งบการเงินส่วนบุคคล

หากพูดถึง “งบการเงิน” แล้วหลายท่านคงคิดถึงเรื่องการทำบัญชี ที่มีแต่ตัวเลข รายรับ รายจ่าย สินทรัพย์ หนี้สิน ที่มีรูปแบบเป็นของกิจการหรือบริษัทมากกว่า ที่มีหน้าที่ต้องจัดทำงบการเงิน เพื่อรู้สถานะการเงินในการบริหารกิจการ และยื่นเสียภาษีให้ถูกต้องตามกฎหมาย

แต่หากพูดถึง “งบการเงินส่วนบุคคล” หลายท่านอาจมองข้าม หรืออาจยังไม่เข้าใจว่าแท้จริงแล้วคืออะไร มีความสำคัญ และมีประโยชน์อย่างไรกับเรา ก่อนอื่น เรามาทำความรู้จักกันก่อนนะคะ ว่า “งบการเงินส่วนบุคคล” คืออะไร

“งบการเงินส่วนบุคคล” คือ งบการเงินส่วนตัว หรือ งบการเงินครอบครัวของเรานั่นเอง ประโยชน์ของงบนี้ คือ จะสามารถทำให้เราเห็นถึง ทรัพย์สินที่เรามี มีอะไรบ้าง มีหนี้สิน ภาระผูกพันมากน้อยเพียงใด มีรายรับ รายจ่ายอะไรบ้าง และมีกระแสเงินสดเหลือหรือไม่ ในแต่ละเดือน หรือแต่ละปี หลายท่านอาจจะมองว่า เป็นเรื่องที่ยุ่งยาก ซับซ้อน หรืออาจจะยังไม่รู้จักงบนี้เลยก็ได้นะคะ แต่วันนี้เราจะทำให้ท่านสามารถทำงบการเงินของท่าน ง่าย ๆ เพื่อประเมินสถานะการเงินด้วยตัวเองกันค่ะ

ซึ่งงบการเงินของเรา ประกอบด้วย 2 งบหลัก ๆ คือ งบแสดงสถานะทางการเงิน และ งบกระแสเงินสด

งบแสดงสถานะทางการเงินส่วนบุคคล ( Personal Balance Sheet )

จะมีรายการประเภท สินทรัพย์ หนี้สิน และส่วนของความมั่งคั่งสุทธิ ทำให้เรารู้ว่า เรามี สินทรัพย์ หนี้สิน ทั้งหมดเท่าไหร่

เรามาเริ่มต้นทำงบการเงิน งบแรกของเรากันค่ะ

ด้านสินทรัพย์ แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ

1. สินทรัพย์สภาพคล่อง เช่น เงินสด เงินฝากธนาคาร ที่เรามีไว้ใช้หรือสำรองไว้ใช้ในครอบครัว

( ควรมีสินทรัพย์สภาพคล่องขั้นต่ำ 3 – 6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน )

2. สินทรัพย์เพื่อการออมและลงทุน เช่น กองทุนรวม หุ้นกู้ หุ้นสามัญ ที่ดิน คอนโด

( ควรมีสัดส่วนการออมขั้นต่ำ 10 % ของรายได้ )

3. สินทรัพย์เพื่อใช้ส่วนตัว เช่น รถ บ้าน เครื่องประดับ

ด้านหนี้สิน ไม่ควรมีหนี้ผ่อนชำระเกิน 35% ของรายได้ แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ

หนี้สินระยะสั้น เช่น หนี้บัตรเครดิต หนี้ผ่อนสินค้า

หนี้สินระยะยาว เช่น หนี้บ้าน คอนโด

ด้านความมั่งคั่งสุทธิ ควรมีสินทรัพย์ในการลงทุนไม่ต่ำกว่า 50% ของความมั่งคั่งสุทธิ

ตัวเลขในส่วนนี้จะมาจาก ( สินทรัพย์รวม – หนี้สินรวม = ความมั่งคั่งสุทธิ )

“ความมั่งคั่งสุทธิ” จะทำให้เราเห็นถึง ส่วนที่เป็นสินทรัพย์ของเราจริง ๆ นั่นเองนะคะ

ตัวอย่าง เช่น สินทรัพย์ คือ บ้าน มูลค่าตามราคาซื้อขายตลาด เท่ากับ 2 ล้านบาท แต่เรายังมีหนี้บ้านที่ยังผ่อนกับธนาคารคงค้างอีก 5 แสนบาท เท่ากับว่า มูลค่าบ้านหลังนี้ ที่เป็นส่วนของเราแท้จริงแล้วคือ 1.5 ล้านบาท

และเมื่อเรานำ สินทรัพย์รวม หักลบ ด้วยหนี้สินรวม เราจะสามารถรู้ได้ว่า มูลค่าที่เป็นส่วนของเรานั้น มูลค่าแท้จริงเท่ากับเท่าไหร่

ตัวอย่าง งบแสดงสถานะทางการเงินส่วนบุคคล

งบกระแสเงินสด ( Cash Flow Statement )

คือ งบที่แสดงให้เห็นถึง กระแสเงินสดรับ และจ่ายของเรา ว่ามี รายรับ และค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง สิ่งสำคัญ งบนี้ควรมีกระแสเงินสดคงเหลือ ระวังห้ามติดลบ เพราะแสดงให้เห็นถึงภาระค่าใช้จ่ายที่มากกว่ารายได้ที่รับเข้ามา เราจะแบ่งงบกระแสเงินสด เป็น 2 ส่วน คือ

ส่วนของรายได้ คือ รายรับของเราทั้งหมดที่เป็นกระแสเงินสดรับเข้ามา

ส่วนของรายจ่าย แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ

รายจ่ายคงที่ คือ รายจ่ายที่ต้องจ่ายคงที่ทุก ๆ เดือน เช่น ค่าบ้าน ค่ารถ

รายจ่ายผันแปร คือ รายจ่ายที่ผันแปรไม่เท่ากันในแต่ละเดือน เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าใช้จ่ายส่วนตัว

รายจ่ายเพื่อการออมและลงทุน คือ เงินฝาก กองทุนรวม หุ้น

ตัวอย่าง…งบกระแสเงินสด

ประโยชน์ที่เราได้รับจากการทำงบการเงินทั้ง 2 งบ ทำให้เราสามารถสรุปสถานะการเงินของเรา ณ ปัจจุบัน ว่าตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง เพื่อวางแผนการเงินของเราต่อไปได้

ด้านสภาพคล่อง เงินสด เงินฝากที่มีอยู่ เมื่อเทียบสภาพคล่องขั้นต่ำที่ควรมีเรามีไว้แล้ว หรือยังขาดอีกเท่าไหร่ ต้องวางแผนเพิ่มส่วนนี้อีกเป็นจำนวนเท่าไหร่ เพื่อไว้ใช้จ่ายในครอบครัว

ด้านเงินออมและลงทุน เรามีการออมเฉลี่ยต่อเดือนเท่าไหร่ อย่างน้อยขั้น 10% หรือไม่ รวมถึงการลงทุน มีการลงทุนอะไรบ้าง เพราะการลงทุนเป็นการต่อยอดเงินที่มี เพื่อสร้างความมั่งคั่งในอนาคต

ด้านหนี้สิน ทำให้เห็นถึงภาระหนี้สินที่มีอยู่ในปัจจุบัน ว่ามีสัดส่วนมากน้อยเพียงใด ซึ่งสามารถประเมินได้ว่า ภาระหนี้สินต่อเดือน ณ ปัจจุบัน มียอดผ่อนชำระต่อเดือนเกิน 35% แล้วหรือไม่ เพราะหากเรามีหนี้เพิ่ม จะทำให้ภาระหนี้สินอยู่ในระดับสูง อนาคตมีความเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้ได้

“งบการเงินส่วนบุคคล” ของท่านเป็นอย่างไรบ้างคะ หวังว่างบการเงินทั้ง 2 งบนี้ จะเป็นประโยชน์สำหรับการวางแผนการเงินของทุกท่านต่อไป

ขอให้ทุกท่านประสบความสำเร็จทางการเงิน มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ทั้งในปัจจุบันและอนาคตค่ะ

By Thidarat Keereeta, Finance Coach.

ติดตาม Add Money ได้ในเพจ https://www.facebook.com/AddMoney.Coach/

Update: นักลงทุนสามารถซื้อกองทุน SSF-RMF กับ FINNOMENA ได้แล้ว
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมและเริ่มต้นลงทุนได้ที่ https://finno.me/tax-saving-fund1452

TSF2024