Oil-War-2

ผลประชุมล่าสุดที่กรุง Doha ฉีกหน้ากากหลายๆประเทศที่เคยกล่าวว่าจะจับมือร่วมกันคงการผลิตน้ำมัน เพื่อเสถียรภาพของราคาน้ำมัน ความพยายามนั้นจบไปเมื่อพบว่าแผนการร่วมมือล้มเหลวก็หันมาบอกว่าจะเพิ่มการผลิตน้ำมันบ้าง แอดจึงอยากเตือนนักลงทุนให้ระวังหลังจากที่เคยกล่าวไปแล้วในบทความก่อนว่าสงครามน้ำมันจะลากยาว และจะไม่มีวันลดการผลิตลงง่ายๆ วันนี้เรื่องราวมันชัดเจนยิ่งขึ้นไปอีกจากการประชุมครั้งนี้ ก็เพราะทุกคนเล่นมีทีท่าว่าจะผลิตไม่หยุด ทั้งตะวันออกกลาง สหรัฐฯ และรัสเซีย เดี๋ยวจะเล่าให้ฟังในมุมผลลัพธ์จากที่กรุง Doha เทียบกับสถานการณ์ปัจจุบัน

จุดสังเกตที่สำคัญของการประชุมที่กรุง Doha

  • ตลาดคาดหวังให้กลุ่มผู้ผลิตน้ำมันจะคงการผลิตเนื่องจากมีแย้บๆกันออกมาบ่อยครั้งว่าจะหยุดๆ แต่ไม่เป็นไปตามคาด จึงมองไปที่ประชุมครั้งถัดไปของกลุ่ม OPEC ในเดือนมิถุนายน ในช่วงสั้นอาจมีประท้วงเกิดขึ้นเช่นในคูเวต แต่ก็สลายตัวในไม่กี่วัน
  • ขอย้อนอดีตนิด ว่าอิหร่านพึ่งจะพ้นจากช่วงถูก Sanction หรือคว่ำบาตรมาได้ จึงเดินหน้าผลิตน้ำมันตามแผนให้ถึง 3.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ออกมาขายหารายได้ และแน่วแน่ว่าไม่หยุดผลิต แถมยังบอกในงานว่าจะผลิตให้ถึง 4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ด้วยนะ
  • ซาอุฯเห็นท่าทีแบบนี้ ว่าอิหร่านไม่มีทางเปลี่ยนใจ เจ้าชายซาอุฯเลยขู่บ้างว่า งั้นซาอุฯจะจัดให้เพิ่มอีก 1 ล้านบาร์เรลต่อวันตอนนี้เลยก็ได้นะ และภายใน 6 เดือนข้างหน้าได้อีก 1 ล้านบาร์เรลต่อวันเพิ่มขึ้นไปอีก

สรุป!!  ราคาน้ำมันว่าจะต้องใช้เวลาซักพักใหญ่กว่าจะฟื้นอย่างยั่งยืน  เพราะจุดประสงค์หลักของซาอุฯ คือยังคงคิดที่จะฆ่า Shale Oil หรือเทคโนโลยีใหม่ๆทิ้ง ในขณะที่ยังมีขาใหญ่อื่นๆเช่นอิหร่าน อิรัก ที่กำลังผลิตเยอะขึ้นเรื่อยๆ และรัสเซียเองก็บอกว่างั้นขอเพิ่มบ้างแล้วกัน ถ้าจะไม่มีใครลดเลย สุดท้ายน้ำมันดิบคงท่วมตลาด ฤดูขับขี่เองก็จะพีคในเมษา และน่าจะเป็นปัจจัยเดียวดีเกินตลาดคาด ในปีนี้ ในขณะที่เศรษฐกิจทั่วโลกเติบโตเพียงเล็กน้อย

มองมาที่ทางสหรัฐฯบ้าง จำนวนแท่นขุดเจาะลดลงอย่างรวดเร็วเหลือเพียงราวๆ 25% แต่จริงๆ แล้วการผลิตลดไปตี๊ดเดียวเอง!! แอดมึนเลย หมายถึง มึนงงนะ นี่ไม่ใช่แอดมึน ก็เพราะว่าส่วนมากเป็นแท่นขุดเจาะใหม่ๆ หรือพวกแท่นขุดเจาะ Shale Oil (บางคนเรียก Tight Oil)

EIA ประเมินว่า Tight Oil จะมีประมาณ 4.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือ 49% ของประมาณน้ำมันที่ผลิตในปี 2015 (รวม tight oil สมัยก่อนด้วย ไอที่บอกต้นทุนแพงน่ะมันคือพวกแท่นที่ติดตั้งใหม่ครับ)  ดังนั้นจริงๆแล้วการผลิตแบบอื่นๆยังมีอยู่ตั้งครึ่งหนึ่งแน่ะ ต้องขอขอบคุณ Wood Mackenzie เลยครับ สมดีกรีจริงๆ เค้าคิดมาให้แล้ว ว่าราคาน้ำมันปัจจุบันที่ $40 มีเด็กดื้อฝืนผลิตแบบขาดทุนอยู่ 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ดังรูป โดยอิงจากต้นทุนการผลิตน้ำมันโดยตรงหรือ Cash Cost แล้วมันเยอะขนาดไหน สิ้นปี 2015 รายงานว่ามีปริมาณการผลิตน้ำมันต่อวันทะลุ 97 ล้านบาร์เรลต่อวันไปแล้ว หักไป 2 ก็ลงมาใกล้เคียงกับปริมาณอุปสงค์ที่ IEA คาดไว้ที่ 96 ล้านบาร์เรลต่อวันในปีนี้ เพียงแต่มีแนวโน้มว่าอุปสงค์จะน้อยกว่าที่คาดจากภาวะเศรษฐกิจโลกMoneyLosingWells

ที่มา: CNBC, Wood Mackenzie

สังเกตไหม มันมีสีเขียวแก่ ซึ่งเป็น Shale Oil ที่ต้นทุนต่ำมาก เกิดจาก Stripper well หรือบ่อน้ำมันที่เคยหยุดใช้งาน แต่กลับมาใช้เทคโนโลยีเช่นการขุดเจาะที่ดีขึ้น ดังนั้นจงเลิกเข้าใจว่า Shale จะต้นทุนสูงไปซะหมด วันนี้จะขอนำผู้ผลิต Shale ทุนต่ำมาโชว์บ้าง ดังรูป

20160203_shale

ที่มา: www.oilprice.com

พวกนี้ไม่ได้ผลิตกันแค่นิดๆหน่อยๆนะครับ รวมๆมานี่เยอะอยู่ ยังไม่รวมการผลิตแบบอื่นๆ ขอยกตัวอย่างผ่านหลุม Permian ซึ่งมีกำลังการผลิตมากน่าจะถึง 1 ใน 3 ของการผลิตทั้งหมด ตอนนี้ก็ยังคงตะลุยผลิตไม่บันยะบันยัง โดยมีไส้ในที่สำคัญคือ Spraberry (สีเหลืองอ่อน) กับ Bone Spring (สีฟ้า) ตามรูปข้างบน ซึ่งต้นทุนต่ำและผลิตออกมาเยอะมากในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา

สรุปทางสหรัฐฯบ้าง การผลิตในสหรัฐฯมีขาดทุนบางส่วน ที่ต้นทุนสูง แต่ไม่ได้แปลว่าจะผลิตต่อไม่ได้นะ สงครามน้ำมันพึ่งจะเริ่มสนุก หลังมีอิหร่านเข้ามาป่วน ซาอุฯคงจะใช้ไม้แรงขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่สหรัฐฯก็มีประสิทธิภาพมากขึ้นเรื่อยๆ

แล้วเราจะรับมืออย่างไร?

สิ่งที่ต้องทำคือ รอ ครับ หลีกเลี่ยงการเก็งกำไร รอจนกว่าปัญหาที่แข่งกันผลิตจะมีแนวโน้มดีขึ้น จึงค่อยประเมินความสมดุลของอุปสงค์และอุปทานกันอีกครั้ง ซึ่งถึงวันนั้น เราอาจเข้าใกล้จุดสมดุลโดยไม่รู้ตัว เพราะกว่าจะคุยกันได้ อุปทานน่าจะหายไปมาก แล้วค่อยเข้าซื้อ ส่วนในตอนนี้ใครมีก็คงต้องถือทนกันไปก่อน ใครทนไม่ไหวรอมันเด้งแรงๆหาจังหวะออกครับ เพราะมันไม่จบง่ายๆ มีแนวโน้มผันผวนในกรอบกว้าง


คำเตือน

• การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน
• ผลการดำเนินงานในอดีตไม่ได้เป็นเครื่องยืนยันผลการดำเนินในอนาคต
• การนำเสนอข้อมูลข้างต้น มิใช่การให้คำแนะนำการลงทุน
• การลงทุนใดๆ ต้องเกิดจากการศึกษา วิเคราะห์ข้อมูลและตัดสินใจลงทุน บนความเสี่ยงที่รับได้ของนักลงทุนเอง
• ทางผู้ให้ข้อมูลขอสงวนสิทธิ์ ไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสียในทุกกรณีที่อาจเกิดขึ้นจากการให้ข้อมูลข้างต้น