ในห้วงเวลา 60 ปีที่ผ่านมา หรือเพียงชั่วคนหนึ่งรุ่น สังคมโลกเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกฝ่ามือ จากเครื่องมือที่เกิดขึ้นเพื่อสื่อสารกันระหว่างนักวิจัยในห้องแลป ได้กลายเป็นโครงข่ายสื่อสารขนาดยักษ์ครอบคลุมทั่วโลก ที่วันนี้คือ “อินเทอร์เน็ต” ซึ่งนับวันจะใกล้ชิดชีวิตมนุษย์มากขึ้นเรื่อยๆ จนแทบจะขาดไม่ได้เสียแล้ว ลองนึกถึงสมาร์ตโฟนในวันที่สัญญาณเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตล่ม ใช้งานได้แค่โทร-เข้าออกดูสิ วันนั้นคุณหงุดหงิดสักแค่ไหน คุยกับเพื่อนผ่านไลน์ก็ไม่ได้ จะอินบอกซ์สั่งของทางเพซบุ๊คก็ติดขัด เพราะเมื่อชีวิตเราเชื่อมต่อหรือเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ความสะดวกสบายก็เกิดขึ้น
คนไทยกับออนไลน์
ในวันนี้ประเทศไทยมีประชากร 68 ล้านคน เข้าถึง/ใช้งานอินเทอร์เน็ตกว่า 38 ล้านคน คิดเป็น 56% หรือเกินครึ่งของประชากรทั้งประเทศไปแล้ว มีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ 47 ล้านคน แต่มีจำนวนหมายเลขโทรศัพท์จดทะเบียนถึง 82.8 ล้านเลขหมาย หรือ 122% ของประชากร และมีผู้ใช้งาน social media ผ่านโทรศัพท์มือถือถึง 34 ล้านคน นั่นคือครึ่งหนึ่งของคนไทยทั้งหมด
เทคโนโลยีที่สัมพันธ์กับอินเทอร์เน็ตได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนไทยมากขึ้น ผ่านอุปกรณ์พกพา เช่น โทรศัพท์มือถือ ที่ทั้งเล็กหรือเบาลง (เราไม่จำเป็นต้องเชื่อมต่อโลกออนไลน์ด้วยคอมพิวเตอร์อีกต่อไป) และทั้งราคายังต่ำลง (ลองเทียบราคาโทรศัพท์มือถือวันนี้กับเมื่อ 20 ปีก่อน) และเทคโนโลยีที่ส่งผ่านมายังเครื่องมือพกพาเหล่านี้ เอื้ออำนวยให้ชีวิตประจำวันสะดวกสบายและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เราไม่ต้องนอนดึกเพื่อรอดูรายการโปรดจากโทรทัศน์อีกแล้ว เพราะสามารถรับชมแบบ “ออนดีมานด์” จาก YouTube เมื่อไหร่ก็ได้ หรือช่องทางสนทนาออนไลน์ ไม่ว่าจะผ่าน Line หรือ Facebook ช่วยให้สื่อสารได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ไม่ว่าคู่สนทนาจะอยู่ตรงไหนในโลก เพียงแค่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้เป็นพอ
สังคมเครือข่าย แหล่งสมาคมออนไลน์
อินเทอร์เน็ตเชื่อมโยงมนุษย์เข้าหากันเพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน สังคมเครือข่ายหรือ social network สร้างโอกาสให้คนแนะนำตัวหรือผูกมิตรกับคนที่แตกต่างและห่างไกล บางครั้งอาจเป็นคนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนในโลกจริง แต่กลับสนิทสนมด้วยเพราะสนใจในเรื่องเดียวกัน หรือมีรสนิยมต้องกัน อีกทั้งยังใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์นี้เป็นพื้นที่สาธารณะเพื่อแบ่งปันข้อมูลสาระต่างๆ แลกเปลี่ยนทัศนคติ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ไปจนถึงร่วมกันทำกิจกรรมเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์บางอย่าง เช่น ระดมทุนเพื่อการกุศล เป็นต้น หนึ่งใน Social network ที่คนไทยนิยมอย่าง Facebook นั้น พาให้ประเทศไทยเป็นผู้ใช้งาน Facebook สูงติดอันดับต้นๆ หรือ 1 ใน 10 ของโลกทีเดียว
เชื่อมโยงทุกสิ่งโดย IoT (Internet of Things)
IoT นั้นคือแนวคิดว่าด้วยการเชื่อมต่ออุปกรณ์หรือข้าวของเครื่องใช้รอบตัว ให้ “สนทนา” ระหว่างกันได้ผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต โดยอาจติดตั้งซิมการ์ดหรือฝั่งชิปประมวลผลไว้ในอุปกรณ์เพื่อให้เชื่อมหากัน ที่เรียกว่า M2M (Machine to Machine) ในวันข้างหน้าเราจะค่อยๆ คุ้นเคยกับเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านทั่วๆ ไป หน้าตาธรรมดาๆ ไม่ว่ากาต้มน้ำ หมอหุงข้าวไฟฟ้า ตู้แช่ ฯลฯ แต่กลับเชื่อมต่อ/ออนไลน์ได้ ไม่ต่างจากโน้ตบุ๊ค หรือสมาร์ตโฟนที่เราใช้กัน ผู้ใช้งานสามารถสั่งการหรือควบคุมข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ในระยะไกล หรือผ่านทางอินเทอร์เน็ต เราอาจสั่งเปิดเครื่องปรับอากาศไว้รอก่อนจะถึงบ้านได้ เมื่อไปถึงห้องก็จะเย็นสบายทันที หรือเมื่อเราใกล้ตื่นนอน นาฬิกาจะสั่งกาน้ำร้อนให้อุ่นน้ำรอเพื่อชงกาแฟให้พร้อมในทันทีที่ลุกจากเตียง เป็นต้น คาดกันว่าภายในปี 2020 ข้าวของต่างๆ มากกว่าแสนล้านชิ้น จะเชื่อมถึงกันผ่าน IoT ทำให้ผู้บริโภคคุ้นเคยกับเทคโนโลยีการควบคุมสั่งการ ได้ในทุกสถานที่และทุกเวลา จนสร้างแบบแผนพฤติกรรมใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น
รูปแบบองค์กรที่เปลี่ยนไป
เทคโนโลยีไอทีได้เปลี่ยนโฉมงานบริหารองค์กรอย่างมากมาย โดยเฉพาะโลกปัจจุบันที่แข่งขันในเชิงธุรกิจอย่างรุนแรง องค์กรต่างๆ เริ่มปรับตัวและใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ต ทำให้พนักงานสามารถทำงานได้ “ทุกที่ทุกเวลา” ไม่บังคับให้ต้องเดินทางฝ่าการจราจรแสนสาหัส มานั่งที่สำนักงาน หรือไม่จำเป็นต้องกำหนด office hour ตายตัวตั้งแต่ 9 โมงเช้า จนถึง 5 โมงเย็นอีกต่อไป ก็เพราะแต่ละคนมีอุปกรณ์พกพาไม่ว่าแทบเล็ตหรือโน้ตบุ๊คที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้นั่นเอง นอกจากนี้ ออฟฟิศชั้นนำระดับโลกเริ่มปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ของตน ให้ดูเป็นมิตรยิ่งขึ้น ไม่จำเป็นต้องมีโต๊ะทำงานประจำ แต่พนักงานก็ยังทำงานได้ตามมุมต่างๆ ในสำนักงาน ไม่ว่าจะเป็นมุมกาแฟ หรือบนโซฟา ผ่านระบบไวไฟในสำนักงานนั่นเอง
StartUp ธุรกิจคลื่นลูกใหม่
การเติบโตในแบบก้าวกระโดดของเหล่า StartUp นั้น อาศัยฐานของเทคโนโลยีไอทีซึ่งอิงกับระบบออนไลน์ เพื่อขับเคลื่อนสร้าง Business Model ใหม่ และด้วยความเป็นผลิตภัณฑ์ดิจิทัล ยังช่วยให้ทำซ้ำได้แบบไม่มีข้อจำกัด ในต้นทุนที่ต่ำ และที่สำคัญก็คือสามารถกระจายโมเดลทางธุรกิจที่คิดค้นขึ้นไปใช้ได้ทั่วโลก จนเกิดสินค้าและบริการรูปแบบใหม่ๆ สร้างมูลค่าให้กับบริษัทได้อย่างก้าวกระโดด
ในวันนี้เราเริ่มคุ้นกับ FinTech กันบ้างแล้ว เพราะเป็นสาขาหนึ่งของ StartUp ซึ่งมาแรงอย่างยิ่ง โดยได้ประยุกต์เทคโนโลยีไอทีมาใช้ในธุรกิจการเงิน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้หบริโภคยิ่งขึ้น เช่นสร้างระบบ E-payment หรือชำระเงินออนไลน์ ซึ่งมีบทบาทสำคัญมากในงานอีคอมเมิร์ซ ขณะที่บางคนก็เริ่มชินกับธุรกิจอาหารแบบใหม่ ที่เรียกว่า FoodTech แล้ว อย่างเช่น Eatigo เสนอโปรโมชั่นส่วนลดและจองโต๊ะ Foodpanda บริการจัดส่งอาหาร หรือ Wongnai เพื่ออ่านรีวิวร้านอาหารต่างๆ ซึ่งบริการทั้งหมดสามารถใช้งานผ่านสมาร์ตโฟนได้อย่างสะดวกสบาย
ความเปลี่ยนแปลงในโลกยุคนี้ ไม่ต้องรอนานถึงร้อยปีแล้ว ใครที่ผ่านยุคเริ่มแรกของอินเทอร์เน็ตมาจนถึงวันนี้ ก็จะประจักษ์ชัดแจ้งในความเปลี่ยนแปลง เทคโนโลยีดังกล่าวเอื้ออำนวยให้ชีวิตมนุษย์ได้รับความสะดวกสบายมากขึ้นทุกขณะ
เขียนโดย รุ่งนภา เสถียรกูล
กองทุนบัวหลวง
ศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ : http://www.bblam.co.th/PR/index.html