ตลาดคนวัยเกษียณ

หลายคนคงเคยได้ยินอมตะวาจาว่า “เด็กในวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้า” จนคุ้นหู เพื่อชักชวนให้เห็นความสำคัญของวัยนี้ ขณะที่ธุรกิจหลากหลายประเภทก็ให้ความสำคัญกับลูกค้ากลุ่มนี้เป็นอย่างยิ่ง แต่เรากลับพูดถึงลูกค้าอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งอยู่ตรงกันข้ามค่อนข้างน้อย และหากจะกล่าวถึง ก็มักเน้นแต่เฉพาะโอกาสของกลุ่มธุรกิจการแพทย์หรือรักษาพยาบาลเสียมากกว่า นั่นคือกลุ่ม “ผู้ใหญ่ในวันนี้คือผู้เกษียณในวันหน้า” นั่นเอง

อัตราส่วนคนในวัยเกษียณที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ได้สร้างความท้าทายใหม่ๆ ให้รัฐบาลในนานาประเทศ โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาซึ่งมีประชากรวัยเกษียณเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่วนคนในวัยทำงานกลับลดจำนวนลง ขณะที่ประเทศยังขาดโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุขรวมทั้งระบบสวัสดิการ ที่พร้อมรองรับความเปลี่ยนแปลงได้อย่างทันท่วงที หรือกล่าวได้ว่าประชากรในประเทศเหล่านี้ “แก่ก่อนรวย”

ในสิ้นปี 2015 ประชากรโลกที่อายุเกิน 60 ปี มีมากกว่า 900 ล้านคน คิดเป็นราว 12% ของประชากรโลก และประเมินกันว่าภายในปี 2030 ประชากรกลุ่มนี้จะเพิ่มขึ้นถึง 1.5 พันล้านคน หรือประมาณ 18% ของประชากรโลก สาเหตุสำคัญที่ทำให้อัตราส่วนของคนวัยเกษียณสูงขึ้นมากก็คือ อัตราการเกิดลดลงและอายุขัยของประชากรเพิ่มขึ้น และด้วยวิวัฒนาการทางการแพทย์ช่วยให้คนวัยเกษียณยังแข็งแรง และมีคุณภาพชีวิตที่ดี จนสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างมากมาย

สัดส่วนผู้คนวัยเกษียณที่สูงขึ้นจึงไม่ได้นำมาแต่ความท้าทาย กลุ่มคนวัยเกษียณที่เติบโตจนกลายเป็นกลุ่มคนขนาดใหญ่ ยังนำมาซึ่งโอกาสให้ธุรกิจหลากแขนงอีกด้วย มิใช่เฉพาะธุรกิจโรงพยาบาลเท่านั้น ดังตัวอย่างเช่น

ธุรกิจสินค้าลักชัวรี (luxury)

ยูโรมอนิเตอร์เผยว่าภายในปี 2030 จะมีประชากรวัยเกษียณที่มีรายได้สูงเกิน 150,000 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี เพิ่มขึ้นถึง 140% ซึ่งกำลังเป็นกลุ่มคนที่น่าสนใจ เพราะส่วนมากเป็นผู้ปลอดจากภาระจำเป็นต่างๆ แล้ว ผ่อนบ้านผ่อนรถหมดแล้ว หรือลูกๆ เรียนจบหมดแล้ว ไม่เหมือนวัยกลางคนที่ยังต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายค่อนข้างมาก กลุ่มคนวัยเกษียณจึงมีกำลังซื้อมากกว่ากลุ่มไหนๆ สามารถจับจ่ายใช้สอยในสิ่งที่เคยปรารถนาหรือหมายตาเอาไว้ ผลสำรวจพบความแตกต่างอย่างสำคัญในการจับจ่ายสินค้าระหว่างวัยรุ่นและวัยเกษียณ คือ วัยเกษียณให้ความสำคัญกับคุณภาพมากกว่าปริมาณ และวัยรุ่นส่วนใหญ่ชอบจ่ายต่อชิ้นในมูลค่าต่ำ แต่จะกลับมาซื้อบ่อยๆ ขณะที่วัยเกษียณจะจ่ายต่อชิ้นในมูลค่าสูงกว่า แต่ก็ซื้อน้อยชิ้น ดังนั้นธุรกิจที่ต้องการจับตลาดลูกค้ากลุ่มนี้ ต้องรู้จักปรับแต่งสินค้าของตนเข้ากับสไตล์จับจ่ายใช้สอย

ธุรกิจแว่นตาและคอนแทคเลนส์

ในวัยที่อายุเริ่มมากขึ้น สายตายาวย่อมตามมาโดยอัตโนมัติ โดยบริษัท Essilor บริษัทอุตสาหกรรมเลนส์แว่นตาระดับโลก คาดการณ์ว่าภายในปี 2020 จะมีผู้ประสบปัญหาสายตาทั่วโลกเพิ่มขึ้นถึง 700 ล้านคน ขณะที่คนมีปัญหาสายตาในปัจจุบันยังตัดแว่นตาหรือใส่คอนแทคเลนส์แค่ 42% เนื่องจากหลากหลายสาเหตุด้วยกัน เช่น ไม่รู้ว่าตนเองมีปัญหาสายตา หรือทราบแต่ไม่มีกำลังทรัพย์ และในสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นตลาดแว่นตาที่ใหญ่สุดในโลก อีกทั้งประชากรยังมีรายได้สูง แต่ก็ยังใช้เลนส์ประเภท Progressive lens (เลนส์ผสมสำหรับแก้สายตาสั้นสายตายาวในเลนส์ชิ้นเดียว ทำให้ผู้มีปัญหาทั้งสายตาสั้นและสายตายาวร่วมกัน ไม่ต้องพกแว่นตาหลายคู่) เพียงแค่ 30% เท่านั้น ธุรกิจตรวจวัดสายตาและประกอบแว่นจึงเป็นอีกตลาดที่น่าสนใจ เพราะนอกจากคนวัยเกษียณจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แล้ว การบำบัดด้านการมองเห็นด้วยแว่นตาหรือคอนแทคเลนส์ก็ยังไม่สูงมากนัก

ธุรกิจผ้าอ้อมผู้ใหญ่

ก็เป็นอีกธุรกิจที่น่าจับตาเป็นอย่างมาก เพราะตลอด 5 ปีที่ผ่านมา มูลค่าตลาดกระดาษทิชชูทั่วโลกเติบโต 25% ตลาดผ้าอ้อมเด็กเติบโต 44% แต่มูลค่าตลาดผ้าอ้อมผู้ใหญ่เติบโตถึง 55% โดยตลาดหลักในเวลานี้ยังอยู่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ส่วนประเทศกำลังพัฒนากำลังไล่กวดตามอย่างรวดเร็ว เพราะปัจจัยต่างๆ ไม่ว่าสัดส่วนประชากรวัยเกษียณที่เพิ่มขึ้น รายได้ที่สูงขึ้น และช่องทางจัดจำหน่ายสินค้าที่สะดวกสบายยิ่งขึ้นช่วยหนุนตลาด ประจักษ์ชัดด้วยมูลค่าตลาดผ้าอ้อมผู้ใหญ่ในจีน อินเดีย และอินโดนีเซีย ซึ่งเติบโตอย่างรวดเร็วใน 5 ปีที่ผ่านมาถึง 165% 188% และ 649% ตามลำดับ

ธุรกิจเครื่องสำอาง

แม้ว่าผลิตภัณฑ์บำรุงผิวพรรณและเส้นผมให้ดูอ่อนเยาว์ (Anti-Aging product) จะเติบโตอย่างมาก แต่ผลสำรวจในคนวัยเกษียณ พบว่ามีแค่ 35% ที่ใช้สินค้ากลุ่ม Anti-Aging ต้องถือว่าน้อยมาก หากคิดว่าคนกลุ่มนี้ควรเป็นกลุ่มลูกค้าหลัก ทั้งนี้ในกรณีปกติ ราคาคือปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อ แต่จากผลสำรวจ ราคากลับเป็นปัจจัยที่มีผลน้อยสุดในกลุ่มคนวัยเกษียณ และมีแค่ 3% เท่านั้นที่ระบุว่าดารา พรีเซ็นเตอร์ หรือกิจกรรมการตลาดต่างๆ มีผลต่อการเลือกซื้อสินค้า และยังพบอีกว่าคนวัยเกษียณชอบผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติเฉพาะด้าน มีเพียง 30% เท่านั้นที่เลือกซื้อสินค้าในแบบอเนกประสงค์ (Multi-functionality) เพราะฉะนั้นความเข้าใจในพฤติกรรมของคนวัยนี้อย่างถ่องแท้ จึงมีส่วนสำคัญที่ทำให้ผู้ประกอบการเข้าถึงโอกาสทางธุรกิจ โดย Transparency Market Research คาดการณ์ว่า ตลาดเครื่องสำอางประเภทนี้ในอีก 5 ปีข้างหน้า จะเติบโตกว่า 45.5% สูงกว่าธุรกิจความสวยความงามโดยรวมที่เติบโตเพียง 15.7%

ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ

เป็นธุรกิจอีกแขนงที่น่าสนไม่แพ้กัน แต่อุปสรรคสำคัญจนทำให้เติบโตได้ไม่เต็มที่ ก็คือค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงจนผู้บริโภคเข้าถึงได้ลำบาก โดยเฉพาะการจ้างผู้ดูแลคนสูงอายุที่บ้านในสหรัฐฯ สูงถึง 6,000 – 8,000 ดอลลาร์ต่อเดือน แต่เทคโนโลยีไอทีที่ทันสมัยจะช่วยให้เราติดตามความเคลื่อนไหวของบุคคลผ่านเซ็นเซอร์ หรือจอมอนิเตอร์ต่างๆ อย่างสะดวก ในอังกฤษนั้นได้ประเมินกันว่าเทคโนโลยีเหล่านี้จะลดค่าใช้จ่ายได้ถึง 20% นั่นเท่ากับว่าค่าใช้จ่ายสำหรับดูแลผู้สูงอายุจะค่อยๆ ลดลงในอนาคต ทำให้คนวัยเกษียณในปัจจุบันและที่จะตามมาอีกมากเข้าถึงบริการเหล่านี้ได้ โดย Global Market Insights คาดการณ์ว่า ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุทั่วโลกภายในปี 2023 จะมีมูลค่าถึง 1.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโตจากปี 2015 ที่มีมูลค่าราว 6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เกือบเท่าตัว

ดังนั้นแล้วการเริ่มต้นศึกษาวิถีชีวิตและช่องทางการดำเนินธุรกิจ จากประเทศที่มีประชากรวัยเกษียณจำนวนมาก เช่น ญี่ปุ่น อิตาลี และเยอรมนีในวันนี้ นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพื่อช่วยให้เราได้เตรียมพร้อมสร้างโอกาสใหม่ๆ จากธุรกิจสำหรับคนวัยเกษียณในวันพรุ่งนี้

เขียนโดย มีชัย เตชาภิประณัย
ทีมจัดการกองทุนบัวหลวง

ศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ : http://www.bblam.co.th/PR/index.html