแบบนี้ต่อไป อีกสิบปีข้างหน้ารัฐบาลสหรัฐฯจะต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงถึงปีละ 928,000 ล้านดอลลาร์
การที่ประเทศมีหนี้สินในระดับสูง ไม่ได้มีผลเสียแค่เรื่องดอกเบี้ยที่ต้องจ่าย แต่จะเป็นสาเหตุให้เกิดปัญหามากมายตามมาในอนาคตอย่างแน่นอน
ยิ่งกู้มากยิ่งเสี่ยงมาก การกู้ครั้งต่อไปต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงขึ้นเพราะความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น (ถ้าไม่นับรวมการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลาง)
ผลกระทบที่จะกระทบกับเศรษฐกิจและตลาดหุ้นคือ เมื่อดอกเบี้ยสูงขึ้น บริษัทต่างๆ และคนทั่วๆ ไปจะลดจับจ่ายใช้สอยลง ทำให้กำลังซื้อลดลง การเติบโตของเศรษฐกิจลดลง
สำหรับบริษัทที่มีหนี้สูงๆ นั่นหมายถึงบริษัทเหล่านั้นต้องจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ดอกเบี้ยเพิ่มก็คือค่าใช้จ่ายที่เพิ่ม ซึ่งจะส่งผลกระทบให้กำไรลดลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ในมุมของรัฐบาลฯ เมื่อดอกสูงขึ้นก็ต้องเจียดเงินไปจ่ายดอกและพยายามลดหนี้ งบประมาณที่จะเอามากระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศจะน้อยลง ยิ่งทำให้เศรษฐกิจมีความเสี่ยงในการเติบโตลดลง ซึ่งก็จะไปเพิ่มความเสี่ยงให้กับประเทศ การกู้ครั้งถัดไปยิ่งต้องจ่ายดอกเบี้ยที่สูงขึ้น
การกู้หนี้อย่างต่อเนื่องของสหรัฐฯ กลายเป็นวงจรหายนะของฟองสบู่หนี้สินที่ต้องโตขึ้นเรื่อยๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เศรษฐกิจก็เสี่ยง ดอกเบี้ยก็ต้องจ่าย กำลังซื้อหดลดลง สถานการณ์หนี้สินของสหรัฐฯมีแต่จะแก้ยากขึ้นเรื่อยๆ
ต้นเหตุของวงจรฟองสบู่แห่งหายนะนี้เริ่มต้นมาได้อย่างไรกัน?
หนี้สินของสหรัฐฯ นั้นเริ่มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และเติบโตอย่างรวดเร็วตั้งแต่ช่วงปี 1980 ในยุคสมัยของประธานาธิบดีโรนอลด์ เรแกน ถ้านับจนถึงปัจจุบันหนี้ของสหรัฐนั้นเติบโตเฉลี่ยสูงถึงปีละ ประมาณ 12% เลยทีเดียว
การก่อหนี้มีส่วนช่วยอย่างมากในการสร้างปฏิหารย์ทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ
ไม่มีประธานาธิปดีคนไหนอยากให้เศรษฐกิจพังในมือของตน
ทุกคนต่างกู้เพิ่มเพื่อให้ฟองสบู่ยังคงโตต่อไปได้ โดยประธานาธิปดีที่กู้เงินมากที่สุด ณ ตอนนี้คือบารัค โอบามา
ภายใต้วาระ 8 ปี ประธานาธิบดี บารัค โอบาม่า เป็นผู้สร้างหนี้มากที่สุดที่ 8.59 ล้านล้านดอลลาร์ โดยใช้จ่ายไปกับการกระตุ้นเศรษฐกิจหลังวิกฤต 2008 ด้วยการลดภาษี, ทางการทหารและสวัสดิการคนว่างงาน
รองจากโอบาม่า ก็เป็นวาระของ จอรจ์ ดับเบิลยู บุช วาระ 8 ปีเช่นกันสร้างหนี้ให้กับอเมริกาที่ 5.85 ล้านล้านดอลลาร์ จอร์จ บุช ใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงหลังจากฟองสบู่ดอทคอมด้วยนโยบายลดภาษี, ใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือธนาคารในช่วงวิกฤตปี 2008 และการทำสงครามกับตะวันออกกลาง
ส่วนประธานาธิบดี คนปัจจุบัน โดนัลด์ ทรัมป์ ได้สร้างหนี้ไปแล้ว กว่า 1.2 ล้านล้านดอลลาร์ในระยะเวลาเพียงปีเดียว โดยมีการคาดการณ์ว่าเมื่อหมดวาระจะสร้างหนี้ประมาณ 4.774 ล้านล้านดอลลาร์ โดยใช้จ่ายไปกับนโยบายลดภาษี,โปรเจคต่างๆและทางการทหาร
เศรษฐกิจที่เติบโตด้วยการก่อหนี้ แม้จะสามารถทำให้เติบโตได้ในระยะสั้นแต่ในระยะยาว “หนี้” ก้อนนั้นจะต้องถูก “ชดใช้”
การกู้หนี้ของรัฐบาลสหรัฐฯ ณ ตอนนี้เปรียบเสมือนเก้าอี้ดนตรีที่ตราบใดที่ดนตรียังเล่นต่อไป ทุกๆ คนก็ยังใช้ชีวิต ใช้เงินสุรุ่ยสุร่าย ได้อย่างมีความสุข จนอาจจะหลงลืมไปได้ว่าไม่มีงานเลี้ยงใดที่ไม่มีวันเลิกรา
เมื่อใดที่ดนตรีหยุดลง ฟองสบู่แตก เมื่อนั้นคือเวลาของการชดใช้หนี้ที่ก่อไว้
เศรษฐกิจของสหรัฐฯเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับหนึ่งของโลก ผลกระทบของฟองสบู่แตกครั้งนี้แน่นอนว่าจะกระจายไปทั่วโลก และแน่นอนว่าจะส่งผลกระทบถึงเศรษฐกิจไทยและคนไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
หลายคนอยากรู้ว่าฟองสบู่จะแตกไหม? ต้องแตกแน่นอน
แต่ฟองสบู่จะแตกเมื่อไหร่? ไม่มีใครตอบได้ แม้แต่ FED เองก็ตอบไม่ได้ (ธนาคารกลางฯ ของสหรัฐ) เพราะถ้า FED ตอบได้เราคงไม่มีวิกฤตฟองสบู่อย่างปี 2008
แต่ฟองสบู่จะเกิดเมื่อไหร่ไม่สำคัญเท่ากับคุณเตรียมตัวรับมือไว้แค่ไหน? มีการเตรียมตัวรับมือบ้างแล้วหรือยัง?
ชีวิตของคุณ คุณต้องดูแลเอง อย่าไปฝากไว้กับรัฐบาลให้มากเกินไป หลายๆ ครั้งรัฐบาลยังเอาตัวเองไม่รอดเลย อย่างที่เห็นมาแล้วกับอาเจนตินา, เวเนซูเอล่า หรือในวิกฤต 2008
และเมื่อรัฐบาลเอาตัวเองไม่รอดทีไร คนรับเคราะห์มักจะเป็นคนธรรมดาทั่วๆ ไปเสมอ