เจาะลึกการชุมนุมในฮ่องกง: ความเป็นมาและเป็นไป ต่อจากนี้อย่างไรต่อ?

หนึ่งในข่าวใหญ่ที่ทั่วโลก และชาวไทยจับตากันมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ช่วงกลางปีก็คือ การชุมนุมใหญ่ในฮ่องกง ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากความไม่ไว้วางใจของชาวฮ่องกงต่อรัฐบาล และระบบยุติธรรมของจีน ที่มีท่าทีว่าอยากให้ฮ่องกงนั้นกลับเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของจีนแบบ 100% ก่อนกำหนด ที่ล่าสุดนั้นทวีความร้อนแรง  ทั้งจากในฟากฝั่งสหรัฐฯ ที่ผ่านกฏหมายสนับสนุนประชาธิปไตยในฮ่องกง และในฝั่งจีนที่สวนกลับมาชนิดไม่ไว้หน้า แล้วเหตุการณ์ดังกล่าวนั้น มีความเป็นมา และจะเป็นไปอย่างไร เชิญติดตามอ่านได้เลย

ความเป็นมา

เดิมทีนั้นฮ่องกงเป็นส่วนหนึ่งของจีนโดยชอบธรรม ก่อนที่อังกฤษจะทำสัญญาเช่าปกครองฮ่องกงนานถึง 99 ปี นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2441 ส่งผลให้รูปแบบการปกครองของฮ่องกงต่างจากประเทศจีน แผ่นดินใหญ่โดยสิ้นเชิง โดยในส่วนของฮ่องกงนั้นระบอบการปกครองจะอยู่ในรูปแบบของประชาธิปไตย และมีระบอบการค้าแบบทุนนิยมเสรี ส่งผลให้เศรษฐกิจของฮ่องกงเติบโตกลายเป็นเมืองท่าและศูนย์กลางทางการเงินของจีนอย่างรวดเร็ว ซึ่งก็ส่งผลดีไปยังประเทศจีนด้วย ในฐานะตลาดการเงินและการลงทุนที่เปิดกว้างสำหรับชาวต่างชาติที่ต้องการลงทุน และสำหรับบริษัทในจีนที่ต้องการระดมทุน ก็สามารถที่จะเข้ามาจดทะเบียนระดมทุนในตลาดฮ่องกงได้อย่างสะดวกง่ายดายกว่าในจีนแผ่นดินใหญ่ ก่อนที่ฮ่องกงจะกลับเข้าสู่อ้อมอกของจีนแผ่นดินใหญ่อีกครั้งในปี พ.ศ. 2540  ที่สัญญาเช่าฮ่องกงนั้นหมดลง 

เมื่อถึงเวลาดังกล่าว ทางการอังกฤษก็ดำเนินการส่งมอบฮ่องกงกลับมาสู่อ้อมอกของจีนแผ่นดินใหญ่อีกครั้ง ด้วยเงื่อนไขที่ว่า จะต้องให้ฮ่องกงนั้นอยู่ในสถานะของ “เขตปกครองตนเอง” ไปอีก 50 ปี เพื่อให้ค่อยๆ มีการเปลี่ยนถ่ายระบบ ระเบียบ และความเคยชินของผู้คนต่างๆ ให้เรียบร้อย ไร้รอยต่อ

เจาะลึกการชุมนุมในฮ่องกง: ความเป็นมาและเป็นไป ต่อจากนี้อย่างไรต่อ?

รูปที่ 1 GDP Hong Kong Vs China GDP As of 28/11/2019 l Source : Bloomberg

ซึ่งแรกเริ่มเดิมทีนั้นทางการจีนได้ดำเนินตามคำมั่นสัญญาอย่างหนักแน่น ด้วยการให้สิทธิ์ฮ่องกงปกครองตนเองอย่างอิสระ เนื่องจากสถานะความเป็นเมืองท่าทั้งในเชิงกายภาพ และในเชิงตลาดทุน ส่งผลให้ขนาดของ GDP ของฮ่องกงนั้นเคยสูงสุดถึง 27% ของประเทศจีนทั้งประเทศเลยทีเดียว 

เมื่อเวลาผ่านไป ทางการจีนก็เริ่มผ่อนคลายกฏระเบียบการค้าและการลงทุนในประเทศจีนให้มีความทันสมัยมากขึ้น ผลักดันให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจในหัวเมืองใหญ่ๆ อย่าง ปักกิ่ง เสิ่นเจิ้น เซี่ยงไฮ้ กวางเจา และอื่นๆ ส่งผลให้เศรษฐกิจฮ่องกงนั้นลดความสำคัญต่อจีนลงมาเรื่อยๆ เหลือไม่ถึง 3% ของ GDP จีนเท่านั้นในที่สุด

เมื่อเป็นดังนั้นแล้ว ทางการจีนจึงค่อยๆ ขยับ ค่อยๆ กระชับอำนาจเข้าหาฮ่องกงไปทุกที เช่น…

กรณีอัตลักษณ์ของความเป็นฮ่องกงนั้น ยังเป็นอีกส่วนที่ชาวฮ่องกงกังวลเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะประเด็นด้านภาษา ที่ทางฮ่องกงนั้นมีการใช้ภาษากวางตุ้งเป็นภาษาหลัก แต่ทางการจีนนั้นมีความพยายามที่จะให้จีนทั่วประเทศ รวมไปถึงชาวฮ่องกง หันมาใช้ภาษาจีนกลางร่วมกันแทนเพื่อความเป็นเอกภาพ เช่น ในปี 2553 นั้นทางการจีนได้มีนโยบายให้สถานีโทรทัศน์ที่นำเสนอรายการเป็นภาษากวางตุ้งเปลี่ยนมาใช้ภาษาจีนกลางแทน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงรายการ Prime Time หรือ ช่วงเวลาที่มีผู้ชมมากที่สุด ซึ่งชาวฮ่องกงได้ออกมาประท้วงในเรื่องนี้หลายพันคน ก่อนที่โครงการดังกล่าวจะยุติลง

เจาะลึกการชุมนุมในฮ่องกง: ความเป็นมาและเป็นไป ต่อจากนี้อย่างไรต่อ?

รูปที่ 2 Hong Kong-Zhuhai-Macau Bridge l Source : Vox

นอกจากนี้ ยังมีกรณีการสร้างสะพานเชื่อมระหว่างฮ่องกง-จูไห่-มาเก๊า ซึ่งเป็นสะพานข้ามทะเลที่ยาวที่สุดในโลกถึง 55 กิโลเมตร ซึ่งมีจุดประสงค์ในการเชื่อมโยงระหว่างจีน และฮ่องกงเข้าด้วยกัน เพื่อให้การขนส่งสินค้า และการเดินทางสะดวกและประหยัดเวลามากยิ่งขึ้น จากเดิมที่ต้องใช้เวลาเดินเรือถึง 4 ชม. เหลือเพียง 30 นาทีเท่านั้น ซึ่งในส่วนนี้ถือเป็นการขยายศักยภาพทางการค้าของทั้งจีนและฮ่องกงเอง แต่อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ยังคงมองว่า ท่าทีดังกล่าวนั้น เป็นความพยายามลดบทบาททางเศรษฐกิจของฮ่องกง และแสดงให้เห็นถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทางกายภาพระหว่างจีนและฮ่องกงที่มากขึ้นเรื่อยๆ

ไหนจะกรณีของบุคคลผู้หายตัวไปเป็นระยะเวลาสั้นๆ หลายราย ก่อนที่จะพบว่าถูกดำเนินคดีในฮ่องกงอย่างกรณีของ กุ้ย หมินไห่ คนขายหนังสือพิมพ์ที่ขายหนังสือวิพากษ์วิจารณ์จีนจำนวนมากที่หายตัวอย่างไร้ร่องรอยขณะอยู่ในประเทศไทย ก่อนจะปรากฏตัวอยู่ที่ประเทศจีนพร้อมคลิปสารภาพผิด และรับโทษจำคุก 2 ปีในกรณีอุบัติเหตุทางรถยนต์เป็นเหตุให้ผู้อื่นเสียชีวิต, หวัง ปิ่งจาง ผู้ก่อตั้งพรรคประชาธิปไตยจีน ที่หายตัว ก่อนจะถูกศาลจีนพิพากษาจำคุกเช่นเดียวกัน หรือแม้กระทั่งนาย เผิง หมิง ที่พยายามต่อต้านการปกครองแบบพรรคเดียวของจีน ก่อนจะถูกนำตัวมาพิจารณาคดีและถูกพิพากษาตัดสินว่าผิดฐานครอบครองสกุลเงินปลอม ทำให้ถูกจำคุกตลอดชีวิตและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุในเรือนจำโดยปราศจากการสืบสวนต่อ 

เจาะลึกการชุมนุมในฮ่องกง: ความเป็นมาและเป็นไป ต่อจากนี้อย่างไรต่อ?

รูปที่ 3 GINI Coefficient Index l Source : IMF

เมื่อประกอบกับความเหลือมล้ำของรายได้และความมั่งคั่งที่มากขึ้น ซึ่งสะท้อนผ่านทาง Net Gini Coefficient และสะท้อนออกทางภาวะการขาดแคลนที่อยู่อาศัย ส่งผลให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ในฮ่องกงนั้นอยู่ในระดับที่สูงจนไม่อาจฝันถึง นี่เป็นผลมาจากการดำเนินนโยบายของผู้บริหาร ที่มาจากการเลือกของทางการจีน

เจาะลึกการชุมนุมในฮ่องกง: ความเป็นมาและเป็นไป ต่อจากนี้อย่างไรต่อ?

รูปที่ 4 สภาพที่พักในฮ่องกง l Source : National Geographic

ดังนั้น เมื่อมีการนำเสนอร่างกฏหมายการส่งผู้ร้ายข้ามแดนเข้าสภา  ก็กลายเป็นประกายไฟที่จุดกระแสการชุมนุมขึ้นมาอย่างรวดเร็ว เพราะท้ายที่สุดแล้วนั้นชาวฮ่องกงมองว่าหากกฏหมายฉบับนี้ผ่านสภาไปได้ อาจหมายถึงจุดจบแห่งสิทธิและเสรีภาพของชาวฮ่องกงในอนาคต ฮ่องกงนั้นจะต้องส่งตัว “ผู้ร้าย” ในสายตาจีนกลับไปดำเนินคดีที่จีน ซึ่งหนึ่งในสิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ กรณีของผู้ต้องหาคดีการเมือง ซึ่งทางการจีนนั้นมีประวัติไม่ค่อยดีสักเท่าไหร่นัก รวมไปถึงกรณีความเหลื่อมล้ำ ที่ชาวฮ่องกงมองว่าท้ายที่สุดแล้วนั้นผู้บริหารฮ่องกงที่มาจากจีนทำเพื่อปักกิ่งมากกว่าชาวฮ่องกง

สหรัฐฯ – จีน

เมื่อสถานการณ์การชุมนุมทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ทางการจีนยังคงสงวนท่าทีต่อไป มีเพียงการเคลื่อนไหวตามแนวชายแดนเล็กๆ น้อยๆ เช่น การเคลื่อนกำลังทหารเข้าสู่ Shenzhen Bay Sports Center ในเมืองเซินเจิ้น ซึ่งห่างจากพรมแดนฮ่องกงเพียงไม่กี่กิโลเมตร โดยมีการประเมินกันว่าหากจำเป็นต้องย้ายกำลังพลเข้าสู่ฮ่องกงนั้น จะใช้เวลาเพียง 10 นาที แต่อย่างไรก็ตามทางการจีนยังปฏิเสธว่ามิใช่การเตรียมกองกำลังเพื่อเข้าปราบปรามแต่อย่างใด แต่ถึงอย่างนั้นก็มีรายงานข่าวระบุว่า หากชาวฮ่องกงคนใดต้องการเดินทางเข้าประเทศจีน จะต้องถูกตรวจสอบว่ามีส่วนร่วมกับการชุมนุมประท้วงหรือไม่ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความพยายามเอาผิดผู้ชุมนุมในฮ่องกงของจีนได้เป็นอย่างดี

ทางด้านสหรัฐฯ นั้นก็มีการขยับเช่นกัน ด้วยการผ่านร่างกฏหมายหนุนประชาธิปไตยฮ่องกง ซึ่งมีเนื้อหาในการให้อำนาจการคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนต้องรับผิดชอบในการทำลายเสรีภาพขั้นพื้นฐานและการปกครองตนเองในฮ่องกง พร้อมยังกำหนดให้มีการทบทวนการให้สิทธิพิเศษทางการค้ากับฮ่องกง โดยการพิจารณาถึงอำนาจในการปกครองตนเองของฮ่องกงว่าได้รับจากจีนอย่างเพียงพอหรือไม่ 

แน่นอนว่าทางการจีนนั้นไม่พอใจอย่างยิ่ง โดยมีการส่งสัญญาณเตือนสหรัฐฯ และนานาชาติในเรื่องนี้เป็นระยะๆ ผ่านทางแถลงการณ์ของกระทรวงต่างประเทศ ทั้งในการกล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องภายในประเทศ รวมไปถึง ครั้งล่าสุด เช้าวานนี้ (28/11/2019) ที่กระทรวงการต่างประเทศจีนออกมาระบุถึงสหรัฐฯ โดยตรงว่า “เราขอแนะนำให้สหรัฐฯ ไม่ดำเนินการใดๆ โดยพลการ ไม่เช่นนั้นแล้วจีนจะตอบโต้อย่างเด็ดขาด ซึ่งสหรัฐฯ นั้นจะต้องเป็นผู้รับผลของการกระทำนั้นทั้งหมด” ซึ่งในประเด็นนี้ ยังคงเป็นที่น่าจับตาว่าจะส่งผลต่อการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่กำลังดูเหมือนว่าเป็นไปได้ด้วยดีหรือไม่ 

ซ้ำรอยเทียนอันเหมิน?

เมื่อสถานการณ์เดินหน้าต่อไป ภายใต้ความรุนแรงที่มากขึ้นเรื่อยๆ จากการต่อต้านกฏหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน ซึ่งถูกถอนออกจากสภาเป็นที่เรียบร้อย กลายมาเป็นประเด็นเรื่องการเรียกร้องอำนาจในการปกครองตนเองของชาวฮ่องกงในที่สุด สาเหตุที่เหตุการณ์นี้ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จริงๆ แล้ว อาจเป็นเพราะทางการจีนเสียเอง

เจาะลึกการชุมนุมในฮ่องกง: ความเป็นมาและเป็นไป ต่อจากนี้อย่างไรต่อ?

รูปที่ 5 Categorical Ethnic identity 1997 – 2019 l Source : The University of Hong Kong

หากพิจารณาดัชนีอัตลักษณ์จีน-ฮ่องกง นับตั้งแต่ปี 1997 จะพบว่า ในยามที่จีนนั้นมีการปกครองดูแลอยู่ห่างๆ ให้อำนาจฮ่องกงบริหารตนเองอย่างเต็มที่ จะพบว่าชาวฮ่องกงนั้นมีความรู้สึก “แปลกแยก” หรือ “ไม่ใช่คนจีน” น้อยลงเรื่อยๆ ผ่านทางการระบุอัตลักษณ์ของตนว่าเป็นชาวจีน นั่นแปลว่าจำนวนชาวฮ่องกง ที่ระบุตนว่าเป็นชาวจีนนั้นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งในปี 2007 และ 2008 ที่ทางการจีนเริ่มกระชับอำนาจเป็นครั้งแรกด้วยการปฏิเสธการเปลี่ยนแปลงระบบการเลือกตั้ง ทั้งในส่วนของผู้บริหารสูงสุดเกาะฮ่องกง และสภานิติบัญญติ ทำให้ภาวะความแปลกแยกเริ่มต้นขึ้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าวิธีการที่นุ่มนวลนั้น ช่วย “กลืน” ชาติได้ดีกว่า

นอกจากนั้นแล้ว ในแง่ของข้อมูลข่าวสารที่รวดเร็ว และความต้องการเงินทุนจากต่างชาติของจีนที่ยังมีอยู่  เมื่อประกอบกับสถานการณ์สงครามการค้าที่ยังคุกรุ่น ซึ่งอาจส่งผลให้เศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัว และกดดันภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศจีน การเลือกใช้ความรุนแรงอาจไม่ใช่ทางที่เหมาะนัก สำหรับสถานะ “พี่ใหญ่” ที่ทางการจีนกำลังพยายามตั้งตัวขึ้นมาแทนที่สหรัฐฯ และไม่เหมาะอย่างยิ่ง สำหรับประเทศที่มีการปกครองแบบจีนที่ยังคงต้องใช้ความเด็ดขาดในการควบคุมประชาชน คู่ไปกับการใช้ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจจูงใจประชาชนให้รักและสนับสนุนการปกครองระบอบนี้ต่อไปนานๆ

แต่ถึงอย่างนั้น ก็มิใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้เลย เพราะท้ายที่สุดแล้ว ฝั่งของผู้ชุมนุมเองนั้น อาจกล่าวได้ว่าอยู่ในจุดที่ไม่อาจถอยหลังได้อีกต่อไป เนื่องจากระดับความรุนแรงที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้มีผู้คนเป็นจำนวนมากมีแนวโน้มจะถูกดำเนินคดีหากการชุมนุมจบลง ประกอบกับแรงผลักดันที่เต็มเปี่ยมในครั้งนี้ที่ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมยังคงปักหลักประท้วงอยู่ต่อไป

เมื่อประกอบกับท่าทีแข็งขืนของรัฐบาลปักกิ่งเอง ที่ทราบดีว่าหนึ่งในทางออกที่จะปลดชนวนความรุนแรงนี้ก็คือ การปลด หรือ สั่งให้นางแครี ลัม ผู้บริหารเกาะฮ่องกงคนปัจจุบันลาออก เพื่อบรรเทาอารมณ์ของผู้ชุมนุม แต่ก็เลือกที่จะไม่ทำ อย่างน้อยก็เพื่อส่งสัญญาณให้ผู้ชุมนุมได้ทราบว่า ไม่มีการชุมนุมใดที่จะกดดันทางการจีนได้

ทำให้ท้ายที่สุดแล้วนั้น กรณีเทียนอันเหมิน มีโอกาสเกิดขึ้นได้ไม่มาก แต่สถานการณ์กลายเป็นการแข่งขันจ้องตากันระหว่างผู้ชุมนุมกับรัฐบาลปักกิ่ง ขึ้นอยู่กับว่าฝ่ายใดจะอดทนมากกว่ากัน ซึ่งเป็นการตัดสินแพ้ชนะเพียงเสี้ยววินาทีที่กะพริบตา หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งพลาดท่า หมดความอดทนย่อมหมายถึงความพ่ายแพ้ หากแต่ในการแข่งนี้ผู้ชุมนุมต้องผจญกับแก๊สน้ำตาไปด้วยเท่านั้นเอง

AKN Blog

ติดตาม AKN Blog ได้ที่ https://www.facebook.com/aknblog 

Sources :
https://www.hkupop.hku.hk/english/popexpress/ethnic/eidentity/halfyr/eid_half_chart.html

https://www.chula.ac.th/cuinside/22382/
https://ngthai.com/cultures/3227/life-inside-hong-kongs-coffin-house/
https://www.posttoday.com/world/597724
https://www.vox.com/world/2018/10/22/18010254/chain-bridge-hong-kong-macau-zhuhai
https://www.hkupop.hku.hk/english/popexpress/ethnic/
https://www.taiwannews.com.tw/en/news/3734105
https://www.silpa-mag.com/culture/article_37172