เทคโนโลยีบล็อกเชนทำให้การส่งต่อมูลค่าผ่านอินเทอร์เน็ตเกิดขึ้นได้โดยไม่ต้องผ่านตัวกลาง และยังเป็นพื้นฐานสำคัญของคริปโทเคอร์เรนซี DeFi ตลอดจน NFT
อย่างไรก็ตาม กำแพงสำคัญที่ผู้พัฒนาเครือข่ายบล็อกเชนต้องพิจารณาเสมอในการสร้างเครือข่ายบล็อกเชนนั่นก็คือ “Blockchain Trilemma” หรือกำแพงที่ขัดขวางไม่ให้บล็อกเชนสามารถบรรลุทั้งความกระจายศูนย์ (Decentralization) ความปลอดภัย (Security) และความสามารถในการขยายเครือข่าย (Scalability) ได้พร้อม ๆ กัน
เมื่อไรก็ตามที่เทคโนโลยีบล็อกเชนสามารถก้าวข้ามกำแพงทั้ง 3 ชั้นนี้ได้ การก้าวสู่ Mass Adoption อย่างแท้จริงก็จะอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมอีกต่อไป
ในบทความนี้ เราจะมารู้จักกับ Blockchain Trilemma พร้อมทำความรู้จักกับเครือข่ายบล็อกเชนที่กำลังเผชิญกำแพงสำคัญอันนี้ไปด้วยกัน!
Blockchain Trilemma คืออะไร?
Blockchain Trilemma คือแนวคิดที่ Vitalik Buterin ผู้สร้าง Ethereum ได้ระบุไว้ว่า การที่เครือข่ายบล็อกเชนจะสามารถก้าวสู่การ Mass Adoption หรือการใช้งานเป็นวงกว้างตั้งแต่บุคคลทั่วไปไปจนถึงนักลงทุน หรือเด็กตัวเล็ก ๆ ไปจนถึงผู้สูงอายุ บล็อกเชนจะต้องมีคุณสมบัติสำคัญ 3 อย่าง นั่นคือ
ความกระจายศูนย์ (Decentralization), ความปลอดภัย (Security) และความสามารถในการขยายเครือข่าย (Scalability)
อย่างไรก็ตาม เครือข่ายบล็อกเชนในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น Bitcoin, Ethereum และเครือข่ายอื่น ๆ ไม่สามารถมีคุณสมบัติทั้ง 3 อย่างนี้ได้พร้อม ๆ กัน นักพัฒนาสามารถเลือกที่จะให้บล็อกเชนของตนมีคุณสมบัติได้เต็มที่เพียง 2 ใน 3 และจำเป็นต้องสละอีก 1 คุณสมบัติไป นี่จึงเป็นกำแพงที่ผู้พัฒนาต้องหาหนทางก้าวข้ามไปให้ได้ เพื่อนำบล็อกเชนสู่การ Mass Adoption
แต่ก่อนที่จะไปดูกันว่าแต่ละเครือข่ายกำลังประสบปัญหาอะไร เรามาทำความรู้จักกับทั้ง 3 คุณสมบัติกันก่อน ดังนี้
1.ความกระจายศูนย์ (Decentralization)
ความกระจายศูนย์ หมายถึง เครือข่ายบล็อกเชนสามารถดำเนินการต่าง ๆ ได้โดยมีผู้ใช้ในเครือข่ายเป็นผู้ตรวจสอบและยืนยันข้อมูล โดยไม่ต้องอาศัยอำนาจของตัวกลาง เรียกได้ว่าเป็นคุณสมบัติหลักที่เครือข่ายบล็อกเชนทุกเครือข่ายต้องมีเลยก็ว่าได้
2.ความปลอดภัย (Security)
ความปลอดภัย หมายถึง ความสามารถในการป้องกันภัยคุกคามต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับเครือข่ายบล็อกเชน ตั้งแต่การโจมตีแบบ 51% (51% Attack) ไปจนถึงบัค (Bug) ต่าง ๆ
3.ความสามารถขยายเครือข่าย (Scalability)
ความสามารถขยายเครือข่าย หมายถึง เครือข่ายบล็อกเชนสามารถรองรับจำนวนผู้ใช้หรือธุรกรรมที่เพิ่มสูงขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่เกิดปัญหาคอขวดเมื่อมีจำนวนผู้ใช้งานในเครือข่ายสูง
ตัวอย่าง Blockchain Trilemma
Blockchain Trilemma ที่เครือข่ายบล็อกเชนปัจจุบันกำลังเผชิญ มักเป็นเรื่องของความสามารถขยายเครือข่าย (Scalability) เป็นส่วนใหญ่
โดยมีตัวอย่างคือ เครือข่าย Bitcoin ที่ปัจจุบันใช้ระบบฉันทามติ (Consensus Algorithm) แบบ Proof-of-Work ที่นักขุดในเครือข่ายจะใช้คอมพิวเตอร์ประมวลผลสุ่มหาคำตอบของสมการ แลกกับสิทธิ์ยืนยันธุรกรรม
การใช้ระบบ Proof-of-Work ทำให้ Bitcoin สามารถรักษาความปลอดภัยให้กับเครือข่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบกับการที่เครือข่าย Bitcoin มีจำนวนโหนด (Nodes) หรือนักขุดกระจายอยู่ทั่วทุกมุมโลก จึงทำให้ Bitcoin มีคุณสมบัติด้านความกระจายศูนย์เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ระบบ Proof-of-Work นี่เองที่เป็นตัวจำกัดทำให้เครือข่าย Bitcoin ไม่สามารถขยายขนาดเพื่อรองรับจำนวนผู้ใช้ที่สูงขึ้นได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เพราะยิ่งมีจำนวนนักขุดเยอะเท่าไหร่ เครือข่ายก็จะสร้างสมการให้ยากขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้นักขุดแก้สมการเร็วเกินไปและเพื่อป้องกันการเกิด 51% Attack
นอกจากนี้ เครือข่าย Bitcoin ยังมีขนาดบล็อกที่ใช้บันทึกธุรกรรมค่อนข้างจำกัด จึงมีผลกระทบคือยิ่งมีจำนวนผู้ใช้สูง ระยะเวลาที่ใช้ทำธุรกรรมด้วย Bitcoin ก็จะนานขึ้นเท่านั้น โดยเฉลี่ยแล้ว เครือข่ายบล็อกเชนของ Bitcoin สามารถยืนยันธุรกรรมได้ประมาณ 7 ธุรกรรม/วินาที เท่านั้น
นี่จึงเป็น Blockchain Trilemma ของเครือข่าย Bitcoin ที่มีคุณสมบัติในด้านความกระจายศูนย์ (Decentralization) และความปลอดภัย (Security) ครบครัน แต่ไม่สามารถมีคุณสมบัติในด้านความสามารถขยายเครือข่าย (Scalability) ได้พร้อม ๆ กัน
วิธีแก้ไข Blockchain Trilemma
เครือข่ายบล็อกเชนรุ่นใหม่ ๆ อย่าง Cardano (ADA), หรือ Polkadot (DOT) ใช้ระบบฉันทามติแบบ Proof-of-Stake (หรือ Nominated Proof-of-Stake สำหรับ Polkadot) แทนที่ระบบ Proof-of-Work
ทั้งนี้ เนื่องจากในระบบ Proof-of-Stake ผู้ตรวจสอบธุรกรรมจะต้องวางเงินค้ำประกันแลกกับสิทธิ์ตรวจสอบ โดยระบบจะเป็นผู้สุ่มเลือกผู้ตรวจสอบขึ้นมาในแต่ละบล็อก วิธีนี้ทำให้สามารถลดเวลาและพลังงานที่ใช้ลงได้อย่างมาก โดยเฉพาะ Cardano ที่อ้างว่าสามารถรองรับธุรกรรมได้มากถึง 257 ธุรกรรมต่อวินาที ซึ่งเร็วกว่า Bitcoin ถึง 3500% ขณะที่ Polkadot อ้างว่าสามารถยืนยันธุรกรรมได้สูงถึง 1,000 ต่อวินาที
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเครือข่ายอย่าง Cardano หรือ Polkadot ยังเป็นเครือข่ายที่ค่อนข้างใหม่ ยังไม่มีการทำธุรกรรมบนเครือข่ายหนาแน่นเหมือนกับ Bitcoin หรือ Ethereum ทำให้เครือข่ายใหม่เหล่านี้ยังไม่ได้พิสูจน์ตัวเองจากการใช้งานในเศรษฐกิจโลกจริงว่าจะสามารถแก้ปัญหา Scalability ได้หรือไม่
ขณะที่ Bitcoin และ Ethereum ที่แม้จะยังมีปัญหาด้าน Scalability แต่ทั้ง 2 เครือข่ายก็ได้พิสูจน์ให้โลกเห็นถึงคุณสมบัติด้าน Decentralization และ Security แล้ว นอกจากนี้ Ethereum ก็กำลังจะมีการพัฒนาเป็น Ethereum 2.0 ที่เปลี่ยนมาใช้ Proof-of-Stake อย่างเต็มรูปแบบ โดยคาดว่าจะเกิดขึ้นภายในปีหน้า จึงเป็นเรื่องที่น่าจับตาเป็นอย่างยิ่ง ว่าในอนาคตอันใกล้นี้ Bitcoin, Ethereum หรือเครือข่ายบล็อกเชนรุ่นใหม่ ๆ จะก้าวข้ามกำแพง Blockchain Trilemma ได้อย่างสมบูรณ์แบบหรือไม่
สรุป
Blockchain Trilemma คือกำแพงที่ขัดขวางไม่ให้เครือข่ายบล็อกเชนสามารถมีทั้งความกระจายศูนย์ (Decentralization) ความปลอดภัย (Security) และความสามารถขยายเครือข่าย (Scalability) ทั้ง 3 คุณสมบัติได้พร้อม ๆ กัน
อย่างไรก็ตาม ผู้พัฒนาเครือข่ายบล็อกเชนต่างกำลังหาหนทางที่จะก้าวข้ามกำแพงนี้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้เราเห็นถึงการพัฒนาหรืออัปเดตเครือข่ายบล็อกเชนกันอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น London Hard Fork ของ Ethereum, Alonzo Hard Fork ของ Cardano รวมถึงการอัปเดตอื่น ๆ ในอนาคต
การติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับคริปโทเคอร์เรนซีและบล็อกเชน จึงเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลประสบความสำเร็จ
อ้างอิง Gemini, CertiK, Shrimpy, Coinmarketcap, Vantica Trading
คำเตือน
ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน