ข้อควรรู้..การลงทุนใน LTF & RMF

“LTF” และ “RMF” จะเป็นกองทุนรวมที่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ แต่ก็ยังมีหลายท่านที่ยังไม่เข้าใจ..ว่าจริงๆ แล้ว LTF และ RMF มีข้อแตกต่างกันอย่างไร  และมีเงื่อนไขการซื้อขายอย่างไร

เพื่อสิทธิประโยชน์ของเราเอง ควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจนะคะ

กองทุนรวมหุ้นระยะยาว ” LTF “ ย่อมาจาก Long Term Equity Fund

นโยบายการลงทุน

เป็นกองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้นไม่น้อยกว่า  65%  ความเสี่ยงระดับ 6 (ค่อนข้างสูงเพราะเน้นลงทุนในหุ้น) มีทั้งกองแบบที่จ่ายเงินปันผล และไม่จ่ายเงินปันผล โดยจะเน้นการลงทุนในประเทศเท่านั้น

เงื่อนไขการลงทุน LTF

  • ไม่จำกัดเงินลงทุนขั้นต่ำ เงินลงทุนสูงสุดไม่เกิน 15% ของเงินได้และ
  • ไม่เกิน 500,000 บ. (ไม่นับรวม RMF ประกันบำนาญ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ประกันบำนาญ กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายโรงเรียนเอกชน)
  • เงินลงทุน LTF ก่อนวันที่ 1 มกราคม 2559
  • ต้องถือครอง 5 ปีปฏิทินเป็นอย่างต่ำ
  • เงินลงทุน LTF ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559
  • ต้องถือครอง 7 ปีปฏิทินเป็นอย่างต่ำ (โดยนับปีชนปี)

กรณีผิดเงื่อนไข LTF

  • หากถือน้อยกว่า 7 ปีปฏิทิน และขายคืน จะต้องคืนภาษีได้รับการลดหย่อน จะต้อง +เงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือนทันทีที่ผิดเงื่อนไข และต้องนำกำไรจากการขายคืนไปยื่นเสียภาษีรวมกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภายใน มี.ค ของปีถัดจากปีที่ขายคืน
  • กรณีการซื้อเกินสิทธิ์  เมื่อขายคืนต้องนำกำไรจากการขาย เฉพาะกำไรจากส่วนเกินสิทธิ์ ที่ได้รับจากการลงทุน LTF นั้น ไปยื่นเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยถือว่าเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8)  ซึ่งโดยปกติกองทุนที่เราซื้อทั่วไป ไม่ต้องเสียภาษีจากกำไรส่วนต่าง

กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ “RMF” ย่อมาจาก Retirement Mutual Fund

นโยบายการลงทุน

  • เป็นกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือเพื่อการเกษียณอายุ
  • มีความหลากหลายมากกว่า LTF เนื่องจากนโยบายการลงทุนใน RMF มีให้เลือกตั้งแต่ความเสี่ยงระดับต่ำ – สูง
  • สามารถลงทุนได้ทั้งในและต่างประเทศ แต่ไม่มีเงินปันผล

เงื่อนไขการลงทุนใน RMF

  • ต้องลงทุนใน RMF ต่อเนื่อง ไม่น้อยกว่า 5 ปีบริบูรณ์ นับแบบวันชนวัน โดยเริ่มนับจากการซื้อครั้งแรกโดยนับเฉพาะปีที่มีการซื้อ RMF หรือต้องถือ
  • หน่วยลงทุนไปจนผู้ลงทุนอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ ต้องไม่ระงับการซื้อ RMF เกินกว่า 1 ปีติดต่อกัน ยกเว้นกรณี ทุพพลภาพหรือเสียชีวิต
  • การลงทุนขั้นต่ำ 3% ของเงินได้ในแต่ละปีหรือขั้นต่ำ 5,000 บ. แล้วแต่จำนวนใดจะต่ำกว่า แต่ ไม่เกิน 15% ของเงินได้ โดยนับรวม เงินสะสม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ประกันแบบบำนาญ กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายโรงเรียนเอกชน ไม่เกิน 500,000 บ.

กรณีผิดเงื่อนไข RMF

  • กรณีซื้อน้อยกว่าขั้นต่ำ 3%หรือ น้อยกว่า 5,000 บ.ต่อปี เกิน 2 ปีติดต่อกัน มีผลให้คืนภาษี 5 ปีย้อนหลัง เพราะหากลงทุนต่ำกว่าที่กำหนด ถือว่าปีนั้น ระงับการซื้อ เช่น รายได้ 300,000 บ./ปี ต้องซื้อ RMF ขั้นต่ำ 3% หรือ 5,000 บ. แต่ซื้อ RMF เพียง 3,000 บ. เป็นเวลา 2 ปีติดต่อกัน ถือว่าผิดเงื่อนไข แต่หากซื้อ 3,000 บ. 1 ปี และปีถัดไป ซื้อ 5,000 บ. ไม่ถือว่าผิดเงื่อนไข
  • กรณีการซื้อเกินสิทธิ์ เช่น รายได้ 500,000 บ. ไม่เกิน 15% = 75,000 บ. แต่ซื้อ RMF 200,000 บ. ซึ่งเกินสิทธิ์ จะมีผล เมื่อขายคืนต้องนำกำไรจากการขาย เฉพาะกำไรจากส่วนเกินสิทธิ์ ที่ได้รับจากการลงทุน RMF นั้น ไปยื่นเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยถือว่าเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8)
  • กรณีขายคืนก่อนอายุ 55 ปี ถือน้อยกว่า 5 ปี และกรณีขายคืนอายุมากกว่า 55 ปี แต่ถือน้อยกว่า 5 ปี มีผล คือ ต้องคืนภาษี 5 ปีย้อนหลัง กำไรจากการขาย RMF ต้องนำไปยื่นเสียภาษีบุคคลธรรมดา ยกเว้น กรณี ทุพพลภาพ / เสียชีวิต
  • กรณีขายคืนก่อนอายุ 55 ปี แต่ถือมากกว่า 5 ปี ต้องคืนภาษี 5 ปีย้อนหลัง
  • กรณีผู้ลงทุนถือ RMF จนมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และลงทุนมาไม่ต่ำกว่า 5 ปีแล้ว จะเลือกซื้อ หรือ ไม่ซื้อต่อก็ได้ และจะขายทั้งหมด หรือบางส่วนก็ได้โดยกำไรที่ได้ไม่ต้องนำไปรวมกับเงินได้พึงประเมินอื่นเพื่อเสียภาษี

สำหรับท่านที่ไม่ได้ใช้สิทธิลดหย่อนภาษี  แนะนำซื้อกองทุนรวมทั่วไปที่ไม่ใช่ LTF หรือ RMF จะดีกว่า เพราะการซื้อกองทุนรวมทั่วไป ไม่ต้องกังวลเรื่องเงื่อนไข ข้อจำกัดน้อยกว่า

รู้ข้อมูลแบบนี้แล้ว..ก็สามารถเลือกลงทุนใน LTF & RMF และวางแผนภาษีกันแบบสบายใจ..กันได้เลยค่ะ

By Thidarat  Keereeta, Finance Coach.

TSF2024