ตราสารหนี้ คือ

สำหรับผู้ที่กำลังมองหาช่องทางการลงทุนเพิ่มเติมเพื่อกระจายความเสี่ยง และมีโอกาสให้ผลตอบแทนดีกว่าการฝากออมทรัพย์ ตราสารหนี้เป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ แต่ก่อนที่จะตัดสินใจลงทุนในตราสารหนี้ เราควรรู้ข้อมูลเกี่ยวกับตราสารหนี้ที่จะลงทุนก่อน

ตราสารหนี้ เป็นตราสารทางการเงินที่แสดงถึงความเป็นหนี้ระหว่างผู้ออกตราสารและผู้ถือตราสาร (ผู้ลงทุน) โดยตราสารหนี้ต้องมีกำหนดอายุ และอัตราดอกเบี้ยเป็นจำนวนที่แน่นอน ผู้ถือตราสารหนี้จะได้รับผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ยในระหว่างอายุของตราสารตามเงื่อนไขที่ได้ระบุไว้ ทั้งนี้ผู้ถือตราสารมีสิทธิ์ที่จะซื้อขายโอนเปลี่ยนมือกันได้

ผู้ออกตราสารหนี้ คือ ผู้กู้เงินจากผู้ที่ซื้อตราสารหนี้ ดังนั้น ผู้ออกจึงเป็น “ลูกหนี้” ในขณะที่ ผู้ซื้อ คือ “เจ้าหนี้” หรือ “ผู้ให้กู้”

ดังนั้นตราสารหนี้จึงแตกต่างจากหุ้น เพราะการซื้อตราสารหนี้ คือ การมีสถานะเป็นเจ้าหนี้ ซึ่งมีระยะเวลาในการลงทุน และมีผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ยที่กำหนดไว้แน่นอนในกรณีถือครองตราสารหนี้จนครบกำหนด เช่น ได้รับดอกเบี้ยแบบคงที่ ปีละ 2 ครั้ง และจะได้รับเงินต้นคืน ณ วันไถ่ถอน แต่การซื้อหุ้น คือ การเป็นเจ้าของกิจการ ดังนั้น ระยะเวลาในการลงทุนจึงขึ้นอยู่กับผู้ลงทุนเอง ผลตอบแทนขึ้นอยู่กับผลประกอบการของบริษัท โดยอยู่ในรูปของเงินปันผล รวมถึงส่วนต่างของราคาในกรณีมีการขายหุ้น

ตราสารหนี้ คือ

ก่อนจะลงทุน ต้องรู้องค์ประกอบหลักของตราสารหนี้ที่ออกขาย มีอะไรบ้าง?

  1. ผู้ออก (Issuer) ต้องมีการระบุชื่อผู้ออกตราสารหนี้หรือผู้กู้ ว่าเป็นใคร ซึ่งเป็นผู้ชำระคืนเงินต้นและจ่ายดอกเบี้ย
  2. การจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) คือ การจัดอันดับความน่าเชื่อถือ หรือโอกาสในการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทผู้ออกหรือตราสารหนี้นั้นๆ ซึ่งจะสะท้อนออกมาในรูปของอัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋วที่เพิ่มขึ้นจากผลตอบแทนของตราสารหนี้ที่ปลอดความเสี่ยง
  3. อัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋ว (Coupon Rate) คือ อัตราดอกเบี้ยที่ผู้ออกจะต้องจ่ายให้กับผู้ถือตราสารหนี้นั้นๆ ตามเวลาที่กำหนดตลอดอายุของตราสารหนี้นั้น ทั้งนี้การกำหนดอัตราดอกเบี้ยอาจเป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่ หรือเป็นอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัวก็ได้
  4. งวดการจ่ายดอกเบี้ย (Coupon Frequency) คือจำนวนครั้งของการจ่ายดอกเบี้ยต่อปี ขึ้นอยู่กับผู้ออกตราสารหนี้ มักกำหนดให้มีการจ่ายดอกเบี้ยทุกครึ่งปี หรือทุกไตรมาส แต่โดยปกติแล้วการจ่ายดอกเบี้ยมักจะจ่ายทุก 6 เดือน
  5. วันครบกำหนดไถ่ถอน (Maturity Date) คือวันหมดอายุของตราสารหนี้ที่ผู้ออกจะต้องจ่ายคืนเงินต้นและดอกเบี้ยงวดสุดท้ายให้แก่ผู้ถือตราสารหนี้
  6. ข้อสัญญา และประเภทของตราสารหนี้ (Covenant) คือ เงื่อนไขข้อกำหนดสิทธิที่ผู้ออกตราสารหนี้จะต้องปฎิบัติ หรืองดเว้นการปฎิบัติตลอดอายุของตราสารหนี้นั้น เช่น การดำรงสัดส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นไม่เกินอัตราส่วนที่กำหนด (D/E Ratio) การให้สิทธิในการไถ่ถอนตราสารนั้นๆก่อนกำหนด (Call Option)

แค่นี้การลงทุนจะในตราสารหนี้ก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป…

TSF2024