นักลงทุนสายตาสั้น กับแท่งเขียวแสนยาวของตลาดหุ้นสหรัฐฯ

หากนับตั้งแต่การพบผู้ติดเชื้อ COVID-19 ครั้งแรกที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีนนั้น การแพร่ระบาดของไวรัสนี้กินเวลากว่า 1 ไตรมาสเป็นที่เรียบร้อย และจากจุดเล็ก ๆ ตรงนั้นก็กลายเป็น 1 เหตุการณ์มหาวิปโยคที่สร้างแรงกดดันต่อตลาดการลงทุนทั่วโลกหลังจากวิ่งเป็นม้าเมาม้ามานานกว่า 10 ปี ที่มีการสะดุดระหว่างทางจากกรณีสงครามการค้า

แต่สัปดาห์ล่าสุดนั้น ตลาดหุ้นสหรัฐฯ กลับปรับตัวขึ้นกว่ามากกว่า 10% ทั้ง 3 ดัชนี อันประกอบไปด้วย

  • S&P 500 ที่ปรับตัวขึ้นกว่า 12.10% ซึ่งครั้งล่าสุดที่ขึ้นแรงกว่านี้ ต้องย้อนกลับไปยังปี 1974 ที่เป็นช่วงที่สงครามน้ำมันเมื่อปี 1973 เริ่มหาข้อยุติได้กันเลยทีเดียว
  • ขณะที่ NASDAQ ปรับตัวขึ้นกว่า 10.59% เป็นการขึ้นแรงที่สุดนับตั้งแต่ก่อนวิกฤติ Dot Com ในปี 2000 หรือกว่า 20 ปีมาแล้ว
  • ด้าน Dow Jones นั้นปรับตัวขึ้นกว่า 12.67% ครั้งสุดท้ายที่ปรับตัวขึ้นมากกว่านี้ ในช่วง 23-27 มีนาคมที่ผ่านมานี่เอง

นักลงทุนสายตาสั้น กับแท่งเขียวแสนยาวของตลาดหุ้นสหรัฐฯ

รูปที่ 1 อัตราผลตอบแทน S&P 500, NASDAQ, Dow Jones เฉลี่ยรายสัปดาห์ และครั้งสุดท้ายที่ปรับตัวมากขึ้นมากกว่าสัปดาห์ที่ 6/4/20 – 10/4/20

ซึ่งในกรณีของ Dow Jones นั้นเหมือนจะไม่นาน แต่ก็แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าตลาดนั้นบวกขึ้นแรงมากแค่ไหน ท่ามกลางแรงกดดันของการแพร่ระบาดที่ยังยากจะคาดเดาว่าจะไปสิ้นสุดเมื่อใด

ถือว่าเป็นอะไรที่ประหลาดไม่น้อย เมื่อดูตัวเลขการตกงาน (Initial Jobless Claim) ที่ประกาศออกมาพุ่งเร็วและแรงมาที่สุดเป็นประวัติการณ์ ด้วยการตกงานระดับ 16.8 ล้านคนภายในระยะเวลา 3 สัปดาห์เท่านั้น

ส่วนหนึ่งนั้นน่าจะเป็นผลมาจากความยากในการคาดเดาถึงผลกระทบของ COVID-19 ด้วย ที่ท้ายที่สุดแล้ว ไม่สามารถทราบได้อย่างแน่ชัดว่าจะไปจบลงที่ใด ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนต่าง ๆ จะถล่มทลายแค่ไหน หุ้นกู้จะผิดนัดชำระหนี้หรือไม่

เมื่อประกอบกับ ความขยันของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ที่ขยันมากเป็นพิเศษในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายนที่ผ่านมานั้น ด้วยการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบถี่ยิบ ซึ่งหากไม่ชัดเจนว่าถี่มากแค่ไหน ก็สามารถดูได้จาก Timeline การทำงานของ FED

นักลงทุนสายตาสั้น กับแท่งเขียวแสนยาวของตลาดหุ้นสหรัฐฯ

รูปที่ 2 นโยบายการเงินที่ Fed ดำเนินการในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา l Source :  Bloomberg As of 01/04/2020

(ซึ่งต้องบอกว่าในรูปนั้น อัพเดตถึงแค่ 1 เมษายนที่ผ่านมาเท่านั้นเอง ไม่รวมมาตรการอื่น ๆ ที่มาหลังจากนี้ด้วยซ้ำ)

ทำให้นักลงทุนนั้น เกิดอาการสายตาสั้นขึ้นมา บนความคาดหวังที่ว่า มาตรการที่มหาศาลขนาดนี้ของ FED เมื่อประกบกับมาตรการทางการคลังของทรัมป์แล้วนั้น จะช่วยให้ตลาดหุ้นยังคงเป็นขาขึ้นได้ต่อไป

โดยลืมคำนึงไปว่า ท้ายที่สุดแล้วนั้น แรงเหวี่ยงของเศรษฐกิจนั้น ไม่ได้นึกจะเหวี่ยงกลับจากฟุบ เป็น ฟื้นได้อย่างง่ายดายเหมือนพลิกฝ่ามือ และยังมีความไม่แน่นอนอีกมากที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต

แต่อย่างหนึ่งที่ #แอดลุง เชื่อเหลือเกินว่ามีโอกาสเกิดสูงก็คือ ความคาดหวังนี่เอง ที่อาจเป็นปัจจัยสำคัญให้ตลาดหุ้นกลับมาผันผวนแรงได้อีกครั้ง ตามทฤษฎีวงจร Expect & BIAS ใน Post นี้

หากอธิบายโดยง่ายก็คือ เพราะสุดท้ายแล้วนั้นอย่างที่เราทราบกันดีว่าการลงทุนในตลาดหุ้น ไม่ใช่การลงทุนในตัวเลขปัจจุบันแต่อย่างใด แต่เป็นการลงทุนบนความคาดหวังว่า บริษัทนั้น ๆ จะเติบโตเท่านี้ บริษัทนี้ที่เราชอบจะไม่เจ็บจาก COVID-19 เมื่อได้รับมาตรการเยียวยาของ FED ซึ่งความคาดหวังเหล่านี้ก็เกิดมาจาก Bias ทั้งหลายในใจของนักลงทุน และก็วนต่อไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งข้อเท็จจริงทางด้านปัจจัยพื้นฐานนี่เองปรากฏ

ซึ่งหากเป็นไปตามคาด หรือดีกว่าคาด แรงเหวี่ยงจากลูปดังกล่าวก็จะยิ่งแรงขึ้นไปอีก แต่ธรรมชาติของความคาดหวังนั้นก็เหมือนหนังสติ๊ก ที่ยิ่งดึงตึง หนังสติ๊กยิ่งมีแรงดีดไปได้ไกล แต่หากพลาดพลั้งขึ้นมาหนังสติ๊กนั้นก็ดีดหน้าเราได้

ฉันใดฉันนั้น Expect + Bias ยิ่งมากขึ้นฉันใด เวลาผิดหวังตลาดก็ดีดกลับได้แรงมากขึ้นเท่านั้น

ส่งผลให้เมื่อฤดูกาลประกาศผลประกอบการใกล้เข้ามา ความจริงทางด้านปัจจัยพื้นฐานปรากฏ ก็จะมีทั้งคนที่มองว่าดีกว่าคาด และคนที่มองว่าแย่กว่าคาด ซึ่งจะส่งผลให้ตลาดหุ้นเลือกทางอีกครั้ง ซึ่งเป็นไปได้ทั้งขึ้นต่อ หรือลงเหวยังไม่อาจคาดเดาได้

แต่สิ่งหนึ่งที่ #แอดลุง เชื่อเหลือเกินก็คือว่า ความผันผวนจากการสู้กันระหว่างคน 2 กลุ่มนั้นจะกลับมาอีกครั้ง ก่อนที่ตลาดจะเลือกทางอย่างแท้จริง

หากใครชอบความตื่นเต้นเร้าใจ โอกาสเล่นตามแรงเหวี่ยงช่วงนั้นก็น่าสนใจไม่น้อย

แต่สำหรับสาย Conservative ด้านการลงทุนอย่างผม บอกตามตรงเลยว่าทยอยสะสมทอง กับถือเงินสดอย่างเดียวเลยจ้า

AKN Blog

TSF2024