พลังงานสะอาด

ในยุคนี้ธุรกิจพลังงานกำลังเข้าสู่ช่วงการเปลี่ยนผ่าน พลังงานสะอาด (Green Energy) ทวีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ และค่อยๆ เข้ามาทดแทนพลังงานแบบเก่าที่ผลิตด้วยพลังงานความร้อน จนกลายเป็นพลังงานกระแสหลักมากขึ้นทุกวัน รูปแบบและการบริโภคพลังงานในอนาคตอีกไม่ไกลย่อมจะต้องแตกต่างไปจากวันนี้อย่างแน่นอน

ความเปลี่ยนแปลงเริ่มปรากฎชัดขึ้นในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะในประเทศจีนและประเทศอื่นๆ ในทวีปเอเชีย ซึ่งแต่ละปีจะมีเม็ดเงินลงทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนเป็นจำนวนมาก หากพิจารณาเฉพาะโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมในปี 2015 ได้ขยายกำลังผลิตไปแล้วถึง 118 กิกะวัตต์ จากปีก่อนหน้าที่มีกำลังผลิตราว 94 กิกะวัตต์ แต่หากพิจารณาเงินลงทุนที่ใช้สร้างโรงไฟฟ้าทั้งสองประเภทกลับกลายเป็นตรงกันข้าม โดยในปี 2015 ใช้ไป 1.99 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าเพียง 6% เท่านั้น สะท้อนถึงแนวโน้มต้นทุนการก่อสร้างที่ต่ำลง โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ ลดลงจาก 300 ดอลลาสหรัฐต่อเมกะวัตต์ชั่วโมง ในปี 2010 เหลือเพียง 120 ดอลลาสหรัฐต่อเมกะวัตต์ชั่วโมง ในปี 2015 (ค่าเฉลี่ยทั่วโลก)

นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า ต้นทุนผลิตในบางประเทศต่ำกว่าค่าเฉลี่ยมาก เช่นในอินเดียเมื่อปี 2016 มีโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ที่ชนะประมูลรับสัมปทานจากรัฐ โดยเสนอราคาขายไฟเพียง 64 ดอลลาสหรัฐต่อเมกะวัตต์ชั่วโมง (ประมาณยูนิตละ 2.24 บาท) เรียกว่าสามารถแข่งขันกับโรงไฟฟ้าแบบดั้งเดิมได้ดีขึ้นมาก

ควบคู่ไปกับพลังงานสะอาด ยังเกิดเทรนด์ทางเทคโนโลยีที่กำลังพัฒนาอย่างจริงจัง นั่นคือตัวเก็บประจุไฟฟ้า (power storage) หรือแบตเตอรี่นั่นเอง ความก้าวหน้าในการประดิษฐ์คิดค้นเรื่องนี้ จะช่วยพลิกโฉมพฤติกรรมการใช้พลังงานทีละเล็กละน้อย มิใช่แค่หนุนให้รถยนต์ไฟฟ้าได้รับความนิยมมากขึ้นแล้วเท่านั้น

แบตเตอรี่จะทำให้การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนมีเสถียรภาพที่จะปล่อยพลังงานมากยิ่งขึ้น (dependable) อย่างเช่นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ จะผลิตกระแสไฟฟ้าได้เฉพาะตอนกลางวัน และวันใดที่อากาศไม่แจ่มใส ก็จะผลิตไฟฟ้าได้น้อยลง แต่หากมีตัวเก็บประจุที่มีประสิทธิภาพไว้เก็บกักกระแสไฟฟ้า เพื่อรอจ่ายออกมาในตอนกลางคืน ก็จะช่วยให้โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เป็นโรงไฟฟ้าที่จ่ายกำลังไฟได้ตลอด 24 ชั่วโมง (base load) ได้ดีขึ้น ทำนองเดียวกับโรงไฟฟ้าพลังงานลม ซึ่งปกติแล้วไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าได้สม่ำเสมอตลอดวัน แบตเตอรี่ที่มีประสิทธิภาพจะช่วยบรรเทาปัญหาความไม่แน่นอนตรงนี้ได้ เมื่อเราสร้างแบตเตอรี่ที่มีศักยภาพได้ ถึงตอนนั้นการลงทุนเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนจะเพิ่มตามมา และที่สำคัญโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนสามารถก่อสร้างได้ในเวลาไม่กี่เดือน ต่างกับโรงไฟฟ้าแบบความร้อนที่มักใช้เวลาก่อสร้างนานหลายปี

ต้นทุนของตัวเก็บประจุไฟฟ้านั้น ลดลงต่อเนื่องในหลายปีที่ผ่านมา จากปี 2010 ต้นทุนยังสูงกว่า 1,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อ kwh (kwh = 1 ยูนิตของปริมาณกระแสไฟฟ้า) ลดลงเหลือแค่ 350 ดอลลาร์สหรัฐต่อ kwh ในปี 2015 และในปัจจุบัน ผู้ผลิตบางรายอ้างว่าสามารถผลิตด้วยต้นทุนต่ำเพียง 150 ดอลลาร์สหรัฐต่อ kwh เรียกได้ว่าถึงจุดคุ้มค่าเพียงพอที่จะผลิตใช้ในเชิงพาณิชย์แล้ว ที่ผ่านมาพบเห็นว่ามีการใช้งาน power storage กันบ้างแล้ว แต่ยังเป็นแค่ระดับเล็กๆ กำลังไฟฟ้าเพียงไม่กี่ MWh วันใดที่เทคโนโลยีด้านนี้พัฒนารุดหน้า รวมทั้งต้นทุนที่ลดต่ำลงอย่างรวดเร็ว ก็คาดว่าจะหนุนเนื่องให้เกิดการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

แม้ว่าแนวโน้มของโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนจะยังสดใสต่อไปจากนี้อีกหลายปี แต่โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนแบบเดิมก็ใช่ว่าจะลดความสำคัญลงในทันที ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับในแต่ละภูมิภาค ประเทศตลาดเกิดใหม่หลายประเทศยังมีกำลังการผลิตไฟฟ้าไม่เพียงพอ ที่จะรองรับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ และยังไม่สามารถลงทุนในพลังงานแบบใหม่ เพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าเก่าได้

การลงทุนในโรงไฟฟ้าที่ใช้พลังงานจากถ่านหินหรือก๊าซธรรมชาติยังคงสำคัญ เนื่องด้วยเทคโนโลยีโรงไฟฟ้าถ่านหินปัจจุบันนั้น สามารถลดการปล่อยมลพิษลงได้มากเมื่อเทียบกับโรงไฟฟ้ารุ่นเก่า ทำให้การลงทุนในโรงไฟฟ้าถ่านหินทั่วโลก (ในแง่ปริมาณกำลังการผลิตเป็น GW) ยังคงสัดส่วนสูงเป็นอันดับ 2 รองจากโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน (ข้อมูลปี 2015) ที่ 42 GW เมื่อเทียบกับโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน 134 GW ดังนั้น โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน แม้จะเป็นธุรกิจที่มิได้เติบโตแบบก้าวกระโดด แต่ก็ยังคงบทบาทและสามารถสร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการอย่างน้อยก็สักพักใหญ่ๆ

เขียนโดย พิชา เลียงเจริญสิทธิ์
กองทุนบัวหลวง

ศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ : http://www.bblam.co.th/PR/index.html