Set Aside คืออะไร? หลังการบินไทยเข้าแผนฟื้นฟู

หนึ่งข่าวใหญ่ในวันนี้คงหนีไม่พ้น การบินไทย ซึ่งเคาะออกมาเป็นที่เรียบร้อยว่า “ไม่อุ้มนะจ๊ะ เข้าแผนฟื้นฟู ปรับตัวตามธรรมชาติไป” ซึ่งรายละเอียดในเรื่องนี้มีอยู่มากมาย เราไม่ขอกล่าวถึง แต่จะขอกล่าวถึงหนึ่งในผลกระทบที่ตามมาต่อนักลงทุนกองทุนรวมทั้งหลาย

เนื่องจากการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูนั้น มีข้อบังคับที่ช่วยเอื้อกิจการที่กำลังจะฟื้นฟูบางส่วนดังนี้ 4.ห้ามฟ้องลูกหนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ และห้ามฟ้องลูกหนี้เป็นคดีล้มละลาย อาทิ

  • ห้ามเสนอข้อพิพาทที่ลูกหนี้อาจต้องรับผิด หรือได้รับความเสียหายให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาด ถ้ามูลหนี้นั้นเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน
  • ห้ามเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ ถ้ามูลหนี้ตามคำพิพากษานั้นเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน
  • ห้ามเจ้าหนี้มีประกันบังคับคดีเอากับทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน
  • ห้ามมิให้เจ้าหนี้ที่บังคับชำระหนี้ได้บังคับได้เองตามกฎหมายยึดทรัพย์สินหรือขายทรัพย์สินของลูกหนี้

ซึ่งตีความโดยง่ายก็คือ ระหว่างที่อยู่ในแผนนี้อย่าเพิ่งมาทวงหนี้นะจ๊ะ ขอเอาใจทั้งหมดไปทุ่มให้การทำแผนฟื้นฟูก่อน ส่วนหนี้ทั้งหลาย ก็รอแป๊บ ขอเจรจาก่อนว่าจะยืดเวลาชำระออกไป หรือจะขอลดหนี้ หรือจะทั้งยืดและทั้งขอลดหนี้ดี

เพื่อที่จะได้มีเวลาในการทำแผนฟื้นฟู โดยปราศจากการรบกวนจากปัจจัยภายนอก ซึ่งอาจกระทบต่อแผนได้อย่างมีนัยสำคัญ ทำให้กองทุนรวมทั้งหลาย ที่ลงทุนในหุ้นกู้การบินไทยนั้น เกิดอาการขาดสภาพคล่อง และ ขาดรายได้จากหุ้นกู้ของการบินไทย โดยทันที

ย้ำอีกครั้งว่าขาดจากหุ้นกู้ที่มีปัญหาเท่านั้น

ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว อาจทำให้ราคาหุ้นกู้ ที่ซื้อขายในตลาดรองนั้น อาจจะเหวี่ยงได้แรงมหาศาล หรือ อาจจะไม่มีใครซื้อเลยก็ได้ ซึ่งทางกลต. นั้นก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้เตรียมมาตรการที่เรียกว่า Set Aside เอาไว้เรียบร้อย

Set Aside ก็ตรงตามชื่อเลยครับ คือการแยกเอาไว้ข้าง ๆ ในที่นี้ก็คือหุ้นกู้ตัวไหนมีปัญหา เราก็แยกออกไป ไม่นำมาคำนวณใน NAV กองทุน

ยกตัวอย่างเช่น 

สมมติ กองทุน A มีมูลค่า 1,000 บาท มีสัดส่วนหุ้นกู้ XXX 5% มีหน่วยลงทุน 100 หน่วย จะทำให้ NAV ของกองทุน A = 10 บาทต่อหน่วย (1,000 / 100 = 10 บาทต่อหน่วย)

คราวนี้ พอหุ้นกู้ XXX นั้นมีปัญหา กลต. ก็บอกไปว่า “เอ้า แยกเอาไว้ แล้วรอก่อน ถ้าเจรจาสำเร็จ XXX ใช้หนี้คืนได้ ค่อยนำกลับไปคำนวณอีกที” ทำให้ NAV ของกองทุน A นั้นจะลดลงทันที 5% ตามมูลค่าของหุ้นกู้ XXX ที่ถือครอง ก็คือจากเดิม 10 บาท เหลือเพียง 9.5 บาทเท่านั้น

โดยที่ 9.5 บาทนี้จะสามารถทำรายการซื้อขายได้ตามปรกติ มีแค่ 0.5 บาทเท่านั้นที่กองทุนขอ “ติด” เอาไว้ก่อน รอทาง XXX เจรจา แล้วค่อยมารับคืนอีกครั้งเมื่อทุกอย่างเคลียร์ 

ซึ่งมาตรการนี้ไม่ใช่มาตรการใหม่แต่อย่างใด เพราะในสมัยต้มยำกุ้งนั้น ก็เคยใช้มาตรการนี้มาแล้ว โดยมาตรการนี้มีจุดประสงค์เพื่อป้องกันปัญหาสภาพคล่องของกองทุนทั้งหลาย ในแง่ที่ว่า หากนักลงทุนทราบว่ากองทุน A ถือหุ้นกู้ XXX อยู่ อาจเกิดการ Panic ขาย ซึ่งจะสร้างแรงกดดันไปยังกองทุนให้ต้องเทขายหุ้นกู้ในพอร์ตต่อ เพื่อนำเงินมาคืนลูกค้า

แต่คราวนี้ปัญหามันจะเกิดตรงที่ หุ้นกู้ XXX นั้นกลับขายไม่ได้ ทำให้กองทุนต้องไปขายหุ้นกู้ตัวอื่นแทน ที่ดีและมีคุณภาพอยู่ ซึ่งหากภาวะ Panic สูงมาก อาจทำให้กองทุนนั้นต้องขายหุ้นกู้ดี ๆ ออกไปในราคาที่ถูกกว่าที่สมควรจะเป็น กลายเป็นผลขาดทุนที่ไม่น่าเกิดขึ้น

หรือยิ่งไปกว่านั้น หากภาวะ Panic เกิดขึ้นอย่างยาวนาน หรือ รุนแรงมาก อาจทำให้กองทุนต้องขายหุ้นกู้ดี ๆ จนหมดพอร์ต เหลือแต่หุ้นกู้แย่ ๆ เอาไว้ ก็จะยิ่งขาดทุนหนัก หากผลการเจรจาฟื้นฟูนั้นไม่เป็นไปตามคาด 

กลับกันหากนักลงทุนไม่ Panic ขาย ถือต่อไป หุ้นกู้ดี ๆ ในพอร์ตทั้งหลายอาจทำผลตอบแทนค่อย ๆ ฟื้นขึ้นมา จนกลบส่วนที่หายไปก็เป็นได้ และหากผลการเจรจาออกมาดีกว่าคาด XXX สามารถใช้หนี้ได้ทั้งหมด เงินที่ลงทุนในกองทุนนั้น ๆ ก็อาจได้รับคืนเต็มจำนวน พร้อมผลตอบแทนก็เป็นได้….

แอดลุง

TSF2024