อินโดนีเซีย-Indonesia

ลงทุนในอินโดนีเซีย

ในแต่ละปี นักท่องเที่ยวคนไทยไปเยือนแดนอิเหนามากกว่าหนึ่งแสนคน โดยมีจุดหมายปลายทางหลักยังเกาะบาหลี ซึ่งเป็นหนึ่งในหมื่นเจ็ดพันเกาะของอินโดนีเซีย และยังเป็นเกาะที่งดงามที่สุดในเอเชียแปซิฟิก จนได้สมญานามว่า “อัญมณีแห่งมหาสมุทรอินเดีย”

ด้วยทำเลที่ตั้งอันโดดเด่นช่วยดึงดูดนักเดินทางจากนานาประเทศ เฉพาะปี 2015 ที่ผ่านมา มีผู้คนจากที่ต่างๆ เยี่ยมเยือนอินโดนีเซียถึง 9.73 ล้านคน และช่วยสร้างรายได้สู่หมู่เกาะแห่งนี้ถึง 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

มิเพียงสถานที่ท่องเที่ยวทั้งทางธรรมชาติและวัฒนธรรมอันน่าตื่นตาตื่นใจ ที่เป็นแม่เหล็กดูดดึงผู้คนและเม็ดเงินให้หลั่งไหลสู่แดนอิเหนา แต่ยังมีแรงดึงดูดด้านเศรษฐกิจ ที่คอยฉุดดึงความสนใจจากต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในประเทศอีกด้วย เห็นได้ชัดจากอินโดนีเซียนั้น เป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับเงินลงทุนจากต่างชาติสูง มูลค่า FDI ที่ขยับขึ้นในทุกปี จากราว 251 ล้านล้านรูเปียห์ ในปี 2011 มาเป็น 545 ล้านล้านรูเปียห์ในปี 2015 (ประมาณ 2.9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) จะเห็นว่าเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว

มิติทางเศรษฐกิจที่น่าสนใจของอินโดนีเซียมีอยู่หลายด้าน แต่ในครั้งนี้ขอเน้นเฉพาะประเด็นหลักๆ ที่ชักจูงเงินลงทุนเข้าประเทศ ได้แก่ 1) ขนาดเศรษฐกิจ 2) ประชากร และ 3) การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน

ขนาดเศรษฐกิจ

  • มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยมูลค่า 8.7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้วยอัตราเติบโตเฉลี่ย 5-6% ต่อปี แม้ในปี 2009 จะเกิดวิกฤตทางการเงิน แต่ยังเติบโตได้ 4.6% ถือว่าขยายตัวดีเป็นลำดับ 3 ในกลุ่มจี 20
  • คาดว่าภายในปี 2030 จะมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 7 ของโลก แซงหน้าเยอรมนีและอังกฤษ จากปัจจุบันอยู่ในลำดับ 16 (รายงานของแมคคินซีย์โกลบอล)
  • รายได้ต่อหัวประชากรอยู่ที่ 3,500 ดอลลาร์สหรัฐ แต่ก็มีอัตราเติบโตที่สูง เฉพาะ 5 ปีย้อนหลัง เฉลี่ยแล้วเติบโตถึง 5.8% ต่อปี

ประชากร

ถือเป็นทรัพยากรทรงคุณค่าที่จะนำพาประเทศให้ก้าวไกล ประเทศที่โดดเด่นด้านทรัพยากรมนุษย์ย่อมได้เปรียบกว่าประเทศอื่น สำหรับอินโดนีเซียแล้วนั้นโดดเด่นในด้านนี้ด้วย

  • จำนวนประชากร 256 ล้านคน มากเป็นลำดับ 4 ของโลก และมากที่สุดในอาเซียน
  • อายุเฉลี่ยประชากรไม่เกิน 30 ปี และมีวัยรุ่นในสัดส่วนค่อนข้างสูง โดยมีคนอายุไม่เกิน 24 ปี ถึง 43%
  • ชนชั้นกลางขยายตัวเพิ่มขึ้นในแต่ละปีถึง 7 ล้านคน (รายงานธนาคารโลก) และในปี 2020-2030 ชนชั้นกลางจะถึง 140 ล้านคน (รายงานของแมคคินซีย์โกลบอล)

ประชากรจำนวนมหาศาลย่อมหมายถึงกำลังซื้อภายในสูงมาก ก่อเกิดตลาดขนาดใหญ่ขึ้นในบ้านตัวเอง ประกอบกับชนชั้นกลางซึ่งกำลังขยายตัว ย่อมสร้างพฤติกรรมการบริโภคใหม่ๆ เช่นจับจ่ายใช้สอยสินค้าที่มีคุณภาพหนักขึ้น หรือเดินทางท่องเที่ยวสูงขึ้น พร้อมกับคาดหมายว่าในอีก 15-20 ปีหน้า ประชากรวัยทำงานจะเพิ่มถึงขีดสูงสุด ย่อมเกิดความได้เปรียบด้านแรงงานและกำลังการผลิต ทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างต่อเนื่องโดยไม่ขาดช่วง

การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน

ถือเป็นรากฐานของพัฒนาการที่สำคัญ เพื่อรองรับการเปลี่ยนสภาพสู่สังคมเมือง เพราะนอกจากจะช่วยเชื่อมโยงการคมนาคมระหว่างพื้นที่แล้ว ยังช่วยลดต้นทุนและเวลาเดินทาง-ขนส่งสินค้าอีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้นยังก่อเกิดการลงทุนและการจ้างงานสูงขึ้นในหลายภาคส่วนธุรกิจ

“การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานจะพลิกโฉมอินโดนีเซียได้เลย” คำกล่าวนี้ไม่เกินจริงแต่อย่างใด เพราะในอดีตนั้น รัฐบาลอินโดนีเซียลงทุนด้านนี้ค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค คิดเป็นอัตราส่วนต่อจีดีพีได้เพียง 2.1% เท่านั้น  จึงยังจำเป็นต้องพัฒนาโครงสร้างเหล่านี้อีกมาก โดยปัจจุบันรัฐบาลอินโดนีเซียซึ่งนำโดยประธานาธิบดีโจโก วีโดโด วางแผนลงทุนเพื่อเร่งรัดพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในหลายด้าน ด้วยงบประมาณถึง 14 ล้านล้านบาท ภายใน 5 ปีข้างหน้า

จากภูมิประเทศที่เป็นเกาะแก่งน้อยใหญ่มากมาย เมื่อระบบคมนาคมเชื่อมโยงถึงกันโดยสมบูรณ์แล้ว นอกจากประโยชน์จะตกต่อคนในประเทศ ยังเกิดผลดีกับธุรกิจท่องเที่ยว ทำให้นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน นั่นหมายถึงรายได้เข้าประเทศจะเป็นกอบเป็นกำมากขึ้นด้วย เพราะประเมินว่านักท่องเที่ยว 1 คน จะใช้จ่ายประมาณ 1,200 ดอลลาร์สหรัฐ ทั้งยังจะจ้างงานเพิ่มขึ้นถึง 13 ล้านตำแหน่ง หากเป็นไปตามเป้าหมายของรัฐบาลว่าจะให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวมีสัดส่วนต่อจีดีพีเพิ่มเป็น 8% ในปี 2019 (จากปัจจุบัน 4%)

ความโดดเด่นด้านขนาดเศรษฐกิจ ประชากร และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน จะเป็นพลังขับเคลื่อนอินโดนีเซียให้เป็นยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจได้ไม่ยากนัก ด้วยเหตุนี้การลงทุนในอินโดนีเซียจึงเป็นสิ่งจับต้องได้ เพราะมีแนวโน้มในอนาคตชัดเจน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่สัมพันธ์กับการอุปโภคบริโภค ค้าปลีก ก่อสร้าง รวมทั้งอสังหาริมทรัพย์ ที่พร้อมเติบโตเป็นอย่างดี

เขียนโดย ศิรารัตน์ อรุณจิตต์
Fund Management กองทุนบัวหลวง

ศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ : http://www.bblam.co.th/PR/index.html