ตลาดวิ่งครั้งนี้ Bear Market Rally, Fake Bull หรือ จุดเริ่มต้นขาขึ้นรอบใหม่
ต่อจากวานนนี้ Bear Market Rally หรือ Fake Bull หรือ Bull Market รอบใหม่
เริ่มต้นจากสรุปก่อนเลยละกัน
ผู้เขียนให้ความน่าจะเป็นไว้ดังนี้
– 50% Fake Bull / 30% Bear Market Rally / 20% New Bull Run
– 100% Higher Volatile
ทำไม?
เพราะมองว่าส่วนสำคัญที่จะทำให้เกิด New Bull Run รอบใหม่จริงๆ ชนิดที่ว่าสามารถขึ้นมากกว่า 20% ตามมาด้วยการพักฐาน และสามารถทำ Higher High อีกรอบได้่นั้น จะต้องมาจากปัจจัยที่สำคัญก็คือ ท่าทีที่ Dovish (ไม่ใช่ Less Hawkish) และถ้าจะให้่ตลาดนั้นวิ่งไปได้อย่างยั่งยืนจะต้องพร้อมกับเศรษฐกิจที่เกิด Mild Recession ตามที่ Fed คาดไว้ พร้อมๆ กับเงินเฟ้อที่กลับลงสู่เป้าหมาย
เพราะปัจจุบันนั้นตลาดตอบรับต่อ Fed มากที่สุด หาก Fed ไม่เปลี่ยนท่าทีแล้ว ค่อนข้างยากที่ตลาดจะวิ่งไปได้ไกล
ขณะเดียวกันแม้ Fed จะเปลี่ยนท่าที แต่หากเศรษฐกิจไม่ใช่ Mild Recession ตามที่คาด กำไรของบริษัทจดทะเบียนทั้งหลายก็มีโอกาสที่จะแย่สูงกดดันตลาดอีกต่อ
แต่ขณะเดียวกัน หากเศรษฐกิจชะลอกว่าที่คาดจริง แต่เงินเฟ้อยังสูงก็อาจกดดันให้ Fed ดันคันเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจได้ไม่เต็มที่
แต่ขณะเดียวกันนั้นสาเหตุที่ผู้เขียนนั้นเชื่อว่าจะเกิด Fake Bull ก็เพราะ ปัจจัยทั้งหลายดูเกื้อหนุนให้ตลาดคลายกังวลเสียเหลือเกิน ไม่ว่าจะเป็น
1. ท่าทีของ Fed ที่ตลาดดูจะเชื่อว่า Less Hawkish ซึ่งตรงนี้จริงๆ ก็ไม่แปลก เพราะ อาวุธที่สำคัญของ Fed ไม่ใช่แค่นโยบายการเงิน แต่ยังมีความพยายามชี้นำตลาดด้วย ซึ่ง ณ ตรงนี้ดูเหมือนว่า Fed จะทยอย “มอบตัว” มากขึ้นเรื่อยๆ ว่า การเอาเงินเฟ้อให้อยู่ในครั้งนี้ อาจเลี่ยง Recession ไม่ได้ (แต่ Fed ก็จะพยายามนะ)
ซึ่งทำให้ Fed เองต้องผ่อนท่าทีลง เพื่อผ่อนคลายความกังวลดังกล่าว ชี้นำตลาดทั้งการลงทุน และการบริโภคให้ไม่ชะลอเพราะความกังวลดังกล่าว
2. เงินเฟ้อที่แลดูจะผ่านจุดพีคไปแล้ว ทั้งการที่รัสเซีย กับยูเครน ตกลงกับประเทศอื่นๆ ว่าจะส่งออกสินค้าการเกษตร (ไม่ได้ตกลงระหว่างกัน แต่ต่างฝ่ายต่างตกลงกับประเทศที่ 3) รวมไปถึงการที่ประเทศที่บริโภคน้ำมันสูงอย่างอินเดีย และจีน สามารถนำเข้าพลังงานราคาถูกจากรัสเซียได้ ทำให้ Supply Disruption ที่เกิดขึ้นก่อนหน้า ก็คลายตัวลง
3. Earning ของบริษัทต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฝั่งสหรัฐฯ ยังประกาศออกมาดูสดใส นำโดยกลุ่มเทคโนโลยีทั้งหลาย ที่มี Guidance เหมือนจะไม่ได้แย่มากอย่างที่คาด (แม้จะชะลอการจ้างงานใหม่หลายบริษัทก็ตาม)
4. QT เองยังดูเหมือนทำให้ตลาดดีใจได้ ด้วยตัวเลขการทำที่ต่ำกว่าที่ประกาศไว้ โดยนับตั้งแต่เดือนมิถุนายนมานั้นลดลงสุทธิเพียง 31,000 ล้าน USD เท่านั้น (แบ่งเป็น Treasury 41,000 ล้านดอลลาร์ และ MBS เพิ่มขึ้น 10,000 ล้านดอลลาร์ Source : FINNOMENA & CrisisMan
5. Event Risk ใหม่ล่าสุด อย่างรักสามเศร้า จีน – ไต้หวัน – สหรัฐฯ นั้น ไม่น่าลุกลามไปมากกว่าแค่การซ้อมรบ และการที่พี่จีนแดงของคุณสี ตบสั่งสอนน้องจีนขาวผ่านการค้า พร้อมกับแสดงแสนยานุภาพให้รู้ว่า “อั๊วเอาจริง” เท่านั้น (ยกเว้นแต่สหรัฐฯ หรือ จีนจะเดินหน้าทำอะไรแปลกๆ ใหญ่ๆ อีกครั้ง)
ซึ่งทั้งหมดนี้นั้นมากพอที่จะผลักดันให้ตลาด “มีความหวัง” และคิดว่าที่เคย Discount มูลค่าของหุ้นจำนวนมากไว้แบบ “ถูกเป็นขี้” นั้นต่ำเกินไป เพราะประเมินการขึ้นดอกเบี้ยแรงไป ทำให้ต้องกลับมาซื้ออีกครั้ง เพื่อไม่ให้พลาดโอกาส
แต่ต้องอย่าลืมว่า 5 ข้อข้างต้นนี้ ล้วนแต่มีจุดเสี่ยงทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น
1. Fed แค่เปิดช่องแบบ Less Hawkish เท่านั้นไม่ได้ Dovish และยังย้ำอีกว่า Fed นั้นถือ Dual Mandate คือ การทำให้ Max Employment (จ้างงานเต็มที่) พร้อมกับคุมให้ Price Stability (ราคามีเสถียรภาพ หรือ เงินเฟ้อในระดับที่เหมาะสม) ซึ่งหมายถึงเงินเฟ้อยังสำคัญนะ
2. เงินเฟ่อแม้จะผ่านจุดพีคไปแล้ว แต่ยังมีโอกาสอ้อยอิ่งอยู่กับเราอีกนาน เพราะมันฝังอยู่ในราคาสินค้าทั้งหลายจำนวนมากแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดแรงงานที่ดูเหมือน Feedback Loop เรื่องเงินเฟ้อมา ต้องขึ้นค่าจ้าง พอค่าจ้างขึ้น เงินเฟ้อก็มาอีก เริ่มทำงานได้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ตลาดแรงงานร้อนแรงหลัง COVID-19 จาก The Great Resignation ที่เกิดขึ้น
3. Earning แม้จะดูดี แต่หากพิจารณาให้ดี งบลงทุน และการจ้างงานก็ชะลอ รวมไปถึงกลุ่มธนาคารเองก็เริ่มตั้งสำรองเพิ่มขึ้นแล้ว หลังจากกังวลหนี้เสีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาจากข้อมูลของ BofA และ BIS ที่ข้อมูลค่อนข้างสอดคล้องกันว่า ชาวสหรัฐฯ มีเงินเก็บลดลงต่ำกว่่าช่วงก่อน COVID-19 และวงเงินคงเหลือในสินเชื่อหมุนเวียนนั้นลดลงอย่างต่อเนื่อง (ใช้เยอะมากขึ้นเรื่อยๆ) โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่รายต่ำในช่วง 33% ล่าง
และก็สอดคล้องอีกเช่นกัน กับใช้จ่ายของชาวสหรัฐฯ ที่แม้ตัวเลขจะโตขึ้นต่อเนื่อง แต่หากลงไปดูให้ดี ก็จะพบว่าเป็นการเพิ่มขึ้นจากภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานจำนวนมาก ทำให้ในอนาคตนั้นการบริโภคสหรัฐฯ มีโอกาสที่จะหวังพึ่งได้น้อยลง
ครั้นจะไปหวังนอกประเทศ กวาดตาไปทางไหน ก็มีแต่ถูกปรับคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจลงทั้งสิ้น
4. QT ที่น้อยกว่าที่ประกาศไว้ ในเดือนหน้านี้ (กันยายน) ก็จะเบิ้ลเป็น 2 เท่า (จาก 45Billion เป็น 90 Billion) อีกทั้ง จากข้อมูลที่ @crisisman ได้เจาะลึกเอาไว้ ก็พบว่า การที่ตัวเลขน้อยกว่าคาดในช่วงที่ผ่านมานั้น เป็นปัญหาจากการ Settle ของกลุ่ม MBS เสียมากกว่า
อีกทั้ง ถ้าสังเกตให้ดี จะพบว่าตลาดยังไม่ได้พูดถึง QT เสียด้วยซ้ำ!!! ทำให้หากรายงานออกมาว่าทำมากกว่าคาด หรือ ทำเต็มที่ประกาศไว้ ก็อาจมากพอที่จะกดดันตลาดได้พอดู
5. Event Risk กรณีไต้หวัน แม้ดูเหมือนจะไม่ลุกลาม แต่ก็อย่าลืมว่าเป็นเรื่องที่ไม่มีใครยอมใคร และ สหรัฐฯ มีพันธะสัญญาในการช่วยไต้หวัน + จีนเองก็มีท่าทีแข็งกร้าวมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพะอย่างยิ่งในปีที่พี่สี จะขึ้นรับตำแหน่งจักรพรรดิปลายปีนี้ ทำให้มีโอกาสสูงอีกเช่นเดียวกัน ที่จะเป็นหนังยาวมากกว่าที่จะจบๆ กันไป ขึ้นอยู่กับว่าจะแรงมากน้อยแค่ไหน
5 ปัจจัยนี้มีโอกาสสูงที่หากผิดคาดไป จะกลับมากดดันตลาดให้ลงได้อีกครั้ง
ซึ่งแน่นอนว่าระหว่างที่ภาพยังไม่เคลีย ย่อมทำให้เกิดความผันผวนได้สูงตลอดเวลา ยังไม่รวมไปถึง การประกาศตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่พร้อมจะมากดดันและหนุนตลาดได้อย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวเลขที่ดีกว่าคาด ที่ตลาดจะคาดไปต่อว่า มันคือใบผ่านให้ Fed ขึ้นดอกเบี้ยได้มากกว่าที่คาดเอาไว้ว่าจะ Less Hawkish
สำหรับพอร์ตการลงทุนจะทำอย่างไรดี?
วันนี้เขียนมายาวมาก ขอจบสั้นๆ ว่า หากใจกล้าพออาจไหลตามลมบนได้ แต่เหนืออื่นใด อย่าลืมมองหาเสื้อกันหนาวขณะที่ยังมีเวลา เพราะผู้เขียนเชื่อว่า Winter is Coming….

AKN Blog