หลังจากการเปิดตัวของ Libra ที่เป็น Cryptocurrency จาก Facebook ทั่วโลกก็ดูจะตื่นตัวกับ Stablecoin มากขึ้นแม้ว่า Libra จะถูกคำถามและข้อสงสัยหลาย ๆ อย่างจากภาครัฐทำให้มันถูกชะลอไว้แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าในภาพกว้าง โลกเรากำลังตื่นตัวเกี่ยวกับเรื่องนี้มากขึ้นถึงกับมีรายงานว่าธนาคารหลาย ๆ ประเทศนั้น จำเป็นจะต้องเร่งการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลของชาติหรือที่เรียกว่า CBDC (Central Bank Digital Currency) เลยทีเดียว แต่สำหรับในโลกคริปโตแล้ว Stablecoin ไม่ใช่เรื่องใหม่มี Stablecoin มากมายในโลกคริปโตที่เราจะไปทำความรู้จักกัน
Stablecoin คืออะไร?
คำว่า Stablecoin นั้นเป็นคำที่แปลตรงตัวแปลว่าเงินที่มั่นคง แต่ในความเป็นจริงบนโลกแล้วมันก็ไม่ได้มั่นคงเสมอไป เพราะสุดท้ายมันก็ถูกอ้างอิงมูลค่ากับเงินสกุลใดสกุลหนึ่งอยู่เหมือนกัน Stablecoin มีประโยชน์ในฐานะสินทรัพย์ทางการเงินที่สามารถใช้ประโยชน์ในระบบการเงินหลาย ๆ รูปแบบได้ ซึ่งเงินตราในรูปแบบเก่าที่เรารู้จักนั้นระบบที่ช่วยเหลือ เช่น E-Banking จะเป็นการโยกย้ายเงินที่มีอยู่จริง ๆ ทำให้มันยังมีข้อจำกัดหลายอย่างที่ไม่สามารถสร้างนวัตกรรมทางการเงินที่ดีขึ้นได้ Stablecoin จึงเข้ามาตอบโจทย์ตรงนี้เพราะมันเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่สามารถถูกเขียนโปรแกรมหรือใส่คำสั่งที่ซับซ้อนลงไปได้
Stablecoin มีกี่ประเภท?
การแบ่งประเภทของ Stablecoin นั้นจะถูกแบ่งตามสินทรัพย์ที่ถูกนำมารองรับหรือค้ำประกันให้ Stablecoin นั้นมีมูลค่า โดยมันแบ่งออกได้ดังนี้
- Fiat – collateralized (รองรับด้วยเงินเฟียต)
- Commodity – collateralized (รองรับด้วยสินค้าโภคภัณฑ์)
- Crypto – collateralized (รองรับด้วย Crypto)
- Non – collateralized (ไม่รองรับด้วยอะไรเลย)
Fiat – collateralized
การสร้าง Stablecoin ด้วยเงิน Fiat นั้นเป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายที่สุดและเป็นแนวคิดพื้นฐานเดียวกับ IOU คือการนำเงิน Fiat นั้นไปฝากไว้ที่ใครสักคนหนึ่งและคน ๆ นั้นออกเหรียญโดยอ้างอิงกับสินทรัพย์ที่รองรับ (ซึ่งอาจจะเป็นสินทรัพย์หลายอย่าง) ข้อดีคือวิธีการเป็นวิธีที่ง่ายตรงไปตรงมาใคร ๆ ก็สามารถทำได้เพียงแค่สามารถสร้างตัวกลางที่น่าเชื่อถือได้ แต่ข้อเสียที่ร้ายแรงคือการสร้างตัวกลางที่น่าเชื่อถือนั้นมีต้นทุนที่มหาศาลมาก ไหนจะการจ้าง Audit หรือ Custodian ที่มีความน่าเชื่อถือและโปร่งใสมาก พอเงินทุนเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ และยิ่งมูลค่าของเงินที่ผลิตออกมามากขึ้นก็ยิ่งต้องการความน่าเชื่อถือที่มาพร้อมกับต้นทุนที่มากขึ้นเรื่อย ๆ ตัวอย่างเช่น
- USDT หรือ Tether ที่เป็น Stablecoin ที่มีมูลค่าอันดับ 1 ของตลาด Crypto และการใช้งานที่แพร่หลายโดย USDT ที่ผลิตออกมานั้นจะอ้างอิงกับ Tether Reserve ที่รองรับด้วยสินทรัพย์หลาย ๆ ชนิด อย่างไรก็ตาม USDT กลับประสบปัญหาเรื่องความน่าเชื่อถือด้วยการที่ผลิตเงินอย่างไม่มีที่มาที่ไป และบริษัทที่ Audit นั้นก็ยังไม่น่าเชื่อถือพอในสายตาผู้คนจำนวนมาก
- TUSD เป็นอีก Stablecoin ที่มีแนวคิดแบบเดียวกับ USDT แต่จุดที่แตกต่างกันคือเงินที่สำรองไว้นั้นจะถูกเก็บโดยธนาคารหรือบริษัทต่าง ๆ ที่มีความน่าเชื่อถือ เมื่อมีคำสั่งซื้อขาย คำสั่งจะถูกส่งมายังตัวกลางและตัวกลางจะส่ง Signal ให้ Smart Contract ทำงานอย่างอัตโนมัติจึงจะไม่มีใครที่ควบคุมหรือดูแลเงินโดยผู้เดียวเหมือน USDT
- Gemini และ Paxos เป็น Stablecoin ที่ได้รับการรองรับจาก NYDFS ซึ่งเป็น Stablecoin ที่มีการกำกับดูแลจากหน่วยงานรัฐบาลของอเมริกาอย่างถูกต้อง
- Libra เองก็เป็น Stablecoin ประเภทนี้แม้ปัจจุบันยังไม่มีการเปิดตัว แต่จากข้อมูลที่เปิดเผยออกมามันจะถูกรองรับด้วยตระกร้าของสกุลเงินหลาย ๆ สกุล
Commodity – collateralized
Commdity นั้นหมายถึงสินค้าโภคภัณฑ์ต่าง ๆ ซึ่งวิธีนี้จะคล้ายคลึงกับ Fiat – collateralized ที่ต้องมีหน่วยงานกลางในการดูแล Stablecoin เหล่านี้ อย่างไรก็ตาม สินทรัพย์ที่ใช้ในการรองรับนั้นอาจจะเป็นอะไรก็ได้ ไม่ว่าจะเป็น ทองคำ น้ำมัน ที่ดิน หรือแม้สินทรัพย์ประเภทอื่น เช่น หุ้น ตราสาร หรือ กองทุนก็ตาม อย่างไรก็ตาม Stablecoin ประเภทนี้ยังไม่ได้รับการยอมรับมากเท่าที่ควรเมื่อเทียบกับ Fiat – collateralized รวมไปถึงหลักเกณฑ์ในการทำให้สินทรัพย์กลายเป็นเหรียญนั้นมีข้อขัดแย้งกับกฎหมายหลักทรัพย์ในหลาย ๆ ประเทศ
- Digix Gold เป็น Stablecoin ที่ 1 DGX จะมีมูลค่าเท่ากับทองคำ 1 กรัมของทองคำ ซึ่งถูกเก็บรักษาไว้ที่สิงคโปร์และมีการ Audit ความโปร่งใสทุก ๆ 3 เดือน โดยสามารถนำเหรียญไปแลกทองคำจริง ๆ ได้ที่สิงคโปร์
- Tiberius Coin (TCX) เป็น Stablecoin ที่ไม่ได้ถูกรองรับด้วยสินทรัพย์ประเภทใดประเภทหนึ่งแต่เป็นโลหะชนิดต่าง ๆ ที่ใช้ในการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
- Omtoken เป็น Stablecoin ของคนไทยยังไม่ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการแต่มีแนวคิดที่จะรองรับด้วยสลากออมทรัพย์
Crypto – collateralized
การใช้ Crypto ในการรองรับ Stablecoin จะมีข้อเด่นตรงที่ระบบที่ถูกสร้างนั้นจะมีความเป็น Decentralized ที่ไม่อ้างอิงกับตัวกลางใด ๆ ทำให้ระบบมีความน่าเชื่อถือได้ด้วยตัวมันเอง โดยวิธีการสร้างเหรียญ Stablecoin ประเภทนี้ผู้ใช้งานจะต้องใส่ Crypto ที่มีมูลค่ามากกว่า Stablecoin ที่ถูกสร้างออกมาเสมอ เนื่องจากราคาของ Cryptocurrency นั้นมีความผันผวนค่อนข้างมาก และหากมูลค่า Crypto ที่ค้ำประกันไว้มีมูลค่าลดลงก็อาจจะเกิดการตัดเงินทันที เช่น ถ้าเราเอา Ether ที่มีมูลค่า 400 USD จำนวน 1 ETH ค้ำประกันและระบบกำหนดว่าสวามารถสร้าง Stablecoin ในอัตราส่วน ¾ ได้นั้นเท่ากับว่าผู้ใช้งานจะได้ Stablecoin ที่มีมูลค่า 300 ดอลลาร์ และระบบจะมีจำนวนขั้นต่ำในการตัดบัญชีเสมอ ๆ เช่น หาก Ether มีมูลค่าลดลงเหลือ 200 ดอลลาร์ และผู้ใช้งานไม่ฝากเงินเพิ่มเข้าไปในระบบเงินค้ำประกันผู้ใช้งานก็จะถูกตัดไป
- BitUSD เป็น Stablecoin แบบ Crypto – collaterlized ตัวแรกของโลกซึ่งมาจากโปรเจกต์ของ BitShare ในปี 2014 ก่อนจะถูกเปลี่ยนเป็น SteemUSD ใน Steem ที่หลัง อย่างไรก็ตาม BitUSD กลับไม่ได้รับความนิยมมากเท่าไร
- Dai เป็น Stablecoin จากโปรเจกต์ MakerDAO ที่ทำงานอยู่บน Ethereum โดยผู้ใช้งานสามารถใช้ Erc-20 Token ใด ๆ ก็ตามที่ MakerDAO ยอมรับในการค้ำประกับมูลค่าเพื่อถอน DAI ออกมาการเพิ่มลดเหรียญ DAI จะถูกควบคุมโดย Smart Contrart ซึ่งถูกกำกับจากผู้ถือเหรียญ MKR อีกทีหนึ่ง โดยจำนวนเหรียญของ DAI จะถูกควบคุมโดย MakerDAO ที่จะคอยปรับลดดอกเบี้ยของเหรียญ DAI เพื่อไม่ให้เหรียญเกิดการเฟ้อ
Non – collaterlized
รูปแบบสุดท้ายคือการที่ Stablecoin นั้นไม่ได้ไม่ได้รองรับด้วยอะไรเลย ซึ่งมันอาจจะฟังดูแปลก ๆ แต่สิ่งที่น่าสนใจคือมันเป็นรูปแบบที่คล้ายคลึงกับเงินปัจจุบันมากที่สุด ปัจจุบันการควบคุมมูลค่าของเงินตราในปัจจุบันอย่างเงินบาทหรือดอลลาร์จะใช้วิธีการปรับลดดอกเบี้ยหรือปรับลดอุปทานของเงิน ไม่ได้เกิดจากการนำ Asset ใดมาใช้ในการผลิต เงินตราปัจจุบันถูกค้ำประกันโดยระบบไม่ใช่สินทรัพย์ที่จับต้องได้ เช่น หากเหรียญนั้นมีมูลค่าในตลาดอยู่ที่ 2 ดอลลาร์ ระบบจะทำการเสกเหรียญขึ้นมาในระบบเพื่อทำให้ราคาของเหรียญลดลงเหลือ 1 ดอลลาร์
- Basis เป็น Cryptocurrency ที่ใช้อัลกอริทึ่มในการปรับ supply ของเหรียญในการทำให้ เหรียญมีมูลค่าคงที่
ประโยชน์และข้อจำกัดของ Stablecoin
หนึ่งในสิ่งที่ชัดเจนที่สุดของการมี Stablecoin คือการที่ผู้คนนั้นสามารถมีสิทธิในการเลือกใช้เงิน ในปัจจุบันโลกเรามีสกุลเงินมากมายและผู้คนก็ไม่ได้มีอิสระเสรีในการเข้าถึงสกุลเงินที่มั่นคง ประเทศบางประเทศอย่าง ซิมบับเว หรือ เวเนซูเอล่า ผู้คนต้องใช้เงินที่เสื่อมมูลค่าลงทุกวันในการใช้จ่าย หากผู้คนสามารถเข้าถึง Stablecoin ที่ถูกออกแบบมาต่างกันก็เท่ากับว่าผู้คนไม่จำเป็นต้องยืดติดกับเงินสกุลใดสกุลหนึ่งอีกต่อไป
ข้อจำกัดของ Stablecoin นั้นคือปัญหาเรื่องกฎหมายและการใช้งาน เนื่องด้วยนโยบายการเงินนั้นเป็นอาวุธที่แต่ละประเทศใช้มาตลอดในการสร้างสงครามการค้า การที่ Stablecoin จะถูกยอมรับในวงกว้างโดยไม่มีอำนาจรัฐเข้ามาเกี่ยวข้องเป็นสิ่งที่ยากมาก ๆ อย่างในกรณีที่ Libra เจอ ในทางกลับกัน Stablecoin อื่น ๆ อย่าง USDT ที่เป็น Stablecoin แบบ Fiat-collaterlized แม้จะทำได้ง่ายแต่ก็ต้องยืดกับตัวกลาง ที่พอสร้างเหรียญมากขึ้นเรื่อยต้นทุนกับกฎเกณฑ์ก็จะมากขึ้นเรื่อย ๆ ส่วน DAI แม้จะมีแนวคิดที่น่าสนใจแต่การสร้างเหรียญก็ต้องวางเงินค้ำประกันที่มากและยังมีข้อจำกัดที่ต้องเป็นคริปโต และนั่นแปลว่ามันไม่สามารถเข้าสู่ Mass adoption ได้ถ้าตลาด Crypto ไม่เติบโต ซึ่งเราจะเห็นได้การใช้งานส่วนใหญ่นั้นยังอยู่ในโลกของคริปโตเท่านั้น
Blockchain Review
ที่มาบทความ: https://blockchain-review.co.th/blockchain-review/getting-to-know-stablecoin/
คำเตือน
ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน