วิถีแห่งวาจาสิทธิ์ของทรัมป์ กับกรณีคว่ำบาตรอิหร่าน

อย่างที่หลายๆ คนคงเคยได้ยินมา… 

ว่าภายใต้การนำประเทศสหรัฐของทรัมป์นั้น มีเรื่องให้แปลกใจมากมาย ทั้งสงครามการค้า การต่อว่าผู้ว่าการธนาคารกลาง และ การเอาตลาดหุ้นเป็นตัวประกันเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา

มีสิ่งหนึ่งที่ทรัมป์ทำอย่างต่อเนื่องไม่หยุดหย่อน ก็คือ การพูด การทวีต และการผรุสวาท ซึ่งผลต่อตลาดทั่วโลกไม่น้อย ทั้งในการสร้างความกังวลและการทำให้นักลงทุนคลายกังวลกันรายวัน จนราคาสินทรัพย์หลายๆ ชนิด เรียกได้ว่า ขึ้นอยู่กับการทวิตของแกเลยทีเดียว จนอาจเรียกได้ว่าเป็น “วาจาสิทธิ์” ของทรัมป์

และในครั้งนี้ ทรัมป์ ก็พยายามคงความมีอำนาจของคำพูดตนไว้ในกรณีของราคาน้ำมันและกรณีคว่ำบาตรอิหร่านด้วย ซึ่งอย่างที่ทราบกัน ว่าทรัมป์นั้น ประกาศถอนตัวข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่านตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยพยายามลดทอนอำนาจของอิหร่านลง ผ่านทางการคว่ำบาตร โดยสหรัฐอ้างว่า ต้องการให้อิหร่าน เป็นประเทศ “ปรกติ” ที่ไม่ไปยุ่มย่าม ในประเทศแถบซีเรีย อิรัก และเยเมน (ซึ่งตรงนี้ อาจหมายถึงสหรัฐที่เชื่อกันว่าหนุนหลังซาอุฯอยู่ ต้องการที่จะให้ซาอุฯ มีอำนาจในแถบนั้นมากขึ้น แต่ประเด็นนี้ขอยกไว้ก่อน) และต้องการให้อิหร่านหยุดการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์

สหรัฐจึงเริ่มมาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน เพื่อหยุดอำนาจเงินจากการขายน้ำมันของอิหร่านที่มีมากจนสามารถนำไปใช้อาวุธนิวเคลียร์ และ แผ่ขยายอำนาจผ่านทางการให้การสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายในพื้นที่ต่างๆ ได้ จึงมีมาตรการให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกหยุดซื้อน้ำมันจากอิหร่านทั้งหมด ควบคู่ไปกับการห้ามทำธุรกรรมทางการเงินกับอิหร่าน

โดยมีการใช้กลยุทธ์ที่ใช้กับเม็กซิโก แคนาดา และสหภาพยุโรป นั่นก็คือ การตั้งเป้าหมายแบบสุดโต่ง แต่ก็เหลือช่องทางให้ถอย เพื่อต้องการที่จะต่อรองให้ได้ในสิ่งที่ตนต้องการ ซึ่งในคราวนี้ ทรัมป์ก็ใช้วิธีการแบบเดิม นั่นคือ ตั้งเป้าหมายการส่งออกน้ำมันของอิหร่านให้เหลือศูนย์ หากมีประเทศใด ที่ยังคงนำเข้าน้ำมันจากอิหร่าน จะต้องถูกลงโทษทางการค้า ซึ่งเป็นเรื่องที่หลายๆ ประเทศให้ความสำคัญ เพราะน้ำมันราคาถูกจากอิหร่านนั้น เปรียบเทียบไม่ได้เลยกับมูลค่าทางเศรษฐกิจ ที่อาจสูญหายไปหากสหรัฐปิดกั้นประเทศของตน

แต่ถึงอย่างนั้น สหรัฐเองก็ทำให้แปลกใจอีกครั้ง เมื่อมีการเปิดเผยออกมาว่า จะยังยอมให้ 8 ประเทศ นำเข้าน้ำมันจากอิหร่านได้อยู่ แต่ต้องค่อยๆ ลดปริมาณลงเรื่อยๆ มิฉะนั้นจะโดนลงโทษเช่นเดียวกัน อันประกอบไปด้วย ญี่ปุ่น อินเดีย เกาหลีใต้ และที่เหลือยังไม่เปิดเผย แต่คาดว่าไต้หวัน จะเป็นหนึ่งในนั้น

คำถามสำคัญคือ ทำไม?

คำตอบที่ทางบลูมเบิร์กให้มาก็คือ นี่เป็นศิลปะการเจรจาของทรัมป์ ที่นอกจากจะใช้ความสุดโต่งแล้ว ทรัมป์เองยังต้องการคงอำนาจและผลกระทบจากวาจาของตนเอาไว้ด้วย เพราะหากการส่งออกน้ำมันของอิหร่านเป็นศูนย์โดยที่ ซาอุฯและคูเวต ยังไม่ยอมผลิตน้ำมันออกมาเพื่อชดเชยอย่างเต็มที่

สิ่งที่ตามมาคือ Price Shock อย่างแน่นอน ซึ่งจะหมายถึงอัตราเงินเฟ้อของประเทศต่างๆ และชาวสหรัฐเองที่จะต้องเผชิญกับราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นตามต้นทุนจากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวได้ นอกจากนั้นแล้วการเหลือปริมาณน้ำมันส่งออกของอิหร่านเอาไว้ สำหรับประเทศที่ยกเว้นนั้นยังช่วยคงความเป็นวาจาสิทธิ์ของทรัมป์ เสมือนที่เค้าใช้ทวิตเตอร์อาจจะเรียกได้ว่า “ปั่น” ตลาดโลกมานับตั้งแต่ขึ้นรับตำแหน่ง

เพราะการเหลือช่องเอาไว้ จะช่วยให้ทรัมป์ยังสามารถ ทวิต หรือ ใช้คำพูด เกี่ยวกับสถานการณ์นั้นๆ ได้อย่างสม่ำเสมอ เพื่อสร้างราคา ซึ่งในที่นี้คือราคาน้ำมันได้ต่อไปซึ่งหมายถึง หากเฮียแกอารมณ์ดี ก็อาจจะปล่อยเงียบๆ ไป ให้ราคาน้ำมันทรงๆ แต่วันดีคืนดี หากต้องการให้ราคาน้ำมันดีดขึ้นมา ไม่ว่าจะด้วยจุดประสงค์ใด…

เฮียแก แค่บรรจง พิมพ์ลงในทวิตเตอร์ ว่าจะคว่ำบาตรเพิ่ม หรือทำเป็นกดดันประเทศที่ยังนำเข้าน้ำมันเหล่านั้นอยู่ ให้ลดการนำเข้าลง

เท่านี้ ราคาน้ำมัน ก็น่าจะดีดให้เฮียแกได้ชื่นใจในทันที…

Sources
https://www.bloomberg.com/…/trump-s-iran-sanctions-won-t-sq…

https://www.dailydot.com/la…/time-magazine-cover-trump-king/