ความเสี่ยงที่สำคัญที่สุดในการลงทุนคือความเสี่ยงที่จะไม่มีเงินทองมากเพียงพอที่จะประสบความสำเร็จในเป้าหมายในอนาคต เช่น เป็นอิสระทางการเงินเมื่ออายุ 40 หรือ เกษียณอย่างมีความสุขเมื่ออายุ 65
ความเสี่ยงชนิดนี้อาจเรียกว่า ความเสี่ยงขาดแคลน (Shortfall risk)
กระปุกหมูออมสินไม่ได้ช่วยให้เงินเราปลอดภัย
จากบทความตอนที่แล้วเราได้ชี้ให้เห็นว่าการเก็บเงินสดอาจจะทำให้เรารู้สึกปลอดภัย แต่ที่จริงเรากำลังสูญเสียมูลค่าที่แท้จริงของสินทรัพย์อยู่ กระปุกหมูออมสินอาจจะเป็นโจรที่มาขโมยเงินของเราเรื่อย ๆ ทั้งนี้การลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลก็อาจจะสร้างผลตอบแทนให้เราได้บ้าง แต่ถ้าเราต้องการให้เงินของเราเติบโตอย่างมีนัยยะ พันธบัตรรัฐบาลอย่างเดียวก็ไม่เพียงพอ
เราจำเป็นที่จะต้องขึ้นรถไฟเหาะ
สินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนมากกว่าพันธบัตรรัฐบาลในช่วงเวลาที่ผ่านมา ไม่เคยจะให้ผลตอบแทนที่สม่ำเสมอเทียบเท่า การลงทุนสินทรัพย์เหล่านี้เปรียบเสมือนการขึ้นรถไฟเหาะที่มีทั้งขึ้นลง บางครั้งก็รวดเร็วรุนแรงเสียด้วย
การนั่งรถไฟเหาะนั้น ผู้เล่นมักรู้สึกทั้งความกลัว และ ความสนุกสนาน สุดท้ายหลาย ๆ คนเมื่อนั่งเสร็จก็มักจะจบด้วยความรู้สึกสนุกและรู้สึกดีกว่าก่อนขึ้นนั่งรถไฟ พวกเขาเหล่านั้นผ่านความกลัวที่ทำให้พบกับความสุขที่มากขึ้นหลังลงมาจากรถไฟ แต่ในขณะเดียวกันบางคนก็ลงจากรถไฟเหาะด้วยความกลัวสุดขีด บางคนถึงกับอาเจียนออกมาด้วยซ้ำ นี่เป็นตัวอย่างที่สามารถนำไปเปรียบเทียบกับนักลงทุนต่างๆ ที่มีระดับการหลีกเลี่ยงความเสี่ยง (Risk Aversion) ที่แตกต่างกันได้
ความแตกต่างระหว่างการนั่งรถไฟเหาะกับการลงทุน คือเราไม่จำเป็นต้องเรียนรู้วิธีสนุกสนานไปกับรถไฟเหาะเพื่อที่จะมีความสุขกับชีวิต แต่สำหรับการลงทุน เราจะต้องรับความผันผวนทั้งขาขึ้นขาลงที่มากขึ้น เพื่อให้ได้ผลตอบแทนระยะยาวที่มากขึ้น
ความเสี่ยง 2 ประเภทการลงทุน
เมื่อพูดถึงความเสี่ยงในการลงทุน มักมี 2 ความเสี่ยงสำคัญคือ 1. ความเสี่ยงด้านความผันผวน (Volatility Risk) และ 2. ความเสี่ยงขาดแคลน (Shortfall Risk)
เราจำการเล่นไม้กระดกตอนเด็กๆ ได้ไหม? ลองคิดภาพการเล่นไม้กระดกเมื่อเราพูดถึงความเสี่ยง 2 ประเภทนี้
ความเสี่ยงด้านความผันผวน (Volatility Risk)
หรือการขึ้นลงของราคาสินทรัพย์ ราคาสินทรัพย์ในตลาดมักมีการขึ้นลงทุกวัน ความผันผวนจึงเป็นมาตรฐานในการวัดความเสี่ยงของโลกการเงิน ความผันผวนที่สูงอาจมีผลให้รู้สึกเจ็บปวดทางอารมณ์ แต่สำหรับนักลงทุนระยะยาวแล้ว ความผันผวนไม่ใช่ความเสี่ยง เราให้นิยามความเสี่ยงคือการสูญเสียเงินต้นอย่างถาวร
ความเสี่ยงด้านความขาดแคลน (Shortfall Risk)
หรือความเสี่ยงที่เราไม่สามารถไปถึงเป้าหมายทางการเงินของเราได้ ตัวอย่างเช่น เราเก็บเงินมาทั้งชีวิต แต่วันที่เราเกษียณกลับมีเงินไม่เพียงพอ ความเสี่ยงนี้มักไม่ถูกพูดถึง แต่เป็นความเสี่ยงที่มีความสำคัญมากที่สุด
ไม้กระดกแห่งความเสี่ยง
ในไม้กระดกแห่งความเสี่ยงนั้น ซ้ายมือคือความเสี่ยงในปัจจุบัน ขวามือคือความเสี่ยงในอนาคต
ความผันผวนที่ต่ำในวันนี้ หมายถึง ความเสี่ยงขาดแคลนที่จะมากขึ้นในวันข้างหน้า ลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงต่ำวันนี้อาจทำให้รู้สึกปลอดภัย
เมื่อเราลงในสินทรัพย์ผลตอบแทนต่ำ เราจะได้ประโยชน์จากเงินที่ค่อย ๆ เติบโตอย่างช้า ๆ คงที่ จะไม่เกิดเหตุการณ์ที่เราเปิดบัญชีของเราขึ้นมา แล้วพบว่าเงินหายไป 30% แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือความเสี่ยงที่เราจะมีเงินไม่เพียงพอในอนาคต
ความผันผวนที่สูงในวันนี้ หมายถึงความเสี่ยงขาดแคลนที่ลดลงในวันข้างหน้า
ลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมากอาจจะทำให้รู้สึกเจ็บปวดในเบื้องต้น เมื่อบัญชีการลงทุนของเรามีมูลค่าลดลง บางครั้งลดลงมากเสียด้วย
แต่สินทรัพย์เสี่ยงเหล่านี้ มักให้ผลตอบแทนที่สูงขึ้นในภาวะปกติและลดความเสี่ยงขาดแคลนของเราลง มีผู้ให้คำแนะนำทางด้านการเงินจำนวนน้อยที่ตระหนักถึงการ Trade-Off นี้
สถาบันการเงินหลายแห่งจะมองความผันผวนเป็นความเสี่ยง และให้นักลงทุนยืนยันระดับความเสี่ยงที่รับได้ของตัวเอง ถ้านักลงทุนบอกว่ารับความเสี่ยงได้ต่ำ ผู้ให้คำแนะนำมักให้ลูกค้าคนนั้นลงทุนในสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำ ผลตอบแทนต่ำ พวกเขาลดความผันผวนก็จริง แต่กลายเป็นว่าวิธีนี้เพิ่มความเสี่ยงขาดแคลนแทน
ประเด็นคือผู้ให้คำแนะนำการลงทุนโดยมากไม่ได้อยู่กับเราไปจนถึงอนาคตซึ่งเราอาจประสบความเสี่ยงขาดแคลนอยู่ ดังนั้นบทเรียนคือ “จำไว้ว่าเราต้องดูแลสินทรัพย์ของเราด้วยตัวเราเองให้ดีที่สุด”
มันคือการหาสมดุล
พอร์ตการลงทุน All Weather Strategy มีเป้าหมายในการหาความสมดุล เรารู้ว่าแม้คนที่ชอบขึ้นรถไฟเหาะมากๆ ก็ยังมีความกลัวในบางจังหวะของการนั่งรถไฟเหาะ เป้าหมายหลักของเราคือลดความเสี่ยงขาดแคลน เพราะเป็นความเสี่ยงที่ต้องให้ความสนใจและสำคัญที่สุด
ดังนั้น เราจำเป็นที่จะต้องยอมรับความผันผวนบางส่วน ที่แน่นอนคือมากไปกว่าพอร์ตการลงทุนที่มีแต่พันธบัตรรัฐบาลแน่ ๆ แต่เราก็รู้ว่า ความผันผวนที่มากเกินไปก็เจ็บปวด และนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาด
อารมณ์ของเรามักส่งผลต่อการตัดสินใจที่ผิดพลาด
เรามักเห็นนักลงทุนเข้าตลาดหุ้น ณ จุดสูงสุดอยู่เป็นประจำ ตามมาด้วยการประสบกับภาวะขาลงอันยาวนาน สุดท้ายได้ไปขายที่จุดต่ำสุดอยู่เสมอ ประสบการณ์เช่นนี้ทำให้เกิดความเจ็บปวดและการขาดทุน บางครั้งรุนแรงถึงขั้นออกไปจากตลาดหุ้น สำหรับนักลงทุนกลุ่มนี้ เรามีเป้าหมายที่จะหาความสมดุลระหว่างความผันผวนและความเสี่ยงขาดแคลนในพอร์ต All Weather Strategy ของเรา
สำหรับผู้ที่ต้องการมีพอร์ตการลงทุนระยะยาว
แผนการลงทุนนี้สร้างขึ้นโดยมีสัดส่วนหลักคือหุ้น ซึ่งที่ผ่านมาเป็นสินทรัพย์ที่ช่วยให้ความมั่งคั่งของเราเติบโตได้ดีที่สุด ไม่มีสินทรัพย์ใดสามารถชนะอัตราเงินเฟ้อได้ดีกว่าหุ้น
ในประเทศไทยตั้งแต่ปี 1999 ตลาดหุ้นให้ผลตอบแทนหลังปรับด้วยอัตราเงินเฟ้อสูงกว่าสินทรัพย์อันดับสองรองลงมา (ในที่นี้คือพันธบัตรรัฐบาล) กว่า 4 เท่า แต่อย่างที่เราเห็น การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์นั้นไม่ได้ราบรื่นเสมอไป มันคือการนั่งรถไฟเหาะดี ๆ นี่เอง
ดูกันให้ชัด ๆ อีกรอบหลังจากปรับด้วยอัตราเงินเฟ้อ ไม่มีสินทรัพย์ไหนเอาชนะเงินเฟ้อได้ดีไปกว่าหุ้น ดังนั้นถ้าต้องการให้ความมั่งคั่งเติบโตอย่างมีนัยยะ เราจำเป็นจะต้องโฟกัสแผนการลงทุนของเราไปที่หุ้น
ลงทุนอย่างสม่ำเสมอในแผนการลงทุนระยะยาว
ลงทุนอย่างสม่ำเสมอในพอร์ตการลงทุนระยะยาวเป็นหนทางที่ดีที่สุดในการสร้างความมั่งคั่งระยะยาว การลงทุนระยะยาวช่วยให้เราไม่จำเป็นที่จะต้องมานั่งเฝ้าดูตลาดทุกวี่วัน และความผันผวนก็เป็นสิ่งที่น่าห่วงน้อยลง ง่าย ๆ คือ การลงทุนระยะยาวสามารถลดความเครียดของเราลง
พอร์ต All Weather Strategy จะช่วยให้เราได้ผลตอบแทนจากหุ้นในระยะยาว ในขณะที่ลดความรุนแรงของการขาดทุนในช่วงภาวะตลาดขาลง หากสนใจดูข้อมูลและลงทุนในพอร์ตนี้ สามารถคลิกที่นี่ https://www.finnomena.com/port/andrew/ หรือแบนเนอร์ข้างล่างได้เลยครับ
เผยแพร่ครั้งแรกที่ BecomeaBetterInvestor.net
https://becomeabetterinvestor.net/blog/two-types-of-risk-but-only-one-really-matters/