รู้จักคริปโทเคอร์เรนซี 7 กลุ่มหลัก ก่อนเลือกลงทุน

นักลงทุนมือใหม่ที่เพิ่งเริ่มลงทุนในสกุลเงินดิจิทัล มักจะสับสนกับจำนวนสินทรัพย์ที่มีให้เลือกมากมายที่ Bitkub ซึ่งมีให้เลือกกว่า 47 รายการ

สงสัยกันหรือไม่ ว่าคริปโทเคอร์เรนซีแต่ละสกุลมีความแตกต่างกันอย่างไร ในบทความนี้ เราจะมาทำความรู้จักกับคริปโทเคอร์เรนซี 7 กลุ่มหลักที่ทุกคนสามารถใช้เป็นแนวทางสำหรับการเลือกลงทุนได้!

1. กลุ่มรักษามูลค่า (Store of Value)

เช่น Bitcoin (BTC), Litecoin (LTC), Bitcoin Cash (BCH)

จุดเด่นของเหรียญในกลุ่มนี้คือจำนวนเหรียญที่มีจำกัด โดยเฉพาะ Bitcoin ที่มีจำนวนจำกัดเพียง 21 ล้านเหรียญ ประกอบกับเครือข่ายของ Bitcoin ที่ได้รับการยอมรับว่าเครือข่ายที่น่าเชื่อถือและปลอดภัยที่สุดเครือข่ายหนึ่ง ทำให้นับวัน Bitcoin เริ่มมีสถานะใกล้เคียงกับ “ทองคำ” เข้าไปใหญ่ แต่เป็นทองคำดิจิทัลที่สามารถซื้อสะสมได้ง่ายกว่าทองคำจริง ๆ เสียอีก

มูลค่าของเหรียญในกลุ่มนี้ขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาดและข่าวสารต่าง ๆ นอกจากนี้ Bitcoin ยังเป็นคริปโทเคอร์เรนซีที่มีมูลค่าตลาดสูงที่สุดในปัจจุบัน การเคลื่อนไหวของราคา Bitcoin จึงมักจะส่งผลให้เหรียญอื่น ๆ ให้เคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกับ Bitcoin

2. กลุ่มสัญญาอัจฉริยะ (Smart contract)

เช่น Ethereum (ETH), Cardano (ADA), Polkadot (DOT), Kusama (KSM) ฯลฯ

จุดเด่นของเหรียญกลุ่มนี้คือการเป็นเครือข่ายบล็อกเชนที่สามารถใช้ Smart contract ได้ ทำให้นักพัฒนาสามารถสร้างแอปพลิเคชันแบบกระจายศูนย์ (Dapp) รวมถึง DeFi ขึ้นบนเครือข่ายเหล่านี้

สำหรับมูลค่าเหรียญในกลุ่มนี้ หลัก ๆ มักจะมาจากความต้องการของตลาดเช่นเดียวกับคริปโทเคอร์เรนซีสกุลอื่น ๆ และในบางครั้งที่เหรียญเหล่านี้มีการอัปเกรด หรือมี DeFi ที่น่าสนใจเกิดขึ้นบนเครือข่าย มูลค่าก็อาจเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน การติดตามข่าวสารอย่างต่อเนื่องจะมีประโยชน์มากสำหรับการลงทุนในเหรียญกลุ่มนี้

3. กลุ่ม DeFi (Decentralized Finance)

เช่น Uniswap (UNI), Maker (MKR), AAVE และอีกมากมาย

เหรียญกลุ่ม DeFi มักจะถูกสร้างขึ้นบนเครือข่ายบล็อกเชนที่มี Smart contract อย่าง Ethereum ทำให้เหรียญในกลุ่มนี้ถูกจัดเป็นโทเคน (Token) ซึ่งแต่ละเหรียญก็จะมีการใช้งานที่แตกต่างกันออกไป และมักจะใช้ได้เฉพาะแพลตฟอร์มที่เกี่ยวข้องเท่านั้น เช่น UNI จะใช้ได้กับ Uniswap หรือ AAVE ที่ใช่ร่วมกับแพลตฟอร์ม AAVE เป็นต้น

มูลค่าของเหรียญในกลุ่มนี้ นอกจากจะมาจากความนิยมในตัว DeFi หรือแพลตฟอร์มที่เกี่ยวข้องแล้ว บางครั้งมูลค่าเหรียญ DeFi ก็ผันผวนตามเครือข่ายที่เหรียญนั้นถูกสร้างขึ้นได้ด้วยเช่นกัน

4. กลุ่มส่งต่อมูลค่า (Value Transfer)

เช่น Ripple (XRP), Stellar (XLM)

เหรียญในกลุ่มนี้เป็นเหรียญของเครือข่ายที่ถูกพัฒนาขึ้นสำหรับการส่งต่อมูลค่าผ่านอินเทอร์เน็ตที่รวดเร็วและมีค่าธรรมเนียมถูกโดยใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน

จุดที่แตกต่างกันระหว่าง XRP กับ XLM คือ XRP เป็นเหรียญของเครือข่าย RippleNet ที่สร้างโดยบริษัท Ripple ใช้เพื่อเชื่อมต่อระบบชำระเงินของแต่ละธนาคารเข้าด้วยกันเป็นหลัก ทำให้เราสามารถเงินจากธนาคารหนึ่งไปอีกธนาคารหนึ่งที่อยู่ต่างประเทศได้อย่างรวดเร็วและมีค่าธรรมเนียมถูก

ขณะที่ XLM เกิดขึ้นจากองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร อย่าง Stellar Development Foundation โดย Stellar เป็นเครือข่ายที่มีพื้นฐานมาจาก RippleNet แต่มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงระบบการโอนเงินที่รวดเร็วและมีค่าธรรมเนียมต่ำ ไม่ใช่แค่ธนาคาร 

5. กลุ่ม Oracle

เช่น Chainlink (LINK), Band Protocol (BAND)

Oracle ในวงการบล็อกเชน คือผู้คอยป้อนข้อมูลจากโลกแห่งความจริงเข้าสู่บล็อกเชน เพื่อให้ Dapp หรือ DeFi สามารถนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้งานต่อได้ ซึ่งข้อมูลที่ Oracle คอยป้อนให้บล็อกเชน มีตั้งแต่ ราคาเหรียญ ราคาสินทรัพย์ ไปจนถึงข้อมูลทั่วไปอย่าง สภาพอากาศ หรือผลการแข่งขัน

Oracle นับเป็นอีกส่วนประกอบสำคัญที่วงการบล็อกเชนขาดไม่ได้ ขณะที่เหรียญในกลุ่ม Oracle ก็มักจะถูกใช้เพื่อให้สามารถเข้าถึงบริการของ Oracle มูลค่าของเหรียญก็เลยมาจากความนิยมใน Oracle แต่ละตัวนั่นเอง

6. กลุ่ม Stablecoin

เช่น USDT, USDC, DAI

เหรียญในกลุ่มนี้มีมูลค่าที่ค่อนข้างคงที่ เพราะได้ทำการผูกมูลค่าเข้ากับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในอัตรา 1:1 จึงเหมาะกับผู้ที่ไม่ชอบความผันผวนของมูลค่า หรือผู้ที่ต้องกระจายพอร์ตการลงทุน รวมถึงเหมาะสำหรับใช้แลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ

อย่างไรก็ตาม แม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นเหรียญที่มีมูลค่าคงที่ แต่เหรียญเหล่านี้ก็มีมูลค่าที่ใกล้เคียงกับเงินดอลลาร์ ดังนั้น ทิศทางเศรษฐกิจทั้งของไทยและสหรัฐอเมริกาต่างส่งผลต่อมูลค่าเหรียญเหล่านี้ได้ เหมือนกับการอ่อนค่า/แข็งค่าของเงินดอลลาร์เมื่อตอบรับกับข่าวเศรษฐกิจนั่นเอง

7. กลุ่มมีม (Meme)

เช่น Dogecoin (DOGE)

เหรียญในกลุ่มมีมอย่าง Dogecoin ส่วนใหญ่จะถูกสร้างขึ้นสนุก ๆ แต่เนื่องจากชื่อเสียงที่โด่งดังของ Dogecoin ทำให้เหรียญนี้สามารถใช้แทนการให้ทิปบนโซเชียล รวมถึงการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการจากร้านค้าที่รองรับได้

การลงทุนในเหรียญกลุ่มนี้ ส่วนใหญ่มักจะเป็นการเก็งกำไรระยะสั้น ๆ จากความผันผวนของราคาที่สูงกว่าเหรียญกลุ่มอื่น ๆ หากสนใจการลงทุนในเหรียญกลุ่มนี้ก็ต้องพอมีประสบการณ์ด้านการเทรดมาบ้าง เช่นรู้ว่าจังหวะไหนควรเข้าซื้อหรือเทขาย สามารถวิเคราะห์ทางเทคนิคได้ และที่สำคัญคือการใช้เงินเย็น หรือเงินที่สามารถเสียได้โดยไม่กระทบการใช้ชีวิตในการลงทุนเท่านั้น

อ้างอิง Coinmarketcap, Coingecko, General Knowledge

Bitkub.com


คำเตือน

ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน

TSF2024