สวัสดีครับทุกท่านผู้อ่านทุกท่าน ไม่ว่าจะมือใหม่หรือมือเก่าที่เข้ามาในวงการ Blockchain ก็คงจะพบกับคำศัพท์แปลก ๆ มากมายซึ่งทำให้หลายคนอาจจะงงว่ามันคืออะไรกันแน่ เราจึงขอนำเสนอ Cryptolingo ซีรีส์ที่จะไปแนะนำให้คุณรู้จักกับคำศัพท์ในวงการ Blockchain ครับ ว่าแล้วก็ไปกันเลยครับ
Fiat
Fiat (ฟีอาท) เป็นหนึ่งในคำศัพท์ที่สำคัญและเราควรทราบเป็นอย่างยิ่งในวงการเงิน, การธนาคาร, และในวงการคริปโตด้วยเหมือนกันครับ คำ ๆ นี้หาใช่ “แบรนด์” รถยนต์สัญชาติอิตาเลียนแต่อย่างใดครับผม Fiat ที่ผมจะกล่าวถึงในทีนี้หากแปลกันในความหมายตรง ๆ ตัวแล้วจะได้ความว่า คำสั่ง, พระราชกฤษฎีกา, พระบรมราชโองการ หรือ คำพิพากษา ครับ
Fiat Money ในความหมายของเราคือ “เงินที่ไม่ได้มีคุณค่าในตัวเอง” หรือเงินกระดาษที่ไม่ได้มีเครื่องการันตีมูลค่าจากสิ่งอื่นใด นอกเหนือจาก “คำสั่งของรัฐบาล” ที่กำหนดให้เงินกระดาษเหล่านี้มีมูลค่าและสามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย
ต้นเรื่องมันมีอยู่ว่า ในสมัยก่อนนั้นเงินจะได้รับการตีมูลค่าจากทองคำซึ่งเรียกว่าระบบมาตรฐานทองคำ (Gold Standard) มันเป็นระบบมาตรฐานการเงินระหว่างประเทศระบบแรกในโลก ตัวอย่างเช่น ในช่วง 1970 ทองคำ 1 ออนซ์ = $35 รัฐบาลจะต้องมีทองคำคงคลัง 1 ออนซ์ ถึงจะสามารถพิมพ์เงินมูลค่า $35 ออกมาใช้ในระบบได้
ระบบนี้ (Gold Standard) ถูกใช้งานจริงประมาณ 50 ปีก่อนที่จะถูกยกเลิกไปเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2514 โดย นาย ริชาร์ด นิกสัน (Richard Nixon) ประธานาธิบดีคนที่ 37 แห่งสหรัฐอเมริกาได้ออกคำสั่งว่า เงินดอลลาร์สหรัฐจะไม่ใช้ระบบมาตรฐานทองคำ (Gold Standard) เป็นตัวค้ำประกันการพิมพ์ธนบัตรอีกต่อไป สั่งกันดื้อ ๆ แบบ นี้แหละ
Ethereum
Ethereum (อี-เธอะ-เรี่ยม) แปลตามความหมายได้โดยแยกออกเป็น 2 คำ คือ “Ether” หมายความว่า ฟ้า, อากาศธาตุ หรือ สารประกอบอินทรีย์ประเภทหนึ่ง มีสูตรทั่วไปเป็น R-O-R โดยทั่วไปมักหมายถึง ไดเอทิลอีเทอร์ ซึ่งมีสูตร C2H5-O-C2H5 ลักษณะเป็นของเหลวใส ไม่มีสี เป็นวัตถุไวไฟมาก
และคำว่า “-eum” ซึ่งในความเป็นจริงแล้วไม่มีความหมาย โดยส่วนตัวแอดมินเข้าใจว่า คำ ๆ นี้น่าจะใช้คำพ้องเสียงกับ (สะกดไม่เหมือนกัน) “-ium” เป็นคำต่อท้ายของธาตุหลาย ๆ ชนิดใน Periodic table ตัวอย่างเช่น ไอน์สไตเนียม (Einsteinium)
Ethereum (ETH) ถูกพัฒนาขึ้นมาในช่วงต้นปี 2014 โดย Vitalik Buterin ชาวรัสเซีย ที่วัยไม่ถึง 20 ปีและเคยเป็นหนึ่งในทีมพัฒนา Bitcoin Core โดยจุดมุ่งหมายของทีมพัฒนาคือต้องการให้ Ethereum สามารถใช้งานได้ไม่ต่างกับ Bitcoin แต่แก้ไขข้อบกพร้องต่าง ๆ รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถของ ETH ให้หลากหลายขึ้น ทำอะไรได้มากกว่า Bitcoin และมันก็ทำได้จริง ๆ เนื่องจากในปัจจุบัน ETH เป็นสกุลเงินดิจิทัลที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับธุรกิจประเภทต่าง ๆ ได้หลากหลาย
Smart Contract หรือเจ้า “สัญญาอัจฉริยะ” มันเป็นความความสามารถเฉพาะตัวของ Ethereum ที่อนุญาตให้ผู้ใช้งาน เขียนคำสั่งลงไปในระบบของเหรียญได้ ตัวอย่างเช่น การสร้างเงื่อนไขขึ้นตามที่เรากำหนดไว้ เมื่อมีใครทำตามเงื่อนไขนั้นสำเร็จก็จะได้รางวัลที่เรากำหนดไว้เป็นการตอบแทน ทำให้นักพัฒนาจำนวนมากหันมาสนใจ Ethereum และนำระบบ Smart Contract ไปประยุกต์ใช้ในธุรกิจทั่วโลก
Fork
Fork (โฟร์ค) แปลกันตามความหมาย เป็น “คำนาม” จะได้ความว่า ส้อม, คราด หรือ ไม้ง่าม หากแต่ถ้าแปลเป็น “คำกริยา” จะแปลได้ว่า แบ่งแยกออกจากกัน
เราคงจะพอได้ยินผ่านหูกันมาบ้างแล้วในวงการคริปโตสำหรับคำ ๆ นี้ เจ้า Fork ที่ว่านี้ก็คือการแยก “โซ่หลัก” ของ Blockchain ของเหรียญออกมา ซึ่งสาเหตุของการแยกโซ่นี้ก็มีมากมายหลายหลายเหตุผล ตัวอย่างเช่น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบให้เร็วขึ้น หรือ การเพิ่มมาตราการรักษาความปลอดภัยของระบบ เป็นต้น
ไอ้เจ้าส้อมที่ว่ามานี้ยังถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ Soft Fork และ Hard Fork
- Soft Fork หรือ เจ้าส้อมนิ่ม คือการเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดต่าง ๆ แบบเบา ๆ ตามที่เคยถูกใช้ใน Blockchain โซ่เดิม แต่อาจจะมีการเพิ่มขนาด Block หรือเปลี่ยนคำสั่ง Protocol ใหม่บางตัว แต่ Block เดิมก็ยังคงสามารถใช้งานได้ตามปกติไม่ได้กระทบคำสั่งหลักของระบบ
- Hard Fork หรือเจ้าส้อมแข็ง ค่อนข้างจะดุร้าย และโหดสักหน่อย มันจะเป็นการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่แบบเต็มรูปแบบของทั้งระบบ จะคล้าย ๆ กับการสร้างระบบขึ้นมาใหม่ที่ไม่สามารถทำงานร่วมกับระบบเดิมได้ โดยการแก้ไข SOURCE CODE ของระบบเดิมและสร้างระบบคำสั่งใหม่แยกออกมาเป็นของตัวเอง กลายเป็นเหรียญตัวใหม่เลยในทันที ตัวอย่างเช่น Bitcoin Cash และ Ethereum Classic นะครับ
Decentralized
Decentralized (ดี-เซ็น-ทรัล-ไลซ์) แปลความได้ว่า การกระจาย หรือ แบ่งแยกอำนาจออกจากศูนย์กลาง ซึ่งมีความหมายตรงกันข้ามกับ Centralized (เซ็น-ทรัล-ไลซ์) ซึ่งแปลว่าการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง
“Decentralized” ได้กลายมาเป็นคำที่ได้ยินติดหูผู้คนในวงการคริปโตมากขึ้นนับตั้งแต่ Bitcoin ได้ก้าวเข้ามาเป็นแม่ทัพในการปฏิวัติระบบการเงินใหม่ โดยใช้ Decentralized เป็นหัวหอกสำคัญที่จะใช้ทำลายโล่ของระบบการเงินแบบเดิมที่เป็นแบบ Centralized โดยมีธนาคารเป็นศูนย์กลางที่สำคัญของระบบเดิม
โดยเดิมทีนั้นธนาคารจะเป็นผู้มีอำนาจเต็มในการบริหารจัดการระบบการเงินหรือสามารถแม้กระทั้งตั้งราคาค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมต่าง ๆ ได้ตามต้องการ ในทางกลับกัน Blockchain Technology นั้นกลับใช้ระบบการกระจายอำนาจตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินโดยใช้พยานการตรวจสอบเป็นผู้ใช้งานในระบบเองช่วยกันดูแล ซึ่งทำให้มีต้นทุนที่ต่ำกว่ามากและเป็นการกำจัดตัวกลางของการทำธุรกรรมอย่างเช่น ธนาคาร ออกจากระบบเสียอีกด้วย
เราคงต้องมาตามดูกันยาว ๆ ว่าในท้ายที่สุดแล้ว หอกที่ชื่อว่า “Decentralized” จะสามารถทำลาย โล่ของธนาคารและสถาบันการเงินอย่าง “Centralized” ลงได้หรือไม่
Altcoin
Altcoin (อัล-คอยน์) คำ ๆ นี้เกิดจากการผสมคำกันระหว่าง Alternative (อัล-เทอร์-เน-ทีฟ) ซึ่งแปล ว่าทางเลือกอื่น ๆ กับคำว่า Coin (คอยน์) ซึ่งแปลว่าเหรียญ รวมกันแล้วได้ความว่า “เหรียญทางเลือก”
ซึ่ง “เหรียญทางเลือก” หรือ Alternative Coin จะเรียกกันย่อ ๆ ว่า “Altcoin” เจ้าอัลคอยน์ ที่ว่านี้ จะหมายถึงเหรียญทุก ๆ เหรียญที่ไม่ใช่ Bitcoin ซึ่งถือกันว่าเป็นเหรียญ Master ของวงการคริปโต Ethereum, Ripple, Bitcoin Cash, Litecoin, Stellar, NEO และเหรียญอื่น ๆ อีกกว่าพันเหรียญล้วนเป็น เหรียญ Altcoin (อัล-คอยน์) ทั้งสิ้น
Blockchain
Blockchain (บล็อก-เชน) เกิดจากการรวมคำกัน 2 คำ ระหว่าง Block (บล็อก) = กล่อง และ Chain (เชน) = ห่วงโซ่
ในความหมายแล้วคือ ระบบเครือข่ายการจัดเก็บบัญชีธุรกรรมทางออนไลน์ที่สามารถเก็บสถิติการทำธุรกรรมต่าง ๆ ไว้ภายใน “กล่อง” ที่เชื่องโยงระบบบนเครือข่ายกันในลักษณะเรียงต่อ ๆ กันคล้ายกับห่วงโซ่
ข้อมูลธุรกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้อมูลธุรกรรมทางการเงินจะถูกบันทึกใน “กล่อง” ที่ว่านี้ เมื่อถูกบันทึกลงกล่องแล้วจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงข้อมูลใด ๆ ได้อีกเลย เพราะทุกคนจะมี Copy ข้อมูลการทำธุรกรรมทั้งหมดอยู่กับตัวเองอยู่แล้ว จึงเป็นไปไม่ได้ที่คนอื่นจะมาแก้ไขปลอมแปลงข้อมูลของเราได้ โดยปราศจากการตรวจสอบ นอกจากนี้ระบบ Blockchain ยังถือเป็นระบบ Decentralized โดยเป็นการทำธุรกรรมที่จะไม่ผ่านตัวกลางหรือไม่มีตัวกลางในระบบ เช่น ธนาคาร หรือ สถาบันการเงิน อย่างที่เคยเป็นมาในอดีตอีกต่อไป
Bounty
Bounty (เบ้าน์-ทิ) = คือ เงินรางวัลหรือผลประโยชน์อื่นใด โดยรางวัลนี้จะแลกเปลี่ยนกับการทำงานให้กับทางเจ้าของโปรเจกต์นั้น ๆ ตามข้อตกลงที่ระบุไว้
ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณสามารถช่วยเจ้าของโปรเจกต์แปล White Paper หรือเอกสารอื่น ๆ เป็นภาษาไทยได้ คุณก็จะได้รับ Bounty เป็นรางวัลจากเจ้าของ Project นั้น ๆ ซึ่งจะมากหรือน้อยก็แล้วแต่ตกลงนะครับ
ด้วยจำนวน Project ICO ในช่วงเวลาที่ผ่านมามีเยอะมาก และรางวัลจาก Bounty ก็ได้ไม่น้อยในแต่ละงาน จึงทำให้มีหลาย ๆ คน กลายเป็น “Bounty Hunter” กันเลยทีเดียวครับ
Airdrop
Airdrop (แอร์-ดร็อป) = แปลกันตรง ๆ ตัวได้ความว่า การทิ้งสิ่งของจากเครื่องบินโดยใช้ร่มชูชีพ หรือให้เข้าใจกันง่าย ๆ คือ ของที่ทิ้งลงมาให้เราสามารถเก็บไปได้ฟรี ๆ นั่นเอง มันเป็นวิธีการง่าย ๆ วิธีหนึ่งที่เจ้าของ Project ทำการกระจายเหรียญของตนเองออกสู่ตลาดในวงกว้างได้อย่างรวดเร็ว โดยการแจกเหรียญอาจมีเงื่อนไขบางประการ เช่น จะแจกเหรียญนั้น ๆ ให้กับผู้ที่กดติดตาม หรือลงทะเบียนรับข่าวสารของตัว Project ไว้ แล้วก็สามารถรับรางวัลเหรียญกันไปได้แบบฟรี ๆ
ตัวอย่างเช่น เหรียญ Ont (Ontology) ซึ่งแจก Airdrop ออกมาเที่ยบมูลค่าได้นับแสนบาทเลยทีเดียวครับ
Crypto Currency
Crypto Currency (คริปโต-เคอร์-เรน-ซี่) มาจากการผสมคำระหว่าง Crypto Graphy (คริปโต-กราฟฟี่) แปลว่า วิทยาการการเข้ารหัสครับ ซึ่งเป็นคนละคำกับแร่ “Kryptonite” (คริป-โต-ไนท์) จากดาวบ้านเกิดของ ซูเปอร์แมน ที่ชื่อว่า Krypton (คริป-ตอน) เข้ากับ Currency (เคอร์-เรน-ซี่) แปลว่า สกุลเงิน รวมความแล้วหมายถึง เงินในสกุลดิจิทัลที่ทำการเข้ารหัสไว้ และทำงานอยู่ในระบบ decentralized ซึ่งไม่ผ่านตัวกลางนั้นเองครับผม
Token
Token (โท-เค่น) แปลได้ตามความในภาษาไทยว่า สิ่งที่ใช้แทนสัญลักษณ์, ของที่ระลึก หรือ เหรียญพลาสติกหรือโลหะที่สมมุติมูลค่าขึ้นมาแทนเงิน
Token มีรากศัพท์มาจากภาษาอังกฤษโบราณที่ได้รับอิทธิพลจากภาษาเยอรมันต่อมา เป็นคำว่า “tacen” ซึ่งแปลว่าเครื่องหมาย, สัญลักษณ์ หรือ ชิ้นของเหรียญโลหะ คำ ๆ นี้ถูกพบหลักฐานการใช้ครั้งแรกตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ.1590
สำหรับความหมายในวงการคริปโตแล้วก็มีความหมายใกล้เคียงกันคือ สิ่งสมมติแทนมูลค่าของโปรเจกต์นั้น ๆ (Virtual Currency) ตัวอย่าง คุณเอาเงินมาให้ผม $10,000 ผมจะให้ Token คุณไป 10 Tokens เป็นเครื่องสมมติมูลค่า $10,000 ซึ่งคุณและผมยอมรับมูลค่าตามนั้น ณ วันซื้อขาย โดยเจ้า Token นี้สามารถแบ่งออกเป็นประเภทตามลักษณะการใช้งานได้ดังต่อไปนี้
- Utility token หรือโทเคนที่จะใช้ประโยชน์ได้เท่าที่ผู้เป็นเจ้าของโปรเจกต์โทเคนกำหนดเอาไว้เท่านั้น ซึ่งโทเคนประเภทนี้จะใช้ในการเข้าถึงแพลตฟอร์ม, แอปพลิเคชัน หรือ Ecosystem บางอย่างที่ถูกกำหนดเอาไว้ตั้งแต่ต้น เช่น token ที่ใช้ซื้อขาย items ในวงการเกมส์ หรือ Esport เป็นต้น
- Payment token เป็นโทเคนที่ใช้ชำระหนี้ โทเคนประเภทนี้จะมีจุดประสงค์หลักเพื่อใช้ในการชำระราคาสินค้าและบริการแทนเงินสด ตัวอย่างของโทเคนประเภทนี้ที่สำคัญคือ บิตคอยน์ (Bitcoin) และอีเธอเรียม (Ethereum) ครับ
- Asset token เป็นโทเคนที่มีลักษณะใกล้เคียงกับ “ทรัพย์สิน” โดยโทนเคน ประเภทนี้จะมีลักษณะของการเป็นเจ้าของ หรือเจ้าหนี้ต่อผู้ที่เสนอขายโทเคน ยกอย่างอย่างเช่น ผู้ถือโทเคนนี้ อาจมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งจากผลกำไรในอนาคตของโปรเจคผู้ออกเหรียญ ซึ่ง Asset token จะคล้าย ๆ กับตราสารหนี้
Blockchain Review
ที่มาบทความ: https://blockchain-review.co.th/blockchain-review/cryptolingo-ep-1/
คำเตือน
ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน