องค์กรอัตโนมัติแบบกระจายศูนย์ DAO หรือ Decentralized Autonomous Organization คือสิ่งที่พัฒนาต่อยอดมาจาก Decentralized Application หรือ DApp ที่มาจากการประยุกต์ใช้ Smart contract ร่วมกับเทคโนโลยี Blockchain
หากเปรียบเทียบ DApp เป็นตู้ขายของอัตโนมัติทั่วไป DAO ก็คือตู้ขายของอัตโนมัติที่เมื่อรับเงินไปแล้ว ตู้จะใช้เงินที่ได้มาในการสั่งสินค้ามาเติม และคำนวณกำไรจากการขายสินค้าคืนให้กับนักลงทุนได้โดยอัตโนมัติ
แล้ว DAO แตกต่างกับองค์กรทั่วไปอย่างไร? ตัวอย่างของ DAO ที่น่าสนใจมีอะไรบ้าง? เราจะมาหาคำตอบไปด้วยกันในบทความนี้
เปรียบเทียบ DAO กับองค์กรทั่วไป
องค์กรก็คือการรวมตัวกันของคนกลุ่มหนึ่งที่มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการรวมตัวกันเพื่อทำธุรกิจ สำหรับโครงสร้างขององค์กรทั่วไป หรือ Traditional Organization จะมีการแบ่งลำดับชั้น (Hierarchy) ที่ชัดเจน โดยผู้ที่อยู่ในตำแหน่งสูงสุด อย่าง ผู้บริหาร ประธาน หรือผู้ถือหุ้น มักจะมีอำนาจในการตัดสินใจสูงกว่าผู้มีตำแหน่งรองลงมา ส่วนกฏระเบียบทุกอย่างสำหรับองค์กร ไม่ว่าจะเป็นขอบเขตความรับผิดชอบ การจ่ายเงินเดือนพนักงาน หรือนโยบายการทำงานต่าง ๆ จะถูกเขียนขึ้นมาในรูปแบบลายลักษณ์อักษร และมีการผูกมัดทางกฏหมายเพื่อรับรองว่าองค์กรจะดำเนินงานได้ตามวัตถุประสงค์
ในขณะที่กฏระเบียบต่าง ๆ ของ DAO จะถูกเขียนขึ้นมาในรูปแบบของชุดคำสั่งทางคอมพิวเตอร์ และอยู่บนเครือข่าย Blockchain ที่มีการเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์ (Decentralized) นั่นจึงทำให้ทุกคนที่อยู่ในเครือข่ายสามารถตรวจสอบได้ว่าชุดคำสั่งของ DAO นั้น ๆ มีหลักการทำงานอย่างไร เชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหน จากนั้น DAO จะทำงานผ่าน Smart contract หรือสัญญาอัจฉริยะที่สามารถดำเนินการได้ด้วยตัวเองเมื่อครบเงื่อนไขที่กำหนด โดย DAO บางตัวจะมีเหรียญหรือโทเคนดิจิทัลที่เป็นของเครือข่าย DAO นั้น ๆ เรียกว่า Native Token หรือบางครั้งก็เรียกว่า Governance Token เพื่อใช้แทนสิทธิ์ในการออกเสียงโหวตข้อเสนอต่าง ๆ หรือเป็นรางวัลสำหรับผู้มีส่วนร่วมภายในเครือข่าย ซึ่งโทเคนเหล่านี้ก็สามารถนำไปแลกเปลี่ยนเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลอื่น ๆ ผ่านการใช้บริการของ DeFi ได้ด้วยเช่นกัน
ตัวอย่างของ DAO ที่น่าสนใจ
เพื่อให้เห็นภาพรวมว่า DAO ที่เกิดขึ้นมาแล้วในปัจจุบัน มีตัวไหนที่น่าจับตาบ้าง และแต่ละตัวถูกสร้างขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์อะไร สำหรับ DAO ที่น่าสนใจ มีดังต่อไปนี้:
1. The DAO
โปรเจ็กต์ DAO ตัวแรก ๆ บนเครือข่าย Ethereum สร้างขึ้นโดย Slock.it และเปิดตัวในเดือนเมษายน ปี 2559 The DAO เป็นโปรเจ็คเกี่ยวกับการระดมทุน (Crowdfunding) ตัวหนึ่งที่เคยใหญ่ที่สุดของ Ethereum โดยมีนักลงทุนสนใจร่วมลงทุนกับ The DAO มากกว่า 11,000 คน โดยคอนเซ็ปท์ของ The DAO คือการมอบอำนาจให้นักลงทุนมีส่วนร่วมตัดสินใจว่าควรนำเงินลงทุนไปลงกับโปรเจ็กต์ไหน หากโปรเจ็กต์ได้รับการสนับสนุนจากนักลงทุนครบตามเงื่อนไขที่กำหนด Smart contract ของ The DAO ก็จะดำเนินการโอนเงินทุนที่รวบรวมได้ไปให้กับเจ้าของโปรเจ็กต์ และเมื่อโปรเจ็กต์ที่ได้เงินทุนไปสามารถสร้างผลกำไรได้ The DAO ก็จะจัดการแบ่งสัดส่วนของกำไรและจ่ายคืนให้กับนักลงทุนโดยอัตโนมัติ
อย่างไรก็ตาม The DAO กลับมีช่องโหว่ในชุดคำสั่งของ Smart contract ทำให้มิจฉาชีพสามารถใช้ช่องโหว่นี้ในการดูดเงินทุนที่รวบรวมมาไปยังกระเป๋าของตัวเอง เกิดความเสียหายเป็นมูลค่าหลายร้อยล้านดอลลาร์ เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในเดือนมิถุนายน ปี 2559 ซึ่งเป็นเวลาไม่ถึง 3 เดือนหลังจากการเปิดตัว The DAO เหตุการณ์ครั้งนั้นได้ทำให้โปรเจ็ค The DAO จบสิ้นลง เหลือไว้แค่ Recovery Address ที่นักลงทุนสามารถมาเอาเหรียญส่วนหนึ่งคืนไปได้ และสร้างผลกระทบครั้งใหญ่ต่อชื่อเสียงของ Ethereum
2. Digix Global
Digix Global คือโปรเจ็กต์ DAO ที่สร้างขึ้นบน Ethereum ในปี 2557 โดย Digix เป็นการนำทองคำแท่งความบริสุทธิ์ 99.99% มาผูกกับโทเคนดิจิทัล DGX ในอัตรา 1 DGX = ทองคำหนัก 1 กรัม โดยทองคำจะถูกเก็บรักษาไว้ในห้องนิรภัยที่อยู่ในประเทศออสเตรเลียและแคนาดา ขณะที่สินทรัพย์ดิจิทัลจะถูกเก็บรักษาอยู่ใน Cold Storage และกำหนดให้มีการทำ Audit ทุก ๆ 3 เดือน โดยหน่วยงานที่เป็นบุคคลที่สาม ซึ่งโปรเจ็กต์นี้มีการบริหารกันแบบ DAO ผ่าน Governance token ที่เรียกว่า DGD
3. MakerDAO
MakerDAO คือแพลตฟอร์มสำหรับการกู้ยืม (Lending Platform) บน Ethereum ที่ผู้กู้จะได้เป็นเหรียญ Dai ที่เป็น Stablecoin ออกมา โดยเหรียญ Dai จะมีอัตราคงที่อยู่ที่ 1 Dai = 1 ดอลลาร์ ผ่านการผูกมูลค่ากับสกุลเงินดิจิทัล ผู้กู้สามารถนำเหรียญ Dai ไปแลกเปลี่ยนเป็นสินทรัพย์อื่น ๆ ต่อไปได้ ซึ่ง MakerDAO สามารถรักษามูลค่าของเหรียญ Dai ให้คงที่ผ่านการคิดอัตราดอกเบี้ย (Interest rate) รวมถึงการลดหรือเพิ่มอุปทานของเหรียญเพื่อรักษามูลค่าให้คงที่โดยอัตโนมัติด้วย Smart contract โดยมีหรียญ MKR ที่เป็น Governance Token ของ MakerDAO ผู้ถือเหรียญนี้จะสามารถเข้ามามีส่วนร่วมออกเสียงปรับปรุงและพัฒนาแพลตฟอร์มได้
สรุป
DAO ก็คือการบริหารองค์กรรูปแบบหนึ่งที่ถูกเขียนขึ้นมาให้อยู่ในรูปแบบคำสั่งทางคอมพิวเตอร์บน Smart contract ของเครือข่าย Blockchain จึงทำให้ทุกคนในเครือข่ายสามารถตรวจสอบการทำงานของ DAO และมีส่วนร่วมในการบริหารผ่านการถือ Governance Token
DAO แต่ละโปรเจ็กต์ถูกสร้างขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน บ้างก็เป็นแพลตฟอร์มสำหรับการระดมทุน บ้างก็เป็นแพลตฟอร์มสำหรับกู้ยืม และยังมีการใช้งาน DAO ในรูปแบบอื่น ๆ อีกมากมาย แล้วแต่ความคิดสร้างสรรค์ของเหล่าผู้พัฒนาหรือความต้องการของตลาด
อย่างไรก็ตาม ทั้ง DAO และ Blockchain ยังเป็นเทคโนโลยีที่ค่อนข้างใหม่และมีการพัฒนาอยู่อย่างต่อเนื่อง จึงยังไม่สามารถสรุปได้อย่างแน่นอนว่า DAO ที่เห็นกันในปัจจุบันจะมามีส่วนสำคัญกับเศรษฐกิจในอนาคตอย่างไร แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับโปรเจ็ค The DAO เป็นการชี้ให้เห็นถึงศักยภาพของ DAO ที่อาจเข้ามามีบทบาทในอนาคต แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นสัญญาณที่เตือนให้เห็นถึงช่องโหว่ของการเขียนคำสั่งบน Smart contract ที่มาจากความผิดพลาดของผู้พัฒนาเองด้วยเช่นกัน
อ้างอิง: Cointelegraph (What is DAO), Medium (The Story of The DAO), Digix, MakerDAO