แจ้งเตือน

FINNOMENA REVIEW

หนีความผันผวน หวนลงทุนตราสารหนี้เอเชีย

ไปกับ ASIA-B

Created by:

Nuttnun Bangsomboon (อ่านข่าวนอก)

Key Highlights

Introduction

ปี 2018 ผ่านไปเป็นที่เรียบร้อย ปีที่นักลงทุนจำนวนมากต้องร้องขอชีวิต กับความผันผวนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเห็นได้ชัดจาก VIX Index ที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ทั้งจากความตึงเครียดทางด้านการเมืองทั้งในและระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นในหลากหลายภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นกรณีสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศต่างๆ กรณีความไม่แน่นอนการแยกตัวจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ หรือ กรณีม๊อปเสื้อกั๊กเหลืองในยุโรป ประกอบกับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัว ที่เห็นได้จากการชะลอตัวของดัชนีชี้นำทางเศรษฐกิจที่สำคัญอย่าง PMI ที่ยังมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง  ธนาคารกลางประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯ และยุโรปเริ่มลดสภาพคล่องด้วยการยุติวงเงิน QE ที่ใช้มาอย่างยาวนานพร้อมกับปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ส่งผลให้การลงทุนทั้งในสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้น หรือแม้แต่สินทรัพย์ปลอดภัยอย่างตราสารหนี้ ต่างให้ผลตอบแทนอยู่ในแดนลบ ทำให้นักลงทุนหลายๆ ท่านเริ่มถอดใจกับการลงทุน

หนีความผันผวน หวนลงทุนตราสารหนี้เอเชีย ไปกับ ASIA-B
รูปที่ 1 : VIX Index l ที่มา : Macrotrends
หนีความผันผวน หวนลงทุนตราสารหนี้เอเชีย ไปกับ ASIA-B
รูปที่ 2 : Global PMI l ที่มา : Bloomberg

แต่เดี๋ยวก่อน!!! การลงทุนที่ถูกต้องนั้นคือการวิ่งมาราธอน หาใช่การสปรินท์ระยะสั้น

ฉะนั้นแล้วแม้จะเป็นปีที่ย่ำแย่ ความผันผวนสูง ก็ยังควรที่จะลงทุนต่อไป เพื่อรับโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว เพียงแต่ต้องเลือกกลยุทธ์ และสินทรัพย์ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ และในภาวะเช่นนี้ สำหรับนักลงทุนผู้บาดเจ็บมามาก ก็คงอยากหาสินทรัพย์ที่สามารถให้ผลตอบแทน ชนะเงินฝาก ชนะเงินเฟ้อ รักษาอำนาจการซื้อเอาไว้ เพื่อรอจังหวะการลงทุนที่ดีในอนาคต

หนีความผันผวน หวนลงทุนตราสารหนี้เอเชีย ไปกับ ASIA-B
รูปที่ 3 : FED Dot Plot l ที่มา : Bloomberg

ดังนั้นแล้ว หนึ่งในคำตอบที่หลายๆ คนนึกถึง ก็คือ "ตราสารหนี้"

ถึงแม้ปี 2018 ตราสารหนี้จะให้ผลตอบแทนติดลบก็ตาม แต่ปี 2019 นี้ หลายๆ สิ่งกำลังจะเปลี่ยนไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อธนาคารกลางสหรัฐฯ เอง มีแนวโน้มที่จะขึ้นดอกเบี้ยได้เพียง 1 – 2 ครั้งเท่านั้น จากเศรษฐกิจที่อาจเติบโตได้ลดลง ซึ่งหมายถึงแรงกดดันจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อตราสารหนี้กำลังจะหมดไป เพราะโดยทั่วไปแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างอัตราดอกเบี้ย กับ ราคาตราสารหนี้นั้นมักจะมีทิศทางตรงกันข้าม

ทำไมราคาตราสารหนี้และอัตราดอกเบี้ยถึงสวนทางกัน?

เนื่องจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางในประเทศต่างๆ เป็นการส่งสัญญาณให้สถาบันการเงิน และบริษัทเอกชนต่างๆ ปรับดอกเบี้ยขึ้น ทั้งในฝั่งของเงินกู้ที่เป็นธุรกิจหลักของสถาบันการเงินต่างๆ เพื่อหากำไร และในฝั่งของการระดมทุนอย่างเงินฝากและการเปิดจำหน่ายหุ้นกู้ 

เมื่อมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนั้น จะทำให้ผู้ถือตราสารหนี้เดิมเกิด “ภาวะการเสียโอกาส” จากการที่ตราสารหนี้ออกขายใหม่นั้นให้อัตราดอกเบี้ยสูงกว่าของเดิมที่ตนถือครองอยู่ เป็นแรงจูงใจให้เกิดการขายตราสารหนี้เดิมออก เพื่อย้ายเงินลงทุนก้อนเดิมที่ได้อัตราดอกเบี้ยน้อยกว่าไปยังตราสารหนี้รุ่นใหม่ๆ ที่ออกขายหลังจากปรับดอกเบี้ยขึ้นแล้วที่ให้อัตราดอกเบี้ยที่ดีกว่าแทน ซึ่งการที่จะขายตราสารหนี้เดิมที่มีอัตราผลตอบแทนที่น้อยกว่าได้นั้นก็จะต้องมีการต่อรองราคากับผู้ซื้อ เพื่อให้เป็นที่พอใจทั้งสองฝ่าย ซึ่งแน่นอนว่าฝั่งผู้ซื้อย่อมที่จะคำนึงถึงภาวะการเสียโอกาสดังกล่าวด้วย จึงต้องมีการลดราคา (Discount) เพื่อให้อัตราผลตอบแทนมีความน่าสนใจมากขึ้นเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับตราสารหนี้ใหม่ จึงเป็นสาเหตุที่ว่ายามอัตราดอกเบี้ยปรับขึ้น ราคาตราสารหนี้มักปรับตัวลง

ในขณะที่กรณีการปรับดอกเบี้ยลง ก็จะเป็นในทางตรงกันข้าม กล่าวคือ… 

ตลาดมีแนวโน้มที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย นักลงทุนก็จะมีความต้องการที่จะ “ล็อค” อัตราผลตอบแทนเดิมที่สูงกว่าเอาไว้ หรือ ต้องการที่จะลงทุนในตราสารหนี้ที่ให้อัตราดอกเบี้ยดีกว่าเสมอ จึงเกิดความต้องการซื้อตราสารหนี้เดิมเพิ่มมากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีการต่อรองเกิดขึ้น และต้องมีการให้ส่วนเกินราคา (Premium) เพิ่มขึ้นมา เพื่อจูงใจให้ผู้ขายเดิมยอมขายตราสารหนี้ของตนออกมา จึงทำให้ราคาตราสารหนี้มักปรับตัวขึ้นยามที่มีการปรับอัตราดอกเบี้ยลดลง

รูปที่ 4 : ความสัมพันธ์ระหว่างราคาตราสารหนี้และอัตราดอกเบี้ย l ที่มา : Moneytalks

ยกตัวอย่างเช่น นาย ก เป็นนักลงทุนตัดสินใจลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ที่ราคา 100 บาท ซึ่งมีสัญญาการจ่ายดอกเบี้ย 5% ต่อปี ต่อมาไม่นานรัฐบาลประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย พันธบัตรอายุ 10 ปีรุ่นใหม่ มีสัญญาการจ่ายดอกเบี้ย 8% ต่อปี นาย ก เกิดความต้องการที่จะนำเงินลงทุนก้อนเดิม ไปลงทุนในตราสารหนี้รุ่นใหม่ ที่มีอัตราผลตอบแทนที่สูงกว่า จึงต้องขายพันธบัตรรัฐบาลรุ่นเดิมเสียก่อน แต่ก็ยากที่จะมีนักลงทุนรายใดต้องการซื้อเนื่องจากเสียโอกาสที่จะได้รับดอกเบี้ย 8% นาย ก จึงต้องลดราคาตราสารหนี้ลงเพื่อจูงใจนักลงทุน เช่น ขายในราคาที่ 85 บาท เพื่อให้อัตราผลตอบแทนดึงดูดใจมากยิ่งขึ้น จากเดิมจ่ายดอกเบี้ย 5 บาท ที่ราคา 100 บาท คิดเป็นอัตราผลตอบแทน 5% แต่เมื่อราคาลดลงเหลือ 85 บาทอัตราดอกเบี้ยที่ได้รับ 5 บาทเท่าเดิม จะส่งผลให้ผู้ลงทุนที่ซื้อตราสารหนี้ต่อได้รับอัตราผลตอบแทน 5.88% แทน

ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการลดราคา หรือ เพิ่มราคานั้น ก็คืออายุของตราสารหนี้ เพราะหากอายุตราสารหนี้ยิ่งยาว จะหมายถึงการเสียโอกาสที่ยาวนานมากยิ่งขึ้น จึงทำให้ราคาของตราสารหนี้ที่อายุยาวกว่ามีความผันผวนมากกว่าโดยปริยาย

หนีความผันผวน หวนลงทุนตราสารหนี้เอเชีย ไปกับ ASIA-B
รูปที่ 5 : เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Yield Curve) สหรัฐฯ, จีน ฮ่องกง อินโดนีเซีย และเยอรมนี I ที่มา : Bloomberg

เมื่อสำรวจไปยังอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลที่เป็นตัวแทนของสินทรัพย์ปราศจากความเสี่ยงในแต่ละประเทศ และเป็นจุดอ้างอิงของอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ในประเทศนั้นๆ พบว่าในประเทศที่มีความมั่นคงและสภาพคล่องสูงอย่างสหรัฐฯ เยอรมนี จีน ฮ่องกง และอินโดนีเซีย ให้อัตราผลตอบแทนอยู่ที่ -0.50% ไปจนถึง 5.0%

แล้วตอนนี้แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของแต่ละประเทศเป็นแบบไหน?

ตอนนี้คาดการณ์ว่าสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้อีกจากเศรษฐกิจที่ยังขยายตัวแม้ในระดับที่ลดลง ส่วนเยอรมนีมีแนวโน้มจะคงอัตราดอกเบี้ย ขณะที่จีนและอินโดนีเซียมีแนวโน้มที่จะลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชน ก็ส่งผลให้ความน่าสนใจของการลงทุนในตราสารหนี้ในช่วงปี 2019 นี้ ตกไปอยู่ที่จีนและภูมิภาคเอเชียเป็นหลัก ทั้งในเชิงของอัตราผลตอบแทนที่ดีกว่า และโอกาสการปรับลดดอกเบี้ยซึ่งจะเป็นผลดีต่อราคาตราสารหนี้ด้วย

แต่ถึงอย่างนั้นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยก็ยังหมายถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ช้าลง ซึ่งเป็นต้นเหตุให้ต้องมีการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลดดอกเบี้ย ดังนั้นแล้วตราสารหนี้ที่ลงทุนก็ควรจะเป็นตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือที่ดี เพื่อควบคุมความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ให้ต่ำที่สุด เพื่อให้ได้ขึ้นชื่อว่าลงทุนอย่างสบายใจ ปลอดภัยในยามผันผวนเช่นนี้

หนีความผันผวน หวนลงทุนตราสารหนี้เอเชีย ไปกับ ASIA-B
รูปที่ 6 : แนวโน้มการปรับขึ้น-ลงดอกเบี้ยที่ต่างกันในปี 2019 l ที่มา : Bloomberg

กองทุนที่ทาง FINNOMENA แนะนำในการลงทุนช่วงนี้คือ ASIA-B

หนีความผันผวน หวนลงทุนตราสารหนี้เอเชีย ไปกับ ASIA-B
รูปที่ 7: รายละเอียดกองทุน ASIA-B โดยคร่าว I ที่มา: บลจ.ยูโอบี, FINNOMENA

*ผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต*

ดูข้อมูลผลการดำเนินงานปัจจุบันได้ ที่นี่

ดูหนังสือชี้ชวนต้นฉบับและเอกสารที่เกี่ยวข้องได้ ที่นี่

ASIA-B คือกองทุนตราสารหนี้เอเชียที่มีประวัติมาอย่างยาวนานกว่า 17 ปี ด้วยผลการดำเนินงานย้อนหลังที่อยู่ในระดับที่ดี ความผันผวน และ Max Drawdown ที่ต่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดภาวะเงินทุนไหลออกจากทวีปเอเชีย เช่น

หนีความผันผวน หวนลงทุนตราสารหนี้เอเชีย ไปกับ ASIA-B
หนีความผันผวน หวนลงทุนตราสารหนี้เอเชีย ไปกับ ASIA-B
รูปที่ 8,9 : ผลการดำเนินงานเทียบกลุ่มของ ASIA-B l ที่มา : FINNOMENA

*ผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต*

ดูข้อมูลผลการดำเนินงานปัจจุบันได้ ที่นี่

ผลการดำเนินงานของ ASIA-B ผันผวนน้อยกว่ากลุ่มในทุกช่วงเวลา

สิ่งนี้เป็นผลจากการบริหารแบบ Active ซึ่งหมายถึงตั้งใจเอาชนะตลาดให้ได้ในทุกๆ สถานการณ์ ทำให้มีการปรับพอร์ตการลงทุนอย่างสม่ำเสมอเพื่อตอบรับต่อสถานการณ์นั้นๆ ซึ่งในปัจจุบันนี้กองทุนเองมีการเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลและสินทรัพย์ใกล้เคียงเงินสดมากขึ้น ลดน้ำหนักการลงทุนในหุ้นกู้ภาคเอกชนลง เพื่อลดความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ลงไปพร้อมๆ กับลดความผันผวนของพอร์ตการลงทุนลง และสามารถสำรองเงินสดเพื่อใช้ดำเนินกลยุทธ์ในการลงทุนในอนาคตได้อย่างต่อเนื่อง เรียกได้ว่ายิงปืนนัดเดียวได้นกถึง 3 ตัว แต่ขณะเดียวกันการปรับสัดส่วนตราสารที่ลงทุนเป็นตราสารที่มีสภาพคล่องและความมั่นคงสูง กลับไม่ได้ทำให้อัตราผลตอบแทนของพอร์ตการลงทุนต่ำลงแต่อย่างใด เห็นชัดได้จากการที่อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยทั้งพอร์ตในปัจจุบันเป็น 5.23% เพิ่มขึ้นจาก 3.72% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยที่อายุเฉลี่ยตราสารหนี้ลดลงจากเดิมเฉลี่ย 5.56 ปีเหลือ 4.87 ปีซึ่งหมายถึงความผันผวนที่มีแนวโน้มต่ำลงเมื่อเปรียบเทียบจากอายุเฉลี่ยตราสารที่ลดลง

หนีความผันผวน หวนลงทุนตราสารหนี้เอเชีย ไปกับ ASIA-B
หนีความผันผวน หวนลงทุนตราสารหนี้เอเชีย ไปกับ ASIA-B
รูปที่ 10,11 : Portfolio Statistic l ที่มา : Morningstar, UOBAM

นอกจากนั้นแล้ว ASIA-B ยังปรับพอร์ตการลงทุนในรายประเทศต่างๆ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ซึ่งเห็นได้จากสัดส่วนการเปลี่ยนแปลงการลงทุนในประเทศต่างๆ ที่มีการปรับอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดการปรับเข้าลงทุนในประเทศไทยอย่างมีนัยยะสำคัญในช่วงเดือนกันยายนถึงพฤศจิกายน สอดคล้องกับภาวะเงินทุนไหลเข้าลงทุนในตราสารหนี้ไทยอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยในช่วงอายุ 3 – 10 ปีลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงอายุ 10 ปีจาก 2.67% เหลือ 2.48% และค่าเงินบาทแข็งค่ายืนเหนือระดับ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯได้

หนีความผันผวน หวนลงทุนตราสารหนี้เอเชีย ไปกับ ASIA-B
หนีความผันผวน หวนลงทุนตราสารหนี้เอเชีย ไปกับ ASIA-B
รูปที่ 12,13 : Portfolio Statistic l ที่มา : Morningstar, UOBAM
หนีความผันผวน หวนลงทุนตราสารหนี้เอเชีย ไปกับ ASIA-B
รูปที่ 14,15 :เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย, ค่าเงินบาท l ที่มา Investing, World Government Bonds

ส่งท้ายด้วย การป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนของ ASIA-B

สิ่งนี้เป็นอีกส่วนสำคัญที่นักลงทุนหลายๆ ท่านเป็นกังวลยามลงทุนต่างประเทศ ว่ากองทุนนั้นสามารถที่จะปรับสัดส่วนการป้องกันความเสี่ยงได้อย่างสม่ำเสมอเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์นั้นๆ หรือไม่ ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งที่ตามมาคือค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมนั้นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อยามที่ตลาดผันผวน ประเทศที่มีปริมาณเงินในระบบน้อย หรือ มีความมั่นคงน้อยก็จะยิ่งมีค่าธรรมเนียมป้องกันความเสี่ยงที่สูง แต่การลงทุนของกองทุน ASIA-B เป็นการเลือกลงทุนในตราสารหนี้ที่ออกเป็นสกุลเงินดอลลาร์เป็นหลัก ซึ่งเป็นเงินสกุลหลักของโลก ส่งผลให้เม็ดเงินที่เราจะต้องเสียให้กับการปิดความเสี่ยงนั้นน้อยกว่า ก็ย่อมหมายถึงผลประโยชน์ที่มากขึ้นต่อทุกๆ ท่านนั่นเอง…

เพิ่มเติม

Jessada Sookdhis
Investment Analyst (IA)
ตรวจทานบทความ

คำเตือน

ผู้ลงทุนต้องทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน | ผลการดำเนินงานในอดีต / ผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต | ผู้ลงทุนอาจมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากการป้องกันความเสี่ยงขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้จัดการกองทุน