ติดดอย 4G ใช่มั้ย? ไปดูดอย 3G ยุโรปกัน ยังดอยกันอยู่เลย
ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา นักลงทุนในตลาดหุ้นไทยคงได้กำไรจากความร้อนแรงครั้งนี้ไปไม่มากก็น้อย ท่ามกลางความคึกคักของหุ้นใหญ่ที่ทะยานขึ้นมา นอกจากกลุ่มน้ำมันแล้ว กลุ่มสื่อสารก็อีกเป็นหนึ่งกลุ่มที่นักลงทุนให้ความสนใจกันอย่างมากเนื่องจากมีประเด็นหลายอย่างให้ลุ้นเก็งกำไรเช่น เจ้านี้จะจ่ายค่าประมูลได้มั้ย
ค่ายนั้นจะสละสิทธิ์รึเปล่า และแน่นอนนักลงทุนหลายท่านคงกำลังวิเคราะห์ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับอุตสาหกรรมนี้ ส่วนแบ่งตลาดจะเปลี่ยนแปลงมั้ย รายได้จะโตขึ้นมากน้อยแค่ไหน และจะมีผู้เล่นที่แข่งขันไม่ไหวจนต้องออกจากเกมนี้หรือไม่
ก่อนจะพูดถึงมุมมองและแนวโน้มของหุ้นกลุ่มสื่อสาร วันนี้เรามีกรณีศึกษาที่หลายท่านคงเคยได้ยิน ได้อ่านผ่านมากันมาบ้างแล้ว เป็นเหตุการณ์ประมูลใบอนุญาต 3G ในประเทศอังกฤษเมิ่อ 16 ปีก่อน
เมื่อพูดถึงการมูลค่าการประมูลใบอนุญาต 4G ในไทยที่ผ่านมานั้น หลายท่านคงเห็นคำว่าทุบสถิติโลกจากสื่อทุกสำนักในปลายปีที่แล้วจนแทบจะเอียน แต่ตัวเลขจากการประมูลในอังกฤษในเวลานั้น ได้ทิ้งตัวเลขเหล่านี้ไปอย่างชนิดไม่เห็นฝุ่น หลังจากการต่อสู้ที่ดุเดือดเกือบสองเดือน การประมูลก็จบลงด้วยมูลค่าการประมูลทั้งสิ้น 22.5พันล้านปอนด์ (ประมาณ 1.2ล้านล้านบาท) เกินกว่ารัฐบาลตั้งเป้าไว้เกือบ 5 เท่าตัว
คำถามคือเหตุใดผู้ประมูลจึงต้องทุ่มเงินกันอย่างบ้าเลือดเยี่ยงนั้น…?
คำตอบคือ 1. กระแสสังคมที่มีต่อเทคโนโลยีใหม่นี้ในช่วงนั้น 2. ลักษณะการประมูลในตอนนั้น
ในช่วงเวลานั้นอังกฤษและอีกหลายๆประเทศในยุโรปกำลังตื่นเต้นกับความสามารถที่เทคโนโลยี 3G จะนำมาพร้อมกับโอกาสหลายๆอย่างในตลาด เรียกได้ว่าจะเป็นเหตุการณ์ลมเปลี่ยนทิศในอุตสาหกรรมนี้เลยทีเดียว เนื่องจากรายได้จากคลื่น cellular หรือ voice call กำลังจะอิ่มตัวในไม่ช้า มีตัวเลขและสถิติมากมายที่สนับสนุนในแนวคิดที่ว่าการควบรวม internet เข้ากับมือถือ จะเป็นช่องทางรายได้มหาศาลให้ผู้ประกอบการ เช่นตัวเลข internet traffic ที่โตขึ้นเท่าตัวทุกปีตั้งแต่ปี 1997 มีการวาง fiber optic เพิ่มขึ้น 5 เท่า ในช่วงปี 1998-2001 ยิ่งไปกว่านั้นนวัตกรรมใหม่ในการ feed สัญญาณยังเพิ่มขีดความสามารถในการส่งสัญญาณ (transmission capacity) ของ fibre optics ถึง 500 เท่า
Nokia ยักษ์ใหญ่ในยามนั้นก็ออกมาย้ำพูดถึงโอกาสจากเทคโนโลยี 3G หลายต่อหลายครั้ง แถมยังช่วยสร้างแนวโน้มที่สดใส โดยจับมือกับ Telfort BV, Nokia, Motorola, Ericsson และบริษัทอีกหลายแห่งใน silcon valley ร่วมกันพัฒนาระบบในการนำ internet website text และการเชื่อมถึงdata เข้ามาในมือถือโดยใช้ WAP (Wireless Application Protocol) นั่นหมายถึงเครื่องไม้เครื่องมือหรือบริการที่จะเพิ่มมากขึ้นในมือถือเช่น email, messenger, game หรือ บริการบันเทิงอื่นๆ และยังหมายถึงรายได้ใหม่จากการเก็บค่าบริการ internet และ data อีกด้วย
ด้วยบรรยากาศแบบนี้เอง คงไม่ต้องแปลกใจที่ผู้ประกอบการจะรู้สึกว่าใบอนุญาต 3G นั้นไม่ต่างกับจอกศักษ์สิทธิ์เลยทีเดียว และบริษัทจะต้องเจอปัญหาใหญ่หลวงแน่นอนถ้าพลาดการประมูลครั้งนี้ไป
อีกปัจจัยหนึ่งคือวิธีการประมูล Gordon Brown อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้รับผิดชอบการประมูลครั้งนั้นถึงกับยอมควักเงิน (ภาษีจากประชาชน) 7 แสนปอนด์จ้างบริษัทจาก New york มาบริหารจัดการการประมูลเลยทีเดียว และด้วยความหัวหมอของผู้จัด บรรยากาศของการประมูลครั้งนั้นดุเดือดราวกับสมรภูมิเลือด เนื่องจากจำนวนใบอนุญาตที่รัฐบาลจะออกให้นั้นมีจำนวนน้อยกว่าผู้เข้าร่วมประมูล แถมยังมีผู้ร่วมประมูลที่ไม่ได้เป็นผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือเพิ่มเข้ามาอีกต่างหาก ภายใต้เงื่อนไขสุดโหดนี้เอง แรงกดดันมหาศาลจึงตกไปที่ผู้ให้บริการเครือข่ายในอังกฤษทั้ง 4 ค่าย Vodafine, One2One, Orange และ BT (ตอนหลังspin off เป็น O2) จึงต้องทุ่มเงินกันอย่างสุดตัว แม้ว่าจะต้องเป็นหนี้ธนาคารก้อนใหญ่ก็ตาม
หลังจากการประมูลหลายฝ่ายต่างรื่นเริงกับผลการประมูล แน่นอนว่ารัฐบาลน่าจะเลี้ยงฉลองกันอย่างยกใหญ่ เพราะกวาดเงินไปเป็นประวัติศาสตร์โลกเลยทีเดียว ผู้ประกอบการที่ชนะประมูลพากันก็นั่งฝันถึงอนาคตที่สดใสเปล่งประกาย แต่อีกหนึ่งปีต่อมาภาพที่ปรากฏกลับตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง บริษัททั้งผู้ชนะและผู้แพ้การประมูลกลายเป็นผู้แพ้ทั้งหมด หลายแห่งต้องปิดตัวไป รัฐบาลอังกฤษที่ยิ้มเยาะหลังประมูลต้องมาเข้ามาbail out ยักษ์ใหญ่เหล่านี้เพื่อปกป้องเศรษฐกิจ พนักงานในอุตสาหกรรมหลายแสนคนต้องลอยแพ หุ้น Vodafone ยักษ์ใหญ่ที่สุดในยามนั้นได้สูญเสียมูลค่าไปกว่า 2แสนล้านปอนด์ (10ล้านล้านบาท) ที่สำคัญที่สุด ถึงเวลาจะผ่านไปแล้วเกือบ 2 ทศวรรต และตลาดหุ้นอังกฤษจะกลับมาที่ high เดิมก็แล้ว แต่หุ้นตัวนี้ก็ไม่เคยกลับมาที่เดิมอีกเลย
เดี๋ยวจะมาเขียนถึงเหตุการณ์และเหตุผลหลังการประมูลอย่างละเอียด รวมทั้งทิศทางของสื่อสารประเทศไทยในภาคต่อครับ…….