รู้จัก KYC การยืนยันตัวตนที่เพิ่มความปลอดภัยทางการเงิน

ในยุคดิจิทัล สถาบันการเงินต่าง ๆ รวมถึงบริษัทที่ให้บริการสินทรัพย์ดิจิทัลต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษเพื่อรับประกันความปลอดภัยของเงินทุนของลูกค้าและยังต้องปฏิบัติตามกฎหมายต่อต้านการฟอกเงินด้วย หนึ่งในกระบวนการที่ใช้ในการบรรลุเป้าหมายความปลอดภัยนี้ ก็คือ KYC หรือการรู้จักลูกค้าของคุณ ในบทความนี้ เราจะพามาทำความรู้จักว่า KYC คืออะไร เหตุใดจึงสำคัญ และตัวอย่างบริการทางการเงินในประเทศไทยที่ต้องใช้

KYC คืออะไร?

KYC มาจาก Know Your Customer คือ กระบวนการที่สถาบันการเงินหรือผู้ให้บริการสินทรัพย์ดิจิทัลใช้ ตรวจสอบตัวตนของลูกค้า การทำ KYC ช่วยป้องกันกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย เช่น การฟอกเงิน การจัดหาเงินทุนของผู้ก่อการร้าย และการฉ้อโกง โดยจะตรวจสอบผ่านทางข้อมูลตัวตนลูกค้าและเอกสารทางการ เช่น หนังสือเดินทาง บัตรประจำตัวประชาชน ใบขับขี่ และบิลค่าสาธารณูปโภค 

KYC มีความสำคัญเนื่องจากช่วยให้ผู้ให้บริการรู้จักลูกค้าได้ดีขึ้น และตัดสินได้ว่าธุรกรรมของพวกเขาถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ด้วยการยืนยันตัวตนของลูกค้า บริษัทและผู้ประกอบการสามารถมั่นใจได้ว่าพวกเขากำลังติดต่อกับหน่วยงานที่ถูกต้องตามกฎหมายและไม่ใช่องค์กรอาชญากรรม สถาบันการเงินและผู้ให้บริการสินทรัพย์ดิจิทัลอื่นๆ ในประเทศไทย จึงต้องปฏิบัติตามกฎหมายข้อบังคับ ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 (Anti-Money Laundering Act, B.E. 2542) ซึ่งกำหนดให้สถาบันการเงินใช้ขั้นตอน KYC เมื่อเปิดบัญชีให้กับลูกค้าหรือผู้ใช้งานทุกคน

แนวทางปฏิบัติในการนําเทคโนโลยีมาใช้ในการทําความรู้จักลูกค้า

  1. การพิสูจน์ตัวตน (Identity proofing)
  2. การยืนยันตัวตน (Authentication)
  3. การทําความรู้จักลูกค้าในเชิงลึก (Client Due Diligence)
  4. การทบทวนข้อมูลลูกค้า (Ongoing / Enhanced KYC)

ตัวอย่างบริการทางการเงินในประเทศไทยที่ต้องทำ KYC

มีบริการทางการเงินมากมายในประเทศไทยที่ต้องดำเนินการตามขั้นตอน KYC เช่น

  1. ธนาคาร – ธนาคารในประเทศไทยกำหนดให้ดำเนินการตามขั้นตอน KYC ก่อนเปิดบัญชีให้กับลูกค้า ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีนโยบายให้ธนาคารทุกแห่งที่ให้บริการโมบายแบงก์กิ้งแอปพลิเคชัน ยกระดับความปลอดภัยในการทำธุรกรรมบนแอปฯ ธนาคาร เนื่องจากปัญหาเกี่ยวกับมิจฉาชีพ ธปท. จึงกำหนดให้ผู้ใช้บริการต้องยืนยันตัวตนเมื่อทำธุรกรรมตามกำหนด เริ่มภายในเดือนมิถุนายน 2566
  2. ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล – การซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทยจำเป็นต้องมีขั้นตอน KYC ก่อนที่จะอนุญาตให้ลูกค้าแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัลได้ ยกตัวอย่างเช่น Bitkub Exchange ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลก็ได้มีการจัดให้มียืนยันตัวตนก่อนใช้งานและการทบทวนข้อมูลบัญชีเมื่อใช้งานไประยะหนึ่ง ตามรอบระยะเวลาการเปิดบัญชีของลูกค้าแต่ละราย โดยเมื่อถึงรอบทบทวนข้อมูลดังกล่าว ลูกค้าจะต้องตรวจสอบและอัปเดตข้อมูลบัญชี (KYC) ให้เป็นปัจจุบัน เพื่อให้ข้อมูลบนระบบมีความถูกต้องมากที่สุด และสอดคล้องกับกฎหมายของไทย
  3. การจัดการการลงทุน – บริษัทจัดการการลงทุนในประเทศไทยกำหนดให้ดำเนินการตามขั้นตอน KYC ก่อนรับลูกค้า
  4. บริการโอนเงิน – บริการโอนเงินในประเทศไทยจำเป็นต้องมีขั้นตอน KYC ก่อนที่จะอนุญาตให้ลูกค้าโอนเงิน
  5. บริการประกันภัย – บริษัทประกันภัยในประเทศไทยกำหนดให้ดำเนินการตามขั้นตอน KYC ก่อนออกกรมธรรม์ให้กับลูกค้า

เคล็ดลับการ KYC ที่ง่ายและสะดวกในไทย

KYC เป็นกระบวนการที่จำเป็นสำหรับสถาบันการเงินและผู้ให้บริการสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทย ช่วยป้องกันกิจกรรมที่ผิดกฎหมายและอาชญากรรมทางการเงิน หากถึงกระบวนการพิสูจน์ตัวตนของลูกค้า (Verification) ในปัจจุบันมีบริการ “Dip Chip” คือ การตรวจสอบหลักฐานด้วยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ที่ถูกนำมาใช้ในขั้นตอนการเปิดบัญชีและทำความรู้จักลูกค้า (Know Your Customer หรือ KYC) ผ่านระบบออนไลน์ เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการตรวจสอบข้อมูลของลูกค้าโดยใช้เครื่องอ่านบัตรประชาชนแบบ Smart card หรือเครื่องมืออื่น ๆ ที่สามารถอ่านค่าและยืนยันตัวตนได้ โดยสิ่งสำคัญที่ต้องใช้ในการยืนยันตัวตนแบบนี้ คือ บัตรประชาชนแบบ Smart Card และใช้บัตรประชาชนของตนเอง ดำเนินการด้วยตนเองเนื่องจากระบบจะมีการเทียบข้อมูลและรูปภาพบนบัตร กับรูปถ่ายใบหน้าของท่านที่ร้านค้า ซึ่งหากข้อมูล/ใบหน้าไม่ตรงกัน พนักงานสามารถปฏิเสธการส่งข้อมูลได้

โดยระบบการพิสูจน์ตัวตนประเภทนี้ ผู้ใช้สามารถสอบถามและดำเนินการได้ที่ร้าน 7-Eleven หรือร้านค้าที่มีสัญลักษณ์เคาน์เตอร์เซอร์วิสทั่วประเทศ

อ้างอิง: Bitkub Exchange, Bitkub Blog, BOT, SEC, Dip Chip

บทความโดย: www.bitkub.com/blog


คำเตือน

สินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยง โปรดศึกษาและลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้

TSF2024