การเจรจาการกลับเข้าสู่ข้อตกลงนิวเคลียร์ JCPOA (Joint Comprehensive Plan of Action) คือ หนึ่งเหตุการณ์สำคัญที่ดำเนินไปอย่างเงียบ ๆ ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 และความตึงเครียดอื่น ๆ นับตั้งแต่ช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา ซึ่งการเจรจาดังกล่าวนั้น มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อทั้งสถานการณ์การลงทุน และการเมืองระหว่างประเทศ ที่จะชี้ทิศทางของโลกเราในอนาคตต่อไป
ย้อนความ
อย่างที่เราทราบกันดีว่าตะวันออกกลาง เป็นภูมิภาคที่มีความไม่สงบเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีเหตุผลมาทั้งจากความแตกต่างด้านศาสนา ความเชื่อ การเมืองระหว่างประเทศ ความเจ้ากี้เจ้าการของเจ้าอาณานิคมเดิมในอดีต ไปจนถึงเรื่องของภูมิศาสตร์ที่ยากที่รัฐบาลใดจะสามารถดำเนินนโยบายแบบรวมศูนย์ได้ เมื่อประกอบกับความเป็นศูนย์กลางของแหล่งผลิตน้ำมัน ที่มีปริมาณน้ำมันสำรองมากกว่า 50% ของน้ำมันดิบสำรองทั่วโลก ส่งผลให้ภูมิภาคดังกล่าวกลายเป็นสนามของการประลองกำลังระหว่างมหาอำนาจที่พยายามขับเคี่ยวแย่งชิงความเป็นผู้นำโลกอย่าง จีน สหรัฐฯ และรัสเซีย ผ่านทางการทำสงครามตัวแทนที่ไขว้กันสนับสนุนตัวแทนของตนชนิดที่นับกลุ่มไม่หวาดไม่ไหว
ย้อนกลับมาที่อิหร่าน เดิมทีอิหร่านเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ และนานาชาติตะวันตกหลากหลายประเทศ จากการที่ผู้นำของอิหร่านในเวลานั้น (ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากนานาประเทศในตะวันตก) มีแนวความคิดด้านการเมืองการปกครอง และการค้า ไปในทิศทางเดียวกัน
ซึ่งในช่วงเวลานั้นเองที่นานาประเทศในตะวันตกนำโดยสหรัฐฯ ได้ริเริ่มโครงการพลังงานนิวเคลียร์ขึ้นในอิหร่าน โดยหวังว่าจะนำพาความเจริญมาสู่อิหร่าน ในฐานะพลังงานสะอาดทดแทน
รูปที่ 1 การปฏิวัติอิสลาม ปี 1979 | Source : The New York Times
แต่แล้วการปฏิวัติอิสลามในช่วงปี 1979 ได้ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญให้นิวเคลียร์ที่เคยเป็นเสมือนของขวัญจากประเทศตะวันตกเพื่อเป็นแหล่งพลังงานสะอาด กลับมีโอกาสย้อนมาทำร้ายพันธมิตรของสหรัฐฯ ในภูมิภาคอย่างซาอุดิอาระเบีย และอิสราเอลในฐานะอาวุธร้ายแรง ทำให้การดำเนินนโยบายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับสหรัฐฯ ที่เคยเป็นมหามิตรต่อกันก็ขาดสะบั้นลง และนำไปสู่การคว่ำบาตรทางการค้ามาอย่างยาวนาน
จนกระทั่งในปี 2015 ที่ผ่านมา ภายใต้การนำของนายบารัค โอบามา อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 44 ได้บรรลุข้อตกลงนิวเคลียร์ อันนำไปสู่ท่าทีที่ดีต่อกันมากขึ้นในฉากหน้า ทั้งในแง่ของการค้า และการเมืองระหว่างประเทศ ส่งผลให้อิหร่านสามารถส่งออกน้ำมันได้อีกครั้ง
ก่อนที่สหรัฐฯ จะออกจากข้อตกลงนั้นเองภายใต้ยุคสมัยของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนที่ 45 เมื่อประกอบกับการลอบสังหารนายพลระดับสูงของอิหร่านในช่วงต้นปี 2020 ก็ส่งผลให้ความตึงเครียดกลับขึ่นมาเป็นฉากหน้าอีกครั้ง
สถานการณ์ปัจจุบัน
จนกระทั่งในที่สุดความเปลี่ยนแปลงก็มาอีกครั้ง เมื่อสหรัฐฯ ได้นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีคนล่าสุดเป็นผู้นำ ซึ่งแสดงท่าทีอย่างชัดเจนว่าต้องการหารือกับอิหร่านอย่างจริงจัง และพร้อมกันนั้นยังแสดงท่าทีชัดเจนด้วยว่า ต้องการที่จะถอยห่างออกจากความวุ่นวายในตะวันออกกลาง
รูปที่ 2 การลงนามความร่วมมือ 25 ปี 31/03/21 | Source : BBC
ขณะเดียวกันอิหร่านก็ย้ำชัดว่าการเจรจาครั้งนี้จะประสบผลสำเร็จได้ สหรัฐฯ ต้องยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทั้งหมดเสียก่อนเพื่อแสดงความจริงใจในการเจรจา มิฉะนั้นการเจรจาจะเกิดขึ้นไม่ได้ สวนทางท่าทีของอิหร่านเองที่ล่าสุด สำนักข่าว CNBC รายงานระบุว่าอิหร่านได้ยกระดับสมรรถนะยูเรเนียมขึ้นสู่ระดับ 60% ใกล้เคียงระดับ 90% ที่เหมาะสมสำหรับการผลิตอาวุธ สะท้อนท่าทีของอิหร่าน ที่กำลังเล่นเกมส์วัดใจกับสหรัฐฯ ว่าผลสุดท้ายแล้วฝั่งใดจะเป็นผู้ที่ยอมผ่อนคลายท่าทีก่อนกัน
ขณะทางสหรัฐฯ เองเสมือนถูกมัดมือชกกลาย ๆ เมื่อในช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา จีนและอิหร่านได้ลงนามความร่วมมือทางการค้าระหว่างกันและการลงทุนในอิหร่านมูลค่ากว่า 400,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในระยะเวลา 25 ปี ส่งสัญญาณความสัมพันธ์ที่พัฒนาขึ้นอย่างชัดเจน
ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว แม้สหรัฐฯ เองจะมีความตั้งใจในการถอยห่างจากตะวันออกกลาง หากแต่เป้าหมายหลักอีกอย่างของสหรัฐฯ ก็คือการไม่ยอมให้จีนแซงหน้าในด้านบทบาทผู้นำโลก ทำให้สหรัฐฯ เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเจรจากับอิหร่าน เพื่อหาทางป้องกันไม่ให้อิหร่านอิงกับจีนมากจนเกินไป และอาจทำให้สมดุลอำนาจเดิมทั้งในตะวันออกกลาง และทั่วโลกเสียไปจากเดิม
อย่างไรก็ตามผลที่ตามมา ก็คือการที่อิหร่านไม่ลงรอยกันกับเพื่อนบ้านที่เป็นพันธมิตรสำคัญของสหรัฐฯ อย่างอิสราเอล และซาอุดิอาระเบีย เมื่อสหรัฐฯ ต้องไปเจรจาเพื่อหารือข้อตกลง ภายใต้รูปแบบที่ดูเหมือนจะได้เปรียบไม่มากนัก ก็ทำให้พันธมิตรทั้ง 2 กังวลถึงอนาคตต่อไปเช่นกัน
เพราะเพื่อนบ้านของอิหร่านอย่างอิสราเอล และซาอุดิอาระเบีย มองว่าอิหร่านที่สามารถค้าขายน้ำมันได้เต็มที่อีกครั้ง จะมีอำนาจเงินมากขึ้น ทำให้โอกาสที่จะคุกคามเพื่อนบ้านก็สูงขึ้นเป็นเงาตามตัว เมื่อประกอบกับการท่าทีของสหรัฐฯ ที่ถอยห่างออกจากตะวันออกกลาง ทำให้ 2 เพื่อนบ้านมีความกังวลไม่น้อย
เพราะหนึ่งในจุดสำคัญของการเป็นพันธมิตรของสหรัฐฯ ก็คือ การที่สหรัฐฯ วางตัวเป็นผู้รักษาความปลอดภัยให้กับประเทศพันธมิตรทั่วโลก เมื่อสหรัฐฯ ลดบทบาทตรงนี้ลงไป นั่นหมายถึงเหตุผลที่จะต้องเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ น้อยลงไปส่วนหนึ่ง ดังนั้นในการเจรจาครั้งนี้สหรัฐฯ จึงต้องรักษาสมดุลที่ดีระหว่างการคานอำนาจจีนในตะวันออกกลาง และ การรักษาความไว้ใจพันธมิตรเดิมด้วย
อย่างไรก็ตามท่าทีนี้ อาจจะเป็นคุณ หรือเป็นที่น่าพอใจให้กับอีกหนึ่งพันธมิตรของสหรัฐฯ ที่มีโอกาสจะมีบทบาททั้งการค้าและการเมืองระหว่างประเทศในอนาคตสูงอย่างอินเดีย เนื่องจากอินเดีย มีความต้องการอย่างยิ่งที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาความปลอดภัยให้กับช่องแคบฮอร์มุส ในฐานะของความร่วมมือด้านการทหารระหว่างประเทศที่เรียกว่า HOPE (Hormuz Peace Endeavor) ซึ่งเป็นช่องแคบที่มีความสำคัญต่ออินเดียอย่างมาก เนื่องจากเป็นช่องทางที่สำคัญในการขนส่งสินค้าด้านพลังงานจากตะวันออกกลางมาสู่อินเดีย
ซึ่งหากความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่านพัฒนาขึ้นแล้ว ท่าทีของอิหร่านต่ออินเดีย ก็มีแนวโน้มที่จะพัฒนาขึ้นตามลำดับ ส่งผลให้แนวโน้มความร่วมมือดังกล่าวเป็นไปได้มากขึ้น หรืออย่างน้อยที่สุด การร่วมมือกับอิหร่านของอินเดียเองในการรักษาความปลอดภัยช่องแคบฮอร์มุสก็จะไม่เป็นท่าทีที่ขัดต่อพันธมิตรอย่างสหรัฐฯ อีกต่อไป
ผลกระทบที่ตามมา : อุปทานน้ำมัน
รูปที่ 3 10 อันดับประเทศที่มีปริมาณน้ำมันสำรองมากที่สุดในโลก (พันล้านบาร์เรล) | Source : CIA World Factbook As of 01/01/21
อิหร่านเป็นประเทศที่มีปริมาณน้ำมันสำรองมากที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลก มากถึง 1.48 ล้านล้านบาร์เรล หรือคิดเป็นเกือบ 10% ของปริมาณน้ำมันสำรองทั่วโลก ขณะเดียวกันอิหร่านมีความสามารถในการผลิตหรือกลั่นน้ำมันเพื่อนำมาใช้สูงสุดที่ 6 ล้านบาร์เรลต่อวันในช่วงปี 1980 ก่อนที่จะลดลงมาอยู่ที่ระดับใกล้เคียง 4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในช่วงปี 2000 เป็นต้นมา ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึง 11.5% ของความต้องการบริโภคน้ำมันต่อวันของทั่วโลก
อย่างไรก็ตามเมื่อสหรัฐฯ ถอนตัวออกจากข้อตกลงดังกล่าวในปี 2018 ที่ผ่านมา ก็ส่งผลให้อุปทานน้ำมันเหล่านั้นหายไปจากระบบทันทีกว่าครึ่ง เหลือเพียงใกล้เคียง 2 ล้านบาร์เรลต่อวันเท่านั้น ซึ่งเป็นสัดส่วนเพื่อการใช้ภายในประเทศเป็นหลัก ซึ่งนั่นหมายถึง หากการเจรจานี้บรรลุผลสำเร็จ อาจทำให้ปริมาณน้ำมันจำนวนมากไหลบ่าเข้าสู่ระบบอีกครั้ง และสร้างแรงกดดันต่อราคาน้ำมันให้ปรับตัวลงในอนาคตได้
รูปที่ 4 ปริมาณการผลิตและส่งออกน้ำมันต่อวันของ 10 อันดับประเทศที่มีปริมาณน้ำมันสำรองมากที่สุดในโลก (ล้านบาร์เรล) | Source : CIA World Factbook As of 01/01/21
อย่างไรก็ตามสถานการณ์ดังกล่าวได้ถูกรับรู้ไปบางส่วนแล้ว เมื่อรายงานของ CIA World Factbook และ บทวิเคราะห์ของ Goldman Sachs ที่คาดการณ์ว่าอิหร่านได้เพิ่มกำลังการผลิต เพื่อการส่งออกไปยังคู่ค้าสำคัญอย่างจีนและอินเดียขึ้นสู่ระดับก่อนการถอนตัวของสหรัฐฯ เป็นทื่เรียบร้อย
เมื่อประกอบกับท่าทีของ OPEC+ ซึ่งเป็นพันธมิตรความร่วมมือด้านน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในโลกนั้น ได้ออกมาประกาศว่าจะเพิ่มกำลังการผลิตเพิ่มเติมมากขึ้นอีก 6 แสนบาร์เรลต่อวันในเดือน พ.ค. 7 แสนบาร์เรลต่อวันในเดือน มิ.ย. และ 8.5 แสนบาร์เรลต่อวันในเดือน ก.ค. ภายใต้คำกล่าวอ้างว่าเพื่อควบคุมราคาน้ำมันให้มีเสถียรภาพตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ที่จะต้องมีการบริโภคน้ำมันมากขึ้น
รูปที่ 5 ต้นทุนน้ำมันดิบหน้าหลุม | Source : KNOEMA As of 2016
แต่ถึงอย่างนั้นนักวิเคราะห์จาก Goldman Sachs มองว่าท่าทีดังกล่าวอาจเป็นไปทั้งในแง่ของการควบคุมราคาน้ำมันไม่ให้สูงมากจนเกินไปในยามที่เศรษฐกิจฟื้นตัว และยังได้ผลอีกต่อหนึ่งก็คือ การสร้างแรงกดดันต่ออิหร่าน ที่แม้จะมีต้นทุนการผลิตน้ำมันหน้าหลุ่มที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับนานาประเทศทั่วโลก แต่ด้วยความที่สินค้าส่งออกหลักของอิหร่าน คือน้ำมันดิบ คิดเป็นถึง 49% ของมูลค่าทั้งหมด
รูปที่ 6 External Breakeven Oil Price | Source : KNOEMA As of 01/01/2021
ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตเพื่อชดเชยการขาดดุลการคลัง (External Breakeven Oil Price) ที่จะต้องนำเงินเหล่านั้นไปใช้จ่ายในกิจการต่าง ๆ ของอิหร่านอยู่ที่ระดับ 91.1 ดอลลาร์ต่อบารเรลเลยทีเดียว สร้างแรงกดดันต่ออิหร่านให้ไม่อาจนำน้ำมันออกมาขายได้มากตามที่ต้องการ เนื่องจากแม้จะกำไรจากต้นทุนที่ถูก แต่ด้วยความจำเป็นด้านการใช้จ่ายของรัฐ จะกดดันให้อิหร่านเองต้องพยายามประคองราคาไม่ให้ต่ำจนเกินไปด้วย
ดังนั้นแล้ว ทิศทางการเจรจาครั้งนี้ เสมือนมี “นกรู้” จำนวนมาก ที่หาทางหนีทีไล่เป็นที่เรียบร้อย และทำให้แม้การเจรจาจะบรรลุผลจริง ผลที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตที่มีนัย อาจจะเป็นผลทางด้านการเมืองระหว่างประเทศมากกว่า
AKN Blog
Source :
https://www.indexmundi.com/g/r.aspx?t=0&v=88&l=en
https://oilprice.com/Energy/Energy-General/Why-Irans-Return-To-Oil-Markets-Isnt-A-Major-Threat.html
https://tradingeconomics.com/iran/crude-oil-production
https://knoema.com/infographics/vyronoe/cost-of-oil-production-by-country