ทรัพยากรมนุษย์

ครั้งหนึ่งนั้น ทรัพยากรมนุษย์ หรือ Human Capital เคยเป็นกำลังหลักขับเคลื่อนธุรกิจแทบจะทุกประเภท แต่ดูเหมือนว่าในปัจจุบัน การปฏิรูปเศรษฐกิจเชิงโครงสร้างในหลายประเทศไม่ว่าจะด้วยเจตนาหรือไม่ก็ตาม ทำให้ภาคอุตสาหกรรมที่พึ่งพาแรงงานในเชิงปริมาณมีบทบาทลดน้อยถอยลง อาทิประเทศจีนซึ่งกำลังเปลี่ยนถ่ายสถานะจากโรงงานผู้ผลิตของโลก มาเป็นสังคมผู้บริโภคอย่างเต็มตัว หรือแม้แต่ประเทศไทยเองซึ่งพยายามผลักดันให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมมูลค่าสูง จำเป็นที่บริษัทต้องใส่ใจต่อบุคลากรของตน เพื่อเพิ่มศักยภาพขององค์กร

รู้หรือไม่ว่า พนักงาน Google ได้รับสิทธิพิเศษเหล่านี้:

  • สามารถนำสัตว์เลี้ยงมาที่ทำงานได้
  • มีบริการนวดภายในสำนักงาน และสามารถเข้าคลาสออกกำลังกายฟรี
  • อาหารและขนมเพื่อสุขภาพฟรีตลอดวัน
  • หากเสียชีวิต คู่สมรสจะได้รับเงินช่วยเหลือเทียบเท่า 50% ของเงินเดือนพนักงานคนนั้นต่อไปอีก 10 ปี

เฉกเช่นทรัพยากรประเภทอื่น การลงทุนกับทรัพยากรมนุษย์ นอกจากเพื่อส่งเสริมให้บุคลากรมีคุณภาพชีวิตที่ดีแล้ว ยังจะตอบโจทย์ใหญ่ให้กับผู้ลงทุน ในช่องทางที่ก่อเกิดประโยชน์ต่อกิจการในที่สุด เช่น เปิดโอกาสให้พนักงานได้ฝึกฝนทักษะความก้าวหน้าทางวิชาชีพ เพื่อกลับมาช่วยเพิ่มขีดความสามารถของบริษัท หรือกำหนดมาตรการความปลอดภัยในอุตสาหกรรมหนักอย่างรัดกุม เพื่อลดอัตราบาดเจ็บ พร้อมทั้งช่วยเพิ่มผลิตภาพในระยะยาว เป็นต้น

หลายคนอาจเคยเห็นสภาพพื้นที่สำนักงานในหลายบริษัทชั้นนำของโลก อย่าง Google Facebook หรือ Lego ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างครบครัน เช่น ห้องออกกำลังกาย มุมพักผ่อน หรือพื้นที่สังสรรค์ภายในสำนักงาน ย่อมเกิดคำถามว่าทำไมบริษัทเหล่านี้ถึงลงทุนมหาศาลกับสิ่งที่ดูเหมือนจะไม่จำเป็นกับระบบงานหลักสักเท่าไหร่นัก – คำตอบอย่างสั้นคือ ปัจจัยเหล่านี้นั่นเอง ที่แยกแยะบริษัทผู้นำด้านการคิดค้นและสร้างสรรค์ออกจากบริษัททั่วๆ ไป

บทความจากวารสารวิชาการ  Asian Social Science (Ju, Soon Yew, et.al, 2008) เผยว่า สวัสดิการพนักงานเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อความใส่ใจในงานและประสิทธิผลอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยสวัสดิการพื้นฐานตามกฎหมายนั้นมีส่วนช่วยเพิ่มความตั้งใจโดยตรงในระดับหนึ่งเท่านั้น ขณะที่สวัสดิการเพิ่มเติมนอกเหนือกว่านั้น จะก่อให้เกิดจริยธรรมการทำงานในระดับที่สูงกว่า สอดคล้องกับผลการศึกษาของ Corporate Executive Board ซึ่งระบุว่าผู้ที่พึงพอใจกับสวัสดิการด้านชีวิตและการงานของบริษัท จะตั้งใจทำงานเพิ่มขึ้นถึง 20% และมีความเป็นไปได้สูงกว่า 1 ใน 3 ว่าพนักงานจะคงอยู่กับบริษัทนั้นๆ ในระยะยาว

อย่างไรก็ตาม สวัสดิการต่างๆ เป็นแค่แรงจูงใจด้านหนึ่งเท่านั้น การเปิดโอกาสให้บุคลากรได้มีบทบาทสำคัญในองค์กร และเสริมสร้างพัฒนาการในวิชาชีพ ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน หากย้อนกลับไปที่ Google ก็จะสังเกตถึงนโยบายลักษณะนี้ได้ไม่น้อย ตัวอย่างเช่นเวลาทำงานของพนักงานจะแบ่งออกเป็นสองส่วนส่วนหลัก 80% ไว้สำหรับทำงานในรับผิดชอบของตน ที่เหลืออีก 20% สามารถทุ่มเทให้กับโครงงานที่ตนเองสนใจค้นคว้าเป็นพิเศษ ซึ่งอาจก่อเกิดประโยชน์กับบริษัทในวันข้างหน้าได้

ตัวอย่างดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าทั้งสองฝ่ายล้วนแต่ได้รับประโยชน์  กล่าวคือ บุคลากรจะมีสุขภาพชีวิตและการงานก้าวหน้าขึ้น และองค์กรยังสร้างความผูกพันธ์ไว้กับพนักงานได้ สุดท้ายก็จะส่งเสริมจริยธรรมในการทำงานให้หมุนเวียนเป็นวงจรบวกต่อไปในอนาคต

กองทุนบัวหลวง

ศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ : http://www.bblam.co.th/PR/index.html