อย่างที่เราได้พูดปิดท้ายไว้ในตอนที่ 1
ฟองสบู่มักจะเกิดขึ้นจาก 2 สิ่ง คือ
- เทคโนโลยีที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ (เช่น ฟองสบู่ Tronics และ ฟองสบู่ Biotech)
- โอกาสในการทำธุรกิจใหม่ ๆ (เช่น ฟองสบู่ South Sea และ ฟองสบู่ดอกทิวลิป)
Internet เป็นทั้ง 2 อย่างในเวลาเดียวกัน มันเป็นทั้งเทคโนโลยีใหม่และโอกาสในการทำธุรกิจแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งเป็นการปฏิวัติการสื่อสาร เข้าถึงข้อมูล รวมถึงรูปแบบการซื้อ-ขาย สินค้าและบริการต่าง ๆ
Web browser แรกที่เป็นที่นิยมในโลกคือ “Mosaic” ซึ่งเกิดขึ้นในปี 1993 ก่อนที่ Microsoft จะซื้อ license ของ Mosaic มาพัฒนาเป็น Internet Explorer บน window 95 และปล่อยออกสู่สาธารณะในปี 1995
Internet มีส่วนสำคัญอย่างมากที่ทำให้ computer ส่วนบุคคลได้รับความนิยม เพราะมันช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงข้อมูลได้เป็นอย่างดี โดยพบว่าจำนวนของบ้านที่มี computer ส่วนบุคคลในสหรัฐ เพิ่มขึ้นจาก 15% เป็น 35% ในช่วง 1990-1997 เท่านั้น
การเข้ามาของเทคโนโลยี internet ในช่วงแรกดูจะเป็นที่ถกเถียงกันเป็นวงกว้าง บ้างก็ว่าเป็นแค่กระแสชั่วคราวเท่านั้น แต่กระแสถกเถียงดังกล่าวก็เงียบลงเรื่อย ๆ เมื่อดัชนี NASDAQ ที่เป็นตัวแทนของหุ้นเทคได้วิ่งขึ้นมากกว่า 3 เท่าในเวลาไม่ถึง 2 ปี ซึ่งก่อนหน้านี้ดัชนี NASDAQ ก็เป็นขาขึ้นมาอย่างยาวนาน และทำผลตอบแทนเฉลี่ยได้ราว ๆ 15% ต่อปี (1974-1998) แต่นั้นเทียบไม่ได้เลยกับผลตอบแทน 3 เด้งใน 1 ปีนิด ๆ ระหว่างช่วง ต.ค. ปี 1998 – มี.ค. ปี 2000
จริง ๆ แล้วเรื่องที่เกิดขึ้นในยุค “ฟองสบู่ Internet” นี้ ก็เหมือนฉายหนัง “ฟองสบู่ Tronics” ให้เราดูอีกรอบ เพียงแต่รอบนี้ หนังเรื่องนี้ระเบิดตูมตาม อลังการกว่าเดิมมาก
เดาได้ไม่ยาก ถ้าฟองสบู่ Tronics ในยุค 60 นั้น มาจากบริษัทจำนวนมากตั้งชื่อเกี่ยวกับ “Tronics” (แม้บริษัทอาจจะไม่เกี่ยวข้องอะไรกับอุตสาหกรรม Electronics ก็ตาม)
ฟองสบู่ Dot-com ก็มาจากความบ้าคลั่งใน Internet ที่ทุกบริษัทไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมนี้หรือไม่ หันมาเปลี่ยนชื่อให้เข้ากับกระแส เช่นคำว่า Dot-com, Dot-net, Internet, Network แค่ปี 1998 ปีเดียว มีบริษัทในตลาดเปลี่ยนชื่อให้มีนัยยะกับเว็บไซต์ของบริษัทกว่า 63 บริษัท
พอกันที่การประเมินมูลค่า
บริษัทยุค Dot-com ส่วนใหญ่มักใช้กลยุทธ์ยอมขาดทุนต่อเนื่อง เร่งทำการตลาด โฆษณาและโปรโมชั่น เพื่อให้เกิด Network Effect และได้ market share ให้มากและเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ (ใช้การ burn cash จาก VC) สื่อโหมกระหน่ำทำข่าวหุ้นเทค นักวิเคราะห์ขยับเป้าราคาขึ้นรัว ๆ และมีนักลงทุนรายใหม่เข้าสู่ตลาดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ต่อเนื่องในปี 1999-2000 ทำให้ราคาของหุ้นเทคในยุคนั้นขึ้นมาอย่างรวดเร็วมาก ประกอบกับความมั่นใจในเทคโนโลยีว่าสิ่งเหล่านี้จะมา disrupt ธุรกิจแบบเดิม ๆ ทำให้นักลงทุนยอมซื้อหุ้นเทคในทุกราคา ไม่ว่าจะแพงแค่ไหน ละเลยการประเมินมูลค่า พื้นฐานบริษัท อัตราส่วนวัดความถูกแพงเช่น P/E, P/BV Ratio ไปเลย เพราะมันใช้ไม่ได้ผล บางบริษัทที่แพงมาก ๆ แต่ราคาก็ยังพุ่งสูงต่อไปให้แพงขึ้นไปอีก จนแทบจะรู้สึกว่าการมานั่งประเมินพื้นฐานเหล่านี้ ได้กำไรน้อยกว่าการสุ่มซื้อหุ้นที่มีเรื่องราวที่น่าสนใจเสียอีก นักลงทุนกวาดซื้อหุ้นเทคกันอย่างบ้าคลั่งและพา NASDAQ ทะยานสู่จุดที่แพงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดย NASDAQ ในปี 2000 มี P/E ถึง 175 เท่า (ณ ปัจจุบันที่คนบอกหุ้นเทคแพงเกินไป ซื้อไม่ไหว NASDAQ P/E 30 เท่า)
ยุคทองของ VC
แน่นอนบริษัทเทค Dot-com เหล่านี้จะเอาเงินทุนมาจากไหน ที่จะทำให้ขาดทุนได้นาน ๆ หนึ่งตัวละครที่เร่งให้เกิดการเก็งกำไรอย่างรุนแรงก็คือเหล่า VC ที่ให้ทุนบริษัท dot-com ต่าง ๆ และผลักดันเข้า IPO ในตลาดนั้นเอง เมื่อเหล่า VC กลุ่มแรกพาบริษัท dot-com เข้าตลาดและได้กำไรมหาศาล ทำให้ธุรกิจ VC ได้รับความสนใจอย่างมาก และ VC ก็เพิ่มจำนวนขึ้นเป็นดอกเห็ด ในปี 2000 นั้น VC ในสหรัฐลงทุนในบริษัทต่าง ๆ ไปกว่า $66.4B เกิดดีลซื้อขายกว่า 4,500 ครั้ง (ถ้าหักเงินเฟ้อไป จะยังมากกว่าปี 2020 ที่ VC ให้ทุนเป็นจำนวนมากที่สุดในประวัติศาสตร์เสียอีก)
End Game
ในเดือน มกราคม ปี 2000 ทุกอย่างดูดีไปหมด เหล่าบริษัท Dot-com จำนวนมาก ยังมีเงินเหลือเฝือถึงขนาดซื้อเวลาโฆษณาใน Super Bowl ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นโฆษณาระดับ hi-end สุดตระการตาและมีค่าใช้จ่ายแพงถึง $2m ต่อ 30 วินาที (ประมาณ 100 ล้านบาทในปัจจุบัน)
ระเบิดถูกจุดขึ้นในวันที่ 13 มี.ค. เมื่อญี่ปุ่นประกาศว่ากำลังเข้าสู่ช่วงเศรษฐกิจถดถอยอีกครั้งหนึ่ง หลังจากเผชิญกับ Lost Decade ตั้งแต่ช่วง 1990 เป็นต้นมา ทำให้เกิดแรงเทขายรุนแรงทั่วโลก และกระทบกับหุ้นเทคเต็ม ๆ วันที่ 14 มี.ค. ตลาด NASDAQ ถล่มกว่า -6% แต่นั้นก็อาจจะเบาไปเลย หากเทียบกับ วันที่ตลาดมีการเคลื่อนไหวรุนแรงที่สุดในฟองสบู่รอบนี้ อย่าง 4 เม.ย. 2000 ที่ตลาดเคลื่อนไหวแดนลบสูงสุดในวันมากกว่า -15% จากการบริษัท Microsoft โดนตัดสินผิดกฎหมายผูกขาดบนตลาดคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลใน 2 รัฐ และศาลสั่งให้เหล่าผู้ผลิตและผู้ใช้งานลบแอป Internet Explorer ทิ้ง และสัปดาห์ต่อมาตลาด NASDAQ ลงต่ออีกกว่า -25%
ถ้าระเบิดคือ ญี่ปุ่น ตัวจุดระเบิดก็คือการขึ้นดอกเบี้ยของ FED ที่เกิดขึ้นตลอด 1 ปีก่อนหน้า โดยขึ้นดอกเบี้ย 6 ครั้ง จาก 4.75% เป็น 6 % ซึ่งแม้การขึ้นดอกเบี้ยดังกล่าวจะไม่ได้กระทบสหรัฐโดยตรง แต่มันส่งผลอย่างมากต่อประเทศที่ค่าเงินเกี่ยวข้องกับ US Dollar โดยเฉพาะญี่ปุ่น
นอกจากนี้การขึ้นดอกเบี้ยก็เป็นอีกเหตุผลให้ เหล่า VC ไม่สามารถหาเงินมาให้บริษัท Dot-com ต่าง ๆ Burn Cash ได้อีกต่อไป แม้หลายบริษัทจะยังมีผู้ใช้บริการอยู่ แต่ไม่สามารถทนขาดทุนต่อเนื่องได้ เมื่อขาดสภาพคล่อง จึงยอมแพ้และล้มละลายไปในที่สุด
ไม่ใช่แค่บริษัท Dot-com เท่านั้นที่ล้มตาย ยังมีบริษัทที่วางระบบ infrastructure สำหรับ internet และธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ขาดทุนมหาศาล เพราะ demand ไม่ได้มาตามนัดและหายไปอย่างฉับพลัน หลังจากฟองสบู่ dot-com แตก
เหตุการณ์ฟองสบู่ dot-com ใช้เวลากว่า 940 วัน จากจุดสูงสุดถึงจุดต่ำสุดเมื่อวันที่ 11 ต.ค. 02 ตลาด NASDAQ ปรับตัวลงทั้งสิ้นกว่า -78% ซึ่งเป็นมูลค่าตลาดที่หายไปกว่า $2.26T หรือราว ๆ 75 ล้านล้านบาท มีบริษัทเทค IPO ทั้งสิ้น 2,288 บริษัทตั้งแต่ปี1996-2000 แต่มีเพียง 80 บริษัทจากจำนวนดังกล่าวที่ยังอยู่ในตลาดในปี 2001 (คิดเป็น 3.5% ที่รอด)
สถานการณ์ปัจจุบันแม้จะไม่ได้เหมือนกับเหตุการณ์ฟองสบู่ Dot-com เป๊ะ ๆ แต่ก็เป็นอะไรที่น่าคิดเหมือนกัน เพราะ Asset ต่าง ๆ ทั่วโลกวิ่ง Rally มาตั้งแต่ มี.ค. ปี 20 แล้วถ้ามันมีอะไรที่เป็นตัวจุดระเบิดลูกต่อไปขึ้นมา ทรัพย์สินต่าง ๆ ที่เราลงทุนจะสามารถอยู่รอดได้หรือไม่? จากสถิติ 3.5% ที่เหลือรอดในฟองสบู่ dot-com ทรัพย์สินของเราจะอยู่ใน 3.5% นั้นหรือเปล่า ?
BottomLiner