เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผมเห็นมากับตัว กับเพื่อนของผมเองซึ่งเป็นนักลงทุนที่เริ่มต้นมาก็คล้ายๆ กับทุกคนคือ เป็นนักลงทุนที่มีความ “ฝัน” เข้าตลาดหุ้นมาเพราะอยากรวยเร็ว แต่แล้วเหตุการณ์มักจะไม่เป็นไปตามที่คาดคิด เหมือนนักลงทุนส่วนใหญ่ที่จะเข้ามาในวงการก็ต้องจ่าย “ค่าครู” ก่อนที่จะได้พบกับความสำเร็จ
ค่าครูรอบนั้นเป็นเงินหลักสิบล้านที่ขาดทุนจากการเล่นหุ้นสื่อฯ ตัวหนึ่งเมื่อหลายปีก่อน หุ้นสื่อฯ ตัวนั้นเป็นหุ้นที่กำลังร้อนแรงจาก Story การ Turnaround ธุรกิจ มีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารใหม่ และผลประกอบการก็กำลังอยู่ในขาขึ้น
แต่แล้วเหตุการณ์ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ หุ้นตัวนั้น ประกาศเข้าลงทุนธุรกิจทีวีดิจิตอล ส่งผลให้ราคาหุ้นตกลงมาอย่างหนัก จากเลข 2 หลัก ลงไปเหลือ 1 หลัก และสุดท้ายลงไปเหลือหลัก “สตางค์”
เพื่อนสนิทของผมคนนี้เราปรึกษากันตลอด สุดท้ายตัวเขารอดชีวิตมาจากหุ้นตัวนี้ได้ ไม่ถึงกับ “หมดตัว” แต่ก็ต้องรับความผิดพลาดจากความ “โลภ” และความ “ไม่รู้” ของตนเอง จ่ายค่าครูเป็นจำนวนเงินมหาศาล
บทเรียนในครั้งนั้นเป็นความจำที่เพื่อนผมไม่มีวันลืม และได้สร้างเป็นกฎเหล็กของการลงทุนไว้ให้ตัวเอง … ผมขอนำมาแชร์ไว้ในพื้นที่ตรงนี้เพื่อเป็นประโยชน์กับนักลงทุนคนอื่นๆ เรียนรู้จากความผิดพลาด และไม่ตกลงใน “กับดัก” ของตลาดทุนอันโหดร้าย
1. อย่ายุ่งกับไฟ
หุ้นตัวนั้นมีผู้ถือหุ้นใหญ่ที่เรียกได้ว่าเป็น “ตัวพ่อ” ในวงการ ชื่อเสียงโด่งดังมาตั้งแต่วิกฤตปี ’40 เขาเอาตัวรอดมาได้ แต่หุ้นที่เขาเคยถือนั้นปัจจุบันแทบไม่มีใครเคยได้ยินชื่อ นักลงทุนหลายคนต้องจบชีวิตเพราะเขา ในวันแถลงข่าวเขาคนนั้นก็อยู่ในงานด้วย รูปที่เพื่อนผมถ่ายกับเขาคนนั้นยังเก็บไว้อย่างดี ถึงกระนั้นด้วยความโลภที่บังตา นักลงทุนยังเชื่อว่า “เขาคนนั้น” ได้กลับตัวแล้ว … แต่ผลก็เป็นอย่างที่เห็น บทเรียนแรกของบทความนี้คือ อย่ายุ่งกับไฟ เพราะต่อให้คุณจะเก่งแค่ไหนก็อาจจะพลาดได้เสมอ แต่ถ้าคุณไม่เก่งคุณอาจจะถูกไฟคลอกตายทั้งเป็น
2. มีสติ อย่าโลภ
คนเรามักจะมั่นใจในตัวเองมากเกินไป เมื่อเราประสบความสำเร็จหลายๆ ครั้ง ติดต่อกัน ซึ่งในความเป็นจริงมันอาจจะเป็นเพียงโชคชะตาที่เล่นตลก แค่ชั่วคราวก็เป็นได้ อย่าให้โชคชะตาแปรเปลี่ยนเป็นความหายนะ การลงทุนต้องมีสติอยู่ตลอดเวลา และมองโลกด้วยความเป็นจริง หุ้นเมื่อมีขึ้นย่อมต้องมีลง ความเก่งกาจของนักลงทุนหลายๆ ครั้งไม่ได้วัดกันที่ “ขาขึ้น” ว่าได้ไปเท่าไหร่ แต่วัดกันที่ “ขาลง” ว่าเสียไปเท่าไหร่มากกว่า คุณอาจกำไร 100% ใน 3 ปี แต่ถ้าคุณขาดทุน 80% ในปีถัดมา คุณจะแทบไม่มีอะไรเหลือเลย ต้องทำกำไร 150% เพื่อให้เท่าทุน และต้องทำกำไรถึง 400% เพื่อให้กลับอยู่ที่เดิมที่เคยกำไร ซึ่งมันเป็นไปได้ยากมาก
3. อย่าซื้อหุ้นด้วยอารมณ์ และตัดสินใจถือต่อด้วยหลักการ
หลายคนซื้อหุ้นเพื่อเก็งกำไรโดยไม่ได้ศึกษาข้อมูล แต่พอติดดอยเมื่อไหร่ เป็น “วีไอ” ขึ้นมาทันที มีเซียนคนหนึ่งเคยบอกผมว่า เราซื้อหุ้นด้วยเหตุผลอะไร ก็ควรขายด้วยเหตุผลเดียวกัน ซื้อเพื่อเก็งกำไร ถ้าขาดทุนก็ควรต้อง Cut loss ไม่ใช่ถือต่อแล้วก็บอกว่าพื้นฐานยังดี รอจนสายไปก็โดนไปหลายล้าน
4. เหนือฟ้ายังมีฟ้า
อย่าคิดว่าตนเองรู้ อย่าคิดว่าเราเข้าใจทุกอย่างดีทั้งหมด เพราะในบางครั้งแม้แต่ตัวผู้บริหารบริษัทซึ่งรู้ข้อมูลบริษัทตัวเองดี ยังบอกไม่ได้ว่าราคาหุ้นควรเป็นเท่าไหร่ เราเป็นนักลงทุนข้างนอก ไม่ได้มีข้อมูลภายใน แต่กลับบอกได้ว่าหุ้นควรจะวิ่งไปราคาเท่าไหร่? มันแปลกไปไหม … สุดท้ายตลาดนี่แหละที่เป็นคนตัดสินว่าใครควรแพ้ไป และใครควรได้ไปต่อ
5. ไม่ขาย ไม่ขาดทุน มีแค่ในฝัน
หุ้นที่ดีซื้อแล้วต้องขึ้น แต่คนมักจะถือหุ้นที่ลงเก็บไว้ แล้วขายหุ้นที่ขึ้นทำกำไรทิ้งไป แล้วก็มาบอกว่าไม่ขาย ยังไม่ขาดทุน แน่นอนถ้าหุ้นตัวนั้นดีอาจจะกลับมาได้และไม่ขาดทุนจริงๆ ประเด็นอยู่ที่ว่า แล้วหุ้นในตลาดไทยมี “หุ้นดี” แบบนั้นมากแค่ไหน? จะรู้ได้อย่างไรว่าหุ้นที่เราถืออยู่ถือหุ้นดี ถ้าไม่ได้มีข้อมูลมากเพียงพอ ตัดใจขายแล้วยอมรับขาดทุน เพื่อมาเริ่มต้นใหม่ ดีกว่าต้องช้ำใจอยู่กับหุ้นแย่ๆ ไปอีกแรมปี
นี่เป็นเพียงบทเรียนสั้นๆ ที่ผมกับเพื่อนแลกเปลี่ยนกัน ในช่วงเย็นวันหนึ่ง หลายคนอาจจะคิดว่าการเสียเงินหลักสิบล้านเป็นเรื่องเลวร้ายขั้นสุด แต่มาถึงวันนี้เพื่อนผมกลับบอกว่า “ดีใจที่ตัดขาดทุนไป” และกลับมาเริ่มต้นใหม่ เพราะถ้ายังถือจนถึงทุกวันนี้ไม่เพียงแต่เขาจะยังไม่กำไร แต่จะขาดทุนมากกว่าเดิมจนเกือบหมดตัว
การลงทุนมีความเสี่ยง และความเสี่ยงที่มากที่สุดอาจจะเป็น “ใจ” ของตนเอง การศึกษาประสบการณ์ของนักลงทุนอื่นๆ คือ “ส่วนสำคัญ” ของความสำเร็จเพื่อที่จะได้ไม่ต้องขาดทุนซะเอง แต่เรียนรู้จากคนอื่น
ในอาทิตย์หน้าผมจะเล่าเรื่องและแชร์ประสบการณ์ของการโดนหุ้น Floor (ตก 30%) ในวันเดียวว่าผมแก้ไขปัญหาได้อย่างไร (อันนี้คือโดนแบบไม่ทันได้เตรียมตัวเลย แถมรู้ก่อน 1 คืนว่าจะโดน ไม่ต้องนอนกันเลยทีเดียว) ….
วันนี้เป็นวันสุดท้ายของคอลัมน์ “ไอเดียสร้างเงินล้าน” ใน LINE TODAY แล้ว ขอบคุณทุกคนที่ติดตามครับ
เพื่อนๆ ยังสามารถติดตามอ่านเรื่องราวแบบนี้ได้ใน บ้านใหม่ของเรา FINNOMENA Money
แล้วพบกันใหม่ ในวันที่ตลาดหุ้นสดใสครับ ^^
BuffettCode