การลงทุนที่ดี คือ การรู้จัก..การจัดพอร์ต ซึ่งถือเป็นการกระจายความเสี่ยง พอร์ตที่ดี ไม่ควรลงทุนตัวใดตัวหนึ่ง เพราะหากเกิดวิกฤตกับการลงทุนนั้นๆ จะทำให้ได้รับความเสียหายเต็ม ๆ 100% แต่หากเรามีการกระจายความเสี่ยง ก็จะสามารถช่วยลดความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ โดยอาจจะได้รับความเสียหายแค่เพียงบางส่วนเท่านั้น
พอร์ตที่ใช่ ของแต่ละบุคคลนั้นย่อมต่างกัน ด้วยความแตกต่างของแต่ละช่วงอายุ ความเสี่ยงที่แต่ละบุคคลรับได้ ไลฟ์สไตล์การลงทุนที่ต่างกัน ข้อจำกัดในการลงทุนที่ต่างกัน โดยในวันนี้เรามีตัวอย่างการจัดพอร์ต ตามเป้าหมายระยะสั้น ระยะปานกลาง ระยะยาว ที่เหมาะสม เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในแต่ละระยะได้
การจัดพอร์ตตามเป้าหมายระยะสั้น (ไม่เกิน 3 ปี)
เป้าหมายระยะสั้น เป็นเป้าหมายที่สำคัญ เช่น เก็บเงินสำรอง เก็บเงินดาวน์รถ ไม่ควรลงทุนในความเสี่ยงสูงมาก แนะนำจัดพอร์ตแบบระมัดระวัง เน้นลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ – ปานกลาง โดยลงทุนในกองทุนรวมตราสารเงิน 30% กองทุนรวมตราสารหนี้ 50% กองทุนตราสารทุน/ หุ้น 20% จะได้ผลตอบแทนเฉลี่ยประมาณ 5.3% ต่อปี
การจัดพอร์ตตามเป้าหมายระยะปานกลาง ( 3 – 7 ปี)
เป้าหมายระยะปานกลาง ถือว่ามีความสำคัญเช่นกัน แต่สามารถเสี่ยงได้มากกว่าเป้าหมายระยะสั้น ด้วยระยะเวลาที่ยาวกว่า เช่น เก็บเงินดาวน์บ้าน ทุนการศึกษา แนะนำจัดพอร์ตแบบเน้นเสี่ยงปานกลาง – สูง โดยลงทุนในกองทุนรวมตราสารเงิน 20% กองทุนตราสารหนี้/กองทุนรวมผสม 30% กองทุนรวมตราสารทุน/ หุ้น 50% จะได้ผลตอบแทนเฉลี่ยประมาณ 8% ต่อปี
การจัดพอร์ตตามเป้าหมายระยะยาว ( 7 ปีขึ้นไป)
การวางแผนเพื่อเกษียณ ถือว่าเป็นเป้าหมายระยะยาว สามารถลงทุนในหลักทรัพย์ที่เสี่ยงสูง – สูงมากได้ ยิ่งนานยิ่งลดความผันผวนได้มากกว่า และมีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่มากกว่า แนะนำจัดพอร์ตโดยลงทุนในกองทุนรวมตราสารเงิน 10% กองทุนตราสารหนี้/กองทุนรวมผสม 20% กองทุนตราสารทุน/ หุ้น 70% จะได้ผลตอบแทนเฉลี่ยโดยประมาณ 9.7% ต่อปี
*สมมติฐานผลตอบแทน กองทุนรวมตราสารเงิน 1% กองทุนรวมตราสารหนี้/กองทุนรวมผสม 6% กองทุนตราสารทุน/หุ้น 12%
การจัดพอร์ต “ไม่มีสูตรสำเร็จ” ตายตัวว่าแต่ละบุคคลพอร์ตจะเป็นแบบไหน จากพอร์ตข้างต้น เป็นการจัดพอร์ตตัวอย่างเพื่อให้เหมาะสมกับเป้าหมายในแต่ละระยะเวลา ทั้งนี้ เราสามารถปรับพอร์ต โดยใช้พอร์ตข้างต้นเป็นแนวทางสำหรับการจัดพอร์ตของตัวเองได้ แต่สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่ง ของการจัดพอร์ตที่ดี คือ การลงทุนอย่างมีวินัย เพื่อให้เราสามารถบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ ติดตามพอร์ต ว่าได้รับผลตอบแทนตามที่คาดหวังหรือไม่ ปรับพอร์ตให้เหมาะสมกับช่วงเวลาสถานการณ์ ติดตามข่าวสาร หมั่นศึกษาหาความรู้เรื่องการเงินและการลงทุนเพิ่มเติมอย่างสม่ำเสมอ แล้วการตามหา “พอร์ตที่ใช่ สำหรับคุณ” ก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป
โดย Thidarat Keereeta, Finance Coach
ที่มาบทความ : http://www.add-money.net/th/detail.php?id=71